Categories
บทความ

5 โรคที่มากับหน้าฝน

5 โรคที่มากับหน้าฝน

สภาพอากาศและอุณหภูมิที่เย็นชุ่มฉ่ำในช่วงหน้าฝน เป็นสาเหตุทำให้โรคติดต่อสามารถ แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับอากาศประเทศไทยที่แปรปรวน เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็น ยิ่งทำให้สุขภาพและภูมิคุ้มกันถดถอย จึงเป็นที่มาของโรคติดต่อยอดฮิตที่ควรทราบและพึงระวังไว้ โรคติดเชื้อที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนคือ โรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้เลือดออก

 โรคไข้หวัด

โรคไข้หวัดเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายชนิด ติดต่อและ แพร่กระจายได้ง่าย ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำๆ น้ำมูกใส ระคายคอ เสียงแหบ และไอ การรักษาเป็น การรักษาตามอาการ ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ อาการมักดีขึ้นเองภายใน 2-3 วัน

 โรคไข้หวัดใหญ่

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์และแพร่กระจายได้ง่าย คนกลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่และมีอาการรุนแรงหรือพบภาวะแทรกซ้อนได้บ่อยได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนอ้วน หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง

อาการ

ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จะมีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และมักมีน้ำมูกและไอร่วมด้วย ภาวะแทรกซ้อนซึ่งมักพบในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงคือ ภาวะปอดอักเสบ

การวินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่อาศัยอาการของผู้ป่วย ร่วมกับการตรวจหาเชื้อไวรัส ไข้หวัดใหญ่จากน้ำในโพรงจมูกและเสมหะของผู้ป่วย

การรักษา

การรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เป็นการรักษาด้วยยาตามอาการ ดื่มน้ำและพักผ่อนให้ เพียงพอ ยาโอเซตามีเวียร์เป็นยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน

การป้องกัน

การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทำได้โดยใช้หน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อยๆ เมื่อป่วยเป็นไข้ หรือมีอาการหวัดหรือเมื่อต้องเข้าไปในที่ชุมชน วัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกันโรคได้ร้อยละ 50-90 แนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละหนึ่งครั้งสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปและสำหรับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในคนกลุ่มเสี่ยง

โรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกีซึ่งมี 4 ชนิดและมียุงลายเป็นพาหะนำโรค พบบ่อยในเด็กโต วัยรุ่น และคนวัยทำงาน

อาการ

ผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการไข้สูงลอยนาน 3-7 วัน หน้าแดง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ตับโตและกดเจ็บ พบเลือดออกที่ผิวหนังและใน กระเพาะอาหารได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีการรั่วของน้ำออกจากเส้นเลือด ทำให้มีภาวะเลือดข้น และเกิดอาการช็อกได้

การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกอาศัยอาการของผู้ป่วยร่วมกับผลการตรวจเลือด การตรวจนับเม็ดเลือดจะพบจำนวนเม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือดลดลง และอาจพบ ความเข้มข้นของเลือดสูงขึ้น การตรวจเลือดยืนยันว่าเป็นโรคไข้เลือดออกจริงที่นิยมใช้คือ การตรวจหาเอ็นเอส-1 การตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ และการตรวจด้วยวิธีพีซีอาร์

การรักษา

ผู้ป่วยไข้เลือดออกส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและให้การดูแลรักษาที่บ้านได้ ควรติดตามอาการกับแพทย์ทุก 1-2 วัน การรักษาผู้ป่วยประกอบด้วย การลดไข้ด้วยการเช็ดตัว และยาพาราเซตามอล และดื่มน้ำให้เพียงพอ ผู้ป่วยที่มีอาการแย่ลงโดยเฉพาะเมื่อไข้ลดลง เช่น ซึม มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาเร็ว กระสับกระส่าย ปวดท้องรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด ต้องรีบไปโรงพยาบาล

การป้องกัน

การป้องกันโรคไข้เลือดออกทำได้โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัดและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง วัคซีนไข้เลือดออกช่วยป้องกันโรคได้เกือบร้อยละ 70 หรืออย่างน้อยก็ช่วยลดความรุนแรงของ โรคได้ แนะนำให้ใช้ในเด็กอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไปและในผู้ใหญ่อายุไม่เกิน 45 ปี

นอกจากนี้ยังมีโรคอื่นๆที่สามารถเกิดได้ทุกฤดูกาลของประเทศไทย แต่มักจะพบบ่อยในช่วงฤดูฝน ได้แก่ โรคติดต่อเกี่ยวกับดวงตา มักเกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรก อาจด้วยการขยี้ตา หรือน้ำกระเด็นเข้าตา จะมีอาการคันตา ตาแดง เป็นโรคติดต่อได้ง่าย ป้องกันได้ด้วยการหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ

โรคฉี่หนู

ภาษาอังกฤษ : Leptospirosis มักเกิดในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง เป็นแหล่งอาศัยของหนู อาการโดยทั่วไปคือปวดศีรษะ มีไข้สูงเฉียบพลัน ตาแดง ปวดบริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรง ในบางรายอาจไตวายหรือช็อคได้ ป้องกันได้ด้วยการใส่รองเท้าบูทที่สามารถกันน้ำได้ และหลีกเลี่ยงการเดินเหยียบย่ำบริเวณที่น้ำขัง

Categories
บทความ

RSV ไวรัสตัวร้าย อันตรายกับเจ้าตัวน้อย

RSV ไวรัสตัวร้าย อันตรายกับเจ้าตัวน้อย

RSV คืออะไร?

RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่ก่อโรคทางระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อยในเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง การระบาดของเชื้อนี้มักพบในฤดูฝนและฤดูหนาวในประเทศไทย

หากติดไวรัส RSV จะมีอาการเป็นอย่างไร?

เมื่อติดเชื้อ RSV จะมีอาการเหมือนไข้หวัดธรรมดาคือ ไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล โดยลักษณะของไข้จะมีไข้สูงหรือไข้ต่ำๆก็ได้ แต่หากการดำเนินโรครุนแรงมากขึ้นเป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างจะมีอาการของภาวะหลอดลมอักเสบ ปอดบวมหรือปอดอักเสบ และทำให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลวได้ อาการที่ต้องสังเกตของ RSV ที่ต้องเฝ้าระวัง คือ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ RSV และมีอาการไอมาก เสมหะมาก หายใจมีเสียงวี๊ดหรือมีเสียงครืดคราด มีอาการหอบเหนื่อยหายใจเร็วอกบุ๋ม ควรรีบมาพบแพทย์

ใครบ้างที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดปอดอักเสบติดเชื้อไวรัส RSV?

