Categories
บทความ

โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 ล่าสุด ปี 2566 เป็นอย่างไร

โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 ล่าสุด ปี 2566 เป็นอย่างไร

ฤดูร้อน ปี 2566 ล่าสุดนี้ ยังมีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นลูกผสมจากโอมิครอนอย่าง XBB.1.16 (Arcturus) โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ผู้คนออกเดินทางไปพบปะสังสรรค์กันมากขึ้น รวมทั้งชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจึงติดตามเฝ้าระวัง

 

โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 คืออะไร

 

เป็นเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ XBB จากลูกผสมตระกูล Omicron BA.2.10.1 และ BA.2.75 มีรายงานการค้นพบครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย เมื่อเดือนมกราคม 2566 องค์การอนามัยโลกจัดเป็นเชื้อที่ต้องเฝ้าติดตาม การกลายพันธุ์เกิดขึ้นที่บริเวณ 483 ระดับภูมิตอบสนองชนิด Neutralizing Antibody ลดลง จึงเพิ่มความสามารถในการแพร่เชื้อหรือก่อโรค แต่ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยใดที่อ้างถึง XBB.1.16 จะก่อความรุนแรง

 

XBB.1.16

 

โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 อาการล่าสุดเป็นอย่างไร
  • อุณหภูมิในร่างกายสูง
  • มีไข้สูง
  • ระคายเคืองดวงตา ใบหน้า
  • ไอ
  • เจ็บคอ
  • น้ำมูกไหล
  • การรับกลิ่นของจมูกผิดปกติ
  • สำหรับต่างประเทศมีรายงานผู้ติดเชื้อเยื่อบุตาอักเสบ

 

อาการติดโควิด-19

โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 และ XBB.1.5
  • โควิดสายพันธุ์ XBB.1.5 จะแตกต่างจาก XBB.1.16 ตรงที่ตำแหน่งการกลายพันธุ์บนโปรตีนหนาม F846P เพียงอย่างเดียว เป็นลูกผสมของโอมิครอน Bj.1 และ BM.1.1.1 การกระจายแพร่เชื้อมีความเป็นไปได้ที่จะไวน้อยกว่าเพียงเล็กน้อยและการหลบภูมิคุ้มกันก็เช่นเดียวกัน
  • สำหรับสิ่งที่คล้ายคลึงกัน คือ อาการความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขยังหาข้อสรุปไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อระบบหายใจ มีการประกาศเปิดเผยในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการส่งข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ในไทยที่ถอดรหัสพันธุกรรมเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก (GISAID) ผ่าน Outbreak.info ร่วมกับองค์การอนามัยโลกพบว่า XBB.1.5 สายพันธุ์หลักในประเทศไทยที่ต้องเฝ้าระวัง

 

XBB.1.5

 

ผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับอันตรายจากโควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16
  • อายุ 60 ปีขึ้นไป
  • อาศัยอยู่ในพื้นที่ความหนาของฝุ่น PM 2.5
  • ผู้ป่วยโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด ไตวายเรื้อรัง หลอดเลือดสมอง โรคอ้วน มะเร็ง เบาหวาน
  • คุณแม่ตั้งครรภ์อายุ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
  • ผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19
  • บุคคลที่ไม่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน

 

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ หากตรวจพบเชื้อ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและยาต้านไวรัสทันที หากปล่อยปละละเลยอาจมีอาการรุนแรงได้

 

ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

 

การตรวจ ATK และ RT-PCR สามารถพบเชื้อ XBB.1.16 โควิดสายพันธุ์ลูกผสมได้ไหม

ชุดทดสอบทั้ง 2 ชนิดนี้ สามารถคัดกรองเชื้อไวรัสที่ก่อโควิด-19 รวมทั้งวินิจฉัย แยกผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน หรือลูกผสมได้ แต่การตรวจ Antigen Test Kit ใช้หลักทดสอบทางภูมิคุ้มกัน โดยจับแอนติเจน แอนติบอดี และโปรตีน N ไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อการกลายพันธุ์ที่บริเวณบนโปรตีนหนาม

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ลูกผสมชนิดนี้ ยังไม่พบความรุนแรงถึงแก่ชีวิต ทั้งนี้ในการเสพข่าวสารไม่ควรตระหนก วิตกกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในผู้ที่ได้รับวัคซีน mRNA เข็มกระตุ้นแล้ว จะช่วยลดโอกาสเกิดโรครุนแรงหากติดเชื้อได้มาก

Categories
บทความ

รู้ทัน…ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

รู้ทัน...ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

      ไข้หวัดใหญ่ พบได้ในทุกช่วงอายุซึ่งมักพบในเด็ก แต่อัตราการเสียชีวิตเกิดกับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคหัวใจ โรคปอด โรคไต เป็นต้น การฉีดวัคซีนเป็นวิธีป้องกันที่ได้ผลมากที่สุด สามารถลดอัตราการติดเชื้อ ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล ลดโรคแทรกซ้อน และลดเวลาการหยุดงาน

ไข้หวัดทั่วไป เป็นการติดเชื้อไวรัส ทำให้เกิดอาการน้ำมูกไหล มีไข้ต่ำ ส่วนไข้หวัดใหญ่เป็นการติดเชื้อที่เรียกว่า Influenza virus เป็นการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจจะลามลงปอด ผู้ป่วยจะมีอาการค่อนข้างเร็ว ไข้สูงกว่าไข้หวัด ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย อย่างเฉียบพลัน

การติดเชื้อ ติดต่อได้โดย

  • เชื้อไข้หวัดใหญ่ สามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งโดยการหายใจ ได้รับน้ำมูก หรือเสมหะของผู้ป่วย โดยเชื้อจะผ่านเข้าทางเยื่อบุตา จมูก และปาก
  • การได้สัมผัสสิ่งปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น ผ้าเช็ดหน้า ช้อน แก้วน้ำ การจูบ เป็นต้น
  • การที่มือไปสัมผัสเชื้อแล้วขยี้ตา หรือเข้าปาก


อาการของโรค

ไข้หวัดใหญ่ที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน ระยะฟักตัว 1 – 4 วัน โดยเฉลี่ย 2 วัน

1. ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียอย่างเฉียบพลัน
2. เบื่ออาหาร คลื่นไส้
3. ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
4. ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จะปวดตามแขน ขา ปวดข้อ ปวดรอบตา ปวดเมื่อยตามตัว
5. ไข้สูง 39-40 องศา
6. เจ็บคอ และคอแดง มีน้ำมูกใสๆ ไหล
7. ไอแห้งๆ ตามตัวจะร้อนแดง ตาแดง
8. อาเจียน หรือท้องเดิน เป็นไข้ 2-4 วัน แล้วค่อยๆ ลดลง แต่อาการคัดจมูกและแสบคอยังคงอยู่ โดยทั่วไปจะหายใน 1 สัปดาห์

