ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคบิด พร้อมสาเหตุและวิธีการป้องกัน

มาเรียนรู้สาเหตุของโรคบิด อาการเบื้องต้น และวิธีการป้องกันโรคบิดทั้งขณะพำนักในที่พักอาศัยหรือขณะเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการท้องเสียชนิดรุนแรง อันดับแรกมาทำความรู้จักกันก่อนเลยว่าโรคบิดคืออะไร บทความนี้จะช่วยคลายข้อสงสัยสำหรับคนที่กังวลว่าอาการที่เป็นอยู่นั้นใช่อาการของโรคบิดหรือไม่และเหมาะสำหรับคนที่อยากดูแลสุขภาพของตัวเองให้ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ

โรคบิดคือโรคอะไร

โรคบิดคือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือการติดเชื้ออะมีบาในลำไส้ซึ่งก่อให้เกิดอาการท้องเสียชนิดมีเลือดหรือมูกปน การแพร่กระจายของโรคบิดมักเกิดจากสุขอนามัยที่ไม่ดีโดยผู้ป่วยมักได้รับเชื้อ จากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อน โรคบิดมีอาการที่พบทั่วไป คือ : 

  • ท้องเสียโดยมีเลือดหรือมูกร่วมด้วย
  • ช่องท้องบีบเกร็ง จนทนไม่ได้
  • รู้สึกคลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ปวดท้องบิด
  • มีไข้สูง

โรคบิดเกิดจากอะไร

โรคบิดเกิดจากการมีสุขอนามัยที่ไม่ดีและรับประทานอาหารปนเปื้อน โดยทางการแพทย์ได้จำแนกโรคบิดไว้ 2 ชนิดคือ

1.โรคบิดชนิดไม่มีตัว (shigellosis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย shigella ในอุจจาระซี่งมักพบในประเทศที่มีสุขอนามัยไม่ดี

2.โรคบิดที่เกิดจากอะมีบา (amoebiasis) เกิดจากปรสิตเซลล์เดียวที่มีชื่อว่า Entamoeba histolytica 

ที่มักพบในเขตร้อน ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เผชิญกับโรคบิดที่เกิดจากอะมีบามักมีอาการรุนแรงมากกว่าผู้ป่วยโรคบิดชนิดไม่มีตัว

วิธีรักษาโรคบิด

วิธีการรักษาโรคบิด มีดังนี้ 

วิธีรักษาโรคบิดชนิดไม่มีตัว (shigellosis) 

ถ้าหากผู้ป่วยไม่ได้มีอาการุนแรงและพื้นฐานเป็นคนที่มีสุขภาพดี ไม่ได้มีโรคร้ายแรงหรือเป็นผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่การรักษาโรคบิดเบื้องต้นจะรักษาภาวะการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกายที่มาจากการท้องเสีย และพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยารักษาท้องเสีย หรือสามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชร่วมด้วย และถ้าหากมีอาหารปวดท้องบิดเกร็ง เป็นพัก ๆ มีวิธีแก้ด้วยการนอนพัก ถ้าหากนอนพักแล้วยังไม่หาย สามารถเข้าไปพบแพทย์เพื่อทำการปรึกษาได้ทันที 

โรคบิดที่เกิดจากอะมีบา (amoebiasis)

สำหรับกรณีโรคบิดที่เกิดจากอะมีบาหรือโรคบิดชนิดมีตัว แพทย์จะเน้นไปที่เน้นที่การใช้ยาเป็นหลักเพื่อรักษาเชื้อแบคทีเรีย และสำหรับอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วม แพทย์จะทำการรักษาตามอาการ จนกว่าอาการของผู้ป่วยโรคบิดชนิดมีตัวจะดีขึ้น ไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าโรคบิดกี่วันหาย ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละบุคคล

ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เกิดโรคบิด 

ปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียที่ส่งผลหรือได้รับเชื้ออะมีบาดำเนินเข้าสู่ร่างกาย มักเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่มีลักษณะดังนี้

  • ผู้ที่เดินทางหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีสุขอนามัยไม่ดี เช่น พื้นที่ห่างไกลน้ำสะอาด
  • ผู้ที่อพยพมาจากพื้นที่ที่มีสุขอนามัยที่ไม่ดี
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก เนื่องจากทวารหนักเป็นแหล่งรวมเชื้อโรค
  • ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการจัดการสุขอนามัยไม่ดี เช่น ชุมชนแออัดหรือเรือนจำ
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน
  • ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอ
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรืออายุมาก

วิธีป้องกันให้ห่างไกลจากโรคบิด

มาดูวิธีการป้องกันโรคบิดง่าย ๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน โดยสิ่งที่สำคัญมากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ คือการเลือกรับประทานอาหาร หรือถ้าหากใครมีอาการปวดท้องบิดเกร็ง เป็นพัก ๆ มีวิธีแก้ดังนี้ 

  • ล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่และน้ำสะอาดก่อนการประกอบหรือรับประทานอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ เพราะเชื้อโรคอาศัยอยู่ในห้องน้ำเป็นจำนวนมาก
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ห้ามใช้ผ้าขนหนู เครื่องนอน จานชามช้อนส้อมร่วมกับผู้ป่วยจนกว่าผู้ป่วยจะหายเป็นปกติ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำจากก๊อกน้ำในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ควรต้มน้ำหรือฆ่าเชื้อก่อนดื่มน้ำทุกครั้งหรืออาจเลือกดื่มน้ำบรรจุขวดเพื่อความปลอดภัย
  • ระมัดระวังอาหารที่รับประทานหากอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เพราะไม่สามารถมั่นใจได้ว่าอาหารที่ถูกปรุงนั้นสะอาดหรือไม่ นอกจากนี้ร่างกายอาจจะยังไม่สามารถปรับตัวได้ทันทีเมื่อรับประทานอาหารต่างถิ่น
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้หรือผักดิบ เว้นแต่เป็นผลไม้ที่ต้องปอกก่อนการรับประทาน เช่น กล้วย 
  • หลีกเลี่ยงการดื่มนมหรือรับประทานอาหารที่ผลิตจากนม เว้นแต่จะเป็นนมที่ผลิตโดยกรรมวิธีที่สะอาดผ่านการฆ่าเชื้อโรคแล้ว
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารข้างถนนเนื่องจากเป็นเรื่องยากที่จะมั่นใจได้ถึงความสะอาดในการเตรียมและประกอบอาหาร
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมการเติมน้ำแข็งในเครื่องดื่มเพราะน้ำแข็งอาจผลิตจากน้ำก๊อก ทั้งนี้เว้นแต่คุณจะทราบที่มาของน้ำที่ใช้ผลิตน้ำแข็ง

โรคบิดเป็นอีกหนึ่งโรคที่ไม่มีใครอยากเผชิญกับความเจ็บปวดและความทรมาน ดังนั้นถ้าไม่อยากเผชิญกับอาการต่าง ๆ ของโรคบิด ควรให้ความสำคัญในประโยชน์ของการล้างมือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ติดเชื้อ การเลือกรับประทานอาหารให้ดี โดยเฉพาะอาหารข้างถนนหรืออาหารปรุงดิบและกึ่งดิบ หมั่นดูแลสุขอนามัยโดยรวมอย่างสม่ำเสมอ และรีบพบแพทย์ทันทีหากมีอาการรุนแรงมากขึ้น 

Cr. https://www.dettolthailand.com/common-infections/germs-bacteria-viruses/dysyntery/