Categories
บทความ

ร่างกายรับ PM 2.5 เรื้อรังอันตราย เสี่ยงก่อโรคมะเร็งปอด

ร่างกายรับ PM 2.5 เรื้อรังอันตราย เสี่ยงก่อโรคมะเร็งปอด

มะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 2 ของคนไทย (เป็นอันดับที่ 2 ในผู้ชายรองจากมะเร็งตับ และเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิง) เป็นที่ทราบดีว่าสาเหตุสำคัญเกิดจาการสูบบุหรี่ หรือการอยู่ใกล้ชิดกับคนที่สูบบุหรี่ ปัจจุบันพบมะเร็งปอดในกลุ่มที่ไม่สูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้น เช่น กลุ่มที่ทำงานสัมผัสสารเคมี เช่น แร่ใยหิน โครเมียม นิกเกิล เป็นต้นและ ที่เป็นปัญหาที่สำคัญขณะนี้ คือ มลภาวะอากาศ โดยเฉพาะ PM 2.5 สามารถเพิ่มการเกิดมะเร็งปอดได้ 1-1.4 เท่า


PM 2.5 ก่อให้เกิดมะเร็งปอดได้จริงหรือ

PM 2.5 (Particulate Matter) เป็นอนุภาคขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (เล็กกว่าเส้นผมมนุษย์ 20 กว่าเท่า) เกิดจากการเผาไหม้เครื่องรถยนต์ การเผาในที่โล่ง และควันจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยอนุภาคที่เล็กมากนี้สามารถเข้าสู่ปอด และเข้าสู่กระแสเลือดได้ ก่อให้เกิดผลต่อสุขภาพ ในระยะสั้น เช่น แสบตา แสบจมูก ระคายเคืองตา ทำให้ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ หอบหืด และถุงลมโป่งพองกำเริบได้ ถ้าได้รับ PM 2.5 ปริมาณมากและยาวนาน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืด ภูมิแพ้ ถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไต

นอกจากนี้ PM 2.5 ยังมีองค์ประกอบสารเคมีบางชนิด ที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้ เช่น โพลีไซคลิกอะโรมาติก ไฮโครคาร์บอน เกิดจาการเผาไหม้ของสารอินทรีย์ไม่สมบูรณ์

ทั้งนี้ได้มีการศึกษาพบว่า PM 2.5 ปริมาณ 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เทียบเท่าการสูบบุหรี่ 1 มวน แม้ความเสี่ยงของ PM 2.5 ต่อมะเร็งปอดจะไม่มากเท่าการสูบบุหรี่ แต่ถ้าต้องได้รับ PM 2.5 ในปริมาณมาก เป็นเวลานานก็เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปอดได้


สามารถป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงมะเร็งปอดจาก PM 2.5 ได้อย่างไร

จากคำแนะนำของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ร่วมกับ 5 สมาคมวิชาชีพเวชกรรม ออกคำแนะนำการปฏิบัติตัวของประชาชนในช่วงวิฤตฝุ่น PM 2.5 ประกาศ ณ วันที่ 10 มีนาคม 2566 โดยประชาชนกลุ่มเสี่ยงคือ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง (โรคปอด หัวใจ สมอง ไต) ดังนี้

    1. หมั่นตรวจสอบคุณภาพอากาศจากแหล่งข้อมูลของรัฐและเอกชน หรือใช้เครื่องวัดปริมาณฝุ่นแบบพกพา เพื่อวางแผนกิจวัตรประจำวันให้เหมาะสม
    2. เมื่อค่า PM2.5 ในขณะนั้น (ค่ารายชั่วโมง) ขึ้นสูงเกินเกณฑ์ คือ
      • กรณีสูงกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กลุ่มเสี่ยงงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง บุคคลทั่วไปลดและปรับเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
      • กรณีสูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกคนต้องงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง ยกเว้นบุคคลที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะ ให้ใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา
      • กรณีสูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกคนควรอยู่ในตัวอาคารซึ่งติดตั้งระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ยกเว้นบุคคลที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะ ให้ใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา และจำกัดช่วงเวลาปฏิบัติงานไม่ให้เกินครั้งละ 60 นาที
    3. ขณะที่ปริมาณฝุ่นภายนอกขึ้นสูง ภายในตัวอาคารควรจัดให้มีระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
    4. การออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกายเกิดพิษภัยได้น้อยลง และควรหลีกเลี่ยงหรือลดเวลาการออกกำลังกายกลางแจ้งตามระดับเตือนภัยในข้อ 2. ทั้งนี้การออกกำลังกายในร่มควรจัดให้มีระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
    5. การดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ จะช่วยเร่งการขับฝุ่น PM2.5 ที่เล็ดรอดเข้ากระแสเลือด ออกไปทางไตในรูปของปัสสาวะได้มากขึ้น
    6. การรับประทานผักและผลไม้ให้เพียงพอ จะช่วยเสริมการทำงานของระบบแอนติออกซิแดนท์ ซึ่งช่วยลดการทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อจากพิษของฝุ่นได้
อย่างไรก็ตามปัจจุบันวิกฤติฝุ่น PM 2.5 เกิดขึ้นทุกปี โดยเฉพาะ ปลายฤดูหนาวก่อนเข้าฤดูร้อน (ต้นเดือนกุมภาพันธ์) และดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ การดูแลตัวเอง หลีกเลี่ยงมลพิษ ฝุ่นควัน และหมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำตรวจภาพรังสีทรวงอก ( X-ray) ประจำปี สำหรับกลุ่มเสี่ยงมะเร็งปอด ที่แนะนำตรวจ Low dose CT scan คือ ผู้มีอายุ 55 ปี ขึ้นไป และ สูบบุหรี่ประมาณ 20 มวนต่อวัน ติดต่อกันนาน 30 ปี หรือ 40 มวนต่อวัน ติดต่อกันนาน 15 ปี รวมถึงผู้ที่เลิกบุหรี่มาน้อยกว่า 15 ปี
Categories
บทความ

โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน

อุจจาระร่วงเฉียบพลัน

โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน เป็นโรคที่พบบ่อยโดยเฉพาะในพื้นที่
ที่มีสุขอนามัยไม่ดี ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะถ่ายอุจจาระเหลวหรือถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ
ตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปในหนึ่งวัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและมักหาย
ได้เอง ส่วนน้อยมีอาการรุนแรงและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาล
สาเหตุ
ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งอาจเป็นแบคทีเรียไวรัส โปรโตชัว
หรือพยาธิ โดยผู้ป่วยได้รับเชื้อจากการกินอาหาร หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ
เข้าไปอาการของอุจจาระร่วงเฉียบพลันมักจะเกิดหลังจากได้รับเชื้อตั้งแต่
12 ชั่วโมงถึง 4 วัน โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
การแพ้อาหาร โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังหรือเกิดจากผลข้างเคียงของยา เป็นต้น

อาการ
ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง อาจถ่ายอุจจาระเหลวหรือถ่ายเป็น
น้ำเพียงอย่างเดียว และจำนวนครั้งของการถ่ายไม่มากนัก ส่วนผู้ป่วยมี
อาการรุนแรง อาจถ่ายอุจจาระปริมาณมากหรือถ่ายเกิน 10 ครั้ง ต่อวัน
ทำให้มีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ปริมาณมากจนอาจทำให้ความดันโลหิตต่ำได้
อาการที่อื่นที่พบร่วมด้วย
ได้แก่ มีไข้ และปวดท้องผู้ป่วยที่มีอาการต่อไปนี้ควรไปพบ
แพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาถ่ายอุจจาระเป็นน้ำปริมาณมากและมีอาการ
ของภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง คอแห้ง มึนศรีษะ เมื่อลุกนั่งหรือยืน
ปัสสาวะออกน้อย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นต้น อาเจียนบ่อยจนกินอาหาร
และน้ำไม่ได้ ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือดถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ หรือเป็นเลือดสด
มีไข้สูงตั้งแต่ 38.5 องศาเซลเซียนขึ้นไป ปวดท้องรุนแรง ถ่ายอุจจาระตั้ง
แต่ 6 ครั้งขึ้นไปในหนึ่งวัน อาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง
การตรวจวินิจฉัย
ในรายที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องตรวจอุจจาระเพื่อ
หาสาเหตุของโรค เนื่องจากมักหายได้เองภายใน 48 ชั่วโมง ส่วนในรายที่
มีอาการรุนแรงแพทย์อาจส่งตรวจอุจจาระและเพาะเชื้อเพื่อหาสาเหตุและตรวจ
เลือดเพื่อดูความรุนแรงของโรค

