Categories
บทความ

ไข้เลือดออก ภัยร้ายหน้าฝนจากยุงลาย

ไข้เลือดออก ภัยร้ายหน้าฝนจากยุงลาย

ไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) การติดเชื้อเกิดจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสกัด ทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด แล้วเกิดอาการป่วยขึ้น ไวรัสเดงกีมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ส่วนใหญ่เมื่อติดเชื้อด้วยสายพันธุ์หนึ่งจะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นไปตลอดชีวิต แต่ยังสามารถติดเชื้อสายพันธุ์อื่นได้ 

ระบาดวิทยา

ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีโอกาสเป็นไข้เลือดออกได้ ในสมัยก่อนโรคไข้เลือดออกมักเกิดในเด็กเล็ก ไม่ค่อยพบในผู้ใหญ่ แต่ปัจจุบันพบในเด็กโต ผู้ใหญ่ รวมถึงผู้สูงอายุมากขึ้น อาจเกิดจากโครงสร้างของประชากรเปลี่ยนแปลงไป ผู้สูงอายุมีมากขึ้น ร่วมกับการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เด็กมีโอกาสถูกยุงลายกัดน้อยลง ในช่วงปี 2565 พบว่ามีการระบาดของโรคไข้เลือดออกมากขึ้นเมื่อเทียบกันกับในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การระบาดของโรคไข้เลือดออกลดลงอย่างชัดเจน มีการสำรวจพบว่าลูกน้ำยุงลายลดลงในช่วงนี้ คาดว่าช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ประชากรอยู่บ้านกันมากขึ้น ทำให้มีเวลาในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายมากขึ้น อย่างไรก็ตามตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 2566 นี้พบว่ามีคนติดเชื้อแล้วประมาณ 6,000 ราย

ความรุนแรงของโรค ไข้เลือดออก

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเดงกีและเป็นโรคไข้เลือดออกส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง บางคนไม่ต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาล มีเพียงส่วนน้อยที่ต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล และจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลส่วนน้อยมาก ๆ จะมีอาการรุนแรง

ความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกที่ทำให้มีอาการหนักเกิดจากสาเหตุ ดังนี้

  1. ผู้ป่วยมีภาวะเลือดออกมาก เนื่องจากมีเกล็ดเลือดต่ำและภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ภาวะเลือดออกที่เป็นอันตรายที่พบบ่อยในโรคนี้ คือ ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หรือถ่ายดำ
  2. ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะมีการรั่วของพลาสมาในหลอดเลือดออกมาอยู่ในเนื้อเยื่อ รวมถึงช่องเยื่อหุ้มปอดหรือในช่องท้อง ในเลือดคนปกติจะมี 2 ส่วนประกอบใหญ่ ๆ คือ ส่วนที่เป็นเซลล์เม็ดเลือด และส่วนที่เป็นน้ำเหลืองเรียกว่าพลาสมา ในผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกที่มีการรั่วของพลาสมา พลาสมาจะรั่วออกนอกหลอดเลือด ทำให้ร่างกายเหมือนสูญเสียของเหลวออกไปจึงทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำหรือภาวะช็อกตามมา ถ้ามีการรั่วของพลาสมาออกมามากหรือมีภาวะช็อกอาจทำให้เสียชีวิตได้
  3. ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจมีการทำงานของอวัยวะสำคัญเสียไป เช่น ภาวะตับวาย ไตวาย สมองบวม เม็ดเลือดต่ำ หรือภาวะติดเชื้ออื่นแทรกซ้อน ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้

อาการและอาการแสดง

ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสเดงกีไม่จำเป็นต้องมีอาการเป็นไข้เลือดออกทุกคน ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัส จะมีเพียงร้อยละ 25-30 ที่จะมีอาการป่วยขึ้น ที่เหลือจะติดเชื้อแบบไม่มีอาการแต่สามารถแพร่เชื้อได้ ผู้ป่วยจะมีอาการได้หลากหลายตั้งแต่อาการน้อยจนถึงอาการรุนแรง สามารถแบ่งอาการของการติดเชื้อเดงกีได้ ดังนี้

  1. อาการไข้ไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเดงกีบางรายอาจมีไข้เพียงอย่างเดียวหรืออาการอื่น ๆ เช่น ปวดเมื่อยตามตัว ผื่น แล้วอาการหายไปเอง
  2. ไข้เดงกีโดยไม่มีการรั่วของพลาสมา ผู้ป่วยที่เป็นไข้เดงกีโดยไม่มีการรั่วของพลาสมาจะมีไข้สูง รับประทานอาหารได้ลดลง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ ปวดข้อ คลื่นไส้อาเจียน ผื่น อาจมีเลือดออก เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ผู้ป่วยอาจมีไข้อยู่ 4-5 วันแล้วหายเองโดยไม่ช็อก
  3. ไข้เดงกีโดยมีการรั่วของพลาสมา ผู้ป่วยที่เป็นไข้เดงกีโดยมีการรั่วของพลาสมาจะมีอาการเหมือนอาการในข้อ 2. แต่เมื่อถึงเวลาไข้เริ่มลงจะมีอาการแย่ลง คือ มีการรั่วของพลาสมาหากมีการรั่วมากจะทำให้ความดันโลหิตต่ำลงและมีภาวะช็อกได้ นอกจากนี้ยังมีภาวะเลือดออกร่วมด้วย ในบางครั้งอาจมีภาวะเลือดออกมากจนต้องให้เลือด ผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกจะมีอาการมือเท้าเย็น ชีพจรเบาเร็ว กระสับกระส่าย ปัสสาวะออกน้อยลง โดยปกติการรั่วของพลาสมาจะกินเวลาประมาณ 24-48 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะเข้าสู่ระยะฟื้น กล่าวคือ การรั่วของพลาสมาจะลดลงจนหยุด พลาสมาที่เคยรั่วออกไปจะกลับเข้าสู่เส้นเลือดตามเดิม ผู้ป่วยจะเริ่มรับประทานอาหารได้มากขึ้น มีปัสสาวะออกมากขึ้น มีผื่นแดงคันขึ้นตามตัว และแขนขา
  4. การติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มีอาการอื่น ๆ ผู้ป่วยจะอาการสมองอักเสบ มีภาวะชัก หรือมีการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ

ดังนั้น หากมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน มีจุดเลือดออกตามตัว ไม่มีอาการไอ หรือน้ำมูก ร่วมกับมีการระบาดของโรคไข้เลือดออกในชุมชน ต้องระวังว่าจะเป็นไข้เลือดออก หากไม่แน่ใจควรไปพบแพทย์เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง

การรักษา ไข้เลือดออก

ผู้ป่วยที่มีอาการในช่วงแรกจะมีไข้สูง เบื่ออาหาร ช่วงที่ไข้สูง มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย สามารถดูแลเบื้องต้นได้ด้วยการให้รับประทานยาลดไข้อย่างพาราเซตามอล หลีกเลี่ยงยาลดไข้กลุ่ม แอสไพริน หรือ ไอบูโพรเฟน เพราะยาเหล่านี้จะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถให้ดื่มน้ำเกลือแร่ รับประทานอาหารอ่อน ๆ แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสีแดงหรือน้ำตาล เพราะหากผู้ป่วยอาเจียนออกมาจะแยกยากว่าเป็นสีจากอาหารหรือสีจากเลือดออก ให้พักผ่อนมาก ๆ หากใน 3-4 วันอาการยังไม่ดีขึ้น มีอาการอาเจียนมาก ปวดท้องมาก ซึมลง ปัสสาวะออกน้อยลง มีเลือดออกมาก ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล

ในผู้ป่วยที่มีอาการมาก เช่น รับประทานอาหารไม่ได้ อาเจียนมาก มีเลือดออกมาก หรือแพทย์สงสัยว่าอาจเริ่มเข้าสู่ภาวะช็อก แพทย์จะรับรักษาตัวไว้ในโรงพยาบาล แพทย์จะรักษาด้วยการให้น้ำเกลือและเฝ้าติดตามสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิด อาจต้องมีการจับชีพจรและวัดความดันทุก 15-30 นาที มีการวัดปริมาณปัสสาวะ หากมีเลือดออกมากจำเป็นต้องให้ส่วนประกอบของเลือด และให้การรักษาอื่น ๆ ตามภาวะแทรกซ้อนที่พบ

ในปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสที่จำเพาะต่อไวรัสไข้เลือดออก สำหรับวัคซีนเริ่มมีใช้แล้ว แต่ประสิทธิภาพยังไม่ได้ 100% กล่าวคือสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ และสามารถลดความรุนแรงของโรคได้ แต่ไม่ได้ครบ 100% และราคายังค่อนข้างสูง

การป้องกัน

เนื่องจากโรคนี้แพร่โดยยุงลาย ควรมีการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างเหมาะสม เช่น ไม่ควรมีน้ำขังตามภาชนะต่าง ๆ ในบ้าน หรือใส่ทรายอะเบท ภาชนะใส่น้ำควรมีฝาปิดให้มิดชิด หากอยู่ในที่ที่อาจมียุงชุม ควรสวมเสื้อ กางเกงขายาว ทายาป้องกันการกัดของยุง และนอนในมุ้งเพื่อไม่ให้ถูกยุงกัด

โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี โดยมียุงลายเป็นพาหะ ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ ผู้มีอาการส่วนใหญ่จะมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีจุดเลือดออก และหายเองได้ มีผู้ป่วยส่วนน้อยที่อาจมีภาวะช็อก การดูแลที่สำคัญคือป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด หากมีไข้และสงสัยว่าอาจเป็นไข้เลือดออก สามารถให้การรักษาแบบประคับประคอง แต่ต้องไปรับการตรวจติดตามไม่ควรรับประทานยากลุ่ม แอสไพริน หรือ ไอบูโพรเฟน หากมีไข้แล้ว 3-4 วันอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการซึมลง ตัวเย็น กระสับกระส่าย ควรรีบไปตรวจที่โรงพยาบาล

 

ข้อมูลจาก

รศ. ดร. นพ.นพพร อภิวัฒนากุล

สาขาวิชาโรคติดเชื้อ

ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ 

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี 

มหาวิทยาลัยมหิดล

Categories
บทความ

ผลลัพท์จากเลือด….มีความหมายว่าอย่างไร

ผลแลปจากการตรวจเลือด....มีความหมายว่าอย่างไร

การตรวจเลือด (Blood testing) 

เป็นหนึ่งในวิธีการสำคัญเพื่อบ่งชี้การทำงานของอวัยะต่าง ๆ ภายในร่างกาย หรือเป็นการตรวจวิเคราะห์หาปัจจัยเสี่ยงของสุขภาพของแต่ละบุคคล ซึ่งจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคหรือสภาวะบางอย่างที่ผิดปกติของร่างกายได้ เชื่อว่าผู้ป่วยหลาย ๆ ท่านหรือผู้ที่เข้ารับการตรวจสุขภาพเมื่อได้ใบผลการตรวจเลือดจากโรงพยาบาลนั้น มักจะไม่เข้าใจความหมายของค่าต่าง ๆ 

จากข้อจำกัดดังกล่าวบทความนี้จึงได้รวบรวมคำอธิบายและความหมายของค่าต่าง ๆ ไว้เพื่อช่วยให้หลาย ๆ ท่านได้เข้าใจผลเลือดของตนเองได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามผลการตรวจเลือดเพียงอย่างเดียวไม่สามารถยืนยันความผิดปกติที่พบหรือโรคบางโรคได้ เนื่องจากโรคบางชนิดต้องอาศัยการตรวจหลายอย่างเพื่อยืนยันผลและมีหลายปัจจัยที่ทำให้ผลตรวจเลือดออกมาอยู่ในเกณฑ์ไม่ปกติ เช่น อาหารที่รับประทาน อยู่ในช่วงมีประจำเดือน การออกกำลังกาย ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่ม หรือการใช้ยาบางชนิด จึงจำเป็นต้องมีการตรวจในขั้นตอนต่อไปเพิ่มขึ้นตามดุลยพินิจของแพทย์ หรือตรวจซ้ำอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตามการตรวจเลือดเป็นวิธีการพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็นที่จะใช้ในการวินิจฉัย ซึ่งในปัจจุบันการตรวจเลือดแบ่งได้หลายประเภทดังนี้ 

การตรวจทางเคมีในเลือด (Blood Chemistry) 
น้ำตาลในเลือด (Blood sugar)

  1. Glucose 
    กลูโคสเป็นน้ำตาลชนิดสำคัญในร่างกายทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานให้แก่เซลล์ต่าง ๆ ทางการแพทย์ใช้น้ำตาลกลูโคสเป็นสารบ่งชี้โรคเบาหวาน
    • ผู้ใหญ่ 70-100 mg/dL
    • เด็ก 60-100 mg/dL
    • 100-125 mg/dl มีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน
    • >= 126 mg/dl เข้าได้กับเบาหวาน นัดมาตรวจเลือดซ้ำ ถ้าผลตรวจเลือดซ้ำ พบว่า FBS>= 126 mg/dl เป็นจำนวน 2 ใน 3 ครั้งถือว่าเป็นเบาหวาน
  2. HbA1c (Glycated hemoglobin)
     เป็นการตรวจวัด hemoglobin ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งในเลือดที่สามารถเกิดปฏิกิริยาทางเคมีกับน้ำตาลที่อยู่ในเลือด และคงอยู่ในเลือดของเราได้นานถึง 8-12 สัปดาห์ ดังนั้นการตรวจวัดระดับของ HbA1c จึงสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ค่าเฉลี่ยของระดับน้ำตาลในเลือด ณ ช่วงเวลา และใช้ติดตามการควบคุมระดับน้ำตาลในระยะยาวของผู้ป่วยเบาหวานได้
    • ค่าปกติ 4.8-6.0 %
    • ค่าสูง >6.5% เป็นเบาหวาน

ไขมัน (Lipid profile) 

วัตถุประสงค์ของการตรวจวัดระดับไขมันในเลือดเพื่อใช้บ่งชี้ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคสมองขาดเลือดจากการอุดตัน หรือตีบตันของเส้นเลือด และใช้ติดตามการรักษาในผู้ป่วยที่ได้รับยาลดระดับไขมันในเลือด

  1. Low-density lipoprotein (LDL-cholesterol) 
    เป็นไขมันชนิดที่ทำหน้าที่นำพา cholesterol ในกระแสเลือดเรียก LDL-cholesterol ว่า ไขมันเลว
    • ค่าปกติ 40 mg/dL (ผู้หญิง), >50 mg/dL (ผู้ชาย)
    • ค่าต่ำ – อาจมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดแข็ง (atherosclerosis) ส่งผลให้เกิดการตีบตันของเส้นเลือดในอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ และสมอง
  2. Total cholesterol
    เป็นไขมันชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตฮอร์โมนต่างๆ เอนไซม์ และเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของผนังเซลล์ การตรวจวัดระดับคลอเลสเตอรอลจะบ่งชี้ระดับไขมันโดยรวม ทั้ง HDL-cholesterol, LDL-cholesterol และ triglyceride ภายในเลือด 
    ค่าปกติ
Categories
บทความ

CPR คือ ทุกเรื่องควรรู้เกี่ยวกับปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ

CPR คือ ทุกเรื่องควรรู้เกี่ยวกับปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ

การเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอๆ รู้หรือไม่ว่าคนไทยเราเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน แต่ถ้าหากช่วงจังหวะที่เราอยู่ในสถานการณ์ที่มีคนเกิดเหตุการณ์ที่หัวใจหยุดเต้นกระทันหัน หรือการหายใจไม่ปกติ เทคนิกการปฐมพยาบาลที่เรียกว่า CPR คือ สิ่งที่จะช่วยชีวิตคนอื่นและลดสถิติดังกล่าวได้ ในบทความนี้ Jorportoday จะมาอธิบายถึง CPR ว่าคืออะไร ขั้นตอนในการทำ ความสำคัญและเหตุผลที่คุณเองควรได้รับการฝึกฝนเช่นกันครับ

CPR คือ

Cardiopulmonary Resuscitation หรือ CPR คือ เทคนิกการปฐมพยาบาลที่สามารถใช้ได้ในกรณีที่มีคนหายใจไม่ปกติหรือหัวใจหยุดเต้น จากสาเหตุต่างๆ เช่น  หัวใจวายหรือจมน้ำ เมื่อผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติหรือหัวใจหยุดเต้นร่างกายจะไม่ได้รับเลือดใหม่ที่มีออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะในร่างกาย การขาดเลือดที่มีออกซิเจนในช่วงเวลาไม่กี่นาทีอาจทำให้สมองเกิดความเสียหายได้ การทำ CPR จะช่วยทำให้เลือดที่มีออกซิเจนไหลเวียนไปยังสมองและอวัยวะส่วนอื่นๆ เพื่อรอการรักษาอย่างถูกต้องจากแพษย์ต่อไป

สำหรับคนที่ไม่เคยได้เรียนเกี่ยวกับการ CPR หรือไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรให้ถูกต้อง โปรดทราบว่าเมื่อเกิดเหตุมีคนหัวใจหยุดเต้นอยู่ตรงหน้าให้พยายามปั้มหัวใจโดยการกดหน้าอกอย่างแรงและเร็ว ถือเป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้เช่นกัน บางครั้งการทำ CPR ในช่วงเวลาสั้นๆ อาจหมายถึงความเป็นและความตายเลยทีเดียว

จากการรายงานสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2563 พบว่า

“กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรคนี้ประมาณ 17.9 ล้านคน และจากสถิติข้อมูลการเสียชีวิตของคนไทย ในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด พบว่า ร้อยละ 80 เสียชีวิตด้วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน อีกทั้งข้อมูลจากกรมการแพทย์ ปี 2557 พบว่า ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเฉลี่ยของผู้ป่วยโรคหัวใจถึง 6,906 ล้านบาทต่อปี ”

คำแนะนำจาก American Heart Association :

  • สำหรับคนที่ไม่ยังเคยได้รับการฝึกฝน : หากคุณไม่ได้รับการฝึกทำ CPR หรือกังวลเกี่ยวกับการช่วยหายใจ ให้ทำการ CPR ด้วยมือเท่านั้น โดยทำการกดหน้าอกอย่างต่อเนื่อง 100 ถึง 120 ครั้งต่อนาทีจนกว่าแพทย์จะมาถึง (ส่วนนี้มีอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อถัดไปครับ) โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องพยายามช่วยหายใจ (ฝายปอด)
  • อบรมแล้วพร้อมลุย : หากคุณได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีและมั่นใจในความสามารถของคุณ ให้ตรวจดูว่ามีชีพจรและการหายใจหรือไม่ หากไม่มีชีพจรหรือการหายใจภายใน 10 วินาที ให้เริ่มกดหน้าอก เริ่ม CPR ด้วยการกดหน้าอก 30 ครั้ง ก่อนเป่าลมหายใจเพื่อช่วยชีวิตสองครั้ง
  • หากเคยฝึกหัดแต่ขึ้นสนิมไปแล้ว : หากคุณเคยได้รับการฝึก CRP มาแล้วแต่ไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเอง ให้กดหน้าอกในอัตรา 100 ถึง 120 นาทีต่อนาที (รายละเอียดอธิบายด้านล่าง) คล้ายกับคนที่ยังไม่เคยผ่านการฝึก!!

คำแนะนำดังกล่าวสามารถใช้ได้กับสถานการณ์ที่เป็นผู้ใหญ่ เด็ก และทารก ที่ต้องการทำ CPR แต่ไม่ใช่ทารกแรกเกิด (ทารกอายุไม่เกิน 4 สัปดาห์)

ก่อนการเริ่มทำ CPR ควรปฏิบัติตามแนวทาง “ห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต” (Chain of Survival) เพื่อเป็นหลักการช่วยฟื้นคืนชีพแนวทางเดียวกันทั่วโลกและเป็นข้อตกลงร่วมกันในการปฏิบัติ ประกอบด้วย

  1. การประเมินผู้ป่วยว่ายังรู้สึกตัวอยู่หรือไม่ หากไม่มีสติ คลำหาชีพจรไม่พบ ควรเรียกขอความช่วยเหลือหรือเรียกบริการการแพทย์ฉุกเฉินจากหน่วยงานต่าง ๆ ทันที เช่น ศูนย์เอราวัณ (เฉพาะในพื้นที่ กทม.) โทร. 1646, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โทร. 1669 (ทั่วประเทศ)
  2. การกดหน้าอกอย่างถูกต้องและทันท่วงที (ทำ CPR)
  3. การทำการช็อกไฟฟ้าหัวใจ (AED) ภายใน 3-5 นาที เมื่อมีข้อบ่งชี้
  4. การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นสูงอย่างมีประสิทธิภาพ
  5. การดูแลภายหลังการช่วยฟื้นคืนชีพ

สำหรับอาการของผู้บาดเจ็บที่ควรได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนด้วยการทำ CPR สามารถสังเกตได้ดังนี้

  1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว
  2. ไม่หายใจ หรือหายใจเฮือก
  3. หัวใจหยุดเต้น

ขั้นตอนการทำ CPR

การทำ CPR หรือการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานประกอบด้วย 3 ขั้นตอนใหญ่สำคัญ คือ A B C

  • A – Airway : การเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง
  • B – Breathing : การช่วยให้หายใจ
  • C – Circulation : การนวดหัวใจเพื่อช่วยให้เกิดเลือดไหลเวียนอีกครั้ง

ในปี 2010 คู่มือการช่วยเหลือชีวิตเบื้องต้นนั้นได้มีการจัดลำดับขั้นตอนในการช่วยชีวิตใหม่ ในปัจจุบันแทนที่จะใช้ A-B-C ซึ่งมาจากทางเดินหายใจและการหายใจแล้วค่อยกดหน้าอกนั้น American Heart Association ได้สอนให้ผู้ช่วยเหลือทำตามขั้นตอน C-A-B แทน คือกดหน้าอกก่อนแล้วค่อยช่วยทางเดินหายใจและการหายใจ

ในบทสรุปของการเปลี่ยนแปลงนี้ American Heart Association ได้อธิบายไว้ว่า

“การใช้ลำดับการช่วยชีวิตแบบ A-B-C นั้นมักทำให้การกดหน้าอกนั้นเกิดขึ้นช้าในขณะที่ผู้ช่วยเหลือต้องการเปิดทางเดินหายใจ และช่วยหายใจหรือมองหาอุปกรณ์สำหรับการช่วยหายใจ การเปลี่ยนลำดับการช่วยเหลือมาเป็น C-A-B นั้นจะทำให้มีการเริ่มกดหน้าอกได้เร็วขึ้นและการช่วยหายใจก็เกิดขึ้นช้ากว่าเล็กน้อย คือหลังจากจบการกดหน้าอกรอบแรก (การกดหน้าอก 30 ครั้งสามารถทำได้ภายในประมาณ 18 วินาที)”

 

ในการเริ่มทำ CPR ให้ทำตามขั้นตอน  C – A B

C – Circulation : การนวดหัวใจเพื่อช่วยให้เกิดเลือดไหลเวียนอีกครั้ง

ปั๊มหัวใจช่วยให้ผู้บาดเจ็บมีการไหลเวียนของเลือดในร่างกายอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้หลักในการปั๊มหัวใจ คือ ต้องกดให้กระดูกหน้าอก (Sternum) ลงไปชิดกับกระดูกสันหลัง ซึ่งจะทำให้หัวใจที่อยู่ระหว่างกระดูกทั้งสองอันถูกกดไปด้วย ทำให้มีการบีบเลือดออกจากหัวใจไปเลี้ยงร่างกาย เสมือนการบีบตัวของหัวใจ ซึ่งมีขั้นตอนในการปั๊มหัวใจตามนี้

1. จัดให้ผู้ป่วยนอนหงายราบ บนพื้นแข็ง ถ้าพื้นอ่อนนุ่มให้สอดไม้กระดานแข็งใต้ลำตัว

2. วัดตำแหน่งที่เหมาะสำหรับการนวดหัวใจ โดยใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางข้างที่ถนัด วาดจากขอบชายโครงล่างของผู้ป่วยขึ้นไป จนถึง ปลายกระดูกหน้าอก วัดเหนือปลายกระดูกหน้าอกขึ้นมา 2 นิ้วมือ แล้วใช้สันมือข้างที่ไม่ถนัดวางบนตำแหน่งดังกล่าว และใช้สันมือข้างที่ถนัดวางทับลงไป และเกี่ยวนิ้วมือให้นิ้วมือที่วางทับแนบชิดในร่องนิ้วมือของมือข้างล่าง (interlocked fingers) ยกปลายนิ้วขึ้นจากหน้าอก

3. ผู้ช่วยเหลือยืดไหล่และแขนเหยียดตรง จากนั้นปล่อยน้ำหนักตัวผ่านจากไหล่ไปสู่ลำแขนทั้งสองและลงไปสู่กระดูกหน้าอกในแนวตั้งฉากกับลำตัวของผู้เจ็บป่วยในผู้ใหญ่และเด็กโต กดลงไปลึกประมาณ 1.5 – 2 นิ้ว ให้กดลงไปในแนวดิ่ง และอย่ากระแทก

4. ผ่อนมือที่กดขึ้นให้เต็มที่เพื่อให้ทรวงอกมีการขยายตัว และหัวใจได้รับเลือดที่อุดมไปด้วยออกซิเจน ขณะที่ผ่อนมือไม่จำเป็นต้องยกมือขึ้นสูง มือยังคงสัมผัสอยู่ที่กระดูกหน้าอก อย่ายกมือออกจากหน้าอก จะทำให้มีเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ในร่างกาย และมีเลือดไหลกลับเข้าสู่หัวใจ ทำให้มีการไหลเวียนเลือดในร่างกาย

5. การกดนวดหัวใจจะนวดเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ในอัตราเร็ว 100 ครั้ง/นาที ถ้าน้อยกว่านี้จะไม่ได้ผล

 

A – Airway : การเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง

การเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง เพราะโดยมากผู้บาดเจ็บที่หมดสติจะมีภาวะโคนลิ้นและกล่องเสียงตกลงไปอุดทางเดินหายใจส่วนบน ดังนั้นจึงต้องเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง โดยพิจารณาจาก

  • หากผู้ป่วยไม่มีการบาดเจ็บที่ศีรษะหรือคอ จะใช้วิธีการแหงนหน้าและเชยคาง (Head tilt – Chin lift)
  • หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการเจ็บของไขสันหลัง ให้ใช้วิธี Manual Spinal Motion Restriction โดยการวางมือสองข้างบริเวณด้านข้างของศีรษะ เพื่อป้องกันการเคลื่อนของศีรษะ
  • หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังบริเวณคอให้เปิดทางเดินหายใจด้วยวิธียกขากรรไกร (Jaw Thrust) คือ ดึงขากรรไกรทั้งสองข้างขึ้นไปด้านบน โดยผู้ช่วยเหลือจะอยู่เหนือศีรษะของผู้ป่วย

 

B – Breathing : การช่วยให้หายใจ

การช่วยหายใจ เนื่องจากการหายใจหยุด ร่างกายจะมีออกซิเจนคงอยู่ในปอดและกระแสเลือด แต่ไม่มีสำรองไว้ใช้ดังนั้น เมื่อหยุดหายใจ จึงต้องช่วยหายใจ เป็นวิธีที่จะช่วยให้ออกซิเจนเข้าสู่ปอดผู้ป่วยได้ ซึ่งออกซิเจนที่เป่าออกไปนั้นมีออกซิเจนประมาณ 16-17 % ซึ่งเพียงพอสำหรับใช้ในร่างกาย สามารถทำได้หลายวิธี คือ ด้วยการเป่าปาก (mouth to mouth) เป่าจมูก (mouth to nose) และวิธีการกดหลังยกแขนของโฮลเกอร์ – นิลสัน (back pressure arm lift or Holger – Nielson method) ทำได้ดังนี้

  • กรณีเป่าปาก บีบจมูกของผู้ป่วย ผู้ช่วยเหลือหายใจเข้าปอดลึก ๆ ซัก 2-3 ครั้ง หายใจ เข้าเต็มที่แล้วประกบปากให้แนบสนิทกับปากของผู้ป่วย แล้วเป่าลมหายใจเข้าไปในปอดให้เต็มที่
  • กรณีเป่าจมูก ใช้ในรายที่มีการบาดเจ็บในปาก หรือในเด็กเล็ก ต้องปิดปากของผู้ป่วยก่อน และเป่าลมหายใจเข้าทางจมูกแทน

ขณะที่เป่าให้เหลือบมองยอดอกของผู้รับบริการด้วยว่ามีการยกตัวขึ้นหรือไม่ การเป่าลมหายใจของผู้ช่วยเหลือผ่านทางปากหรือจมูก จะต้องทำอย่างช้าๆ ปล่อยปากหรือผู้ช่วยเหลือออกจากปากหรือจมูกของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยหายใจออก ให้ ผายปอด 2 ครั้ง ๆ ละ 1-1.5 วินาที (แต่ละครั้งได้ออกซิเจน 16 %) อัตราเร็วในการเป่า คือ 12 -15 ครั้ง / นาที ใกล้เคียงกับการหายใจปกติ

CPR คือ

4 เหตุผลที่คุณควรผ่านการฝึกและได้รับใบรับรองการทำ CPR

ในหัวข้อก่อนหน้าผมได้อธิบายถึงขั้นตอนการทำ CPR คร่าวๆ เพื่อนให้เพื่อนๆ ได้ทราบแต่อย่างไรก็ตามข้อความในบทความนี้เป็นเพียงไกด์ไลน์เท่านั้น การไปฝึกอบรมกับผู้เชี่ยวชาญจะทำให้คุณได้ทั้งความรู้ ประสบการณ์จริง

การฝึกอบรมเพื่อได้ใบรับรองการทำ CPR อาจดูเป็นเรื่องใหญ่ในการเสียเงินเสียเวลาไปเรียนโดยเพาะคนที่มีเวลาและทรัพยากรจำกัด แต่เชื่อหรือไม่ว่าเวลาในการเรียนทำ CPR ในไม่กี่ชั่วโมงนั้นคุณสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้มหาศาลและนี้คือ 4 เหตุผลที่ผมอยากแนะนำครับ

1.คุณสามารถช่วยชีวิตใครบางคนได้

เพื่อให้ทุกคนเข้าใจผลกระทบของการทำ CPR ในกรณีฉุกเฉินได้ดีขึ้น ผมขออนุญาตนำสถิติจาก American Heart Association (AHA)

  • 70% ของชาวอเมริกันรู้สึกหมดหวังไร้สิ้นหนทางที่จะตอบสนองต่อกรณีฉุกเฉินเกี่ยวกับเหตุการด้านการหยุดหายใจหรืออัตราการเต้นของหัวใจผลิตปกติ เนื่องจากไม่เคยได้รับการฝึกทำ CPR มาก่อน
  • มีเพียง 32% ของผู้ป่วยที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเท่านั้นที่ได้รับการช่วยเหลือโดยการ CPR จากผู้ที่ยืนดูอยู่ข้างๆ
  • 4/5 ของเหตุหัวใจหยุดเต้นเกิดขึ้นที่บ้าน หมายความว่าผู้ป่วยที่มีโอกาสหัวใจหยุดเต้นนั้นอาจจะเป็นคนที่คุณรัก
  • ทุกๆ นาทีที่ผ่านไปโดยไม่ได้ทำ CPR และกระตุ้นหัวใจ โอกาศรอดของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นจะลดลง 7-10%

ด้วยความรู้ของการเข้ารับการอบรมและฝึกฝนการทำ CPR โดยบุคคลที่สามาถรับรอง CPR สามารถช่วยลดการสูญเสียชีวิตในกรณีฉุกเฉินได้

2.การสร้างความแตกต่างระหว่างความเป็นและความตาย

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (SCA) เป็นปัญหาที่สำคัญ เนื่องจากเมื่อมีภาวะหัวใจหยุดเต้นเกิดขึ้นเลือดจะหยุดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองและอวัยะส่วนต่างๆ ทั่วร่างกาย ดังนั้นผู้ที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันที่ไม่ได้รับการดูแลภายใน 2-3 นาทีหลังเกิดเหตุมีโอกาศเสียชีวิตสูง

จากสถิติของ American Heart Association อีกเช่นเคยได้ชี้ให้เห็นว่าผู้ที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันประมาณ 92% เสียชีวิตก่อนถึงโรคพยาบาล อย่างไรก็ตามถ้าผู้ป่วยได้รับการทำ CPR ทันทีสามารถเพิ่มโอกาศรอดชีวิตได้มากขึ้น สองหรือสามเท่า

3.เป็นบุคคลที่มีค่าในองค์กร

ลองจินตนาการว่าหากคุณกำลังทำงานแล้วจู่ๆ เพื่อนร่วมงานของคุณเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น แต่ถ้าคุณได้รับการฝึกอบรมมาแล้วคุณสามารถให้ความช่วยเหลือได้ทันที

การเรียนรู้การทำ CPR จะช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับองค์กรเป็นส่วนหนึ่งของอาชีวอนามัยและความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณอยู่ในหน่วยงานด้านความปลอดภัยด้วยแล้วการเรียนทำ CPR คือสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

4.เป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นให้บุคคลรอบข้างเข้ารับการอบรมทำ CPR

สิ่งที่ดีที่สุดประการหนึ่งเกี่ยวกับการทำ CPR คือ ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง เด็กนักเรียน หรือบุคคลอื่น การทำ CPR จะช่วยให้แต่ละคนมีทักษะ ในการช่วยชีวิตที่จำเป็นและเมื่อคุณรู้ว่าจำเป็นต่อทั้งสุขภาพของคุณเองและคนรอบข้าง การแนะนำให้คนรอบตัวสามารถทำ CPR ได้จึงเป็นเรื่องที่ดี

แหล่งที่มา : https://www.jorportoday.com/how-to-perform-cpr/

Categories
บทความ

ดูวิธีใช้ AED และทำ CPR ช่วยคนหัวใจหยุดเต้นภายใน 4 นาที

ดูวิธีใช้ AED และทำ CPR ช่วยคนหัวใจหยุดเต้นภายใน 4 นาที

ทุกๆ 1 ชั่วโมง คนไทยเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันประมาณ 6 คน หรือเท่ากับเสียชีวิตมากถึง 54,000 คนต่อปี  ภาวะหัวใจหยุดเต้นถือเป็น “ภัยเงียบ” ที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้  โดยไม่จำกัดอายุและไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้า

      หากพบคนที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน  เรามีเวลาเพียงแค่ 4 นาทีเท่านั้น  ที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยด้วยการทำ CPR (ปั๊มหัวใจผายปอดกู้ชีพ) เพราะทันทีที่หัวใจหยุดทำงาน  เลือดจะไม่ถูกสูบฉีดไปเลี้ยงสมองทำให้สมองตายเนื่องจากขาดเลือดและออกซิเจน 

      การทำ CPR ไม่ยากอย่างที่คิด  แต่สิ่งที่สำคัญคือผู้ช่วยเหลือต้องไม่ตื่นเต้นตกใจ  แล้วทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

  1. เพื่อพบคนหมดสติ  ให้ตบไหล่พร้อมปลุกเรียก “คุณ! คุณ! คุณ!
  2. ถ้าผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว  รีบตะโกนขอความช่วยเหลือและโทรแจ้ง 1669 (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ)
  3. เช็กดูว่าผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นหรือไม่  โดยเอาหูแตะบริเวณจมูกของคนไข้  ตามองที่หน้าอก  หากหน้าอกคนไข้ไม่ขยับ  หน้าท้องไม่กระเพื่อม  แสดงว่าหยุดหายใจให้ปั๊มหัวใจทันที
  4. สำหรับการปั๊มหัวใจ  ให้ปั๊ม 100-120 ครั้งต่อนาที  ปั๊มต่อเนื่องนาน 2 นาที  แล้วสลับคนปั๊ม  ควรปั๊มไปเรื่อยๆ จนกว่าทีมกู้ภัยจะมาถึง
  5. ในขณะเดียวกัน  ถ้าในสถานที่เกิดเหตุมีเครื่อง AED (เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ) ให้รีบไปนำมาช่วยผู้ป่วยให้เร็วที่สุด
  6. ส่วนวิธีการใช้เครื่อง AED นั้น  ให้กดปุ่มเปิดเครื่อง  แปะแผ่นนำไฟฟ้าในตำแหน่งที่ลูกศรบอก  จากนั้นทำตามที่เครื่องสั่งระหว่างรอทีมกู้ภัย

 

เหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา  ทักษะการทำ CPR จึงสำคัญ

      ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า  แต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันกว่า 54,000 คน หรือเฉลี่ยแล้วเท่ากับเสียชีวิตประมาณ 6 คน ทุกๆ 1 ชั่วโมง  ในทางการแพทย์ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันถือเป็น “ภัยเงียบ” ที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้  ไม่เว้นแม้แต่คนที่ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ

      ปรัชญา โสภา  หนุ่มวัยยี่สิบปลาย  เคยหัวใจหยุดเต้นขณะวิ่ง  โดยปกติเขาเป็นคนสุขภาพแข็งแรงและซ้อมวิ่งระยะ 5-10 กิโลเมตรอย่างสม่ำเสมอ  เฉลี่ย 3 วันต่อสัปดาห์  แต่เหตุไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นในเช้ามืดวันหนึ่งของการแข่งขันมินิมาราธอนที่ จ.อยุธยา

ปรัชญา โสภา นักวิ่งอายุ ที่เคย ‘หัวใจหยุดเต้น’ – ภรรยาและลูกสาว

      “ประมาณกิโลเมตรที่สาม  มันเหมือนจะขาดใจครับ  แต่ไม่คิดว่าผิดปกติอะไร  ทีนี้ผมก็วิ่งต่อไปเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าร่างกายเริ่มอยู่ตัว  ไม่ค่อยเหนื่อยแล้ว  จำได้ว่าวิ่งไปสักพักภาพก็ตัดเลย”  ปรัชญาเล่าย้อนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2560

      โชคดีในครั้งนั้นคนที่วิ่งตามหลังเขามาคือ  พงษ์ศักดิ์ อุบลวรรณี  พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ  ซึ่งมีความรู้เรื่องการทำ CPR  “พี่ก็ปั๊มไปตามรอบ ขณะที่ปั๊มหน้าเริ่มเขียวแล้ว  มีน้องอีกคนหนึ่งที่เป็นนักวิ่งด้วยกันคอยช่วยอยู่ข้างๆ  แล้วหน่วยกู้ชีพก็มา ใช้เครื่อง AED ช่วยคนไข้จนหัวใจเริ่มกลับมาเต้น”  พงษ์ศักดิ์เล่า

พงษ์ศักดิ์ อุบลวรรณี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ‘ผู้ช่วยชีวิต’ นักวิ่งที่หัวใจหยุดเต้น

      ปรัชญารู้สึกตัวอีกทีที่โรงพยาบาล  เขาบอกว่า “เหมือนได้โอกาสที่สอง”  และนึกไม่ออกเลยว่าหากวันนั้นเขาเสียชีวิตไปจริงๆ ภรรยากับลูกสาวอีก 2 คนที่ยังเล็กอยู่ทั้งคู่ จะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร 

      แต่การรอดชีวิตของปรัชญาถือว่าเป็นส่วนน้อย  เมื่อเทียบกับสถิติการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันของคนไทยที่ได้กล่าวไปข้างต้น

 

ถ้าทำ CPR พร้อมกับใช้เครื่อง AED สามารถเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้ 10 เท่า

      CPR เป็นการกดนวดหัวใจเพื่อกระตุ้นอัตราการไหลเวียนของเลือด  ส่วนการผายปอดคือการช่วยเติมออกซิเจนเข้าไป  แต่ไม่ได้ทำให้หัวใจกลับมาทำงาน  ดังนั้น AED หรือเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจจึงมีความสำคัญ  เพราะการทำงานของเครื่อง AED คือปล่อยกระแสไฟฟ้าไปกระตุกหัวใจของผู้ป่วยให้กลับมาเต้นอีกครั้ง

      “ในกลุ่มคนไข้ที่หมดสติแล้วมีภาวะหัวใจหยุดเต้น  การทำ CPR อย่างเดียวอัตราการรอดชีวิตจะอยู่ที่ประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์  แต่ถ้าใช้เครื่อง AED ร่วมด้วยอัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 10 เท่า”  ผศ.นพ.นครินทร์ ศิริทรัพย์  หนึ่งในกรรมการดำเนินงานโครงการกระตุกหัวใจเพื่อคนไทยทุกคน อธิบาย

      ผศ.นพ.นครินทร์  ยังกล่าวอีกว่า  มีโรคหลายโรคที่ทางการแพทย์พยายามป้องกัน  เช่น  โรคหัวใจ  บางชนิดสามารถตรวจทราบสาเหตุได้  แต่บางชนิดก็ไม่อาจทราบ  เพราะสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติมีมากมาย  โรคเหล่านี้ถือเป็น “ภัยเงียบ”  ดังนั้นแม้ผู้ป่วยจะดูแลสุขภาพอย่างดี  ออกกำลังกายดี  โรคเหล่านี้ก็อาจเกิดขึ้นได้

      อย่างไรก็ตาม  ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนเครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะ  โดยเฉพาะพื้นที่ต่างจังหวัด  นอกจากนั้นคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังขาดความเข้าใจวิธีการทำ CPR และใช้เครื่อง AED  ทำให้ผู้พบเห็นเหตุการณ์คนแรกๆ ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันเวลา

 

รู้ไว้  ไม่ได้ใช้  ดีกว่าต้องใช้…แล้วไม่รู้

      สำหรับแฟนข่าวเวิร์คพอยท์ที่ต้องการเรียนรู้วิธีการทำ CPR และใช้เครื่อง AED  เพื่อเตรียมความพร้อมไว้สำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน  สามารถเลื่อนขึ้นไปชมคลิปสาธิตที่ด้านบนซึ่งอธิบายไว้โดย พว.พนมกรณ์ แสงอรุณ  พยาบาลวิชาชีพแผนกฉุกเฉิน  ฟังง่ายๆ แต่ละเอียดและครบทุกขั้นตอนภายใน 4 นาที

แหล่งที่มา : https://workpointtoday.com/aed-cpr/

Categories
บทความ

ไขข้อสงสัย ไข้หวัดใหญ่ต่างจากไข้หวัดธรรมดาอย่างไร?