กลุ่มผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเกิดปอดอักเสบติดเชื้อตามมาได้โดยง่าย ได้แก่ ทารกคลอดก่อนกำหนดโดยเฉพาะที่อายุครรภ์น้อยกว่า 29 สัปดาห์ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคหัวใจ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคปอด เป็นต้น มีโอกาสที่โรคจะทรุดตัวได้อย่างรวดเร็วจนถึงขั้นต้องใส่เครื่องช่วยหายใจได้ เพราะฉะนั้นผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรระมัดระวังป้องกันการติดเชื้อและดูแลอย่างใกล้ชิด 

กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัส-rsv-อาการที่ควรสังเกต


ไวรัส RSV ติดต่อทางใดได้บ้าง?

ไวรัส RSV ติดต่อโดยตรงกับการสัมผัสสารคัดหลั่งต่างๆ เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ เช่น หากที่มือเรามีเชื้อ RSV จากสัมผัสกับารคัดหลั่งที่ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แล้วเรานำมือไปขยี้ตา หรือเข้าจมูกก็สามารถติดเชื้อนี้ได้โดยง่าย เชื้อ RSV สามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายชั่วโมงและอยู่บนมือได้นานกว่าครึ่งชั่วโมงหากไม่ได้ล้างทำความสะอาด เมื่อได้รับเชื้อมาแล้วระยะฝักตัวของโรคอยู่ที่ประมาณ 4-6 วันหลังจากได้รับเชื้อ

มีวัคซีนหรือยารักษาหรือไม่?

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อ RSV อีกทั้งยังไม่มียารักษาเชื้อไวรัส RSV โดยตรงอีกด้วย การรักษาเป็นเพียงการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ การดูดเสมหะ การให้ยาขยายหลอดลมในรายที่มีภาวะหลอดลมตีบ ให้ออกซิเจน การให้สารน้ำทดแทนให้เพียงพอ ระยะเวลาในการรักษาของแต่ละคนขึ้นกับความรุนแรงของโรค ส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 1-2 สัปดาห์

เราจะป้องกันการติดเชื้อจากไวรัส RSV ได้อย่างไร?

เนื่องจากเป็นโรคติดเชื้อที่ถึงแม้เคยเป็นแล้วสามารถเป็นซ้ำได้อีกและยังไม่มีวัคซีนใช้ในปัจจุบัน สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือป้องกันนั่นเอง ได้แก่ ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลอยู่เสมอทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ใส่หน้ากากอนามัยเป็นประจำ รักษาความสะอาดทำความสะอาดของเล่นเด็กบ่อยๆ หากมีคนในบ้านป่วยควรแยกและงดใช้ของส่วนตัวร่วมกัน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง สำหรับเด็กที่เข้าเนิร์สเซอร์รี่หรือเข้าโรงเรียนแล้วเมื่อมีการป่วยควรหยุดเรียนทันทีจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคอีกทางนึง

Categories
บทความ

ภูมิแพ้

ภูมิแพ้

ภูมิแพ้ คือ โรคที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยที่ร่างกายจะมีปฏิกิริยาไวต่อสารที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้หรือสารระคายเคือง ซึ่งจะทำให้เกิดอาการแพ้ โรคชนิดนี้มักไม่ค่อยรุนแรงถึงชีวิต แต่จะส่งผลรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหรือทำงาน ภูมิแพ้เป็นโรคที่พบมากในประชากรทั่วโลก สำหรับประเทศไทยนั้น จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคภูมิแพ้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี
อาการของโรคภูมิแพ้

  • มีผื่นที่ผิวหนัง เช่นผื่นแพ้ ลมพิษ คันตามผิวหนัง
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม
  • ไอ แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด โรคหอบ หืด
  • เคืองตา  และตาแดง คัดจมูก
  • บวมรอบปาก อาเจียน และถ่ายเหลว
  • แสบคอ น้ำมูกไหลลงคอ หูอื้อ

 

โรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
            ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หากไม่ได้รับการรักษาหรือปล่อยให้มีอาการเวลานานๆ อาจทำให้มีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูก นอนกรน ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผิวหนังติดเชื้อ คออักเสบ ไอเรื้อรัง  หูชั้นกลางอักเสบ ปวดหู หูอื้อ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดอาการโรคภูมิแพ้ได้ง่าย หรือมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น อากาศหนาว อาการเปลี่ยน หรือมลพิษในอากาศ

 

สาเหตุ ของโรคภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้ไม่ใช่โรคติดต่อแต่เกิดจากปัจจัยสำคัญ 2 อย่าง คือ

  • กรรมพันธุ์ กรณีที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ คือ สิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าบุคคลนั้นจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นภูมิแพ้ได้ง่าย เพราะภูมิแพ้เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ ถ้าพ่อ หรือแม่เป็น ลูกก็จะมีโอกาสป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ได้ประมาณ 30% แต่ถ้าหากทั้งพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้ทั้งคู่ ลูกที่เกิดจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นภูมิแพ้สูงถึง 60 – 70 %
  • สิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างมากเพราะสารก่อภูมิแพ้ที่จะเข้าสู่ร่างกายของเรา เกิดจากภาวะแวดล้อมทั้งสิ้น ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น การหายใจ การรับประทานอาหาร หรือแม้กระทั่งการสัมผัสสารที่ร่างกายได้รับ หรือสัมผัสแล้วทำให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ตามมา ที่พบบ่อย ได้แก่ ไรฝุ่น ละอองเกสร เชื้อรา อาหารบางชนิด เช่น นมวัว ไข่ขาว อาหารทะเลนอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งเสริมให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ ได้แก่ อากาศเปลี่ยน การสัมผัสสารระคายเคือง เช่น ควันธูป ควันบุหรี่