การรักษา
ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง สามารถดื่มน้ำเกลือแร่ที่เตรียมจากผง
เกลือแร่ซึ่งผลิตสำหรับโรคอุจจาระร่วงโดยเฉพาะเพื่อชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่สูญ-
เสียไป เครื่องดื่มเกลือแร่ที่ใช้ในนักกีฬาหรือหลังออกกำลังกายเพื่อชดเชยเหงื่อ
ที่เสียไปนั้น มีปริมาณเกลือแร่ไม่เพียงพอที่จะชดเชยการสูญเสียจากการถ่าย
อุจจาระในโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน อาจให้ยาเพื่อรักษาอาการที่พบร่วมด้วย
เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวดท้อง เป็นต้น แพทย์อาจพิจารณาให้ยาฆ่าเชื้อเฉพาะใน
รายที่มีอาการรุนแรงหรือภูมิต้านทานต่ำไม่ควรให้ยาหยุดถ่ายในผู้ป่วยที่มีใช้หรือ
ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด เนื่องจากยาหยุดถ่ายไม่ได้รักษาที่สาเหตุ

การป้องกัน
– กินอาหารและดื่มน้ำที่สุกสะอาด
– ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดก่อนกิน
– ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ
– รักษาความสะอาดของอุปกรณ์และภาชนะที่ใช้
– หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่ปรุงไว้แล้วนาน ๆ โดยไม่ได้เก็บอย่างถูกวิธี

Categories
บทความ

โรคหลอดลมอักเสบ

โรคหลอดลมอักเสบ

โรคหลอดลมอักเสบ ปล่อยไว้นาน รักษาไม่ถูกวิธี เสี่ยงเป็นปอดอักเสบได้

โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
เป็นโรคทางระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากการติดเชื้อที่หลอดลม เกิดจากการติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เยื่อบุหลอดลมเกิดการอักเสบบวม ทำให้เกิดอาการไอมาก มีเสมหะ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก อาจมีอาการเจ็บคอ แสบคอ หรือเจ็บหน้าอกได้ ผู้ป่วยอาจมีไข้ รู้สึกครั่นเนื้อ ครั่นตัวได้ มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว และพบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ 

โรคหลอดลมอักเสบ แบ่งเป็น 2 ชนิด

•โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน (Acute bronchitis) 

ส่วนใหญ่พบได้มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยหลอดลมอักเสบเฉียบพลันเกิดจากเชื้อไวรัส เหมือนไข้หวัด มักเป็นตามหลังไข้หวัด ซึ่งไม่ได้รับการรักษา หรือปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง ทำให้การติดเชื้อลามลงไปถึงหลอดลม ผู้ป่วยที่เป็นหวัด มีอาการไอ มีเสมหะ เป็นระยะเวลามากกว่า 1 สัปดาห์ อาจเป็นหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งมีอาการไม่เกิน 3 สัปดาห์  ควรให้การรักษา หรือปฏิบัติตนให้ถูกต้องตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้เป็นโรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลันได้

•โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง (Chronic bronchitis) 

อาจเกิดจากโรคภูมิแพ้ โรคหืด รวมถึงการสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานาน (มีอาการไอมีเสมหะมากกว่า 3 เดือน – 2 ปี) หรือสัมผัสกับมลภาวะ เช่นฝุ่น ควัน หรือสารเคมีที่ระเหยได้ โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายขึ้น อาจทำให้เสมหะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือเขียว

อาการ

เมื่อเชื้อเข้าสู่ทางเดินหายใจหรือบริเวณหลอดลม ทำให้อักเสบของเยื่อบุหลอดลมและบวมมากขึ้น ส่งผลให้หลอดลมตีบแคบ อากาศไหลเข้าสู่ปอดได้ไม่ดี หายใจลำบาก เกิดการอักเสบทำให้การขับเสมหะของเยื่อบุหลอดลมไม่ดี ส่งผลให้เกิดอาการไอมากขึ้น ไอแห้งหรือไอมีเสมหะ คล้ายกับโรคหวัด โดยปกติส่วนใหญ่โรคนี้มักหายได้เองภายใน 7-10 วัน แต่อาการไอแห้ง อาจเป็นได้นานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน ในผู้ป่วยบางรายที่ผู้ป่วยสูงอายุมีอาการไอมากๆ ทำให้เจ็บกล้ามเนื้อ หน้าอก ชายโครง และอาจเกิดเส้นเลือดฝอยในปอดแตก ออกสู่โพรงเยื่อหุ้มปอด จนเกิดอาการหอบเหนื่อยทันที หลังการไอ ทั้งนี้หากรักษาไม่ถูกวิธี การติดเชื้อจากหลอดลมอาจลามไปที่ปอด ทำให้เกิดปอดอักเสบ (Pneumonia) หรือหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน อาจกลายเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือโรคถุงลมโป่งพอง รวมถึงมีความเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การรักษา

โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน มักจะหายได้เอง ภายใน 7-10 วัน ถ้าปฏิบัติอย่างถูกต้อง

•พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ เพราะน้ำเป็นยาละลายเสมหะได้ดีที่สุด

•หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ควัน กลิ่นฉุน ควันบุหรี่ สารเคมี ฝุ่น สารระคายเคืองต่างๆ

•หลีกเลี่ยงอากาศเย็น และแห้ง ซึ่งจะทำให้ไอมากขึ้น

•ควรให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายขณะนอนให้เพียงพอ 

•ควรหาสาเหตุที่ทำให้เป็นหลอดลมอักเสบ สาเหตุที่พบได้บ่อยที่ทำให้ภูมิต้านทานน้อยลง เช่น เครียด, นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, สัมผัสอากาศที่เย็นมากๆ

•รักษาตามอาการ เช่น มีไข้ อาจรับประทานยาลดไข้แต่ถ้าไอมากๆ อาจรับประทานยาลดหรือระงับอาการไอ  ถ้ามีเสมหะมาก อาจรับประทานยาขับเสมหะ หรือยาละลายเสมหะ

แหล่งที่มา : https://www.bpksamutprakan.com/care_blog/view/78

Categories
บทความ

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ไหน รุนแรงที่สุด มีอาการอย่างไร ป้องกันได้หรือไม่

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ไหน รุนแรงที่สุด มีอาการอย่างไร ป้องกันได้หรือไม่

จากการที่ไข้หวัดใหญ่กำลังแพร่ระบาดในขณะนี้ มีทั้งไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ทำให้เกิดคำถามว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ไหนรุนแรงที่สุด และสามารถป้องกันได้หรือไม่

ไข้หวัดใหญ่ ชื่ออาจจะฟังดูไม่น่ากลัวเท่าโควิด-19 แต่ความจริงแล้วมีความรุนแรงกว่าที่คิด รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ เผยว่า ในช่วงฤดูฝนของปี 2566 นี้ มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในช่วงที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้ผู้คนเก็บตัวในบ้าน ระมัดระวังด้านสุขอนามัย โอกาสแพร่เชื้อไข้หวัดใหญ่ก็น้อยลง

นอกจากนี้ประชาชนฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่น้อยลง ทำให้ร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่ไวรัสไข้หวัดใหญ่ยังหมุนเวียนอยู่อย่างเบาบาง เมื่อการระบาดของโควิด-19 ลดลง สังคมเข้าสู่สภาวะปกติ ทำให้พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มากขึ้นอย่างชัดเจน ข้อมูลล่าสุดจากกรมควบคุมโรคเผยว่า ปี 2566 คนไทยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ไปแล้วกว่า 200,000 ราย และยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง เพราะคนไทยยังไม่มี ‘ภูมิคุ้มกัน’ ไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ไหน รุนแรงที่สุด

ไข้หวัดใหญ่ คือ โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ที่มีสาเหตุมาจาก “เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่” ทำให้ผู้ติดเชื้อ มีไข้สูง ปวดหัว ตัวร้อน ไอ จาม มีน้ำมูก และปวดเมื่อยตามตัว โดยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ที่ปัจจุบันถือได้ว่า “ร้ายกาจที่สุด” และส่งผลกระทบต่อผู้คนในสังคมเรามากที่สุดนั้น จะมีอยู่ด้วยกัน 2 สายพันธุ์ ได้แก่

1. ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A

เป็นสายพันธุ์ที่มีความอันตรายมากที่สุด เพราะสามารถกลายพันธุ์ได้ รวมทั้งยังแพร่ระบาดได้เป็นวงกว้าง ทำให้เชื้อมีความเป็นลูกผสม และมีฤทธิ์รุนแรง โดยไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A มักจะแพร่ระบาดตามฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งสามารถแบ่งแยกออกได้เป็น 2 สายพันธุ์ย่อยที่พบบ่อย คือ H1N1 และ H3N2

2. ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B

เป็นสายพันธุ์ที่มีความอันตรายรุนแรงเช่นกัน ที่พบได้บ่อย คือ B Victoria, B Yamagata, B Phuket ซึ่งสามารถระบาดได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูหนาวเช่นเดียวกัน แต่อาการไม่รุนแรงเท่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A

อาการไข้หวัดใหญ่

สำหรับอาการของไข้หวัดใหญ่มักจะมีอาการไม่แตกต่างจากไข้หวัดทั่วไป แต่มีความรุนแรงกว่า โดยสัญญาณที่บ่งบอกว่าอาการที่เราเป็นอยู่นั้นไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา แต่เป็นไข้หวัดใหญ่ ประกอบไปด้วย

  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาฯ ขึ้นไป
  • มีอาการปวดศีรษะ
  • หนาวสั่น อ่อนเพลีย
  • มีน้ำมูกไหล คัดจมูก
  • เจ็บคอ มีอาการไอ
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ตามร่างกาย แขน ขา ตามตัว
  • ในเด็กเล็กมีอาการถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน และชักจากไข้สูง

ไข้หวัดใหญ่ส่วนมากจะมีระยะเวลาอาการของโรค 5 วัน หากมีอาการนานกว่านั้น อาจเกิดจากการติดเชื้อของแบคทีเรียแทรกซ้อนที่พบได้ในบางราย

ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงไข้หวัดใหญ่

ต้องบอกว่าทุกคนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สามารถติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ เพราะติดต่อผ่านการไอ จาม พูดคุย แล้วสูดเอาละอองที่มีเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งจะติดเชื้อได้ง่ายมาก-น้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่ 2 ปัจจัย คือ ความรุนแรงและปริมาณของเชื้อ ประกอบกับสภาพร่างกายของเรา หากร่างกายไม่แข็งแรงแล้ว ต่อให้เชื้อไม่ดุ มีปริมาณน้อย ก็อาจติดเชื้อและเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบุคคลกลุ่มเสี่ยงดังต่อไปนี้ ต้องยิ่งระมัดระวัง เพราะมีโอกาสเกิดภาวะรุนแรงแทรกซ้อนมากที่สุด

  • หญิงมีครรภ์
  • เด็กเล็ก อายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
  • บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หืด หัวใจ ไตวาย หลอดเลือดสมอง เบาหวาน ธาลัสซีเมีย มะเร็งที่อยู่ระหว่างได้รับเคมีบำบัด ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ติดเชื้อเอชไอวี
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

กลุ่มที่ต้องระวังการติดเชื้อไช้หวัดใหญ่เป็นพิเศษ คือ กลุ่มผู้สูงอายุ เพราะมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่แล้ว โรคแทรกซ้อนที่อาจจะตามมา และทำให้เกิดความรุนแรงสูงเป็นอันดับหนึ่ง คือ ‘ปอดอักเสบ’ ตามมาด้วย โรคหัวใจวาย โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และโรคหลอดเลือดสมอง (stroke)

วิธีป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่

  1. ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด
  2. ควรปิดปาก จมูก ด้วยหน้ากากอนามัย
  3. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด และอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น
  4. หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ
  5. ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น
  6. ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง

ดังนั้นคำถามที่ว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ไหนรุนแรงที่สุด ต้องบอกว่ามีความรุนแรงทั้งสองสายพันธุ์ แม้ว่าสายพันธุ์ B จะมีความรุนแรงของอาการน้อยกว่า แต่ก็ไม่ควรประมาท โดยเฉพาะบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ทางที่ดีที่สุดคือควรป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ รวมทั้งฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี

Categories
บทความ

โรคไอกรน (Pertussis)

โรคไอกรน (Pertussis)

โรคไอกรนเป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ  ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจและเกิดอาการไอ ที่มีลักษณะพิเศษคือ ไอซ้อนๆ ติดๆ กัน 5-10 ครั้งหรือมากกว่านั้นจนเด็กหายใจไม่ทัน จึงหยุดไอ และมีอาการหายใจเข้าลึกๆ เป็นเสียงวู๊ป (Whooping cough) สลับกันไปกับการไอเป็นชุดๆ จึงมีชื่อเรียกว่า “โรคไอกรน” บางครั้งอาการอาจจะเรื้อรังนานเป็นเวลา 2-3 เดือน

สาเหตุ

              เกิดจากเชื้อแบคทีเรียBordetella pertussis (B. pertussis) เป็นเชื้อที่เพาะขึ้นใน Bordet Gengau media ซึ่งเป็นเชื้อที่เพาะขึ้นได้ยาก จะพบเชื้อได้ในลำคอ ในส่วนnasopharynxของผู้ป่วยในระยะ 1-2 อาทิตย์แรก ก่อนมีอาการไอเป็นแบบ paroxysmal

ระบาดวิทยา


              ไอกรนเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายจากการไอ จาม รดกันโดยตรงผู้สัมผัสโรคที่ไม่มีภูมิคุ้มกันจะติดเชื้อและเกิดโรคเกือบทุกรายโรคนี้พบได้บ่อยในเด็ก ส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากผู้ใหญ่ในครอบครัวซึ่งมีการติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ (carrier) หรือมีอาการไม่มากโรคไอกรนเป็นได้กับทารกตั้งแต่เดือนแรก ทั้งนี้เนื่องจากภูมิคุ้มกันจากแม่ผ่านมายังลูกไม่ได้หรือได้น้อยมากในเด็กเล็กอาการจะรุนแรงมากและมีอัตราตายสูงส่วนใหญ่ของผู้ที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีและเป็นเด็กที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน โดยทั่วไปแล้ว โรคนี้เป็นได้ทุกอายุถ้าไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่ในวัยหนุ่มสาว หรือผู้ใหญ่อาจไม่มีอาการหรือไม่มีอาการแบบไอกรน  ส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไอกรน

              ในประเทศไทย อุบัติการณ์ของโรคไอกรนลดลงมากซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มระดับความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรนบาดทะยัก อย่างไรก็ดียังพบโรคนี้ได้ประปรายในชนบท และพบในเด็กอายุเกิน 5 ปี มากขึ้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนพบการระบาดเป็นครั้งคราวในเด็กนักเรียนชั้นประถม

              ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 6-20 วัน ที่พบบ่อย 7-10 วัน ถ้าสัมผัสโรคมาเกิน 3 สัปดาห์แล้วไม่มีอาการแสดงว่าไม่ติดโรค

อาการและอาการแสดง


อาการของโรคแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

              1)  ระยะแรกเด็กจะเริ่มมีอาการ มีน้ำมูก และไอ เหมือนอาการเริ่มแรกของโรคหวัดธรรมดาอาจมีไข้ต่ำๆ ตาแดง น้ำตาไหล ระยะนี้เรียกว่า Catarrhal stage จะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ระยะนี้ส่วนใหญ่ยังวินิจฉัยโรคไอกรนไม่ได้ แต่มีข้อสังเกตว่าไอนานเกิน 10 วัน เป็นแบบไอแห้งๆ

              2)Paroxysmal stage ระยะนี้มีอาการไอเป็นชุดๆ เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ไม่มีเสมหะจะเริ่มมีลักษณะของไอกรน คือ มี อาการไอถี่ๆ ติดกันเป็นชุด 5-10 ครั้งตามด้วยการหายใจเข้าอย่างแรงจนเกิดเสียง วู๊ป (whoop) ซึ่งเป็นเสียงการดูดลมเข้าอย่างแรง ในช่วงที่ไอผู้ป่วยจะมีหน้าตาแดง น้ำมูกน้ำตาไหล ตาถลน ลิ้นจุกปาก เส้นเลือดที่คอโป่งพองการไอเป็นกลไกที่จะขับเสมหะที่เหนียวข้นในทางเดินหายใจออกมาผู้ป่วยจึงจะไอติดต่อกันไปเรื่อยๆ  จนกว่าจะสามารถขับเสมหะที่เหนียวออกมาได้บางครั้งเด็กอาจจะมีหน้าเขียว เพราะหายใจไม่ทันโดยเฉพาะเด็กเล็กๆ อายุน้อยกว่า 6 เดือน จะพบอาการหน้าเขียวได้บ่อย และบางครั้งมีการหยุดหายใจร่วมด้วยอาการหน้าเขียวอาจจะเกิดจากเสมหะอุดทางเดินหายใจได้ส่วนใหญ่เด็กเล็กมักจะมีอาการอาเจียนตามหลังการไอเป็นชุดๆ ระยะไอเป็นชุดๆนี้จะเป็นอยู่นาน 2-4 สัปดาห์ หรืออาจนานกว่านี้ได้