  1. สำหรับรายที่อาการรุนแรง มักเกิดในผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังอยู่ก่อน ซึ่งจะเกิดโรคแทรกซ้อนที่ระบบอื่นๆ ด้วยเช่น
  • พบอาการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อย หอบ หรือมีอาการหัวใจวาย
  • ระบบประสาท พบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะปวดศีรษะมาก และซึมลง
  • ระบบหายใจ:มีหลอดลมอักเสบและปอดบวม ผู้ป่วยจะแน่นหน้าอก และเหนื่อย
  • โดยทั่วไปไข้หวัดใหญ่มักจะหายในไม่กี่วัน แต่ก็มีผู้ป่วยบางราย มีอาการไอ และปวดตามตัวนานถึง 2 สัปดาห์ ในรายที่เสียชีวิตมักมีอาการปอดบวม และโรคหัวใจ

 

ระยะติดต่อ

  • ระยะเวลาการติดต่อของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จากคนอื่นๆ คือ1วันก่อนเกิดอาการ และ 5 วันหลังมีอาการ
  • ในเด็กอาจจะแพร่เชื้อ 6 วันก่อนมีอาการ และแพร่เชื้อได้นาน 10 วัน
  • ติดเชื้อแบคทีเรีย อาจจะทำให้ปอดบวม มีฝีในปอด มีหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด
  • ไข้หวัดในหญิงตั้งครรภ์ มักเป็นชนิดรุนแรงและมีอาการมาก และอาจทำให้แท้งบุตรได้

 

เมื่อไร ที่ควรมาพบแพทย์

  • มีไข้เกิน 24 ชั่วโมง
  • ให้ยาลดไข้แล้วยังเกิน 5 องศา
  • หายใจหอบ หรือหายใจลำบาก
  • มีอาการ มากกว่า 7 วัน
  • ปลายมือ ปลายเท้าเขียว
  • เด็กดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหารไม่พอ
  • เด็กซึมลง ไม่เล่น
  • เด็กไข้ลดลง แต่หายใจไม่ออก

ผู้ใหญ่ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ ควรมาพบแพทย์

  • หายใจหอบ หรือหายใจลำบาก
  • มีไข้เกิน 24-48 ชั่วโมง’
  • เจ็บ หรือแน่นหน้าอก
  • หน้ามืด เป็นลม สับสน หน้ามืด
  • อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้


การป้องกันไข้หวัดใหญ่

             ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการเอามือเข้าปาก หรือขยี้ตา อย่าใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่นๆ เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด เมื่อเวลาเจ็บป่วยให้พักที่บ้าน เวลาไอ หรือจามให้ใช้ผ้าปิดปาก และจมูก

การฉีดวัคซีน ป้องกันไข้หวัดใหญ่
การป้องกันที่ดีคือ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ทำมาจากเชื้อที่ตายแล้ว โดยฉีดที่แขนปีละครั้ง หลังฉีด 2 สัปดาห์ภูมิคุ้มกันจึงจะสูงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อ ผู้ที่มีประวัติแพ้สารโปรตีนประเภทไข่ ห้ามฉีดวัคซีนชนิดนี้ การฉีด จะเลือกผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อน คือ

  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
  • ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคตับ
  • ผู้เป็นเบาหวาน
  • หญิงตั้งครรภ์ 3เดือนขึ้นไป และมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่
  • ผู้ที่อาศัยในบ้านพักคนชรา
  • เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
  • สมาชิกในครอบครัวที่เป็นโรคเรื้อรัง
  • นักเรียนที่อยู่ร่วมกัน
  • ผู้ที่จะไปเที่ยว หรือศึกษาต่อ ณ แหล่งระบาดของไข้หวัดใหญ่
  • ผู้ที่ต้องการลดอัตราการติดเชื้อ และต้องได้รับวัคซีน

 

ผลข้างเคียงของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่ควรทราบ
            เจ็บเล็กน้อยบริเวณที่ฉีด และจะหายภายใน 2 วัน อาการทั่วไป มีไข้ ปวดตามตัว และหลังจากการฉีดยา  6-12 ชั่วโมง และอยู่ได้นาน 1-2 วัน บางรายอาจมีผื่นลมพิษ ริมฝีปากบวม

Categories
บทความ

วิธีการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ

วิธีการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ

อาการคัดจมูกและมีน้ำมูกมาก จะพบได้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้และเป็นโรคโพรงไซนัสอักเสบ อาการดังกล่าวสามารถที่จะรักษาได้ โดยการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ  น้ำเกลือที่ผ่านเข้าไปในจมูกจะชะล้างน้ำมูก หนอง และสารที่ไม่ต้องการออกจากโพรงจมูก ทำให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้นและหายจากโรคได้เร็วขึ้น

          วิธีการ

  1. เตรียมน้ำเกลือโดยใช้น้ำต้มสุก หรือน้ำสะอาดสำหรับดื่มปริมาณ 500 ซีซี ใส่เกลือสะอาดประมาณ 1 ช้อนชา เขย่าผสมเข้ากันให้หรือ ใช้น้ำเกลือความเข้มข้น 9% หรือน้ำเกลือของสำหรับล้างจมูก ซึ่งหาซื้อได้จากโรงพยาบาลหรือตามร้านขายยา
  2. เทน้ำเกลือที่ผสมแล้วลงในแก้วสะอาดแล้วใช้กระบอกฉีดยาขนาด 10-20 ซีซี ดูดน้ำเกลือเข้าไปให้เต็ม
  3. ยืนใกล้อ่างน้ำ ก้มหน้าเล็กน้อยสอดกระบอกฉีดยาเข้าไปในรูจมูก พ่นน้ำเกลือเข้าในจมูกขณะที่กลั้นหายใจ น้ำเกลือจะถูกพ่นเข้าไปสู่โพรงจมูกแล้วไหลออกมาข้างเดียวกัน หรือออกมาจากรูจมูกอีกข้างหนึ่งหรืออาจจะไหลลงคอ บางครั้งอาจจะมีหนองไหลออกมาด้วย ทำทั้ง 2 ข้างล้างจนกว่าไม่มีน้ำมูกเหลือค้างในจมูกอาจจะแสบจมูกเล็กน้อย

 

หมายเหตุ

  1. หลังจากที่ล้างจมูกแล้ว ผู้ป่วยอาจจะจาม และมีน้ำมูกไหลออกมาอีกได้ ให้สั่งน้ำมูกให้หมด (หรือล้างจมูกอีกครั้งหนึ่ง) แล้วพ่นยา พ่นจมูก ตามที่แพทย์แนะนำ
  2. ไม่ควรชะล้างจมูกในช่วงที่จมูกมีเลือดออกได้ง่าย หรือในกรณีที่แพทย์ไม่แนะนำให้ล้างจมูก
Categories
บทความ

5 คุณประโยชน์ของการนอนที่ดี (Surprising Reasons to Get More Sleep)