การทดสอบภูมิแพ้ (Allergy Skin Prick Test)
               เมื่อร่างกายเกิดโรคภูมิแพ้ เราจำเป็นต้องทราบว่าร่างกายแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใด เพราะการรักษาที่ดีสุด คือ การหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ การทดสอบภูมิแพ้ เป็นการทดสอบภูมิแพ้ต่อสารชนิดต่างๆ ทางผิวหนัง โดยแพทย์จะเป็นผู้ทำการทดสอบด้วยน้ำยาทดสอบภูมิแพ้โดยเฉพาะ ซึ่งทำให้ทราบว่าผู้ป่วยมีอาการแพ้สารใดบ้าง เช่น แมลงสาบ ขนแมว ไรฝุ่น เชื้อรา ขนสุนัข เกสร หญ้า ฝุ่นบ้าน และแพ้อาหารต่างๆ เป็นต้น ซึ่งการทดสอบชนิดนี้ไม่ทำให้คนไข้เกิดความรู้สึกเจ็บปวด และแพทย์ก็สามารถแจ้งผลการตรวจให้คนไข้ทราบได้ทันที

 

การรักษาภูมิแพ้

  • หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ และสารระคายเคือง เนื่องจากการรักษาที่ดีที่สุดของโรคภูมิแพ้ คือ การหลีกเลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ก็จำเป็นต้องใช้ยาเพื่อการรักษา หรือเพื่อบรรเทา และควบคุมอาการที่จะเกิดขึ้น
  • การใช้ยารักษา แพทย์จะวินิจฉัย และจ่ายยาให้ผู้ป่วยอย่างเหมาะสม เพื่อบรรเทา และควบคุมอาการที่จะเกิดขึ้น ผู้ที่มีอาการคัดจมูกมากอาจจะต้องใช้ยาลดอาการคัดจมูก สำหรับผู้ที่มีอาการเรื้อรังอาจจะต้องใช้ยาพ่นจมูก
  • การฉีดวัคซีนรักษาโรคภูแพ้ โดยผู้ป่วยจะได้รับการฉีดสารก่อภูมิแพ้เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันชนิด IgG การฉีดจะเลือกฉีดเฉพาะสารก่อภูมิแพ้ที่ทดสอบทางผิวหนังแล้วพบว่าแพ้ จากนั้นแพทย์จะเพิ่มขนาดยาตามตารางเวลา ซึ่งผลข้างเคียงจากการฉีดจะมีรอยผื่นแดง ผื่นคัน นานประมาณ 4 – 8 ชั่วโมง ส่วนผลข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น คือ การคัดจมูก น้ำมูกไหล อาการเหล่านี้มักจะเกิดภายใน 30 นาทีหลังฉีด มีส่วนน้อยที่อาจจะแพ้ยาที่ฉีดชนิดรุนแรง แต่อาการมักเป็นชั่วคราว และหายได้หลังจากแพทย์ให้ยาแก้แพ้

การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ที่เป็นภูมิแพ้

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสาร หรือสิ่งที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้
  • ดูแลร่างกายให้สดชื่น แข็งแรงอยู่เสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และควรออกกำลังกายเป็นประจำ
  • ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำเมื่อมีน้ำมูกเรื้อรัง
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำ และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง พบแพทย์เมื่อมีอาการแทรกซ้อนระหว่างการรักษา เช่น มีไข้ น้ำมูก ไอมีเสมหะ หอบ เป็นต้น
Categories
บทความ

โรคฉี่หนู และวิธีการรักษาเบื้องต้น

โรคฉี่หนู วิธีการรักษาเบื้องต้น

โรคฉี่หนู หรือ Leptospirosis เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียจากสัตว์สู่คน เชื้อก่อโรคจะปนออกมากับฉี่ของสัตว์ต่างๆ โดยหนูจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญที่สุด จึงเรียกว่า โรคฉี่หนู แต่อย่างไรก็ตามสัตว์อื่นๆ อย่างเช่น สุนัข วัว ควาย ก็สามารถมีเชื้อ และ แพร่เชื้อมาสู่คนได้เช่นเดียวกัน (เชื้อนี้ไม่ทำให้สัตว์มีอาการป่วย) โดยเชื้อจะถูกขับออกมากับฉี่ของสัตว์เหล่านี้มาอยู่ในดินที่ชื้นแฉะ น้ำท่วมขัง หรือตามสวนไร่นาที่มีน้ำขัง และเชื้อก็จะมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ได้นานเป็นเดือน เมื่อคนย่ำน้ำที่มีเชื้อฉี่หนูอยู่ เชื้อก็จะไชเข้าสู่ผิวหนังและทำให้คนป่วยได้

 

อาการของโรค

โรคฉี่หนู จะแสดงอาการภายในเวลาประมาณ 10 วันหลังได้รับเชื้อ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่ถ้ามีอาการ จะมีอาการที่ไม่รุนแรง และ มักหายเองได้ภายในเวลา 5 – 7 วัน คือ

  • มีไข้สูง
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดกล้ามเนื้อ หรือ ข้อต่อต่างๆ โดยมักปวดมากบริเวณน่องขา
  • ตาแดง
  • เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน
  • ท้องเสีย ถ่ายเหลว แต่มีผู้ป่วยราว 5-10% ที่อาการเหมือนจะดีขึ้น และ หายดีประมาณ 1-3 วัน หลังจากนั้นกลับทรุดลง เนื่องจากมีการพัฒนาของโรคไปสู่โรคฉี่หนูแบบรุนแรง ทำให้ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล โดยจะมีอาการเหล่านี้เกิดร่วมมากับไข้ ได้แก่
  • ตัวตาเหลือง
  • มือบวม เท้าบวม
  • เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หายใจหอบเหนื่อย หรือไอปนเลือด
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ ทำให้ใจสั่นหน้ามืด
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทำให้ปวดศีรษะมากหรือชักได้
  • ปัสสาวะออกน้อยลง จากภาวะไตวายเฉียบพลัน
 

แนวทางการดูแลรักษา

ส่วนมากโรคฉี่หนูมักไม่มีอาการรุนแรงและหายดีได้เอง แต่การรักษาโดยการให้ยาฆ่าเชื้อ ก็จะช่วยให้อาการหายเร็วขึ้น ป้องกันการเกิดอาการฉี่หนูแบบรุนแรง และ ป้องกันการกลับไปติดเชื้อซ้ำได้