              3) ระยะ ฟื้นตัว (Convalescent stage) กินเวลา 2-3 สัปดาห์ อาการไอเป็นชุดๆ จะค่อยๆลดลงทั้งความรุนแรงของการไอและจำนวนครั้ง แต่จะยังมีอาการไอหลายสัปดาห์ระยะของโรคทั้งหมดถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนจะใช้เวลาประมาณ 6-10 สัปดาห์

โรคแทรกซ้อน

              1.  โรคแทรกซ้อนทางระบบทางเดินหายใจ ที่พบบ่อย คือ ปอดอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุของการตายที่สำคัญของโรคไอกรนในเด็กเล็กโรคในปอดที่อาจพบได้อีกจะเกิดจากการมีเสมหะเหนียวไปอุดในหลอดลมและถุงลม ทำให้เกิด atelectasis

              2.  จากการไอมากๆทำให้มีเลือดออกในเยื่อบุตา (Subconjunctival hemorrhage) มี petechiaeที่หน้าและในสมอง

              3.  ระบบประสาทอาจมีอาการชัก พบบ่อยในเด็กเล็ก เนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยงสมองในขณะที่ไอถี่ๆและอาการชักอาจเกิดจากมีเลือดออกในสมอง

การวินิจฉัยโรค

              อาศัยอาการทางคลินิกที่มีลักษณะอาการไอเป็นชุดๆ มีเสียงวู๊ป ร่วมกับการตรวจเลือดพบมีเม็ดเลือดขาวสูงเกินปกติ และมี lymphocytosis แต่เนื่องจากอาการไอแบบนี้อาจเกิดจากเชื้อ B. parapertussis, Clamydia trachomatis และ adenoviruses การวินิจฉัยที่แน่นอนจึงต้องทำการเพาะเชื้อ B. pertussis จาก nasopharyngeal swab หรือดูดเอา nasopharyngeal mucus มาเพาะบน Bordet Gengau media ส่วนใหญ่จะตรวจพบเชื้อได้ในระยะ Catarrhal stage และในสัปดาห์แรกที่เริ่มมีอาการไอแบบ paroxysmal ภายหลังจากเริ่มมีอาการ 4 สัปดาห์  มักจะตรวจไม่พบเชื้อ

การรักษา

              เนื่องจากเชื้อ B. pertussis จะมีอยู่ในลำคอของผู้ป่วยในช่วงระยะแรก (Catarrhal stage) ดังนั้นถ้าให้ยาปฎิชีวนะที่ได้ผลเฉพาะคือ erythromycin ในขนาด 50 มก./กก./วันเป็นระยะเวลา 14 วัน ในระยะนี้จะช่วยให้ความรุนแรงของโรคลดลงได้แต่ถ้าพบผู้ป่วยระยะที่มีการไอเป็นชุดๆแล้วการให้ยาจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความรุนแรงของโรคได้แต่จะสามารถฆ่าเชื้อโรคที่อาจจะยังมีอยู่ให้หมดไปได้ในระยะ 3-4 วันเป็นการลดการแพร่กระจายของเชื้อได้

              การรักษาตามอาการให้เด็กได้พักผ่อน ดื่มน้ำอุ่น อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้ดีหลีกเลี่ยงสาเหตุที่จะทำให้เด็กไอมากขึ้น เช่น การออกแรง ฝุ่นละออง ควันไฟควันบุหรี่ อากาศที่ร้อนหรือเย็นจัดเกินไป

การป้องกัน

การแยกผู้ป่วย

              ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วย erythromycin เชื้อจะหมดไปภายใน 5 วัน ดังนั้น จึงแยกผู้ป่วย 5 วัน นับจากที่เริ่มให้ยา หรือแยกไว้ 3 สัปดาห์ หลังจากที่เริ่มมีอาการไอแบบ paroxysmal
ผู้สัมผัสโรคทุกคนควรได้รับการติดตามดูว่าจะมีอาการไอเกิดขึ้นหรือไม่อย่างใกล้ชิดโดยติดตามไปอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เด็กที่สัมผัสโรคอย่างใกล้ชิดควรได้รับ erythromycin (40-50 มก./กก./วัน) 14 วันถึงแม้จะได้รับวัคซีนป้องกันครบแล้วก็ตามทั้งนี้เพราะระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรนอาจไม่สูงพอในเด็กบางคนผู้สัมผัสโรคที่อายุน้อยกว่า 6 ปี ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือได้ไม่ครบ 4 ครั้งควรจะเริ่มให้วัคซีนหรือเพิ่มให้ครบตามกำหนดการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สัมผัสโรคที่เคยได้รับมาแล้ว 4 ครั้ง ให้กระตุ้นเพิ่มอีก 1 ครั้งยกเว้นเด็กที่เคยได้รับ booster มาแล้วภายใน 3 ปี หรือเป็นเด็กอายุเกิน 6 ปีไม่ต้องฉีดกระตุ้นเพิ่ม ส่วนผู้ที่เคยได้มาแล้ว 3 ครั้ง และครั้งที่ 3 เกิน 6 เดือนควรจะให้ dose ที่ 4 ทันทีที่สัมผัสโรค

การให้วัคซีนป้องกัน

        ในเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี การได้รับวัคซีนป้องกันไอกรน 4-5 ครั้งนับเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคไอกรนวัคซีนไอกรนที่มีใช้ขณะนี้เป็นวัคซีนที่เตรียมจากแบคทีเรีย B. pertussis ที่ตายแล้ว (Whole cell vaccine) รวมกับ diphtheria และ tetanus toxoids (Triple vaccine, DTP) ให้ฉีดเข้ากล้าม กำหนดการให้วัคซีนเริ่มเมื่ออายุ 2 เดือน และให้อีก 2 ครั้ง ระยะห่างกัน 2 เดือนคือ ให้เมื่ออายุ 4 และ 6 เดือน โด๊สที่ 4 ให้เมื่ออายุ 18 เดือน นับเป็นครบชุดแรก (Primary immunization) โด๊สที่ 5 ถือเป็นการกระตุ้น (booster dose) ให้เมื่ออายุ 4 ปี เด็กที่มีอายุเกิน 7 ปี แล้วจะไม่ให้วัคซีนไอกรนทั้งนี้เพราะจะพบปฏิกิริยาข้างเคียงได้สูง

ห้องพยาบาลในสถานประกอบการ

                ตำแหน่งของห้องพยาบาลควรอยู่ในบริเวณที่เข้าถึงได้ง่าย ไม่ควรอยู่ในที่ซึ่งอึกทึกเกินไป แต่ก็ไม่ควรอยู่ใน สถานที่ซึ่งใกลเกินไป ห้องพยาบาลไม่ควรอยู่ในสถานที่ลับตาคนด้วย เพื่อความปลอดภัยของพยาบาลประจำ ขนาดของห้องพยาบาลมีการประมาณไว้ว่าควรมีขนาด 175 ตารางฟุตต่อคนงาน 200 คนหรือ 300 ตารางฟุตต่อคนงาน 500 คน

                สำหรับมาตรฐานห้องพยาบาลในสถานประกอบการ หรือ หน่วยบริการอาชีวเวชกรรม ในเชิงโครงสร้างยังไม่มีการกำหนดมาตรฐาน มีการศึกษา แต่เป็นหน่วยอาชีวเวชกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งมีทั้งสถานที่ทำงาน ห้องพยาบาล ห้องพัก อยู่ในหน่วยบริการนั้น ซึ่งเป็นเสมือนโรงพยาบาลขนาดเล็กในสถานประกอบการขนาดใหญ่ อย่างไรก็ดี มีมาตรฐานของสภาการพยาบาล ซึ่งในมาตรฐานนี้ อาจยึดเป็นมาตรฐานเชิงโครงสร้างของห้องพยาบาลในสถานประกอบการ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 8 มาตรฐานได้แก่

มาตรฐานที่ 1 หน่วยพยาบาลของสถานประกอบการ มีปรัชญา วัตถุประสงค์ และโครงสร้างองค์กรกำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน

มาตรฐานที่ 2 พยาบาลที่รับผิดชอบในการบริหารและการดำเนินงานของหน่วยพยาบาลอาชีวอนามัยต้องมีคุณสมบัติและความสามารถเหมาะสม มีจำนวนเพียงพอในการปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์

มาตรฐานที่ 3 หน่วยพยาบาลอาชีวอนามัยจะต้องมีแผนงบประมาณไว้ชัดเจน

มาตรฐานที่ 4 หน่วยพยาบาลอาชีวอนามัยของสถานประกอบการต้องมีอาคารสถานที่ เครื่องมือเครื่องใช้เหมาะสมและเพียงพอในการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัย

มาตรฐานที่ 5 บริการพยาบาลอาชีวอนามัย ต้องประกอบด้วยกิจกรรมที่ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคและอันตรายจากการทำงาน การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ปฏิบัติงาน

มาตรฐานที่ 6 บริการพยาบาลอาชีวอนามัยจะต้องใช้เทคนิคและวิธีการที่ถูกต้องเพื่อให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับปรัชญา วัตถุประสงค์จรรยาบรรณและมาตรฐานวิชาชีพ

มาตรฐานที่ 7 หน่วยพยาบาลอาชีวอนามัยมีระบบการบันทึกและรายงานทางการพยาบาลที่ถูกต้องสมบูรณ์ รวมทั้งมีการจัดเก็บอย่างมีระเบียบ

มาตรฐานที่ 8 สถานประกอบการควรมีการควบคุมและตรวจสอบคุณภาพของการบริการพยาบาลอาชีวอนามัย

แหล่งที่มา : https://www.pidst.or.th/A299.html

Categories
บทความ

ห้องพยาบาลในสถานประกอบการ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย

ห้องพยาบาลในสถานประกอบการ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย

มีคำถามมากมายเกี่ยวกับห้องพยาบาลในสถานประกอบการ ว่ามีไว้ทำอะไร ถ้าตามกฏหมาย มีไว้เพื่อเป็นที่รักษาพยาบาลแก่คนทำงานเมื่อเกิดไม่สบายหรือบาดเจ็บ แน่นอน ห้องนี้อ่อนไหวต่อการถูกยุบมากในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี เนื่องจากมีข้ออ้างมากมายเกี่ยวกับการเงินของสถานประกอบการ การมีห้องพยาบาลไม่ใช่สวัสดิการและอาชีวอนามัยและความปลอดภัยไม่ได้อยู่ในห้องพยาบาล อย่างไรก็ตามอาจประยุกต์ใช้มาตรฐานคลินิกของกองประกอบโรคศิลปะไปใช้ก่อนก็ได้ (อย่าลืมว่าห้องพยาบาลในสถานประกอบการไม่ใช่ที่ประกอบโรคศิลปะ นอกจากไปขอใบอนุญาติก่อน)

ห้องพยาบาลในสถานประกอบการ

                ตำแหน่งของห้องพยาบาลควรอยู่ในบริเวณที่เข้าถึงได้ง่าย ไม่ควรอยู่ในที่ซึ่งอึกทึกเกินไป แต่ก็ไม่ควรอยู่ใน สถานที่ซึ่งใกลเกินไป ห้องพยาบาลไม่ควรอยู่ในสถานที่ลับตาคนด้วย เพื่อความปลอดภัยของพยาบาลประจำ ขนาดของห้องพยาบาลมีการประมาณไว้ว่าควรมีขนาด 175 ตารางฟุตต่อคนงาน 200 คนหรือ 300 ตารางฟุตต่อคนงาน 500 คน

                สำหรับมาตรฐานห้องพยาบาลในสถานประกอบการ หรือ หน่วยบริการอาชีวเวชกรรม ในเชิงโครงสร้างยังไม่มีการกำหนดมาตรฐาน มีการศึกษา แต่เป็นหน่วยอาชีวเวชกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งมีทั้งสถานที่ทำงาน ห้องพยาบาล ห้องพัก อยู่ในหน่วยบริการนั้น ซึ่งเป็นเสมือนโรงพยาบาลขนาดเล็กในสถานประกอบการขนาดใหญ่ อย่างไรก็ดี มีมาตรฐานของสภาการพยาบาล ซึ่งในมาตรฐานนี้ อาจยึดเป็นมาตรฐานเชิงโครงสร้างของห้องพยาบาลในสถานประกอบการ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 8 มาตรฐานได้แก่

มาตรฐานที่ 1 หน่วยพยาบาลของสถานประกอบการ มีปรัชญา วัตถุประสงค์ และโครงสร้างองค์กรกำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน

มาตรฐานที่ 2 พยาบาลที่รับผิดชอบในการบริหารและการดำเนินงานของหน่วยพยาบาลอาชีวอนามัยต้องมีคุณสมบัติและความสามารถเหมาะสม มีจำนวนเพียงพอในการปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์

มาตรฐานที่ 3 หน่วยพยาบาลอาชีวอนามัยจะต้องมีแผนงบประมาณไว้ชัดเจน

มาตรฐานที่ 4 หน่วยพยาบาลอาชีวอนามัยของสถานประกอบการต้องมีอาคารสถานที่ เครื่องมือเครื่องใช้เหมาะสมและเพียงพอในการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัย

มาตรฐานที่ 5 บริการพยาบาลอาชีวอนามัย ต้องประกอบด้วยกิจกรรมที่ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคและอันตรายจากการทำงาน การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ปฏิบัติงาน

มาตรฐานที่ 6 บริการพยาบาลอาชีวอนามัยจะต้องใช้เทคนิคและวิธีการที่ถูกต้องเพื่อให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับปรัชญา วัตถุประสงค์จรรยาบรรณและมาตรฐานวิชาชีพ

มาตรฐานที่ 7 หน่วยพยาบาลอาชีวอนามัยมีระบบการบันทึกและรายงานทางการพยาบาลที่ถูกต้องสมบูรณ์ รวมทั้งมีการจัดเก็บอย่างมีระเบียบ

มาตรฐานที่ 8 สถานประกอบการควรมีการควบคุมและตรวจสอบคุณภาพของการบริการพยาบาลอาชีวอนามัย

 

แหล่งที่มา : https://www.gotoknow.org/posts/257581

Categories
บทความ

โรคมือ เท้า ปาก รับมืออย่างไรดี?

โรคมือ เท้า ปาก รับมืออย่างไรดี?

ทำความรู้จักกับ “โรคมือ เท้า ปาก” เกิดจากอะไร?

โรคมือ เท้า ปาก คืออะไร? โรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot and Mouth Disease) เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กเล็กโดยเฉพาะช่วงหน้าฝน เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโร Enterovirus 71 (EV71) Coxasackie Virus

ส่งผลให้มีอาการเป็นไข้ เป็นแผลในปาก มีตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว ถือได้ว่าเป็นโรคที่สร้างความกังวลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่อยู่ไม่น้อย

โรคมือ เท้า ปาก สามารถพบในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน แต่จะพบได้น้อยกว่า และอาการมักจะไม่รุนแรงเท่าในเด็กเล็ก


สังเกตอาการโรค มือ เท้า ปาก  

เด็กๆ ที่เป็นโรคมือเท้าปาก จะมีอาการ…

• มีไข้ อ่อนเพลีย

• มีแผลในปาก

• ผื่นเป็นจุดแดงขึ้นที่มือ เท้า (อาจมีผื่นตามลำตัว แขนและขาร่วมด้วย)

เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจะใช้ระยะเวลาฟักตัวประมาณ 3-7 วัน ผู้ป่วยจึงจะแสดงอาการโดยมีอาการเริ่มต้น คือ เด็กจะเริ่มมีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียสเป็นอาการนำก่อน จากนั้นจึงมีอาการอื่น ๆ ตามมาภายใน 1-2 วัน ได้แก่ เจ็บคอ ไม่อยากอาหาร อ่อนเพลีย และจะเริ่มมีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนัง บริเวณฝ่ามือ  ฝ่าเท้า และบริเวณปากทั้งภายนอกและภายใน

โรคมือ เท้า ปาก กี่วันหาย?

โรคมือ เท้า ปาก สามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน แต่มีโอกาสเสี่ยงเกิดโรครุนแรงได้ เช่น ก้านสมองอักเสบ หัวใจอักเสบ หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสสายพันธุ์ 71 (EV71) ทำให้มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการที่อาจเป็นภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ มีไข้สูง ซึม อ่อนแรง มือสั่น เดินเซ อาเจียนมาก หายใจหอบ กล้ามเนื้อกระตุก และชัก หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพาพบแพทย์โดยด่วน!!! 

(อาการแทรกซ้อนจะไม่สัมพันธ์กับจำนวนแผลในปากหรือตุ่มที่พบตามฝ่ามือหรือฝ่าเท้า)

 

โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อไหม? ติดต่อได้อย่างไร?