5 คุณประโยชน์ของการนอนที่ดี (Surprising Reasons to Get More Sleep)

โดย นพ. นพดล ตรีประทีปศิลป์ และ พญ. ศิริลักษณ์ ผลศิริปฐม (หน่วยโรคจากการนอนหลับ แผนกโสตนาสิกลาริงซ์)

เคยไหม? บางวันรู้สึกเป็นวันที่ไม่สดใส หงุดหงิดกับคนรอบตัว สมองไม่ปลอดโปร่ง หรือไม่มีสมาธิเอาเสียเลย ทุกอย่างดูไม่เป็นใจไปเสียหมด หรือเพราะมันเป็นเพียงวันแย่ๆ วันหนึ่ง (It’s just a bad day) ทว่าเราเคยคิดทบทวนกันบ้างไหมว่า การนอนหลับของเราในคืนที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เป็นการนอนที่มีคุณภาพหรือไม่ ร่างกายของเราได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ และมีพลังกายพลังใจ พร้อมที่จะทำกิจกรรมในวันต่อไปแล้วหรือยัง ฉะนั้นเราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญในชีวิตของเราก็คือเรื่องการนอน

การอดนอนหรือการนอนที่ไม่มีคุณภาพ อาจส่งผลให้คุณรู้สึกฉุนเฉียว อ่อนล้าได้ในเช้าวันรุ่งขึ้น แต่หากปัญหาการนอนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาจจะส่งผลกระทบในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากสภาวะอารมณ์ ยังสามารถแผ่ขยายไปกระทบถึงสุขภาพทางกาย ทางจิตใจ หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเหตผลให้เรามีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงทั้งสิ้น

มีงานวิจัยทางการแพทย์หลายบทความพบว่า การมีคุณภาพการนอนที่ดีอย่างสม่ำเสมอนั้น เป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในหลายแง่มุมตั้งแต่เรื่องการคุมน้ำหนัก ไปถึงการลดอัตราการเกิดความเสี่ยงจากโรคหัวใจ และนี่คือเหตผลว่าทำไมเราควรมี “สุขภาพการนอนที่ดี”
โดยบทความนี้ก็จะพาไปให้เห็นถึงเรื่องนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น และนี่คือ 5 เหตผลว่าทำไมเราควรถึงต้องนอนให้ดี

1. สมองและความจำสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  (Improve attention, concentration, learning and make memories)

การนอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ ส่งผลดีต่อสมองในแง่ของขบวนการเรียนรู้และจัดเก็บความจำให้เป็นระบบระเบียบ เพื่อเตรียมพร้อมต่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รวมไปถึงการนำความจำเก่ากลับมาใช้ นอกจากนี้ยังส่งผลให้มีสมาธิที่เพิ่มมากขึ้น สมองปลอดโปร่ง ทำให้สามารถคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจและแก้ไขปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์

มีการศึกษาถึงระยะเวลาการนอนที่น้อยกว่าปกติและคุณภาพการนอนที่ลดลง เป็นผลเสียต่อสมองและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภาวะสมองเสื่อม หรือ อัลไซเมอรที่มากขึ้น

2. ช่วยพัฒนาสภาวะทางอารมณ์และความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง (Mood and relationship improvement)

ช่วงเวลาที่เราควรได้รับการพักผ่อน และฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ คือ ช่วงเวลาของการนอนหลับ 

การนอนหลับที่ดีจะช่วยทำให้ร่างกายได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ช่วยลดภาวะทางความเครียด และ สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดียิ่งขึ้น

ส่วนการนอนหลับที่ไม่ดี รวมทั้งภาวะความเครียด ความวิตกกังวล ล้วนส่งผลต่อการนอนหลับ มีผลทำให้เราหงุดหงิดง่าย ประสิทธิภาพในการควบคุมอารมณ์ลดลง ส่งผลกระทบในด้านลบทั้งต่อตัวเอง เพื่อนร่วมงาน หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์ต่อคู่ชีวิตและครอบครัว และหากเราปล่อยปะละเลยไว้นานๆ การนอนไม่หลับเรื้อรัง หรือ สภาวะอดนอนเรื้อรั้ง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวลได้

3. หัวใจที่แข็งแรง (Healthier heart)

การอดหลับอดนอน หรือ คุณภาพการนอนที่ไม่ดี (จากการถูกรบกวน) มีผลกระทบต่อการเพิ่มอัตราการเกิดโรคความดันโลหิตสูง หัวใจโต หัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมไปถึงการอักเสบของหลอดเลือด ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด

โดยปกติในช่วงเวลานอนหลับ หัวใจจะเข้าสู่สภาวะการซ่อมแซมและได้รับการพักผ่อน อัตราการเต้นของหัวใจและความดันจึงต่ำกว่าปกติ

แต่กรณีที่เรานอนหลับไม่ดี ระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic Nervous System) ที่มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆภายในร่างกาย เพื่อเตรียมพร้อมต่อการเผชิญสภาวะอันตรายหรือภาวะฉุกเฉิน จะถูกกระตุ้นเป็นระยะ ส่งผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หรือ อัตราการเต้นของหัวใจไม่คงที่ตลอดทั้งคืน จนกระทั่งก่อให้เกิดโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือดตามมา

4. ช่วยควบคุมน้ำหนักและระดับน้ำตาล  (Maintain healthy weight and regulate blood sugar)

การนอนที่ดีจะช่วยลดอาการหิวได้ดีขึ้น รวมไปถึงการมีสุขลักษณะเวลานอนที่ดี จะช่วยให้ไม่อยู่ดึกจนเกินไปซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการกินอาหารช่วงดึกได้ ทั้งนี้เมื่อมีการนอนหลับที่ไม่ดี ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการควบคุมความหิว ความอิ่ม และการควบคุมระดับน้ำตาลจะถูกรบกวน ส่งผลให้การควบคุมน้ำหนักเป็นไปได้ยากลำบากขึ้น ก่อให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน หรือ ความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานเพิ่มขึ้นตามมาได้

5. เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน (Germ fighting and immune enhancement)

การนอนที่ดีช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ปรับสภาพร่างกายให้ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ เพื่อที่จะพร้อมรับมือกับ สภาวะติดเชื้อใดๆที่จะเข้ามาในร่างกายได้อย่างทันท่วงที แต่ในกรณีที่อดนอนเป็นเวลานาน จะสังเกตุได้ว่า เราป่วยง่ายขึ้น หรือ บ่อยขึ้น เนื่องมาจาก การอดนอนนั้นส่งผลต่อเซลล์อักเสบในร่างกาย รวมไปถึงการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งแปลกปลอมที่ช้าลงและมีประสิทธิภาพที่ลดลง.