ยาฆ่าเชื้อที่ใช้ในการรักษา ได้แก่ ยากลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อแบบฉีด หรือ ดอกซีไซคลิน (Doxycycline) ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อแบบกิน ระยะเวลาในการรักษา คือ 5-7 วัน ผู้ป่วยต้องรับประทานยา หรือฉีดยาตามกำหนดให้ครบถ้วนแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม เพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อแบคทีเรียถูกกำจัดจนหมดยาแก้ปวด อย่างไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือ พาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อลดอาการปวดศีรษะ มีไข้ และปวดกล้ามเนื้อได้ ในขณะที่ผู้ป่วยโรคฉี่หนูแบบรุนแรง จะต้องนอกรักษาที่โรงพยาบาล เพื่อให้น้ำเกลือและฉีดยาฆ่าเชื้อต่อเนื่อง ผู้ป่วยบางรายอาจออกจากโรงพยาบาลได้ภายในไม่กี่วัน แต่บางรายอาจต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เป็นเวลาหลายสัปดาห์ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย และความเสียหายต่ออวัยวะภายในด้วย

  • ยาฆ่าเชื้อที่ใช้ในการรักษา ได้แก่ ยากลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อแบบฉีด หรือ ดอกซีไซคลิน (Doxycycline) ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อแบบกิน ระยะเวลาในการรักษา คือ 5-7 วัน ผู้ป่วยต้องรับประทานยา หรือฉีดยาตามกำหนดให้ครบถ้วนแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม เพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อแบคทีเรียถูกกำจัดจนหมด
  • ยาแก้ปวด อย่างไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือ พาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อลดอาการปวดศีรษะ มีไข้ และปวดกล้ามเนื้อได้ ในขณะที่ผู้ป่วยโรคฉี่หนูแบบรุนแรง จะต้องนอกรักษาที่โรงพยาบาล เพื่อให้น้ำเกลือและฉีดยาฆ่าเชื้อต่อเนื่อง ผู้ป่วยบางรายอาจออกจากโรงพยาบาลได้ภายในไม่กี่วัน แต่บางรายอาจต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เป็นเวลาหลายสัปดาห์ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย และความเสียหายต่ออวัยวะภายในด้วย
Categories
บทความ

โรคฉี่หนู อันตรายที่มาพร้อมกับฝน

โรคฉี่หนู อันตรายที่มาพร้อมกับฝน

โรคฉี่หนู (Leptospirosis) เกิดจาก การลุยน้ำ หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางแผล หรือผิวหนังอ่อนนุ่ม จากการแช่น้ำนาน และเป็นโรคที่ระบาดมากในฤดูฝน เนื่องจากน้ำฝนจะชะล้างเอาเชื้อโรคต่างๆไหลมารวมกันอยู่ในบริเวณที่น้ำขัง 

ซึ่งโรคฉี่หนูเกิดจากเชื้อก่อโรคฉี่หนู เป็นแบคทีเรียอยู่ในปัสสาวะของสัตว์ เช่น หนู หมู สุนัข วัว หรือแม้แต่กระทั่วสัตว์ป่าต่างๆ

หากมีประวัติการเดินลุยน้ำ และมีอาการปวดศรีษะ ไข้ขึ้นสูง ปวดตามกล้ามเนื้อ ควรรีบพบแพทย์ทันที หากปล่อยไว้นานอาการอาจมากถึงขั้นเสียชีวิตได้

อาการของโรคฉี่หนู

ผู้ติดเชื้อจากโรคฉี่หนูส่วนใหญ่จะมีระยะฟักตัวแต่ละคนจะไม่เท่ากัน บางรายมีอาการเร็วภายใน 2 วัน บางหลายอาจหลายสัปดาห์หรือถึง 1 เดือน ส่วนใหญ่ผู้ที่รับเชื้อจะไม่มีอาการหรือมีเพียงเล็กน้อย จะมีเพียง 10-15% ที่จะมีอาการรุนแรง และมักมีอาการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ 

ระยะแรก

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดศีรษะ มีไข้สูง หนาวสั่น 
  • ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ
  • เจ็บช่องท้อง
  • ตาแดงหรือระคายเคืองที่ตา
  • มีผื่นขึ้น
  • เบื่ออาหาร
  • ท้องเสีย

 

ระยะที่สอง

  • มือ เท้า หรือข้อเท้าบวม
  • เจ็บหน้าอก
  • ตัวเหลืองตาเหลือง หรือภาวะดีซ่าน
  • หายใจลำบาก หอบเหนื่อย หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ไตวายเฉียบพลัน
  • ภาวะเลือดออกง่ายตามอวัยวะต่างๆ และอาจทำให้อวัยวะต่างๆทำงานล้มเหลวและเป็นอันตรายถึงชีวิต

 

ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อก่อโรคฉี่หนู

  • คนที่ทำงานฟาร์มปศุสัตว์หรือสัมผัสเนื้อหรือมูลของสัตว์
  • คนงานขุดลอกท่อระบายน้ำ
  • ผู้ที่ชอบเดินป่า ท่องเที่ยวตามแม่น้ำ ทะเลสาบ น้ำตก
  • ผู้ที่อาบน้ำตามแม่น้ำ ลำคลอง ที่เป็นแหล่งน้ำจืดทั้งหลาย
  • ชาวประมงที่หาสัตว์ตามแหล่งน้ำจืด

 

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคฉี่หนู

ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยในผู้ป่วยคือ ภาวะไตวายเฉียบพลัน สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากภาวะเกี่ยวกับปอดที่ร้ายแรงอย่างการมีเลือดออกในปอด ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้มีดังนี้

  • การแท้งในหญิงตั้งครรภ์
  • ภาวะแข็งตัวของเลือดในหลอดอาหาร
  • กล้ามเนื้อลายสลายตัว
  • โรคเกี่ยวกับตา เช่น ม่านตาอักเสบ
  • โรคหลอดเลือดในสมอง เลือดออกในเยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง หลอดเลือดสมองอักเสบ
  • อาการแพ้ที่ทำให้มีไข้หรือเกิดผื่นที่ขา
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
  • ภาวะหัวใจวาย

 

การป้องกัน

  • เลี่ยงการลุยน้ำ หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน 
  • สวมรองเท้าบูท และถุงมือยาง ถ้าจำเป็นต้องลุยน้ำ
  • ปิดพลาสเตอร์ หากมีบาดแผลเพื่อไม่ให้แผลสัมผัสกับน้ำ
  • ทานอาหารปรุงสุก สด ใหม่ ผัก ผลไม้ ต้องล้างให้สะอาด
  • ล้างมือ อาบน้ำ เมื่อลุยน้ำมา ต้องชำระล้างร่างกายทันที
  • ทำความสะอาดบริเวณบ้าน รวมทั้งสิ่งแวดล้อมภายในบ้านไม่ให้มีหนูชุกชุม