ไขข้อสงสัย ไข้หวัดใหญ่ต่างจากไข้หวัดธรรมดาอย่างไร?

เวลาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็น เช้าแดดเปรี้ยง บ่ายฝนกระหน่ำ แขกไม่ได้รับเชิญอย่างไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ก็พร้อมจะมาเยือนเราได้เสมอ และเนื่องจากโรคทั้งสองชนิดนี้มีอาการทั่วไปคล้ายกัน จึงไม่แปลกเลยที่บางครั้งก็ทำให้หลายคนสับสน จนอาจดูแลตัวเองและลูก ๆ ไม่ถูกวิธี ดังนั้นเราจึงรวบรวมวิธีสังเกตความแตกต่าง ระหว่างไข้หวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่แบบง่าย ๆ มาฝากดังนี้ค่ะ

 

ไข้หวัดธรรมดา เริ่มต้นจากอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม หรือเจ็บคอ มีไข้ต่ำ ๆ หรือไม่มีไข้ก็ได้ ไม่ค่อยปวดกล้ามเนื้อ มีโอกาสเป็นได้ตลอดทั้งปี อาการไม่รุนแรงและหายได้เอง หากเป็นไข้หวัดเรื้อรังจะเกิดโรคแทรกซ้อนอย่างเช่น ไซนัสอักเสบ หูอักเสบ ปอดอักเสบ

 

ไข้หวัดใหญ่ แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาตรงที่มีไข้สูง 38-40 องศาเซลเซียส เป็นนาน 3-4 วันขึ้นไป ไม่เจ็บคอ ส่วนใหญ่จะไอแห้ง ๆ ปวดหัว ร่างกายอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามข้อและกล้ามเนื้อ อาจมีอาการหนาวสั่นสะท้านและเบื่ออาหาร อาการรุนแรงและยาวนานกว่าไข้หวัดธรรมดา มีภาวะแทรกซ้อนได้บ่อยกว่า สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจหรือปอด อาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรง อย่างปอดบวม กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สมองอักเสบ จนอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ปกติจะระบาดหนักช่วงปลายฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว

 

ถึงจะเป็นกันง่าย แต่ก็รักษาไม่ยาก

ไข้หวัดธรรมดามักหายได้เอง จึงรักษาตามอาการ เช่น กินยาบรรเทาอาการปวดลดไข้พาราเซตามอล กินยาแก้ไอ ดื่มน้ำอุ่น นอนพักผ่อนมาก ๆ ส่วนไข้หวัดใหญ่นั้นนอกจากจะรักษาตามอาการเช่นเดียวกับไข้หวัดธรรมดาแล้ว การฉีดวัคซีนป้องกันปีละครั้ง ก็เป็นอีกวิธีที่ได้ผลและช่วยลดความรุนแรงจากภาวะแทรกซ้อนได้ค่ะ

 

ไข้หวัดธรรมดา กลายพันธุ์เป็นไข้หวัดใหญ่ได้หรือไม่?

ใครที่กลัวว่าไข้หวัดธรรมดาจะทวีความรุนแรงจนกลายเป็นไข้หวัดใหญ่ละก็ หายห่วงไปได้เลย เพราะไข้หวัดทั้งสองเกิดจากไวรัสคนละชนิดกันค่ะ ไข้หวัดธรรมดาเกิดจากไวรัสร่วม 200 ชนิด ที่พบมากสุดคือ ไรโนไวรัส (Rhinovirus) รองลงมาเป็นโคโรนาไวรัส (Coronavirus) ส่วนเชื้อต้นเหตุของไข้หวัดใหญ่คือ อินฟลูเอนซาไวรัส (Influenza virus) หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งสายพันธุ์หลักที่พบบ่อยได้แก่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B วิธีสังเกตความแตกต่างง่าย ๆ ระหว่างไข้หวัดใหญ่ 2 สายพันธุ์นี้คือ สายพันธุ์ A มีอาการรุนแรงกว่า ส่วนสายพันธุ์ B มักแพร่ระบาดในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้เติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่เย็นและแห้งนั่นเอง

 

 

ดูแลตัวเองอย่างไร ไม่ให้เป็นไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่?

ไม่ว่าจะไข้หวัดธรรมดาหรือไข้หวัดใหญ่ก็คงไม่มีใครอยากเป็นใช่ไหมละคะ ดังนั้นการดูแลตัวเอง เด็ก ๆ และคนรอบข้าง ให้ห่างไกลจากโรคอยู่เสมอจึงสำคัญที่สุดค่ะ วิธีป้องกันง่าย ๆ ได้แก่ ล้างมือให้สะอาด กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย และไม่อยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรค ที่สำคัญต้องพักผ่อนให้เพียงพอ แค่นี้ชีวิตก็ห่างไกลจากไข้หวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่ได้ไม่ยากค่ะ

 

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ช่วยป้องกันไข้หวัดธรรมดาได้ไหมนะ?

วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากไข้หวัดใหญ่คือ การฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี โดยวัคซีน 1 เข็ม สามารถต้านได้ทั้งไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และสายพันธุ์ B แต่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่ได้ช่วยป้องกันไข้หวัดธรรมดานะคะ เพราะเกิดจากเชื้อไวรัสคนละชนิดกัน และปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดธรรมดา

กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงและควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่คือ เด็กอายุ 6 เดือน – 3 ขวบ คนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป คนที่อาศัยในสถานพักฟื้นหรือบ้านพักคนชรา ผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 3 เดือนขึ้นไป บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่บริการสังคม ส่วนคนที่ไม่เหมาะจะรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน คนที่มีประวัติแพ้ไข่รุนแรงหรือเคยมีอาการแพ้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้ หากคุณกำลังมีไข้สูง มีอาการของโรคประจำตัวกำเริบ หรือเพิ่งหายจากการเจ็บป่วย ควรเลื่อนการรับวัคซีนออกไปก่อน กรณีที่เป็นหวัดเล็กน้อยและไม่มีไข้ สามารถรับฉีดวัคซีนได้ตามปกติค่ะ

 

อันที่จริงไข้หวัดแบบไหนก็ไม่สำคัญ ถ้าเรารู้เท่าทันและดูแลป้องกันตัวเองสม่ำเสมอ ทีนี้ต่อให้มันเข้ามารุกรานบ่อยแค่ไหน เราก็รับมือได้ง่ายนิดเดียวค่ะ

 

บทความนี้ตรวจสอบความถูกต้องโดยแพทย์ชำนาญการ

แหล่งที่มา : https://www.painandpill.com/kids/influenza

Categories
บทความ

ไข้หวัดใหญ่ มีกี่สายพันธุ์? ป้องกันอย่างไร?

ไข้หวัดใหญ่ มีกี่สายพันธุ์? ป้องกันอย่างไร?

ไข้หวัดใหญ่ คืออะไร?

ไข้หวัดใหญ่เป็นอาการที่ร่างกายติดเชื้อไวรัส influenza ที่ระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน โดยจะมีอาการไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว และอ่อนเพลีย

อาการของไข้หวัดใหญ่ แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาอย่างไร?
โดยทั่วไปลักษณะอาการค่อนข้างคล้ายไข้หวัดธรรมดา เพียงแต่อาจมีอาการหนักกว่า และยาวนานกว่า เช่น ไข้สูง และนานกว่า ปวดเมื่อยตามตัวมากกว่า อ่อนเพลียมากกว่า และมักเป็นแบบทันทีทันใด ไม่ใช่อาการค่อยเป็นค่อยไปทีละอย่างเหมือนไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่อาจมีอาการนานถึง 6-10 วัน นอกจากนี้ไข้หวัดใหญ่ยังเสี่ยงจะมีภาวะแทรกซ้อนมากกว่า จึงทำให้บางครั้งผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่อาจต้องนอนโรงพยาบาล เพื่อคอยดูอาการ ป้องกันอาการแทรกซ้อน และการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

อะไรเป็นสาเหตุของการเกิด ไข้หวัดใหญ่?

เชื้อไข้หวัดใหญ่นี้เป็นไวรัสที่มีชื่อว่า อินฟลูเอนซา (Influenza Virus) ที่มีอยู่ในน้ำลาย น้ำมูก และเสมหะของผู้ป่วย ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มไวรัสที่เรียกว่า Orthomyxovirus

ไข้หวัดใหญ่ มีกี่สายพันธุ์?
เท่าที่เราทราบกันอยู่ คือ ไข้หวัดใหญ่มีหลายสายพันธุ์ สามารถแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ใหญ่ๆ ได้แก่

  1. ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A
  2. ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B

สายพันธุ์ C มีความรุนแรงน้อย และไม่ทำให้เกิดการระบาด จึงไม่นับรวมอยู่ในกลุ่มของไข้หวัดใหญ่ แต่สำหรับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A นั้น สามารถแบ่งแยกออกมาย่อยๆ ได้อีกมากมาย ตามที่เราเห็นกันในข่าว เช่น A(H1N1), A(H1N2), A(H3N2), A(H5N1) และ A(H9N2) ตามความแตกต่างของโปรตีนของไวรัสที่เรียกว่า hemagglutinin (H) และ neuraminidase (N) ที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดใหญ่นั้นๆ นั่นเอง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดจนเป็นสาเหตุให้มีคนเสียชีวิต คือ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ชนิด H1N1 และ H5N1 เป็นต้น