หากเราเข้าใจแล้วว่า การนอนเป็นสิ่งสำคัญ และเราให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ การนอนหลับที่ดีเป็นการเริ่มต้นวันดีๆ และวันแย่ๆของคุณ “It’s just a bad” ก็น่าจะหมดไป

นอนหลับ ฝันดีทุกคนครับ

cr. https://www.gj.mahidol.ac.th/main/knowledge-2/surprising-reasons-to-get-more-sleep/

Categories
บทความ

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับโรคโควิด 19

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับโรคโควิด 19

งานวิจัยเผย อาการไม่รู้รส-ไม่ได้กลิ่น มีโอกาสเสี่ยงเป็นโควิด 19 สูงถึง 10 เท่า!

โรคโควิด 19 คือ โรคติดต่ออุบัติใหม่ซึ่งเกิดจากไวรัสโคโรนาชนิดที่มีการค้นพบล่าสุด โดยไวรัสและโรคอุบัติใหม่ชนิดนี้ไม่เป็นที่รู้จักเลยก่อนที่จะมีการระบาดในประเทศจีน เมื่อช่วงเดือนธันวาคมปี ค.ศ.2019 ขณะนี้โรคโควิด 19 มีการระบาดใหญ่เป็นวงกว้างจนส่งผลกระทบเป็นอย่างมากในด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจของแทบทุกประเทศทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน มาทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ เพื่อป้องกันตนเองและคนรอบข้างให้ปลอดภัยกัน

รู้หรือไม่ ? ไวรัสโคโรนามีหลายสายพันธุ์

ไวรัสโคโรนาเป็นสาเหตุของโรคทั้งในสัตว์และคน มีไวรัสโคโรนาหลากหลายสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่โรคหวัดธรรมดาไปจนถึงโรคที่มีอาการรุนแรง เช่น โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS), โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง (SARS) รวมถึงไวรัสโคโรนาที่ค้นพบล่าสุดซึ่งทำให้เกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศชื่อทางการสำหรับใช้เรียก โรคทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ว่า “โควิด-ไนน์ทีน” (Covid-19) โดยชื่อนี้มาจากคำย่อในภาษาอังกฤษของคำว่าโคโรนา, ไวรัส และดีซีส (Disease) ที่แปลว่าโรคภัยไข้เจ็บ รวมทั้งเลข 19 ซึ่งแสดงถึงปี ค.ศ. ที่มีรายงานการแพร่ระบาดครั้งแรก

โรคโควิด 19 แพร่ระบาดได้อย่างไร

โควิด 19 ติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางละอองน้ำมูก น้ำลายซึ่งปะปนออกมาเมื่อผู้ป่วยโรคโควิด19 ไอ จามหรือพูด ละอองเหล่านี้ค่อนข้างหนัก ไปไม่ได้ไกล และจะตกลงสู่พื้นอย่างรวดเร็ว การรักษาระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตรจึงเป็นเรื่องจำเป็น ละอองเหล่านี้ยังสามารถตกลงสู่วัตถุและพื้นผิวต่างๆ เช่น โทรศัพท์, โต๊ะ, ลูกบิดประตู, ราวจับ ฯลฯ และเมื่อคนเอามือไปจับพื้นผิวเหล่านั้นแล้วมาสัมผัสตัวเอง เช่น จับตา จมูก หรือปาก ก็จะได้รับเชื้อโรคตัวนี้เข้าสู่ร่างกาย นี่ซึ่งอาจป้องกันได้ด้วยการล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอลเจลก่อนและหลังการสัมผัส เราจะสามารถติดเชื้อโควิด 19 จากผู้ป่วยที่ไม่มีอาการได้หรือไม่ ผู้ป่วยโควิด19 จำนวนมากมีอาการเพียงเล็กน้อยโดยเฉพาะในระยะเริ่มแรก ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่เราจะติดเชื้อโควิด 19 จากผู้ป่วยที่ไอเล็กน้อยและไม่รู้สึกป่วยเลย และที่น่ากลัวคือผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการเลยก็สามารถแพร่เชื้อได้เช่นกัน

อาการของโรคโควิด 19

อาการทั่วไปของโรคโควิด 19 พี่พบมากที่สุดคือ ไข้(อุณหภูมิมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส), ไอ และอ่อนเพลีย

อาการอื่นๆ ได้แก่ ปวดเมื่อย เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส คัดจมูก น้ำมูกไหล ท้องเสีย หรือผื่นตามผิวหนัง หรือสีผิวเปลี่ยนตามนิ้วมือนิ้วเท้า อาการเหล่านี้มักจะไม่รุนแรงนักและค่อยๆเริ่มทีละน้อย บางรายติดเชื้อแต่มีอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยส่วนมาก (80%) หายป่วยได้โดยไม่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล

งานวิจัยชิ้นล่าสุดยังบอกว่า หากไม่ได้กลิ่น และไม่รู้รสชาติ มีความเสี่ยงมากกว่า 10 เท่าที่จะติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าอาการมีไข้ ไอ จาม เสียอีก โดยผู้ติดเชื้ออาจยังสามารถรับรู้ความแตกต่างของรสชาติได้บ้าง อย่างความเค็ม หรือความหวาน แต่จะไม่สามารถบอกรสชาติได้ชัดเจน และคนที่สูญเสียความสามารถในการรับรู้กลิ่น ก็มักจะสูญเสียความสามารถในการรับรู้รสได้เช่นกัน

ประมาณ 1 ใน 5 ของผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่มีอาการหนักและหายใจลำบาก แล้วเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือ มะเร็ง พบว่าจะมีแนวโน้มของอาการป่วยรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น

อย่างไรก็ตามทุกคนสามารถติดโรคโควิด 19 ได้ และมีโอกาสพัฒนาไปมีอาการรุนแรงได้เช่นกัน หากสงสัยอาการของตน ควรปรึกษาแพทย์ทันที หากเป็นไปได้ แนะนำให้โทรไปล่วงหน้า เพื่อสถานพยาบาลจะได้ให้คำแนะนำตามความเสี่ยงของท่านได้เหมาะสมมากขึ้น

เราจะป้องกันตัวเองได้อย่างไรหากไม่รู้ว่าใครมีเชื้อบ้าง

ควรใส่หน้ากากเสมอเมื่อออกไปที่สาธารณะ หรืออยู่ในที่ที่มีผู้คนอยู่รวมกัน รักษาระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตรจากผู้อื่น เพื่อหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดคนที่กำลังไอหรือจาม เนื่องจากผู้ติดเชื้อบางรายอาจยังไม่แสดงอาการ และยังไม่แน่นอนว่าคนยังสามารถแพร่เชื้อต่อได้นานเท่าใดหลังจากหายแล้ว ดังนั้นจึงควรทำตามคำแนะนำเรื่องการแยกตัวอย่างเคร่งครัด

การกักตัว การแยกตัว การเว้นระยะ

ความแตกต่างระหว่างการแยกตัว การกักตัว และการเว้นระยะ คืออะไร

การกักตัว (Quarantine) หมายถึง การที่บุคคลที่ไม่ป่วยแต่อาจมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด 19 จำกัดกิจกรรมของตนเองและแยกตัวออกจากคนอื่น จุดประสงค์คือเพื่อดูอาการและเพื่อให้สามารถค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ได้แต่เนิ่นๆ