แหล่งที่มา : https://www.bpksamutprakan.com/care_blog/view/193

Categories
บทความ

สังเกตอาการ 4 ระยะฟักตัวโรคฝีดาษลิง

สังเกตอาการ 4 ระยะฟักตัวโรคฝีดาษลิง

ณ ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง ในประเทศไทยแล้ว และ WHO หรือองค์การอนามัยโลกได้ออกมาประกาศว่า ให้ทุกประเทศเฝ้าระวังการระบาดของเชื้อฝีดาษลิง โดยโรคฝีดาษลิงเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง และติดต่อโดยการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เพราะฉะนั้นการสังเกตอาการหรือรู้ระยะฟักตัวของโรคจึงเป็นสิ่งสำคัญ

โดยอาการของโรคฝีดาษลิง ตั้งแต่ติดเชื้อจนถึงหายจากโรคจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ

ระยะที่ 1 เรียกว่า ระยะฟักตัว : ระยะตั้งแต่รับเชื้อ จนเกิดอาการ ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ โดยจะอยู่ในช่วง 5-21 วันหลังจากได้รับเชื้อ

ระยะที่ 2 เรียกว่า ระยะไข้ หรือระยะก่อนออกผื่น : ระยะนี้สามารถเป็นได้ตั้งแต่ 1-4 วัน จะมีอาการเหมือนการติดเชื้อไวรัสทั่วไป ได้แก่ มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหัว เจ็บคอ หนาวสั่น อ่อนเพลีย มีแผลในปาก และต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย ซึ่งอาการต่อมน้ำเหลืองโตถือเป็นอาการเฉพาะของโรคฝีดาษลิง

ระยะที่ 3 เรียกว่า ระยะออกผื่น : อาการระยะนี้จะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ บางรายอาจะเป็นนานถึง 4 สัปดาห์ จะมีผื่นหรือตุ่มขึ้นเป็นจำนวนมากตามร่างกาย โดยจะเริ่มจากผื่นแบน แล้วเป็นผื่นนูน ต่อด้วยตุ่มน้ำใส และตุ่มน้ำขุ่น หรือตุ่มหนอง จนกระทั่งเป็นผื่นแผลแห้งเป็นขุย เมื่อตุ่มหนองต่าง ๆ แห้งหมด จะถือว่าหมดระยะแพร่เชื้อ

ระยะที่ 4 เรียกว่า ระยะฟื้นตัว : ใช้เวลาหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์

สังเกตอาการ4ระยะฟักตัวโรคฝีดาษลิง
 

การรักษาโรคฝีดาษลิง

  • รักษาตามอาการ หากอาการไม่รุนแรง
  • มีการนำยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาฝีดาษคน มาใช้รักษาโรคฝีดาษลิง ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง แต่ประโยชน์และผลการรักษาจากการใช้ยาดังกล่าวยังไม่ชัดเจน
Categories
บทความ

ทำความรู้จัก “โรคฝีดาษลิง” (Monkeypox) แพร่เชื้อ-ติดต่ออย่างไร?

ทำความรู้จัก “โรคฝีดาษลิง” (Monkeypox) แพร่เชื้อ-ติดต่ออย่างไร?

Categories
บทความ

โรคไข้เลือดออกระบาด – สาเหตุ อาการ ระวัง ป้องกัน รู้ทันยุงลาย

ไข้หวัดใหญ่ โรคร้ายในช่วงฤดูฝน ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19

เกร็ดความรู้เรื่องไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่แพร่ระบาดในฤดูฝนพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสโดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงลายที่มีเชื้อไวรัสกัดคน จะถ่ายทอดเชื้อให้คนทำให้เกิดอาการ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการช็อค ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันเวลาอาจเสียชีวิตได้ โดยมีอาการเลือดออกตามมา

เป็นโรคอันตรายที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขในพื้นที่ประเทศเขต ร้อนชื้น โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค เพื่อให้เกิดความ“ตระหนัก” ถึงความสำคัญของโรค การให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง จะมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออกและผู้ดูแลรู้จักวิธีการดูแลรักษาเบื้องต้นที่บ้าน รู้สัญญาณอันตราย ซึ่งต้องรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ ตลอดจนรู้แนวทาง และช่วยเหลือกันในการป้องกันไม่ให้เกิดโรค

ข้อมูลจากระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค 506 สำนักระบาดวิทยา รายงานถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี พ.ศ.2559 ณ วันที่20 ธันวาคม 2559 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก (Dengue fever: DF, Dengue haemorrhagic fever: DHF, Dengue shock syndrome: DSS) สะสมรวม 60,964 ราย อัตราป่วย 93.18 : แสนคน  จำนวนผู้ป่วยลดร้อยละ 57.36 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2558 ณ ช่วงเวลาเดียวกัน ผู้ป่วยเสียชีวิต 60 ราย อัตราป่วยตาย เท่ากับ ร้อยละ 0.10 จะเห็นได้ว่าคนมีการระวังและป้องกันอันตรายจากยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกกันมากขึ้น แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังกันอย่างใกล้ชิด เพราะไข้เลือดออกไม่มีทางรักษา และทำให้เสียชีวิตได้ หากไม่รู้จักวิธีการดูแลรักษาเบื้องต้น

สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อ ไวรัสเดงกี่  โดยมี 4 ชนิดคือ เดงกี่-1, เดงกี่-2, เดงกี่-3 และเดงกี่-4 ทําให้คนเรามีโอกาสที่จะป่วยจากโรคไข้เลือดออกได้หลายครั้ง มีพาหะนำโรคที่สำคัญคือ ยุงลาย เมื่อยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่ กัด จะส่งเชื้อให้คน ทำให้เกิดการติดเชื้อตามมา ยุงลายมักออกหากินตอนกลางวัน  และวางไข่ในน้ำสะอาดที่ขังนิ่ง

อาการ

แบ่งเป็น  3 ระยะได้แก่ ระยะไข้ ระยะวิกฤต และระยะพักฟื้น อาการที่สำคัญในระยะไข้

1. ระยะไข้ 

คือ อาการไข้สูงลอยประมาณ 39 – 40°C นาน 2-7 วัน มักมีหน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดตา ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกระดูก คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง และอาจมีภาวะเลือดออกร่วมด้วย โดยอาการของผู้ป่วยไข้เลือดออกส่วนใหญ่ จะไม่ปรากฏพร้อมๆ กัน จึงต้องเฝ้าติดตามเป็นระยะๆ 

2. ระยะวิกฤต 

เมื่อผู้ป่วย มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น  มีอาการเพลีย ซึม ไม่ดื่มนํ้า ไม่รับประทานอาหาร ไม่มีกิจกรรมตามปกติ เมื่อไข้ลง (บางรายจะกระหายนํ้ามาก) อาเจียน ปวดท้องมาก เลือดออกผิดปกติ มีอาการช็อก (IMPENDING SHOCK) คือมือเท้าเย็นกระสับกระส่าย ร้องกวนมากในเด็กเล็ก ตัวเย็น เหงื่อออก ตัวลาย สีผิวคลํ้าลง ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ปัสสาวะ 4-6 ชม. ความประพฤติเปลี่ยนแปลง เช่น พูดไม่รู้เรื่อง เพ้อ เอะอะโวยวายเป็นระยะอันตรายของโรค เข้าสู่ระยะช็อก แม้อยู่ในภาวะช็อก ผู้ป่วยจะมีสติดี พูดจารู้เรื่อง ต้องรีบนําส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที และกระตุ้นให้ผู้ป่วยดื่มนํ้าเกลือแร่หรือนํ้าผลไม้ใส่เกลือเล็กน้อย โดยให้จิบครั้งละน้อยๆ บ่อยๆ ไม่ควรดื่มแต่นํ้าเปล่าอย่างเดียว  

ภาวะช็อกส่วนใหญ่เกิดจากมีการรั่วของพลาสม่าออกนอกหลอดเลือด ทําให้ความเข้มข้นของเลือดเพิ่มขึ้น และบางรายอาจถึงขั้นมีความดันโลหิตตํ่าหรือที่เรียกว่าช็อกตามมา นอกจากนั้นภาวะช็อกอาจเกิดจากการที่เลือดออกในอวัยวะสําคัญได้แก่ เลือดออกในกระเพาะอาหาร ประจําเดือนมามากกว่าปกติ และเลือดออกจากแผลผ่าตัดในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด ภาวะช็อก อาจทําให้เกิดภาวะล้มเหลวของอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะไตและตับ ซึ่งส่งผลรุนแรงถึงขั้นทําให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ง

3. ระยะพักฟื้น 

กรณีผู้ป่วยรับการรักษาแล้วแพทย์ให้กลับบ้านได้ ควรดูแลและปฏิบัติตนต่อไปคือไม่ควรให้ถูกยุงกัดภายใน 5 วันแรกของโรค เพราะผู้ป่วยยังมีไวรัสอยู่ในเลือดทําให้แพร่เชื้อไปให้คนอื่นได้ หากมีคนในบ้านมีไข้สูง ให้พามาตรวจควรเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ระมัดระวังภาวะเลือดออกต่อไปอีกประมาณ 1 สัปดาห์ ควรหลีกเลี่ยงการแคะจมูก การแปรงฟัน การออกกําลังกายหรือเล่นกีฬาที่มีความรุนแรงหากมีอาการผิดปกติควรรีบพามาพบแพทย์ทันทีให้ยาลดไข้พาราเซตามอล ควรหลีกเลี่ยงยาแอสไพริน หรือ ยากลุ่ม NSAID เช่น ไอบูโปรเฟน เนื่องจากทําให้เกิดเลือดออกทางเดินอาหารมากขึ้น หรือมีผลต่อตับได้ แนะนำให้ 

การรักษา

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคไข้เลือดออก มีเพียงรักษาตามอาการเท่านั้น ดังนั้นการป้องกัน กําจัดลูกนํ้า ภาชนะใส่นํ้าภายในบ้านควรปิดฝาให้มิดชิด  และอีกวิธีหนึ่งคือ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ซึ่งในตอนนี้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกตัวแรกของโลก ได้เข้าสู่ประเทศไทยแล้วซึ่งวัคซีนนี้สามารถใช้ได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 9 ปีถึง 45 ปี  และพบว่านอกจะสามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้แล้วยังสามารถลดการเกิดไข้เลือดออกชนิดรุนแรงได้ถึง 93.2%  และสามารถลดการนอนโรงพยาบาลโรคไข้เลือดออกได้ 80.8%

  • ยังไม่มียาต้านไวรัส เป็นการรักษาตามอาการ
  • ให้เช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดาเวลามีไข้ เช็ดนาน 10-15 นาที 
  • กินยาลดไข้พาราเซตามอลได้ เมื่อมีไข้ โดยให้ยาห่างกัน ไม่น้อยกว่า 4-6 ช.ม. งดแอสไพรินเด็ดขาด
  • ดื่มน้ำมากๆ 
  • ให้อาหารอ่อน ย่อยง่าย งดอาหารที่มีสีแดง ดำ และน้ำตาล
  • ติดตามอาการอันตราย และไปพบแพทย์ตามนัด โดยเฉพาะในระยะไข้ลงที่ผู้ป่วยยังไม่สามารถทำกิจกรรมตามปกติได้ หรืออาการยังไม่ดีเหมือนปกติ

กรณีผู้ป่วยรับการรักษาแล้วแพทย์ให้กลับบ้านได้ ควรดูแลและปฏิบัติตนต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกไม่ควรให้ถูกยุงกัดภายใน 5 วันแรกของโรค เพราะผู้ป่วยยังมีไวรัสอยู่ในเลือดทำให้แพร่เชื้อไปให้คนอื่นได้ หากมีคนในบ้านมีไข้สูง ให้พามาตรวจ
  • ควรเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติควรรีบพามาพบแพทย์ทันที
  • ให้ยาลดไข้พาราเซตามอล ควรหลีกเลี่ยงยาแอสไพริน หรือ ยากลุ่ม NSAID เช่น ไอบูโปรเฟน เนื่องจากทำให้เกิดเลือดออกทางเดินอาหารมากขึ้น หรือมีผลต่อตับได้
  • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน และที่โรงเรียน

การป้องกัน

  • ควรนอนในมุ้ง หรือในห้องติดมุ้งลวดที่ปลอดยุงลาย
  • ม่เล่นในมุมมืด หรือบริเวณที่ไม่มีลมพัดผ่าน
  • ห้องเรียน หรือห้องทำงานควรมีแสงสว่างทั่วถึง มีลมพัดผ่าน ไม่มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น แจกันดอกไม้ควรเปลี่ยนน้ำทุกวัน พลูด่างควรปลูกในดิน
  • กำจัดยุงในบริเวณมุมอับภายในบ้าน ตู้เสื้อผ้า บริเวณรอบ ๆ บ้าน ทุกสัปดาห์
  • กำจัดลูกน้ำ ภาชนะใส่น้ำภายในบ้านปิดฝาให้มิดชิด ถ้าไม่สามารถปิดได้ ให้ใส่ทรายอะเบทหรือใส่ปลาหางนกยูง จานรองขาตู้กับข้าว จานรองกระถางต้นไม้ ใส่เกลือหรือน้ำส้มสายชูหรือผงซักฟอก สัปดาห์ละครั้ง
  • วัสดุที่เหลือใช้รอบ ๆ บ้าน เช่น กระป๋อง กะลา ยางรถยนต์เก่า ฯลฯ ให้คว่ำหรือทำลายเสีย

วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก

ปัจจุบันมีวัคซีนโรคไข้เลือดออก 4 สายพันธุ์(DEN 1-4) แนะนำให้ฉีดในกลุ่มอายุ 9-45 ปี ฉีด 3 เข็ม ( เดือนที่ 0,6 และ 12 เดือน) ในผู้ที่เคยมีการติดเชื้อมาก่อน ไม่แนะนำให้ฉีดในผู้ที่ไม่เคยมีการติดเชื้อมาก่อน
จากงานวิจัยทวีปเอเชียแปซิฟิกและแถบละตินอเมริกาในอาสาสมัครอายุ 9-16 ปี พบว่า วัคซีน CYD-TDV มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันไข้เลือดออกเดงกี้ ดังนี้

  • สามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกเดงกีทุกสายพันธุ์ได้ 65%
  • ลดการนอนโรงพยาบาลได้ถึง 80.8%
  • ป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกีได้ถึง 92.9%

ผู้ที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกเดงกี ได้แก่

  • ผู้ที่แพ้หรือไวต่อการแพ้ต่อสารออกฤทธิ์หรือส่วนประกอบอื่น ๆ ในวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก
  • ผู้ที่เกิดการแพ้หลังได้รับวัคซีนไข้เลือดออกเข็มแรก โดยอาการแพ้ที่เกิดขึ้น ได้แก่ ผื่นคัน หายใจถี่หอบ หน้าและลิ้นบวม
  • ผู้ที่กำลังป่วยด้วยโรคใดก็ตามที่ทำให้มีไข้ ตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงไข้สูง หรือกำลังเจ็บป่วยแบบเฉียบพลัน แพทย์จะทำการเลื่อนนัดการฉีดวัคซีนออกไปก่อนจนกว่าจะหายเป็นปกติ
  • ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม การติดเชื้อเอดส์(HIV) หรือรับยากดภูมิคุ้มกันเช่น ยา Prednisone หรือเทียบเท่า 20 มก.หรือ :2 มก/กก. ของน้ำหนักตัวเป็นเวลา ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไปเป็นต้น
  • สตรีมีครรภ์หรืออยู่ระหว่างช่วงให้นมบุตร

5ป ปราบยุงลาย ป้องกันไข้เลือดออก

 

  • ป1 ปิด ภาชนะเก็บกักน้ำให้มิดชิด
  • ป2 เปลี่ยน น้ำในภาชนะต่าง ๆ ทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำ
  • ป3 ปล่อย ปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เช่น อ่างบัว
  • ป4 ปรับปรุง สิ่งแวดล้อมให้โปร่งลมพัดผ่านได้ไม่ให้ยุงมาเกาะพัก
  • ป5 ปฏิบัติ ตามทั้ง 4ป ข้างตนเป็นประจำจนเป็นนิสัย

ถ้าผู้ป่วยมีไข้สูงติดต่อกันเกิน 3 วัน ให้พาไปพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง ระวังไม่ให้ยุงกัดในเวลากลางวัน และ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายโดยการปิดฝาภาชนะเก็บน้ำให้มิดชิด กางมุ้ง ทายากันยุง 

แหล่งที่มา : https://www.vibhavadi.com/Health-expert/detail/251

Categories
บทความ

ไข้หวัดใหญ่ โรคร้ายในช่วงฤดูฝน ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19

ไข้หวัดใหญ่ โรคร้ายในช่วงฤดูฝน ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19

การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงเป็นปัญหาสำหรับสังคมไทย ทำให้คนไทยส่วนมากวิตกกังวล กับการป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงอาจจะลืมนึกถึงไปว่า ยังมีโรคประจำฤดูฝน และเป็นอันตรายเหมือนกับเชื้อโควิด-19 เช่นกัน นั้นคือ “ไข้หวัดใหญ่” หากท่านยังประมาทในการป้องกันการติดเชื้อของไข้หวัดใหญ่ และเชื้อไวรัสโควิด-19 สุขภาพร่างกายของท่านอาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต และท่านเองก็เป็นตัวแพร่เชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ และเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกด้วย

 

ความแตกต่างของไข้หวัดใหญ่ และ โควิด-19

 

  • ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อ อินฟลูเอนซา มีระยะฟักตัว 1-3 วัน สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ชนิด คือ ชนิดเอ ชนิดบี และชนิดซี อาการแรกเริ่มเหมือนไข้หวัดทั่วไป สามารถหายได้ 1-2 สัปดาห์ แต่ในบางกรณีรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบ จนเสียชีวิตได้                                               
  • โควิด-19 เกิดจากกลุ่มเชื้อไวรัส โคโรนา สายพันธุ์ใหม่ มีสัตว์เป็นตัวกลางในการแพร่เชื้อสู่มนุษย์ มีระยะฟักตัว 2-4 วัน อาการแรกเริ่มจะมีอาการป่วย เป็นไข้ มีอาการผิดปกติทางเดินหายใจ หากเกิดภาวะแทรกซ้อน ในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

 