โรคมือ เท้า ปาก สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย และจากการสัมผัสทางอ้อมผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู น้ำ และอาหารที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค โดยส่วนใหญ่มักพบการแพร่ระบาดในโรงเรียนอนุบาล และสถานรับเลี้ยงเด็ก

โรคมือ เท้า ปาก สามารถเป็นซ้ำได้อีก ถ้าได้รับเชื้อไวรัสคนละสายพันธุ์กับที่เคยเกิด เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่งๆ อาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ ได้ แม้จะจัดอยู่ในกลุ่มย่อยของไวรัสเอนเทอโรเช่นเดียวกันก็ตาม


มีวิธีการรักษา และป้องกันอย่างไร?

โดยทั่วไปแล้ว อาการโรค มือ เท้า ปาก จะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ โดยแพทย์จะดูแลรักษาตามอาการ เช่น การให้รับประทานยาแก้ไข้ ในรายที่เพลียมากแพทย์อาจให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับให้ยาลดไข้แก้ปวด ยารักษาแผลในปาก และให้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่จำเป็น ร่วมกับการเฝ้าระวังสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

อย่างที่ทราบกันว่าโรคมือ เท้า ปาก ติดต่อได้ผ่านการรับเชื้อไวรัสจากทางเดินอาหาร น้ำมูก น้ำลาย และจากการหายใจเอาเชื้อที่แพร่จากผู้ป่วยเข้าไป คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลสุขอนามัยให้กับเด็กๆ

  •  
  • สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน
  •  
  • สอนวิธีการล้างมือที่ถูกต้อง ให้เด็กๆ ล้างมือให้สะอาด ด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์
  •  
  • ทำความสะอาดของเล่น
  •  
  • ดูแลความสะอาดของน้ำดื่มและอาหาร
  •  
  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ
  •  
  • ไม่พาเด็กไปในสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น ห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโรค
  •  
  • หากเด็กที่ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรหยุดเรียน และพักรักษาให้หายป่วยเสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ไปแพร่เชื้อยังเด็กคนอื่นๆ และผู้ปกครองต้องรีบแจ้งให้ทางโรงเรียนทราบ และที่สำคัญต้องหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลาน หากพบว่ามีอาการผิดปกติ ควรพาเด็กมาพบแพทย์โดยเร็ว

เสริมเกราะป้องกันด้วยวัคซีน

โรคมือ เท้า ปาก ระบาด! ป้องกันได้ ด้วยวัคซีนป้องกัน โรคมือเท้าปาก (EV71) โดยแนะนำให้รับวัคซีนในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี ฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ที่เป็นอันตรายถึงชีวิต โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อจำนวน 2 เข็ม เว้นระยะห่างจากเข็มแรก 1 เดือน 

วัคซีนป้องกัน “โรคมือเท้าปาก” รุนแรง จากไวรัส EV71 (EntroVac)

  • ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมือเท้าปากที่มาจากการติดเชื้อ EV71 ได้ 97.3%
  • ประสิทธิภาพการป้องกันโรคมือเท้าปากจากเชื้อ EV71 ที่ต้องรักษาในโรงพยาบาล 88.0%
  • ประสิทธิภาพการป้องกันโรคมือเท้าปากรุนแรงจากเชื้อ EV71 ได้ 100%

*อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบได้หลังรับวัคซีน: ปวด บวม แดง คัน บริเวณที่ฉีด, ไข้, คลื่นไส้ อาเจียน, ถ่ายเหลว, ปวดศีรษะ)

**สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน – 5 ปี 11 เดือน 29 วัน

***วัคซีนนี้ไม่สามารถใช้เพื่อป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ที่มีสาเหตุจากเชื้อเอนเทอโรไวรัสชนิดอื่น (รวมถึง Coxasackie Virus A16 และอื่นๆ)

Categories
บทความ

โรคน้ำกัดเท้า เชื้อราที่มาพร้อมกับน้ำท่วม

โรคน้ำกัดเท้า เชื้อราที่มาพร้อมกับน้ำท่วม

“ฝนตก น้ำท่วม รถติด” คือวิถีชีวิตที่เราต้องเผชิญทุกครั้งเมื่อเข้าสู่หน้าฝน สายฝนที่โปรยปรายลงมามักจะตามมาด้วยน้ำท่วมขังที่มักจะสร้างความยากลำบากให้กับผู้ที่ต้องออกจากบ้านเพื่อไปทำงาน หรือไปเรียนต้องเดินลุยน้ำออกไป โดยน้ำที่ท่วมขังนั้นมักจะมีเชื้อโรคปะปนอยู่มาก ซึ่งสิ่งสกปรกเหล่านั้นจะทำให้เกิดโรคทางผิวหนังที่ชื่อว่า “โรคน้ำกัดเท้า” นั่นเอง

 

โรคน้ำกัดเท้าคืออะไร

 

โรคน้ำกัดเท้า (Athlete’s Foot) หรือฮ่องกงฟุต เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อรา ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคขี้กลาก นั่นคือ เชื้อราในสายพันธ์ุ Dermatophytes โดยเชื้อราชนิดนี้จะสามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่เปียกชื้น เช่น รองเท้าที่ลุยน้ำท่วม พื้นห้องอาบน้ำ หรือพื้นบริเวณสระว่ายน้ำ เป็นต้น เมื่อเราใส่รองเท้าที่มีเชื้อราชนิดนี้เจริญเติบโตอยู่จะทำให้เกิดโรคน้ำกัดเท้านั่นเอง

นอกจากนี้เชื้อราชนิดนี้ยังสามารถติดเชื้อได้จากการใช้ของร่วมกับผู้อื่น เช่น รองเท้า ถุงน้ำ ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น ซึ่งเชื้อราชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นกับอวัยวะในส่วนอื่น ๆ ได้ด้วย

 

อาการของโรคน้ำกัดเท้า

 

จะเกิดอาการที่พบได้บ่อยในง่ามนิ้วเท้า โดยอาการในระยะแรกที่ยังไม่มีการติดเชื้อนั้นเท้าจะมีลักษณะเปื่อย แดง และลอกเพราะเกิดการระคายเคือง แต่ถ้าหากมีอาการคันและเกาจนเกิดเป็นแผลจะมีการอักเสบ และติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งการติดเชื้อจะทำให้เกิดอาการแสบร้อน ปวด แผลเป็นหนอง ผิวเป็นขุย และลอกออกเป็นแผ่นสีขาว อาจมีกลิ่นเหม็นตามซอกเท้า

 

น้ำกัดเท้า

 

การรักษาโรคน้ำกัดเท้า

 

รักษาเท้าให้สะอาด ล้างเท้าให้สะอาด พยายามเช็ดแผลให้แห้ง ไม่ควรสวมรองเท้าปิด หรือใส่ถุงเท้า เปลี่ยนรองเท้าคู่ใหม่ที่แห้งและสะอาด ใช้ครีม หรือขี้ผึ้งกันเชื้อรา หรือโรยแป้งที่เท้าเพื่อไม่ให้เท้าเปียกชื้น หากแผลติดเชื้อราสามารถรับประทานยาปฏิชีวนะร่วมด้วยได้ ซึ่งหากแผลติดเชื้อจะต้องรับประทานยาติดต่อกันอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์แต่หากมีอาการรุนแรงควรไปพบแพทย์

 

ข้อปฏิบัติในการป้องกันน้ำกัดเท้า

 

  • หลีกเลี่ยงการยืนแช่น้ำเป็นเวลานาน
  • เมื่อต้องลุยน้ำ ควรสวมถุงพลาสติก หรือสวมถุงดำหุ้มเท้าไว้เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรา และป้องกันของมีคมทิ่มแทงเท้า
  • หากมีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำโดยไม่ได้สวมถุงพลาสติก เมื่อลุยน้ำแล้วควรรีบทำความสะอาดเท้า และเช็ดเท้าให้แห้ง โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้าที่มักจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และเกิดการติดเชื้อได้ง่าย
  • ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น เช่น รองเท้าแตะ ถุงเท้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรเลี่ยงการลุยน้ำ เพราะหากเกิดแผลจะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย และรักษาให้หายได้ยากกว่าคนปกติ
  • หากเกิดบาดแผลลึกควรรีบทำความสะอาดแผลทันที หรือเข้าใช้บริการที่สาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อทำแผล และหากบาดแผลมีหนอง หรือเกิดการอักเสบควรรีบพบแพทย์ทันที

 

การเดินลุยน้ำท่วมขังอาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ง่าย แต่มีวิธีป้องกันได้ง่าย ๆ ด้วยข้อปฏิบัติที่กล่าวไปแล้วข้างต้น นอกจากนี้การหมั่นรักษาความสะอาดร่างกายยังเป็นการป้องกันได้อีกทางหนึ่งด้วย