การแยกตัว (Isolation) หมายถึงการแยกผู้ติดเชื้อที่เป็นโรคโควิด 19 และอาจแพร่เชื้อได้ออกมา เพื่อป้องการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

การเว้นระยะ (Social Distancing) คือการอยู่ห่างกันและกัน องค์การอนามัยโลกแนะนำให้เว้นระยะอย่างน้อย 1 เมตรจากผู้อื่น ส่วนนี้เป็นมาตรการทั่วไปที่ทุกคนควรทำถึงแม้ว่าจะแข็งแรงดีและไม่มีประวัติสัมผัสโรคโควิด19 เลยก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือการรักษาสุขอนามัยของตนเอง โดยการใส่หน้ากากอนามัยให้ถูกต้องอยู่เสมอ และหมั่นล้างมือ หรือทำความสะอาดมือก่อนรับประทานอาหาร และก่อนไปหยิบจับอะไรรอบ ๆ ตัว ก็เป็นเรื่องที่ควรทำให้เป็นนิสัย แม้จะไม่มีการระบาดของโรคนี้ก็ตาม

อ้างอิง

  1. https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/faq_more.php

  2. https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/file/g_km/handout001_12032020.pdf

  3. https://www.who.int/thailand/emergencies/novel-coronavirus-2019

  4. https://www.who.int/docs/default-source/searo/thailand/knowcovid-final-pages-r01.pdf

  5. https://tmc.or.th/pdf/Covid-19-MD-AmornUpdate.pdf

เรียบเรียงโดย
น.ส.โศศิษฐา พงษ์เสถียรศักดิ์
เจ้าหน้าที่พยาบาล
ส่วนงานบริหารจัดการโรงพยาบาลและข้อมูลสุขภาพ ศูนย์บริการการแพทย์

Categories
บทความ

วัคซีน คืออะไร…แล้วทำไมเราถึงต้องฉีดวัคซีน ?

วัคซีน คืออะไร…
แล้วทำไมเราถึงต้องฉีดวัคซีน ?

วัคซีน (Vaccine)

คือสารชนิดหนึ่งที่ฉีดเข้าไปร่างกาย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ ส่วนใหญ่ทำมาจากเชื้อโรค แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ทำจากเชื้อโรคที่ตายแล้วมีสารของเชื้อโรคมาฉีดเข้าตัวเรา และ ทำจากเชื้อโรคที่อ่อนแอ ทำให้มันสลบพิษจะได้ไม่รุนแรง เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกายคนเรา ร่างกายเราก็จะสร้างภูมิคุ้มกัน กับโรคนั้นๆ

วัคซีนสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่?

สามารถฉีดได้ตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งในปัจจุบันจะมีตารางสำหรับฉีดวัคซีน ว่าควรเริ่มฉีดตั้งแต่อายุเท่าไหร่

วัคซีนชนิดต่างๆ
  1. วัคซีนBCGป้องกันวัณโรค
    • ฉีด0.1MLที่ไหล่ซ้าย
    • ถ้าไม่มีแผลเป็นเกิดขึ้นถ้าไม่มีหลักฐานว่าเคยได้มาก่อน ให้ฉีดซ้ำเมื่ออายุ6เดือน
    • ถ้าเคยได้วัคซีนมาก่อน ไม่ต้องฉีดซ้ำแม้ว่าจะไม่มีแผล
  2. วัคซีนป้องกันตับอักเสบบี
    • เด็กทุกคนต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็มถ้าไม่มีข้อห้ามและเข็มสุดท้ายต้องอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 6 เดือน
    • ทารกที่คลอดจากมารดาที่ HBsAg ให้ผลลบ หรือไม่ทราบผลก็ให้ฉีดวัคซีนจำนวน 3 ครั้งเมื่อแรกเกิด อายุ1-2เดือน และอายุ 6 เดือน
    • ทารกที่คลอดจากมารดาที่ HBsAg ให้ผลบวก(โดยเฉพาะถ้าHBeAg เป็นบวกด้วย) พิจารณาให้ภูมิต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบี HBIG 0.5 ซีซีภายใน 12 ชั่วโมงหลังคลอด และให้วัคซีนครั้งที่1พร้อมๆกันคนละตำแหน่งกับที่ฉีด HBIG วัคซีนเข็มที่2 ให้เมื่ออายุ1-2 เดือน และครั้งที่3เมื่ออายุ 6 เดือน
    • ถ้ามารดามี HBsAg ให้ผลบวก แต่ไม่มียา HBIG ควรให้วัคซีนเข็มที่1 ภายใน 12 ชั่วโมงหลังคลอด เข็มที่2 และเข็มที่3 ให้เมื่ออายุทารก 1 เดือน และ 6 เดือนตามลำดับ
    • กรณีมาทราบภายหลังว่ามารดามี HBsAg ให้ผลบวก ควรพิจารณาให้ HBIG ถ้าทารกได้วัคซีนมาแล้วไม่เกิน 7 วันตามแผนการสร้างภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุขให้วัคซีนรวมที่มีทั้ง คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และไวรัสตับอักเสบบี (DPT-HB) ที่อายุ 2 4 และ 6 เดือน แต่ถ้ามารดามี HBsAg ให้ผลบวกและทารกไม่ได้ HBIG ควรให้วัคซีนตับอักเสบบีเดี่ยวเพิ่มตอนอายุ 1 เดือนด้วย(รวมเป็น 5 ครั้ง)
    • เด็กที่ไม่เคยฉีดวัคซีนตับอักเสบบีมาก่อนเด็กอายุน้อยกว่า 11 ปีสามารถฉีดวัคซีนในเดือนที่ 0,1,6 ตามลำดับ ส่วนเด็กอายุ 11-15 อาจฉีดเพียง 2 ครั้งในเดือนที่ 0 และ4-6 ให้ใช้วัคซีนขนาด 1 ซ๊ซี เท่าผู้ใหญ่
    • เด็กที่คลอดมาจากมารดาที่มี HBsAg ให้ผลบวก อาจจะพิจารณาตรวจ HBsAG และ Anti-HBs เมื่ออายุ 9-18 เดือน
  3. วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน
    • สามารถใช้ชนิดไร้เซลล์( DTaP) แทนชนิดทั้งเซลล์ (DTwP)ได้ทุกครั้ง
    • หากใช้ชนิดDTaP ก็ควรใช้ทั้ง 3 ครั้งเมื่ออายุ 2,4,6 เดือนถ้าไม่สามารถหาชนิดเดียวกันได้ ก็ใช้ชนิดใดก็ได้
    • สำหรับเข็มกระตุ้น 18 เดือนอาจจะใช้ DTwP หรือ DTaP ชนิดใดก็ได้
    • เมื่ออายุ 4-6 ปีอาจจะใช้ DTwP หรือ DTaP หรือ Tdap ก็ได้
    • เด็กอายุ11-12 ปีควรจะได้รับ Tdap หรือ Td ไม่ว่าจะได้ Tdap เมื่ออายุ4-6ปีมาก่อนหรือไม่ หลังจากนั้นควรกระตุ้นด้วย Td ทุก 10 ปี
    • สำหรับการฉีดกระตุ้น Td ทุก10ปี ควรจะมีคั้งหนึ่งที่ใช้ Tdap
  4. วัคซีนป้องกันโปลิโอ
    • สามารถใช้ชนิดฉีด (ปัจจุบันรวมอยู่กับวัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก)แทนชนิดกินได้ทุกครั้ง
    • หากใช้ชนิดกินสลับกับชนิดฉีดต้องให้ 5 ครั้งตาม OPV
    • การให้วัคซีนป้องกันโปลิโอเกินกว่าที่กำหนด ไม่มีข้อเสีย และสามารถรับ OPV เพิ่มในช่วงที่มีการรณรงค์หยอดวัคซีนเพื่อกวาดล้างโปลิโอได้
  5. หัด หัดเยอรมัน คางทูม
    • ให้วัคซีนครั้งแรกเมื่ออายุ 9-12 เดือน ครั้งที่2เมื่ออายุ 4-6 ปีควรพิจารณาให้ฉีดเร็วๆ(9 เดือน) ในพื้นที่ที่ยังมีรายงานผู้ป่วยโรคหัดจำนวนมากในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และควรฉีด๙้า(12เดือน)ในพื้นที่ที่มีรายงานโรคหัดจำนวนน้อยในเด็กต่ำกว่า 1 ปี
    • การฉีดเข็มที่2อาจจะให้ได้ตั้งแต่อายุ 2ปีครึ่งตามแผนปฏิบัติงานของกระทรวงสาธารณสุข
    • กรณีที่มีการระบาดหรือสัมผัสโรค อาจฉีดเข็มที่2 เร็วขึ้นก่อนอายุ 4 ปีก็ได้ โดยต้องห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน
    • กรณีที่ต้องการฉีดวัคซีนป้องกันหัด หัดเยอรมัน คางทูมและอีสุกอีใสในเวลาเดียวกัน สามารถใช้วัคซีนรวม หัด หัดเยอรมัน คางทูมและอีสุกอีใส MMRV แทนการฉีดแบบแยกเข็มได้ทุกครั้งในเด็กอายุตั้งแต่ 1-12 ปี การใช้วัคซีนรวม MMRV ที่อายุ 4-6 ปีแทนการฉีดวัคซีนแบบแยกเข็มพบว่ามีอาการข้างเคียงไม่แตกต่างกัน การใช้วัคซีนรวม MMRV ในเด็กอายุ 12-23 เดือนมีโอกาศเกิดการชักจากไข้ได้มากกว่าการฉีดแบบแยกเข็ม กรณีที่เคยได้วัคซีน MMR หรือ VZV มาก่อนแนะนำให้ใช้วัคซีนรวม MMRV ห่างจากวัคซีน MMR ครั้งก่อนหรือ VZV มาก่อนอย่างน้อย 3 เดือน
  6. วัคซีนป้องกันฮีบ HIB
    • ปัจจุบันมีวัคซีน 2 ชนิดคือ conjugated กับ PRP-T และHbOC ในเด็กไทยแนะนำให้ฉีด 3 ครั้งเมื่ออายุ 2, 4 และ 6 เดือน
    • การฉีดเข็มกระตุ้นที่อายุ 12-18 เดือน อาจไม่จำเป็นต้องฉีดในเด็กแข็งแรง ควรฉีดในผู้ที่มีความเสี่ยง
    • ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนฮีบในเด็กปกติทีอายุ 2 ปีขึ้นไป
    • หากเริ่มช้าให้พิจารณาฉีดตามตาราง
    • อายุที่เริ่มฉีด                              เดือนที่ของการฉีด PRP-T HbOC2-6 เดือน                                        0,2,4 ฉีดกระตุ้นอายุ 12-18 เดือน7-11 เดือน                              0,2 ฉีดกระตุ้นอายุ12-18

      12-24 เดือน                         เข็มเดียว

      >24 เดือน เฉพาะผู้ที่เสี่ยง 0,2

               ผู้ที่เสี่ยงต่อโรคฮีบ เช่นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่มีม้าม หรือม้ามทำงานผิดปกติ

  7. ไข้สมองอักเสบเจอี
    • วัคซีนชนิดเชื้อไม่มีชีวิต (inactivated vaccine ) ปัจจุบันมีสองชนิดคือ mouse-brain derived vaccine (MBV) ซึ่งอยู่ในแผนของกระทรวงสาธารณสุข และสายพันธื P3 เพาะเลี้ยงใน vero cell (JEVAC) ทั้งสองชนิดฉีดสามครั้งเริ่มเมื่ออายุ 9-18 เดือนเข็มต่อมาอีก 4 สัปดาห์ และ 1 ปี ปีตามลำดับ สำหรับ MBV อาจจะพิจารณาให้ฉีดกระตุ้นอีกหนึ่งครั้ง ห่างจากเข็มสามอย่างน้อย 4-5ปี

      วัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิต (live JE) ใช้สายพันธ์ 14-14-2 ให้ฉีดสองครั้งมี สองชนิดคือ CDJAX เริ่มฉีดเมื่ออายุู 9-12 เดือน และเข็มที่2 อีก 3-12 เดือน อีกชนิดคือ Chimeric JE (MOJAV) เริ่มฉีดที่อายุ 12 เดือนและเข็มที่สองอีก 12-24 เดือนต่อมา สามารถใช้วัคซีนชนิด live je แทนชนิด MBV ได้ทั้งในการฉีดชุดแรก และการฉีดกระตุ้น

      ยังไม่มีข้อมูลการใช้ live je ต่างชนิดกันทดแทนกัน

      ในกรณีที่เคยได้ MBV มาก่อนและต้องการฉีดต่อด้วย live JE vaccine ให้พิจารณาฉีดตามตาราง

                  ประวัติฉีดวัคซีน MBV ในอดีต                         ข้อแนะนำในการฉีด live-attenuated JE

      1เข็ม                                                         ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 3-24 เดือน (แล้วแต่ชนิดของวัคซีน)

      2-3 เข็ม                                         ฉีด 1 เข็ม ห่างจากเข็มสุดท้าย 1 ปี

      มากกว่าหรือเท่ากับ4เข็ม                    ไม่ต้องฉีด

  8. ตับอักเสบเอ
    • มีสองชนิดคือ formalin-inactivated vaccine และ virosome vaccine
    • ฉีดได้ตั้งอายุ 1 ปีขึ้นไปฉีด 2 เข็มห่างกัน 6-12 เดือนใช้ต่างชนิดได้ในการฉีดแต่ละครั้ง
  9. อีสุกอีใส
    • ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป แนะนำให้ฉีดเข็มแรกอายุ 12-18 เดือน
    • พิจารณาให้ฉีดเข็มที่สองเมื่ออายุ 4-6 ปี อาจจะฉีดเข็มที่สองก่อนอายุ 4 ปีก็ได้ในกรณีที่มีการระบาดแต่ต้องห่างเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน
    • พิจารณาให้วัคซีนนี้แก่เด็กที่มีอายุมากกว่า 1 ปีที่ยังไม่เคยเป็นอีกสุกอีใส
    • ถ้าอายุมากกว่า 13 ปีให้ฉีดสองเข็มห่างกันอย่างน้อน 1 เดือน
  10. ไข้หวัดใหญ่
    • พิจารณาให้ฉีดในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปถึง 18 ปีโดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า2 ปี และเด็กที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรครุนแรงเช่นเด็กที่จะเป็นโรคเรื้อรัง(รวมหอบหืด) โรคหัวใจ โรคอ้วนที่ BMIมากกว่าหรือเท่ากับ 35 ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และโรคเรื้อรังเป็นต้น
    • ถ้าอายุน้อยกว่า 9 ปี การฉีดครั้งแรกต้องฉีดสองเข็มห่างกันหนึ่งเดือน กรณีที่ปีแรกได้ไปฉีดเพียงครั้งเดียว ปีต่อมาให้ฉีดสองครั้งหลังจากนั้นให้ฉีดปีละครั้ง
    • ในเด็กอายุน้อยกว่า 3 เดือนให้ลดขนาดลงครึ่งหนึ่ง (0.25 ซีซี)
  11. นิวโมคอคคัส ชนิดคอนจูเกต
    • ควรให้ในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ชนิดรุนแรง (invasive disease) หรือรุนแรง ดังตาราง และในเด็กแข็งแรงปกติที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ที่ประสค์จะป้องกันโรค
    • ปัจจุบันมีวัคซีนชนิด10สายพัน์( PCV10) และชนิด13สายพันธ์( PCV13 ) ให้สามครั้งเมื่ออายุ 2,4,6 เดือน และให้ฉีดกระตุ้นเมื่ออายุ 12-15 เดือนโดยห่างจากเข็มสุดท้ายอย่างน้อย 2 เดือนหากเริ่มฉีดว้าให้ฉีดตามตาราง
    • เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีกรณีที่ได้ PCV7 ครบแล้ว 4 ครั้งพิจารณาให้ PCV13 อีกหนึ่งครั้งห่างจาก PCV7 เข็มสุดท้ายอย่างน้อย 8 สัปดาห์เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อสายพันธ์ที่เพิ่มเติมขึ้น
    • อายุที่เริ่มฉีด                               จำนวนครั้งที่ฉีด                                            การฉีดกระตุ้น2-6 เดือน                        PCV 3 ครั้งห่างกัน 6-8 สัปดาห์                       PCV 1 ครั้งอายุ12-15 เดือน

      7-11 เดือน                      PCV 2 ครั้งห่างกัน 6-8 สัปดาห์                       PCV 1 ครั้งอายุ12-15 เดือน

      12-23 เดือน                     PCV 2 ครั้งห่างกัน 6-8 สัปดาห์                      ไม่ต้องฉีด

      เด็กปกติ 2-5 ปี     PCV10 ให้ 2 ครั้ง PCV13 ให้1ครั้ง ไม่ต้องฉีด

      เด็กเสี่ยง

      – อายุ 2-5 ปี     PCV13 ให้ 2 ครั้งให้สองครั้งห่างกัน 8 สัปดาห์     ฉีดกระตุ้นด้วย PS-23 1   เข็มห่างจาก   PCV   เข็มสุดท้าย 8 สัปดาห์

      -อายุ 6-18 ปี    PCV13 ให้ 1 ครั้ง    ฉีดกระตุ้นด้วย PS-23 1  เข็มห่างจาก  PCV  เข็มสุดท้าย  8 สัปดาห์

      PCV=Pneumococcal conjugated vaccine, PS-23=23-valent pneumococcal polysaccharide vaccine

    • เด็กเสี่ยงคือเด็กที่มีโอกาศเป็นโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสอย่างรุนแรงมากกว่าเด็กปกติได้แก่ เด็กที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องจากสาเหตุต่างๆ ภาวะไม่มีบ้าน ธัลลาสซีเมีย โรคเรื้อรังของอวัยวะต่างๆ เช่นโรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน และโรคที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเช่น csf leakage ,cochlear implantation
    • สำหรับเด็กที่อยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกลางวันไม่จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงแต่พิจารณาให้วัคซีนได้
    • ในเด็กกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดควรจะได้วัคซีน PCV13 ดังตาราง และเด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปควรได้รับการฉีดวัคซีน PS-23 ด้วยเสมอไม่ว่าจะสามารถฉีด PCV ได้หรือไม่ก็ตาม และหากเป็นเด็กเสี่ยงภูมิคุ้มกันบกพร่อง ภาวะไม่มีม้ามหรือธาลัสซีเมียควรฉีดวัคซีน PS-23 ซ้ำอีก 1 ครั้งห่างจากครั้งแรก 5 ปี การฉีด PCV ก่อนแล้วตามด้วย PS-23 จะให้ผลการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีกว่าการฉีดด้วย PS-23 เพียงอย่างเดียว หรือฉีด PS-23 แล้วตามด้วย PCV
    • ในเด็กปกติอาจพิจารณาให้ฉีดแบบ2+1(รวมเป็นการฉีด 3 ครั้ง) คือฉีดเมื่ออายุ 2,4 เดือนและ 12-15 เดือน
  12. โรต้า
    • ชนิด Monovalent ให้กินสองครั้งเมื่ออายุประมาณ 2 และ 4 เดือน
    • ชนิด Pentavalent ให้กินสามครั้งเมื่ออายุ 2,4 และ 6 เดือน
    • วัคซีนทั้งสองชนิด สามารถเริ่มให้ครั้งแรก เมื่ออายุ 6-15 สัปดาห์ และครั้งสุดท้ายอายุไม่เกิน8เดือน แต่ละครั้งห่างกันไม่น้อยกว่า 4 สัปดาห์
    • ควรใช้วัคซีนชนิดเดียวกันจนครบ หากจำเป็นต้องใช้วัคซีนต่างชนิดกันในแต่ละครั้ง ต้องให้วัคซีนทั้งหมด 3 ครั้ง
    • สามารถให้วัคซีนโรต้าร่วมกับวัคซีนโปลิโอชนิดกินได้
    • ห้ามใช้วัคซีนในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง severe combined immune deficiency และในเด็กที่มประวัติลำไส้กลืนกัน
  13. เอชพีวี HPV วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
    • มีสองชนิดคือ ชนิดสองสายพันธ์ ( bivalent มีสายพันธ์ 16 และ18)และชนิด 4 สายพันธ์(quavalent มีสายพันธ์ 6,11,16,18)
    • แนะนำให้ฉีดในผู้หญิงอายุ 9-26 ปี(เน้นให้ฉีดในช่วงอายุ 11-12 ปีโดยฉีด 3 เข็มเดือนที่ 0,1-2 และ 6
    • ประสิทธิภาพจะสูงหากฉีดในผู้ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน
    • การฉีดในผู้ที่อายุมากกว่า 26 ปีอาจพิจารณาให้เป็นกรณีๆไป
    • การฉีดในเด็กผู้ชายพิจารณาให้ฉีดเฉพาะ 4 สายพันธ์ ในช่วงอายุ 9-26ปีเน้นให้ในช่วงอายุ 11-12 ปี และในกลุ่มชายรักชายอายุ 9-26ปี
Categories
บทความ

มาฟังข้อดีของการตรวจสุขภาพประจำปี และควรตรวจอะไรบ้าง?

มาฟังข้อดีของการตรวจสุขภาพประจำปี และควรตรวจอะไรบ้าง?

เหตุผลดีๆของการตรวจสุขภาพประจำปี

ทำไมจึงต้องตรวจสุขภาพประจำปี
การดูแลและรักษาสุขภาพเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับทุกคน เนื่องจากร่างกายและอวัยวะต่างๆของเราทำงานอยู่ตลอดเวลา และเมื่ออายุมากขึ้นร่างกายย่อมมีการเสื่อมสภาพหรือบกพร่องไปแต่เราก็สามารถดูแลและตรวจสอบสภาพร่างกายของเราได้โดยการตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อค้นหาโรคต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในร่างกายเราตั้งแต่ ในระยะแรกๆ ซึ่งยังไม่มีอาการ อันได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้เราสามารถรักษาโรคต่างๆได้ทันท่วงที ไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมา

ข้อดีของการตรวจสุขภาพประจำปีคืออะไร
ข้อดีของการตรวจสุขภาพประจำปีคือ การที่เราสามารถตรวจพบโรคต่างๆได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ทำให้เราได้รับการรักษาที่เหมาะสม และป้องกันไม่ให้โรคลุกลามไปมากจนเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง หรือหากตรวจพบว่ายังไม่เป็นโรค แต่มีภาวะเสี่ยงที่จะเกิดโรค เราก็จะได้ดูแลป้องกัน ลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่จะทำให้เกิดโรค และเฝ้าระวังติดตามปัญหาสุขภาพนั้นอย่างใกล้ชิดกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยเฉพาะคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ  ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคอาหารไขมันสูงเป็นประจำ การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก ยิ่งมีโอกาสเกิดโรคต่างๆมากกว่าคนทั่วไป ดังนั้นหากเราไม่ตระหนักถึงอันตรายของโรคร้ายต่างๆ และละเลยการตรวจสุขภาพประจำปีตามที่แพทย์ได้แนะนำ ร่างกายอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้นแล้วควรตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

การตรวจสุขภาพตรวจอะไรบ้างและใครบ้างที่ควรตรวจสุขภาพ

การตรวจสุขภาพประจำปีสามารตรวจได้ทุกวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยสูงอายุ  โดยรายการตรวจจะแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ เพศกรรมพันธุ์ และความเสี่ยงต่อการเกิดโรคของแต่ละบุคคล โดยสามารถแบ่งการตรวจสุขภาพประจำปีเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆดังต่อไปนี้

  • วัยเด็ก 

สำหรับการตรวจสุขภาพในกลุ่มเด็กจะเป็นการตรวจร่างกาย เพื่อดูการเจริญเติบโตและพัฒนาการเป็นหลัก ซึ่งจะประเมินโดยกุมารแพทย์ และยังรวมไปถึงการฉีดวัคซีนตามช่วงอายุ  เพื่อป้องกันการเกิดโรคต่างๆอีกด้วย

  • วัยทำงานหรือวัยผู้ใหญ่

การตรวจสุขภาพประจำปีในกลุ่มวัยทำงาน คือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 – 60 ปี จะเป็นการตรวจสภาพของร่างกาย เพื่อค้นหาโรคต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในร่างกาย โดยขั้นตอนการตรวจสุขภาพนั้น ประกอบด้วย การวัดความดันโลหิต การวัดชีพจร การวัดอัตราการหายใจ วัดส่วนสูง ชั่งน้ำหนัก การตรวจเลือด (ได้แก่ระดับน้ำตาล ระดับไขมัน การทำงานของไต การทำงานของตับ เป็นต้น) การตรวจเอ็กซเรย์ทรวงอก การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจอัลตร้าซาวน์ช่องท้อง การตรวจปัสสาวะ การตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษอื่นๆ  หลังจากนั้นแพทย์จะทำการซักถามถึงประวัติทางสุขภาพในอดีต ประวัติครอบครัว โดยเฉพาะผู้ที่ครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคหัวใจและเบาหวานเนื่องจากคนกลุ่มนี้มีอัตราความเสี่ยงของการเกิดโรคดังกล่าวมากกว่าบุคคลอื่นรวมถึงซักถามพฤติกรรมต่างๆที่ส่งผลต่อสุขภาพ เช่น ลักษณะการบริโภคอาหารการดื่มสุรา การสูบบุหรี่ ความเครียดจากการทำงาน พฤติกรรมการออกกำลังกาย เป็นต้น และแพทย์จะทำการตรวจร่างกายเบื้องต้น และรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อวินิจฉัยและให้คำแนะนำตามความเสี่ยงของแต่ละบุคคล  นอกจากนี้การตรวจสุขภาพประจำปี ยังครอบคลุมถึงการแนะนำเรื่องการฉีดวัคซีนต่างๆ ตามความจำเป็นของแต่ละบุคคลด้วย 

นอกจากรายการตรวจเบื้องต้นที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น  สำหรับผู้หญิงที่มีอายุ 40ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจเอ็กซเรย์เต้านมเพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วย และผู้หญิงที่มีอายุ30 ปีขึ้นไปหรือเคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยอีกเช่นกัน 

สำหรับคนที่มีอายุมากกว่า50  ปีขึ้นไปทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ควรเข้ารับการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่างอีกด้วยเพื่อเป็นการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง

  • การตรวจสุขภาพในกลุ่มผู้สูงอายุ

กลุ่มผู้สูงอายุคืออายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีเพิ่มเติมจากการตรวจสุขภาพแบบเบื้องต้น ซึ่งประกอบไปด้วย การตรวจสภาพสายตาการประเมินสมรรถภาพการทำงานของสมองการตรวจความหนาแน่นกระดูกเพื่อคัดกรองภาวะกระดูกพรุน การตรวจสมรรถภาพหัวใจจากการวิ่งสายพานหรือการอัลตร้าซาวน์หัวใจ