ไข้หวัดใหญ่ได้กลายพันธุ์ออกเป็น 4 ประเภท

  1. ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A/H1N1 หรือที่คุ้นชินในชื่อ “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009” รักษาโดยการใช้ยาต้าน “โอเซลตามิเวียร์”
  2. ไข้หวัดสายพันธุ์ A/H3N2 หรือที่คุ้นชินในชื่อ “ไข้หวัดหมู”  
  3. ไข้หวัดสายพันธุ์ B Corolado ตระกูล Victoria
  4. ไข้หวัดสายพันธุ์ B Phuket ตระกูล Yamagata

 

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สร้างโดยส่วนประกอบของเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรียที่ตายแล้ว สามารถสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ โดยฉีดเข้าสู่ร่างกายทางต้นแขนใช้เวลาฟูมฟักเป็นเวลา 2 สัปดาห์ – 1 เดือน ควรฉีดปีละหนึ่งครั้ง ก่อนฤดูฝน 

 

วัคซีนป้องกันโควิด

 

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ช่วยลดความรุนแรงของเชื้อไวรัสได้ สำหรับประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา (อย.) มีอยู่ 6 ชนิดได้แก่

 

  1. วัคซีนซิโนแวค (Sinovac) มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ 51% 
  2. วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca) มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ 70.4%
  3. วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้มากกว่า 65%
  4. วัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ 94%
  5. วัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm) มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ 79%
  6. วัคซีนไฟเซอร์ ไปโอเอ็นเท็ค (Pfizer/BioNtech) มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ 95%

 

 

 

อาการไข้หวัดใหญ่ และ โควิด-19 ที่เหมือนกัน

 

  • มีไข้ขึ้นสูงประมาณ 37.5-38 องศาเซลเซียส ขึ้นไป
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ปวดศรีษะ
  • เบื่ออาหาร

 

อาการที่ใกล้เคียงกันของไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 ทำให้เป็นเรื่องที่ยากต่อการวินิจฉัย สิ่งที่คล้ายเคียงกันอีกอย่างคือ การป้องกัน แต่จะแตกต่างกันในเรื่องของ เชื้อไวรัส และวัคซีนในการรักษา ดังนั้นหากละเลยการป้องกัน ร่างกายจะเกิดการติดเชื้อทั้งไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นมา และเป็นอันตรายต่อชีวิต ควรที่จะฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกันไว้ก่อนฤดูฝน  อาการแทรกซ้อนจากโควิด-19 และเชื้อโรคอื่นๆ จะไม่สามารถทำอันตรายใดๆต่อร่างกายของท่านได้

Categories
บทความ

วิธีป้องกัน “เชื้อไวรัส HPV”

วิธีป้องกัน “เชื้อไวรัส HPV”

กรมการแพทย์ ชี้ HPV หรือ Human Papillomavirus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อเอชพีวี แพร่กระจายได้ง่ายผ่านการสัมผัสกับเชื้อโดยตรงหรือการมีเพศสัมพันธ์ ปัจจุบันพบว่ามีเชื้อชนิดนี้มากกว่า 100 สายพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่มักทำให้เกิดหูดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ เชื้อ HPV บางสายพันธุ์อาจเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งชนิดต่าง ๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก  มะเร็งช่องปากและลำคอ เป็นต้น

 นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ การแสดงอาการของโรคอาจเกิดขึ้นหลายปีหลังจากติดเชื้อและสามารถแพร่เชื้อไปยังคนอื่นได้ สำหรับอาการของการติดเชื้อไวรัส HPV มีดังนี้

1. มีหูดหงอนไก่ ( Condyloma Acuminata ) เป็นตุ่มเล็กๆ ผิวไม่เรียบหลายๆตุ่ม กระจายตามอวัยวะเพศภายนอก มีอาการคันได้ สามารถพบได้ทั้งปากช่องคลอด และปากมดลูก ลักษณะของหูด หูดชนิดทั่วไป จะมีรูปร่างเป็นตุ่มเล็กๆ เจ็บปวดบ้างในบางครั้ง และหากสัมผัสจะรู้สึกว่าผิวของหูดนั้นมีความขรุขระ มีได้หลายสี พบได้ที่บริเวณมือ นิ้วมือ หรือข้อศอก ซึ่งหูดลักษณะเช่นนี้ส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย นอกจากนี้ยังมีหูดชนิดอื่นๆ เช่น หูดชนิดแบนราบ เกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย หูดฝ่าเท้า มักขึ้นบริเวณส้นเท้า ทำให้รู้สึกเจ็บในระหว่างยืนหรือเดิน แต่หูดที่สร้างความทุกข์ใจกับผู้ป่วยมากที่สุดคือ หูดที่อวัยวะเพศ หรือเรียกว่า หูดหงอนไก่เป็นติ่งเนื้อลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ มักเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศหญิง อวัยวะเพศชาย และทวารหนัก ส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บ แต่อาจทำให้รู้สึกคัน

2. มีอาการตกขาวมากกว่าปกติ อาจมีเลือดปนตกขาว ตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือมีเลือดออกกะปริบกะปรอยจากช่องคลอด มีอาการเป็นๆหายๆ หากติดเชื้อที่ทวารหนัก ก็จะมีแผลหรือก้อนยื่นออกมาผิดปกติ แต่ก็มีบ่อยครั้งที่ผู้หญิงบางรายได้รับเชื้อ HPV เข้าสู่ร่างกายแต่ไม่แสดงอาการและเชื้อก็จะหายไปเอง หรือหากร่างกายอ่อนแอก็อาจก่อให้เกิดความผิดปกติภายหลัง

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคติดเชื้อ HPV มักติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก ปาก หรือการใช้อุปกรณ์เพื่อสนองความต้องการทางเพศร่วมกัน และสามารถแพร่ผ่านรอยแผลหรือรอยขีดข่วนตามผิวหนัง หากมีการสัมผัสผิวหนังหรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อจากผู้ป่วย แม้กระทั่งในช่วงที่ผู้ติดเชื้อยังไม่แสดงอาการก็ตาม ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้ออาจแพร่เชื้อสู่บุตรระหว่างการคลอดได้ แต่เกิดขึ้นได้ค่อนข้างน้อย ทั้งนี้วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัส HPV สามารถทำได้ดังนี้

1. ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุก 3 ปี หรือตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ทุก 5 ปี

2. ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี

3. สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งขณะมีเพศสัมพันธ์

4. เลี่ยงพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย

แหล่งที่มา : https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/178002/