Categories
บทความ

โรคและภัยสุขภาพที่ควรเฝ้าระวังในช่วงฤดูหนาว

โรคและภัยสุขภาพที่ควรเฝ้าระวังในช่วงฤดูหนาว

ควรระมัดระวังในช่วงฤดูหนาว ในช่วงเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งบางพื้นที่จะมีอุณหภูมิลดลงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศที่หนาวเย็นอาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน เสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่าย จึงขอให้หมั่นดูแลร่างกายให้อบอุ่นและแข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อลดโอกาสที่จะเจ็บป่วยจากโรคและภัยสุขภาพ โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม

  • โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ (โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ)
  • โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ (โรคอุจจาระร่วง)
  • โรคติดต่อที่สำคัญอื่นๆ ในช่วงฤดูหนาว (โรคหัด โรคมือ เท้า ปาก)
  • ภัยสุขภาพ (การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว)

กลุ่มที่ 1 โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ สามารถติดต่อจากการไอ จามรดกัน หรือสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อร่วมกัน หากได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการไข้ ไอแห้งๆ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เยี่อบุโพรงจมูกอักเสบและเจ็บคอ โรคปอดอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อราบางชนิดที่ถุงลมปอดจากการหายใจหรือสัมผัสละอองฝอยจากน้ำมูก น้ำลายที่ปนเปื้อนเชื้อ จะมีอาการไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย อาการดังกล่าวมักเป็นเฉียบพลัน และพบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่จะมีอาการรุนแรงในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและมีโรคประจำตัว

        โดยทั้งสองโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน ซึ่งวิธีดังกล่าวสามารถป้องกันโรคโควิด 19 ได้อีกด้วย

กลุ่มที่ 2 โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนเชื้อโรคจะมีอาการถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน อาจมีไข้หรืออาเจียนร่วมด้วย ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการดูแลสุขอนามัย ดื่มน้ำสะอาดและรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด

กลุ่มที่ 3 โรคติดต่อที่สำคัญอื่นๆ ในช่วงฤดูหนาว ได้แก่ โรคหัด เกิดจากการหายใจเอาละอองอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสจากการไอ จามของผู้ป่วย หรือพูดคุยกันในระยะใกล้ หากป่วยอาการจะคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา แต่จะมีไข้สูง ตาแดงและแฉะ และมีผื่นนูนแดงขึ้นติดกันเป็นปื้นๆ ปัจจุบันไม่มียารักษาจำเพาะ แต่มีวัคซีนที่สามาถป้องกันได้ โดยต้องฉีดเข็มแรก ตอนอายุ 9 – 12 เดือน เข็มสอง ตอนอายุ 1 ปีครึ่ง

กลุ่มที่ 4 ภัยสุขภาพ การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว โดยไม่ทราบสาเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เนื่องจากไม่มีเครื่องนุ่งห่มหรือเครื่องห่มกันหนาวที่เพียงพอในพื้นที่อากาศหนาว และมีประวัติการดื่มสุราเป็นประจำ ดังนั้นควรเตรียมเครื่องนุ่งห่มกันหนาวให้พร้อมและเพียงพอ และงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งดูแลร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

ขอบคุณที่มา : กรมควบคุมโรค

แหล่งที่มา : https://bangpakok3.com/care_blog/view/222

Categories
บทความ

โรคซึมเศร้า โรคฮิตหรือแค่คิดไปเอง

โรคซึมเศร้า โรคฮิตหรือแค่คิดไปเอง

โรคซึมเศร้ากำลังรุกเร้าสู่สังคมไทย

ในช่วงเวลาหลายปีมานี้ สื่อต่างๆ มีการนำเสนอข่าวคนดัง ข่าวอาชญากรรม และแม้แต่ข่าวการฆ่าตัวตายที่มีส่วนเกี่ยวโยงกับการเป็นโรคซึมเศร้าออกมาอย่างต่อเนื่อง เราจึงควรตระหนักว่า โรคซึมเศร้าใกล้ตัวเรากว่าที่คิด เราอาจจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองหรือคนรอบข้างกำลังเสี่ยงหรือเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ เพราะข่าวที่ออกมาก็ไม่ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคในเชิงลึกสักเท่าไหร่ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักโรคซึมเศร้าในแง่มุมต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อจะเป็นประโยชน์ในการระแวดระวังและหาทางป้องกันหรือรีบรักษา

โรคซึมเศร้ากับสถิติอันตราย

ปัจจุบันโลกของเรามีประชากรราว 7.6 พันล้านคน และมีคนเป็นโรคซึมเศร้าถึง 300 ล้านคน หรือเกือบ 4% เลยทีเดียว ส่วนในคนไทยเองนั้นพบว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน หรือ 2.2% ของคนไทยทั้งหมด 69 ล้านคน และน่าตกใจว่าคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 4,000 คนต่อปี ซึ่งสาเหตุสำคัญของการฆ่าตัวตายก็คือโรคซึมเศร้านั่นเอง

โรคซึมเศร้าคืออะไร

โรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสมองในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพทางกาย แต่ที่คนส่วนใหญ่รู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าก็มักจะนึกถึงเพียงอาการหรือสภาพจิตใจที่เปลี่ยนไป จึงคิดว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดหวัง หรือการได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ และจะสามารถรักษาหรือแก้ไขได้ด้วยการให้กำลังใจ ซึ่งในความจริงแล้ว โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท 3 ชนิด คือ ซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน จึงจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ เพราะนอกจากจะต้องบำบัดอย่างถูกวิธีแล้ว ยังอาจจะต้องใช้ยาในการรักษาร่วมด้วย

พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และเหตุเสี่ยงโรคซึมเศร้า

ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าประกอบไปด้วยพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และการใช้ชีวิต

  • หากมีฝาแฝดคนหนึ่งเป็นโรคซึมเศร้า หรือ bipolar ฝาแฝดอีกคนมีโอกาสเป็นสูงถึง 60-80%
  • หากคนในครอบครัวที่เป็นญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง) ที่เป็นโรคซึมเศร้า ก็จะมีโอกาสเป็นมากกว่าคนทั่วไป 20%
  • อาจสรุปได้ว่าระหว่างพันธุกรรมกับสิ่งแวดล้อม ปัจจัยที่ส่งผลให้เป็นโรคซึมเศร้านั้นเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 40:60%
  • การใช้ยาบางอย่างก็ส่งผลให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ เช่น ยานอนหลับบางตัว ยารักษาสิว ยาแก้อักเสบ ยาแก้ปวด สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์

9 ข้อสำรวจเข้าข่ายโรคซึมเศร้า

การสังเกตตัวเองหรือคนรอบข้างว่าเข้าข่ายโรคซึมเศร้าหรือไม่ สามารถตรวจจากข้อสำรวจง่ายๆ 9 ข้อนี้ ซึ่งข้อสำรวจนี้ก็ คือ เกณฑ์ที่แพทย์ใช้ในการวินิจฉัยโรคซึมเศร้า หากมีอาการ 5 ข้อขึ้นไป โดยต้องมีข้อ 1.) และ/หรือข้อ 2.) อยู่ด้วย หากอาการ 5 ใน 9 ข้อดังกล่าวเป็นยาวนานติดต่อกันเกินกว่า 2 สัปดาห์ ก็เข้าข่ายเสี่ยง ควรปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อวิเคราะห์และหาแนวทางแก้ไขหรือรักษาต่อไป

  1. รู้สึกเศร้า เบื่อ ท้อแท้ หรือหงุดหงิดง่ายอย่างต่อเนื่อง
  2. เลิกสนใจสิ่งที่เคยชอบมากๆ หรือไม่อยากทำสิ่งที่เคยชอบทำ
  3. พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป กินมากไป กินน้อยไป จนทำให้น้ำหนักขึ้นหรือลงผิดปกติ
  4. จากที่เคยหลับง่ายก็หลับยากขึ้น หรือไม่ก็นอนมากเกินไป
  5. มีอาการกระวนกระวายหรือเฉื่อยชาที่แสดงออกให้เห็นชัด
  6. รู้สึกหมดเรี่ยวแรง ไม่มีพลัง ไม่อยากลุกขึ้นมาทำอะไรเลย
  7. รู้สึกไร้ค่าหรือรู้สึกผิด โทษตัวเองในทุกๆ เรื่อง
  8. ไม่มีสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ มีปัญหาเรื่องการคิดหรือตัดสินใจ
  9. คิดถึงความตายหรืออยากตาย หรืออยากฆ่าตัวตายบ่อยๆ

ประเภทของโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้ามีหลายประเภท ทำให้ผู้ป่วยซึมเศร้าแต่ละคนมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป เช่น