ใครที่มีความเสี่ยงในการเป็นไข้หวัดใหญ่บ้าง?
ไม่ว่าจะเป็นเพศใด อายุเท่าไร ก็สามารถเสี่ยงเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ หากภูมิคุ้มกันร่างกายไม่ดีพอ แต่คนที่มีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่น คือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอดเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ เบาหวาน และกลุ่มผู้สูงอายุ
ไข้หวัดใหญ่ ติดต่อกันได้อย่างไร?
ไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อกันจากการรับเชื้อไวรัสผ่านการไอ จาม พูด และลมหายใจของผู้ที่ติดเชื้อ รวมไปถึงน้ำลายจากการใช้ช้อน แก้วเดียวกัน หรือแม้กระทั่งสัมผัสข้าวของที่ผู้ป่วยสัมผัส หลังจากใช้มือป้องปากเวลาจามหรือไอด้วย

การรักษาไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัด เป็นโรคที่ไม่มียารักษาโดยตรง ทำได้แต่เพียงรักษาตามอาการที่มีเท่านั้น เช่น มีไข้ก็ให้ยาลดไข้ เจ็บคอก็ให้ยาแก้เจ็บคอ เป็นต้น ในกรณีของไข้หวัดใหญ่ก็เช่นกัน แพทย์จะรักษาตามอาการ พร้อมกับติดตามอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการรุนแรง แพทย์จึงค่อยพิจารณาการใช้ยาที่กดการเพิ่มจำนวนของไวรัส คือ Amantadine หรือ Rimantadine

วิธีป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

  1. สามารถรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ที่โรงพยาบาลทั่วไป
  2. รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
  3. หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่สักระยะ เพื่อป้องการการระบาด และแพร่กระจายของเชื้อไวรัสจากคนหนึ่ง ไปยังอีกคนหนึ่ง
  4. ล้างมือให้สะอาด ก่อนทานอาหาร หรือหยิบจับอาหารขึ้นมาทาน
  5. ผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ ควรสวมหน้ากากอนามัย หรือเมื่อจามหรือไอ ควรใช้กระดาษทิชชู่ปิดปาก แล้วขยำทิ้งลงถังขยะ และควรหยุดเรียน หยุดงาน เพื่อรักษาตัวให้หายโดยเร็ว และไม่เป็นการแพร่กระจายเชื้อไวรัสให้คนอื่น

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก https://th.ac-illust.com

แหล่งที่มา : http://www.cuhc.chula.ac.th/th/archives/87

Categories
บทความ

โรคที่มากับฤดูหนาว ไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่

โรคที่มากับฤดูหนาว ไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่

ขณะ นี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยคงเริ่มสัมผัสกับกลิ่นอายของ “ลมหนาว” ที่พัดโชยเข้ามาทำให้รู้สึกถึงอากาศที่เริ่มหนาวเย็น สำหรับผู้ที่ยังคงประสบภัยน้ำท่วมอยู่นั้นควรเพิ่มความระมัดระวังในการดูแล สุขภาพเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีความเปียกชื้นสูงกว่าที่อื่น ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ที่มีผู้คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น วัด โรงเรียน หรือ ศูนย์อพยพ หากไม่ป้องกันให้ดีแล้วอาจทำให้เกิดโรคระบาดได้ง่าย

จากสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ รวมถึงอากาศที่แปรปรวนและฤดูฝนที่ยาวนาน ส่งผลให้เราอาจมีช่วงเวลา ที่อุณหภูมิที่ลดต่ำลงหรือมีหน้าหนาวยาวนานกว่าปกติ โรคที่พบได้บ่อยในฤดูหนาวส่วนใหญ่จะเป็นโรค ที่เกิดจากเชื้อไวรัส ได้แก่ โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคปวดบวม โรคหัด โรคหัดเยอรมัน และโรคสุกใส ดังนั้นเรามาเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันโรคที่มากับฤดูหนาวกันนะคะ

1. ไข้หวัด (Common Cold)

โรคไข้หวัดเป็นโรคที่เกิดได้ตลอดทั้งปี พบบ่อยในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาว หรือช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง ไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายสายพันธุ์ เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดแต่ละครั้งมักเกิดจากเชื้อไวรัสหวัดเพียงชนิดเดียว และเมื่อหายแล้วร่างกายก็จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อชนิดนั้น และเมื่อป่วยเป็นไข้หวัดครั้งใหม่ก็มักจะเกิดจากเชื้อไวรัสหวัดชนิดใหม่ หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ

การติดต่อ

เชื้อไวรัสไข้หวัดที่อยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ ติดต่อโดยการไอ หรือหายใจรดกัน หรือจากการสัมผัส เมื่อมีเชื้อหวัดติดที่มือแล้วไปสัมผัสผู้อื่น เชื้อหวัดก็จะติดคนๆ นั้น และเมื่อนำไปขยี้ตาหรือแคะจมูกก็จะเข้าสู่ร่างกายจนกลายเป็นไข้หวัดได้

อาการของโรค

หลังจากเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายประมาณ 1 ถึง 3 วัน ก็จะเริ่มแสดงอาการ อาการที่พบบ่อยคือ ไข้ตัวร้อนเป็นพักๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกใส จาม คอแห้ง หรือเจ็บคอเล็กน้อย ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอโตขึ้น ไอแห้งหรือไอมีเสมหะเล็กน้อยลักษณะสีขาว ถ้าไอมากอาจทำให้เจ็บบริเวณลิ้นปี่ สำหรับผู้ใหญ่อาจไม่มีไข้ มีเพียงอาการคัดจมูก น้ำมูกใส แต่สำหรับเด็กมักมีไข้สูงเฉียบพลัน นอกจากนี้อาจเกิดอาการท้องเดินหรือถ่ายเป็นมูก ถ้ามีอาการเกิน 4 วันอาจพบเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนทำให้ถ่ายเป็นมูกข้นเหลืองหรือเขียว หรือไอมีเสมหะสีเหลืองหรือเขียว และอาจมีอาการอื่นตามมา

โรคแทรกซ้อนของไข้หวัด

เมื่อป่วยเป็นไข้หวัด ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะอ่อนแอลง ทำให้แบคทีเรียที่อยู่ในระบบทางเดินหายใจมีโอกาสแพร่เชื้อร่วมกับเชื้อไวรัส ได้ จึงทำให้เป็นต่อมทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ สำหรับเด็กเล็กอาจทำให้เกิดอาการชักจากไข้ได้ บางรายเสียงแหบเนื่องจากกล่องเสียงอักเสบ หรือวิงเวียนศีรษะเนื่องจากอวัยวะควบคุมการทรงตัวที่อยู่ภายในหูเกิดการ อักเสบหรือที่เรียกว่า “หวัดลงหู” ซึ่งปกติจะหายได้เองภายใน 3 ถึง 5 วัน โรคแทรกที่รุนแรงมักเกิดกับคนที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ตรากตรำงานหนัก หรือขาดอาหาร

เมื่อหายจากไข้หวัดแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดชนิดนั้น แต่เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดมีหลายสายพันธุ์แตกต่างกันตามช่วงเวลา ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นจึงมีข้อจำกัด ดังนั้นเราจึงมีโอกาสติดเชื้อไวรัสไข้หวัดสายพันธุ์อื่นได้อีก ทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เป็นไข้หวัดด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง นั่นเอง ส่วน “โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza)” นั้นมีอาการรุนแรงกว่าและมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ มากกว่าโรคไข้หวัดทั่วไป

2. ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลันที่เกิดจาก เชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (influenza virus) หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีหลายสายพันธุ์เช่น เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ (influenza A) และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี (influenza B) ส่วนไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ซี (influenza C) มีความรุนแรงน้อยและเกิดการระบาดเฉพาะในวงจำกัด

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่ระบาดได้ทั่วโลก โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว โดยแต่ละปีทั่วโลกจะมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ สูงถึงร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด สำหรับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2553 สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จำนวนทั้งสิ้น 115,183 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 180.82 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน อัตราเสียชีวิต 0.2 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน และจากข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 ถึง พ.ศ. 2549 พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละปีลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นเริ่มสูงขึ้นเล็กน้อยและกลับมาสูงขึ้นมากในปี พ.ศ. 2552 โดยพบอัตราป่วยถึง 189 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน กลุ่มอายุที่พบการติด เชื้อมากที่สุดคือกลุ่มเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 4 ปี และกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตหลังจากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ คือ กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ดังนั้นกลุ่มที่ต้องดูแล สุขภาพเป็นพิเศษเพื่อให้ห่างไกลจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในช่วงหน้า หนาวนี้ก็คือกลุ่มเด็กเล็กซึ่งมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย และกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเมื่อติดเชื้อแล้วอาจมีอาการรุนแรงจึงถึงขั้นเสีย ชีวิตได้

การติดต่อ

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ติดต่อทางลมหายใจ ไอ จาม หรือหายใจรดกันในที่ที่มีคนอยู่แออัด เช่น โรงเรียน โรงงาน นอกจากนี้เชื้อไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อทางละอองฝอยของน้ำมูกและน้ำลาย หรือติดต่อจากมือที่มีเชื้อไวรัสอยู่แล้วนำไปสัมผัสที่จมูกหรือปากทำให้ เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้

ระยะติดต่อ

ผู้ใหญ่ที่มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่อยู่ในร่างกายสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้ อื่นได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนที่จะมีอาการ และสามารถแพร่เชื้อ ต่อไปได้อีก 3 ถึง 5 วันหลังจากที่มีอาการแล้ว ในขณะที่เด็กที่มีเชื้อไข้หวัดใหญ่อยู่ในร่างกายสามารถแพร่เชื้อได้นานกว่า 7 วัน สำหรับผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แต่ไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อใน ช่วงเวลานั้นได้เช่นกัน

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่จะรุนแรงและป่วยนานกว่าโรคไข้หวัดทั่วไป หลังจากเชื้อเข้าสู่ร่างกายประมาณ 1 ถึง 4 วัน ก็จะเริ่มแสดงอาการ ที่พบบ่อยคือไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก และอาจมีอาการคัดจมูก เจ็บคอ ถ้าป่วยอยู่นานอาจมีอาการไอเนื่องจากหลอดลมอักเสบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติได้ภายใน 1 ถึง 2 สัปดาห์ แต่รายที่มีโรคแทรกซ้อนเช่นโรคปอดอักเสบก็อาจมีอาการรุนแรงจนทำให้เสียชีวิต ได้

ใครบ้างที่เสียงต่อการเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่

  1. ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
  2. ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  3. เด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี
  4. เด็กที่ทานยาแอสไพรินเป็นเวลานาน
  5. หญิงที่ตั้งครรภ์ในฤดูกาลที่มีไข้หวัดใหญ่ระบาด และมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป

การป้องกันโรคไข้หวัดและโรคไข้หวัดใหญ่

  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับคนที่ป่วยเป็นไข้หวัด
  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ
  • หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้าของตนเองโดยไม่จำเป็น
  • ดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ถูกหลักอนามัย และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • โรคไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ปัจจุบันแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ ตลอดจนกลุ่มเสี่ยงที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่

  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ห้ามตรากตรำงานหนัก หรือออกกำลังมากเกินไป
  • ดูแลร่างกายให้อบอุ่นเสมอด้วยการสวมเสื้อผ้าที่อบอุ่น หลีกเลี่ยงการถูกฝนหรืออยู่ในที่อากาศเย็น และไม่ควรอาบน้ำเย็น
  • อยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเทได้ดี
  • ควรดื่มน้ำมากๆ และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็น ควรดื่มน้ำอุ่นเพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายและช่วยลดไข้ รวมถึงช่วยทดแทนน้ำที่สูญเสียไปจากไข้สูง
  • ควรรับประทานอาหารอ่อน น้ำข้าว น้ำหวาน น้ำส้ม น้ำผลไม้
  • ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
  • เช็ดตัวลดไข้บ่อยๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กเพราะไข้อาจกระตุ้นให้ชักได้ ควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา อย่าใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็งเช็ดตัว
  • สวมผ้าปิดปากและจมูก เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และหมั่นล้างมือให้สะอาด
  • กลั้วคอบ่อยๆ ด้วยน้ำสะอาด
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ภูมิต้านทานโรคน้อย เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง หรือผู้ป่วยที่กินยากดภูมิคุ้มกันอยู่

เพียงเท่านี้ ท่านก็สามารถป้องกันตนเองและคนที่ท่านรักให้ห่างไกลจากโรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ได้แล้วค่ะ

ที่มา : ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ

ขอขอบคุณ : ที่ปรึกษาบทความ : นายแพทย์พรเทพ สวนดอก กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ

 

ที่มา: http://www.bangkokhealth.com/index.php/General-health/3738-Flu-Winter1.html

แหล่งที่มา : https://www.pidst.or.th/A289.html

Categories
บทความ

ดูแลตัวเองอย่างไร…ให้ห่างไกล ‘ไข้หวัดใหญ่’

ดูแลตัวเองอย่างไร…ให้ห่างไกล ‘ไข้หวัดใหญ่’

     เพราะ…ไข้หวัดใหญ่ เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด ทำความรู้จักกับโรคไข้หวัดใหญ่ ทำไมต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี วัคซีนแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันอย่างไร รวมถึงข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่หลายคนอยากรู้?


        โรคไข้หวัดใหญ่ สาเหตุจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza) อย่างเฉียบพลัน สามารถแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งอย่างง่ายดายเกิดตลอดทั้งปีทั่วโลกและอาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ปอดอักเสบ และอาจทำให้อาการของโรคที่เป็นอยู่เดิมร้ายแรงขึ้น เช่น หัวใจล้มเหลว เบาหวาน ในประเทศไทยปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ ทั่วประเทศกว่า 700,000 – 900,000 รายต่อปี จำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่กำลังมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน

 

ใครบ้างเสี่ยงป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่
1.สตรีมีครรภ์
2.ผู้ที่สุขภาพอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำ
3.เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี และผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป
4.โรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคปอด โรคหัวใจ ภูมิคุ้มกันต่ำ


ไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่ และ โรคไข้หวัด ต่างกันอย่างไร ?

         ไข้หวัดใหญ่ (influenza) และไข้หวัด (Common cold) มีลักษณะอาการคล้ายคลึงกัน แต่มีความแตกต่างของวิธีการรักษาความรุนแรงของรอยโรค ซึ่งเราสามารถสังเกตได้ คือ


โรคไข้หวัดใหญ่

1.ไข้สูง และนานกว่า 3-4 วัน ขึ้นไป
2.ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและอ่อนเพลียตามตัวมาก และอาจนานเป็นสัปดาห์
3.มีอาการเจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ระยะเริ่มแรก
4.ในเด็กสามารถพบอาการท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน
5.พบภาวะแทรกซ้อน เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน ภาวะร่างกายขาดน้ำ

 

โรคไข้หวัด
1.ไม่มีไข้ หรือ ไข้ต่ำๆ เมื่อทานยาลดไข้ 1-2 วันก็หาย
2.ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและอ่อนเพลียพบบ้างเล็กน้อย แต่เป็นในระยะสั้นๆ
3.มีอาการเจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ระยะหลัง
4.ไม่พบอาการท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน
5.ไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

 

เมื่อสงสัยว่าป่วย ทำอย่างไรดี ?

1.ไปพบแพทย์
2.สวมหน้ากากอนามัย
3.ใช้ผ้า ปิดปากและจมูกทุกครั้งเมื่อ ไอ หรือ จาม
4.ดื่มน้ำอุ่น ๆ
5.ทานยาลดไข้

เรามีวิธีการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ อย่างไรบ้าง ?
1.ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสะอาดและสบู่
2.หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่
3.สวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในพื้นที่แออัด ผู้คนพลุกพล่าน
4.รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง
5.เลือกรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่
6.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
7.เสริมภูมิคุ้มกันด้วย วัคซีน ป้องกันไข้หวัดใหญ่

        เสริมภูมิคุ้มกัน สร้างเกราะคุ้มกันโรค ช่วยลดความรุนแรงเมื่อเจ็บป่วย ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดได้ในทุกคนที่มีอายุ ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ทั้งนี้การฉีดวัคซีนแนะนำให้ฉีดป้องกันทุกปี ปีละ 1 เข็ม เนื่องจากในทุกปีจะมีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่หลังจากได้รับวัคซีนแล้วร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นภายในร่างกาย

 

Categories
บทความ

ไม่อยากติดโควิด 19 ป้องกันตัวเองอย่างไร

ไม่อยากติดโควิด 19 ป้องกันตัวเองอย่างไร

  • ปัจจุบันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด19 ถือเป็นวิกฤติด้านสุขภาพครั้งใหญ่ มีการระบาดในวงกว้าง และลุกลามไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก โดยเชื้อโควิด19 สามารถเข้าสู่ร่างกายของคนเราได้ 2 วิธี

    วิธีที่ 1 การแพร่กระจายผ่านสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ ได้แก่ น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ เมื่อผู้ติดเชื้อพูดหรือไอ จาม จะเกิดละอองฝอยของน้ำมูกน้ำลายกระจายออกมา หากผู้ที่อยู่ใกล้สูดหายใจเข้าไป ก็จะนำเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งละอองฝอยที่เกิดจากทางเดินหายใจ มีระยะการกระจายประมาณ 1 เมตร

    วิธีที่ 2 เกิดจากการที่ผู้ติดเชื้อนำมือไปสัมผัสกับสารคัดหลั่ง ได้แก่ น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของตนเอง จึงมีเชื้อปนเปื้อนอยู่ที่มือ เมื่อผู้ติดเชื้อใช้มือจับสิ่งของต่าง ๆ หรือในพื้นที่สาธารณะ เชื้อไวรัสจึงปนเปื้อนอยู่ตามผิวสัมผัสของสิ่งของเหล่านั้น เมื่อผู้อื่นนำมือไปสัมผัสสิ่งของเหล่านั้น และนำมือมาสัมผัสใบหน้า ปาก ตา จมูก ก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้

    เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง และผู้อื่น เราสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด19 ด้วยการปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันโควิด19 ดังต่อไปนี้

    1. สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าทุกครั้งที่ต้องพบปะผู้คน เมื่อต้องออกจากบ้าน หรืออยู่ในพื้นที่แออัด เพื่อป้องกันเชื้อโรคจากคนอื่นมาติดเรา หรือเมื่อท่านมีอาการป่วย เพื่อป้องกันเชื้อโรคจากเรา ที่อาจจะไปติดผู้อื่นได้
    2. ล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร ก่อนสัมผัสบริเวณใบหน้า ตา จมูก ปาก หลังเข้าห้องน้ำ หลังปิดปาก เมื่อไอ จาม โดยควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้ถูกวิธี โดยใช้เวลาในการล้างมืออย่างน้อย 20 วินาที หรือล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล
    3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ปาก จมูก ตา หู หากยังไม่ได้ล้างมือ เพราะอาจจะทำให้เชื้อโรคโควิด19 เข้าสู่ร่างกายได้
    4. หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัด
    5. เว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร
    6. ควรไอ จามอย่างถูกวิธี โดยใช้กระดาษทิชชู่ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อจะไอ หรือจาม แล้วทิ้งกระดาษลงถังขยะให้เรียบร้อย หรือไอจามใส่ข้อพับแขนหากไม่มีกระดาษทิชชู่
    7. ทำความสะอาดเครื่องใช้ อุปกรณ์ภายในบ้าน หรือที่ทำงาน รวมถึงจุดสัมผัสต่าง ๆ ที่มีการสัมผัสร่วมกันกับผู้อื่นบ่อยๆ
    8. ใช้แอพพลิเคชั่น หมอชนะ หรือไทยชนะ

    การปฏิบัติตัวให้ปลอดภัยเมื่อต้องออกไปชอปปิ้ง หรือซื้อของช่วงโควิด19

    1. ต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา
    2. เลือกเข้าร้านที่มีระบบระบายอากาศที่ดี คนไม่หนาแน่น
    3. วัดไข้ และลงทะเบียนเช็คอิน เมื่อเข้าหรือออกจากร้าน
    4. เข้าคิวตามที่ร้านกำหนด และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร
    5. สวมถุงมือพลาสติก หากทางร้านจัดไว้ให้สำหรับหยิบจับสิ่งของ และควรใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
    6. ล้างมือเมื่อจับจุดสัมผัสร่วมกับผู้อื่น เช่น ลูกบิดประตู ปุ่มลิฟต์
    7. เลือกชำระเงินด้วยระบบ E-Payment
    8. ควรใช้เวลาในการช้อปปิ้งหรือซื้อของให้น้อยที่สุด

    สิ่งที่ต้องทำเมื่อกลับถึงบ้าน เพื่อให้บ้านปลอดโควิด19

    1. เมื่อกลับถึงบ้าน ควรถอดรองเท้าไว้นอกบ้าน เพราะรองเท้าอาจจะเหยียบติดสารคัดหลั่งจากภายนอกเข้ามาได้
    2. ถอดหน้ากากอนามัย พับทิ้งลงถังขยะภายนอกบ้าน หรือถังขยะที่ปิดมิดชิดหรือหากสวมหน้ากากผ้า ควรซักทำความสะอาดทุกวัน
    3. ล้างมือก่อนเปิดประตูบ้าน เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่อาจติดมากับมือ
    4. เช็ดกระเป๋า กุญแจ หรือเครื่องใช้ส่วนตัวต่าง ๆ ที่อาจะนำไปวางตามพื้นที่สาธารณะ
    5. ห้ามนั่งเก้าอี้ หรือโซฟาก่อนอาบน้ำ
    6. แยกซักเสื้อผ้าที่ใส่นอกบ้านกับในบ้านออกจากกัน
    7. อาบน้ำ สระผม เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่

    รับผิดชอบต่อสังคมด้วยการรับผิดชอบต่อตัวเอง เพื่อหยุดการแพร่เชื้อโควิด19

Categories
บทความ

เด็กกับโรคโควิด-19

เด็กกับโรคโควิด-19

  • พบเด็กประมาณร้อยละ 13 ของผู้ป่วยทั้งหมด ติดเชื้อ SARS-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดโรค COVID-19 แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการ
  • เด็กที่มีภาวะอ้วน เป็นโรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคพันธุกรรมเมตาบอลิก หรือภาวะความผิดปกติทางระบบประสาท มีโอกาสเกิดอาการป่วยแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
  • แม้ในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด ก็ควรพาเด็กไปรับการตรวจสุขภาพและรับวัคซีนตามนัด โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ โดยเลือกรับบริการเฉพาะสถานพยาบาลที่แยกบริเวณเด็กป่วยกับเด็กไม่ป่วยออกจากกัน ไม่ให้ปะปนกันอย่างชัดเจน

ช่วงนี้อาจเห็นข่าวเด็กติดเชื้อ SARS-CoV-2 เยอะขึ้นพอสมควร พ่อแม่หลายคนมีความกังวลใจว่าจะดูแลลูกๆ อย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยงหรือติดโรค COVID-19 หรือหากเรื่องร้ายแรงไปถึงขั้นที่ว่า หากเด็กเกิดการติดเชื้อแล้ว จะมีอาการรุนแรงหรือไม่ หรือต้องทำอย่างไรต่อไป แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคติดเชื้อมีคำแนะนำมาให้เพื่อคลายข้อกังวลใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่ ดังนี้

อัตราการติดโรค COVID-19 ของเด็กๆ

ในสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา พบเด็กที่ติดเชื้อ SARS-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดโรค COVID-19 ประมาณร้อยละ 13 ของผู้ป่วยทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการเลย และพบน้อยมากที่เด็กติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรงและต้องรับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตหรือใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่อย่างไรก็ตาม เด็กก็มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ หากผู้ป่วยเด็กคนนั้นมีภาวะอ้วน เป็นโรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคพันธุกรรมเมตาบอลิก หรือภาวะผิดปกติทางระบบประสาท

ส่วนในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 1 ขวบ หากติดโควิด-19 จะมีอาการมากกว่าเด็กโต เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายยังพัฒนาได้ไม่ดีพอและช่องทางเดินหายใจยังมีขนาดเล็ก พูดให้เห็นภาพชัดขึ้นก็คือ มีลักษณะเหมือนเด็กที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะมีปัญหาของระบบทางเดินหายใจ ส่วนเด็กที่ได้รับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรงก็จะป้องกันได้เฉพาะเชื้อที่ฉีดวัคซีนป้องกันไปเท่านั้น

เด็กติดเชื้อก่อโรค COVID-19 ได้อย่างไร

สภาพแวดล้อมที่เด็กจะติดเชื้อ SARS-CoV-2 ได้ ก็ไม่ต่างจากในผู้ใหญ่  นั่นก็คือ การอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ อยู่ในพื้นที่ที่มีผู้คนรวมกันอยู่มาก พบปะผู้คนโดยไม่มีการป้องกันโรค ไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่ทำความสะอาดร่างกาย ไม่รักษาระยะห่าง ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อทั้งที่มีและไม่มีอาการ ก็อาจติดเชื้อได้หากไม่มีการป้องกันการติดเชื้อที่เหมาะสมและดีพอ ไม่เว้นแม้แต่พ่อแม่ก็อาจติดเชื้อจากลูกที่ป่วยได้

วิธีป้องกันโรค COVID-19 ในเด็ก

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) และศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้ให้คำแนะนำแนวทางสำหรับครอบครัวที่มีลูกเล็กในการป้องกันการแพร่เซื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อโรค COVID-19 จากเด็กที่ติดเชื้อไปสู่บุคคลอื่นไว้ ดังนี้

การดูแลและล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ (Keep your Hands Clean)

  • สอนเด็กให้รู้จักล้างมืออย่างถูกต้องตามมาตรฐาน  7 ขั้นตอน
  • หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่อย่างถูกวิธี นานอย่างน้อย 20 วินาที หรือใช้แอลกอฮอล์ล้างมือที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 70%
  • ปฏิบัติตัวให้ถูกสุขลักษณะ ไอ/จามต้องปิดปากและจมูกด้วยการงอศอก หรือใช้กระดาษชำระปิด จากนั้นนำไปทิ้งในที่ที่เหมาะสม และล้างมืออีกครั้งเพื่อทำความสะอาด
  • หลีกเลี่ยงการเอามือสัมผัสบริเวณ ตา จมูก ปาก
  • ให้เด็กล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทันทีที่กลับเข้าบ้าน หลังใช้ห้องสุขา และก่อนรับประทานอาหาร รวมถึงพ่อแม่ต้องดูแลความสะอาดก่อนจัดเตรียมอาหารด้วย

การเว้นระยะห่าง (Practice Social Distancing)

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลอื่นในบ้าน ทั้งเด็กและสมาชิกในบ้าน
  • ให้เว้นระยะห่าง 6 ฟุตหรือ 1 เมตร กับบุคคลอื่นที่ไม่ได้อยู่ในบ้าน
  • กรณีมีเด็กคนอื่นมาที่บ้าน ควรให้เด็กเล่นกันนอกบ้าน และเว้นระยะห่าง 6 ฟุต
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการใช้ของเล่นหรืออุปกรณ์ร่วมกัน เช่น ลูกฟุตบอล บาสเก็ตบอล ฯลฯ

การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อภายในบ้าน (Clean and Disinfected your Home)

  • ใช้สบู่กับน้ำสะอาด หรือแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 70% หรือน้ำยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้ เช่น น้ำยาซักผ้าขาวที่มีส่วนผสมของ Sodium Hypochlorite โดยผสมกับน้ำในอัตราส่วนที่ถูกต้อง เช็ดทำความสะอาดบริเวณดังต่อไปนี้
    • พื้นผิวบริเวณที่มีการใช้ร่วมกันทุกวันและบริเวณที่มีการสัมผัสบ่อย เช่น ผ้าปูโต๊ะ ลูกบิดประตู มือจับประตู เก้าอี้ สวิตช์ไฟ  รีโมทคอนโทรล เครื่องใช้ไฟฟ้า หน้าต่าง โต๊ะ ห้องน้ำ อ่างล้างมือ เป็นต้น
    • บริเวณที่สกปรกได้ง่าย เช่น โต๊ะเปลี่ยนผ้าอ้อม โต๊ะอาหาร
    • พื้นผิวบริเวณที่เด็กสัมผัสบ่อยๆ เช่น ขอบเตียงนอน โต๊ะวางของเล่น หรือของเล่นต่างๆ โดยเฉพาะของเล่นเด็กชนิดที่เด็กอาจหยิบใส่ปากได้ ให้ทำความสะอาดโดยใช้สบู่และน้ำสะอาด และระวังอย่าให้มีคราบสบู่ตกค้าง
  • ในกรณีที่จำเป็นจะต้องดูแลเด็กที่ติดเชื้อ COVID-19 ให้พ่อแม่ผู้ปกครองล้างมือทุกครั้งหลังจับต้องสิ่งของและของเล่นที่เด็กใช้ รวมถึงหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือผ้าปูเตียงเด็ก เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อ และควรรักษาระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอ

การสวมใส่หน้ากากอนามัย (Wear Face Mask)

  • แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน หรือไปในที่สาธารณะ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดบุคคลอื่น
  • แนะนำให้เด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไปสวมหน้ากากอนามัย เมื่อต้องอยู่ท่ามกลางบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัว
  • ไม่แนะนำให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ หรือเด็กที่มีปัญหาด้านการหายใจ รวมถึงเด็กที่อยู่ในสภาพที่ถอดหน้ากากเองไม่ได้ สวมหน้ากากอนามัย เนื่องจากระบบทางเดินหายใจของเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ เด็กอาจขาดออกซิเจนและเป็นอันตรายได้ ควรใช้การเว้นระยะห่างอย่างต่ำ 2 เมตร หรือเอาผ้าคลุมรถเข็นที่มีเด็กนอนอยู่แทน

ที่สำคัญที่สุดคือ ควรพาเด็กไปรับการตรวจสุขภาพและรับวัคซีนตามนัด โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ โดยเลือกรับบริการเฉพาะสถานพยาบาลที่แยกบริเวณเด็กป่วยกับเด็กไม่ป่วยออกจากกัน ไม่ให้ปะปนกันอย่างชัดเจน

การเตรียมตัวและผลข้างเคียง กรณีรับวัคซีนโควิด-19 (Pfizer)

โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช ให้ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ฉีดวัคซีนโควิด-19 สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กๆ ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข ให้กับเด็กนักเรียนอายุ 12-18 ปี ต้องเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีน Pfizer อย่างไร และผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน Pfizer ในเด็ก อาจทำให้มีอาการอย่างไรบ้าง อาการแบบไหนที่ควรรีบมาพบแพทย์ทันที อ่านเพิ่มเติมในภาพด้านล่าง

เด็กไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19  ต้องทำอย่างไร แล้ววัคซีนในเด็กที่ควรฉีดในช่วงนี้มีอะไรบ้าง

เด็กๆ ถึงจะยังไม่ได้รับวัคซีน COVID-19 แต่วัคซีนของเด็กๆ เองก็จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กๆ มีร่างกายที่เเข็งแรง ต่อสู้กับเชื้อโรคได้  ซึ่งมีทั้ง วัคซีนป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ​Hib , วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ Pneumococcal ​vaccine และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ Influenza vaccine

สุดท้ายนี้ พ่อ แม่ ผู้ใหญ่ในบ้านควรปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค COVID-19 เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กๆ สามารถทำตามได้