  • โรคซึมเศร้าแบบเมเจอร์ ดีเพรสชั่น (Major Depression)
    โรคซึมเศร้าชนิดนี้ ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ซึมเศร้านานกว่า 2 สัปดาห์ โดยมากมักมีอาการเศร้าซึมมากจนไม่มีความสุขหรือไม่สนใจในสิ่งต่างๆ ที่เคยชอบ หลับยาก น้ำหนักขึ้นหรือลงฮวบฮาบ รู้สึกหงุดหงิด เหนื่อยๆ เนือยๆ ไม่มีเรี่ยวแรง รู้สึกไร้ค่า ช่วงภาวะซึมเศร้านี้สามารถเกิดในช่วงหลังคลอดได้ และมีอาการหลง หูแว่วประสาทหลอนเกิดขึ้นร่วมด้วย ดังนั้นควรเริ่มรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้โรครุนแรงขึ้น และลดความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายที่อาจจะเกิดขึ้นได้
  • โรคซึมเศร้าแบบดิสทีเมีย (Dysthymia Depression)
    โรคซึมเศร้าชนิดนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าชนิด เมเจอร์ ดีเพรสชั่น แต่จะมีอาการอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี อาการไม่รุนแรงถึงขนาดทำอะไรไม่ได้ เพียงแต่จะรู้สึกไม่อยากอาหารหรือกินมากไป นอนไม่หลับหรือนอนมากไป เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หมดแรง ขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่ค่อยมีสมาธิ การตัดสินใจแย่ลง และรู้สึกหมดหวัง
  • โรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นก่อนมีระดู  (Premenstrual  depressive disorder)
    ผู้ป่วยจะมีอาการเกิดขึ้นในสัปดาห์สุดท้ายก่อนมีระดู  อาการจะดีขึ้นใน 2-3 วันหลังจากมีระดู อาการที่พบบ่อย  คือ  อารมณ์แกว่ง  รู้สึกเศร้า  อ่อนไหวง่าย  ขัดแย้งกับคนอื่นง่าย  รู้สึกสิ้นหวัง ดูถูกตนเอง  อาจมีอาการวิตกกังวล เครียด นั่งไม่ติด สมาธิลดลง  รู้สึกล้า อ่อนเพลีย  ไม่อยากทำอะไร  ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลง  การนอนผิดปกติไปจากเดิม  และมีอาการทางร่างกายร่วมด้วย  เช่น  เจ็บเต้านม  เต้านมบวม  ปวดข้อปวดกล้ามเนื้อ  ตัวบวมขึ้น

เด็กเป็นโรคซึมเศร้าได้ไหม

โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นได้ทุกช่วงอายุรวมทั้งในเด็กด้วย  ซึ่งอาการของโรคซึมเศร้าในเด็กจะมีลักษณะหลากหลาย  บางคนแสดงออกด้วยอาการก้าวร้าว อาละวาด  ร้องไห้ง่าย  ในขณะที่บางคนมีอาการเศร้า  ซึม  มีความรู้สึกสิ้นหวังเวลาถูกปฏิเสธ  ถูกขัดใจก็จะอ่อนไหวง่ายกว่าปกติ  ใช้คำพูดรุนแรง  บ่นปวดหัว ปวดท้อง  รู้สึกไร้ค่า  ไม่มีสมาธิ  คิดถึงความตาย  คล้ายกับที่ผู้ใหญ่เป็น หรือบางคนอาจจะมีอาการให้เห็นได้จากการไม่เข้าสังคมในช่วงเริ่มต้นของอาการ  ซึ่งอาการเหล่านี้จะต้องเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ เด็กส่วนใหญ่ที่มีอาการของโรคซึมเศร้า มักจะมีปัญหาในด้านการเรียนร่วมด้วย

การตรวจและรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

การตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะเริ่มจากการสอบถามอาการ ผลกระทบที่เกิดขึ้น และระดับความรุนแรง ลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน โรคประจำตัว ยาที่กินอยู่ รวมถึงประวัติครอบครัว โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะประเมินร่วมกับบุคลิกภาพที่สังเกตได้ ทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา เพื่อนำผลมาประเมินว่าผู้ป่วยควรได้รับการรักษาในแนวทางใด เช่น การรักษาด้วยยา การใช้จิตบำบัด

การให้กำลังใจและช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

เมื่อเราพบหรือเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เราควรที่จะเรียนรู้วิธีการที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกมีค่า  มีกำลังใจในชีวิตมากขึ้น  การให้กำลังใจผู้ป่วย การเป็นผู้ฟังที่ดีจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายขึ้น  ผู้ใกล้ชิดสามารถที่จะสื่อสารกับผู้ป่วยด้วย ประโยคเหล่านี้ เช่น  

  • เธอไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวนะ ฉันจะอยู่ข้างๆ เธอเอง
  • ฉันอาจจะไม่เข้าใจเธอ แต่ฉันเป็นห่วงและอยากช่วยเธอนะ
  • เธอไหวไหม  เธอเหนื่อยมากไหม
  • ชีวิตเธอสําคัญกับฉันมากๆ นะ
  • เธออยากให้เราช่วยอะไรบ้าง บอกได้นะ เราอยากช่วย

ข้อความดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่รู้สึกกดดัน และทำให้ผู้ป่วยได้พูดถึงความคิดของตนได้มากขึ้น ส่วนคำที่ชวนให้ผู้ป่วยคิดเปรียบเทียบ หรือแสดงความไม่เข้าใจว่าทำไม่ถึงต้องซึมเศร้า และจากการที่ผู้ป่วยมีปัญหาในกระบวนการคิดจากภาวะความเจ็บป่วยอยู่ ยิ่งจะเป็นการซ้ำเติม เป็นคำที่ไม่ควรพูด เช่น

  • เธอคิดไปเอง
  • ใครๆ ก็เคยผ่านเรื่องแบบนี้ทั้งนั้นแหละ
  • ลองมองในแง่ดีดูสิ
  • ชีวิตมีอะไรอีกตั้งเยอะ ทําไมถึงอยากตายล่ะ
  • หัดช่วยตัวเองบ้างสิ
  • หยุดคิดเรื่องที่ทําให้เครียดสิ
  • ทําไมยังไม่หายล่ะ
  • มีคนที่แย่กว่าเราอีกตั้งเยอะ เขายังสู้ได้เลย

ทำอย่างไรจึงห่างไกลโรคซึมเศร้า

  1. หมั่นดูแลตนเองให้มีสุขภาพดี ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ กินอาหารถูกสุขลักษณะ ไม่ใช้สารเสพติด ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง
  2. ในด้านจิตใจ ฝึกให้เป็นคนคิดบวก มองโลกในแง่ดี ไม่คิดร้ายกับใคร ไม่กล่าวโทษตัวเองไปซะทุกเรื่อง ควรหางานอดิเรก คลายเครียด เข้าชมรมต่างๆ ที่เหมาะกับวัย หรือเป็นจิตอาสา ทําสิ่งที่ทำให้รู้สึกตัวเองมั่นใจ มีคุณค่า รู้ว่าใครรักและเป็นห่วงก็ให้อยู่ใกล้คนๆ นั้น และให้อยู่ห่างจากคนที่ไม่ถูกใจ
  3. ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ควรหาเวลาออกไปทำกิจกรรมที่สนุกสนาน ไม่เคร่งเครียดหรือทำงานหนักเกินไป ไม่ไปอยู่ในสถานการณ์หรือดูข่าวร้ายที่ทำให้จิตใจหดหู่ หากมีการใช้ยาเพื่อรักษาโรคใดๆ อยู่ไม่ควรหยุดยาเอง โดยเฉพาะถ้ารักษาโรคด้านจิตเวชอยู่ควรกินยาตามแพทย์สั่ง อย่าได้ขาดหรือหยุดยาเอง

 

ท้ายที่สุด… เราไม่สามารถรักษาหรือบำบัดโรคซึมเศร้าได้ด้วยตัวเอง หากเริ่มรู้สึกว่าชีวิตของตนเองไม่ปกติ ขาดความสมดุล มีความเครียดสูง การพบจิตแพทย์ก็เหมือนกับการตรวจสุขภาพใจให้เราเข้าใจสภาพจิตใจของตนเองในขณะนั้น  แพทย์จะแนะนำวิธีป้องกันและปรับสภาพจิตใจให้ดีขึ้นด้วยการปรับวิธีคิด หรือรักษาด้วยการใช้ยา เพราะปัญหาทางด้านจิตใจหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนั้น ไม่ใช่มีสาเหตุจากโรคซึมเศร้าเพียงอย่างเดียว การพบจิตแพทย์จะช่วยให้เราได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี