Categories
บทความ

ภาวะข้อไหล่หลุด อาการเป็นอย่างไร

ภาวะข้อไหล่หลุด อาการเป็นอย่างไร จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดหรือไม่?

ข้อไหล่หลุด

หลายคนที่มีอาการปวดหัวไหล่ ปวดไหล่ อาจจะเกิดความสงสัยว่าตนเองเข้าข่าย “ภาวะไหล่หลุด” หรือไม่ อาการปวดไหล่ที่กำลังเผชิญอยู่เป็นอาการอะไรกันแน่ ? 

ทั้งนี้ข้อไหล่หลุดเป็นภาวะที่สามารถพบได้ทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีสาเหตุจากการใช้ชีวิตประจำวัน หรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในขณะที่ทำกิจกรรม ทำให้หัวไหล่เกิดความผิดปกติ ผิดรูป และรู้สึกปวดไหล่ ที่สำคัญถ้าหากเกิดภาวะไหล่หลุดกับตัวคุณเองไม่ควรพยายามที่จะดึงไหล่ให้กลับมาในองศาเดิม เพราะอาจจะทำให้อาการรุนแรงมากกว่าเดิม  

บทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าเกี่ยวกับภาวะข้อไหล่หลุด ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร อาการไหล่หลุดเป็นอย่างไร แบบไหนถึงเรียกว่าภาวะข้อไหล่หลุด พร้อมทั้งแนะนำวิธีรักษาวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อหัวไหล่หลุด และแนวทางในการป้องกันอาการหัวไหล่หลุด เนื่องจากภาวะสามารถเกิดได้กับทุกคน

ภาวะข้อไหล่หลุด (Dislocated Shoulder)

ภาวะข้อไหล่หลุด (Dislocated Shoulder) เป็นอาการที่สามารถพบได้ทั่วไป และสามารถเกิดได้กับทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศ หรือวัยไหนก็ตาม โดยที่ข้อไหล่หลุดออกจากเบ้า ส่วนใหญ่มักหลุดไปทางด้านหน้า (Anterior Shouulder Dislocation) ซึ่งมีสาเหตุมาจากการไม่เข้ากันระหว่างหัวกระดูกและเบ้ากระดูกของหัวไหล่ ผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการไหล่หลุดได้จากลักษณะที่แปลกไปของหัวไหล่ อาการชาจากการบาดเจ็บ ขยับไหล่ไม่ได้ และอาการปวดที่หัวไหล่หรือบริเวณรอบๆ อย่างรุนแรง 

ที่สำคัญสำหรับอาการไหล่หลุดยกแขนไม่ขึ้น ผู้ป่วยไม่ควรพยายามที่จะดึงหรือเคลื่อนไหวไหล่กลับสู่ตำแหน่งเดิมด้วยตนเอง เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายหรืออาการไหล่หลุดแย่ลงกว่าเดิม หากมีเกิดอาการไหล่หลุดควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกวิธี และสำหรับผู้ที่เคยมีประวัติไหล่หลุดอาจจะเกิดอาการซ้ำได้ในอนาคต 


ไหล่หลุดเกิดจากสาเหตุใด

สาเหตุของไหล่หลุด

อาการไหล่หลุดนับเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัว เนื่องจากข้อไหล่เป็นข้อที่มีพิสัยการเคลื่อนไหวได้มากที่สุดในร่างกาย และมีโอกาสหลุดได้ง่ายกว่าข้ออื่นๆ โดยไหล่หลุดเป็นอาการที่สามารถเกิดได้กับทุกคน ลองมาดูสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุด เกิดจากอะไร

1. อุบัติเหตุที่ส่งผลต่อไหล่

สาเหตุของอาการไหล่หลุดที่เกิดจากอุบัติเหตุเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และมักเกิดจากความไม่ตั้งใจหรือประมาท ไม่ว่าจะเป็น รถล้ม ตกจากที่สูง หรือถูกฉุดแขนแรงเกินไป เมื่อข้อไหล่ถูกกระแทกอย่างแรงสามารถทำให้กระดูกหลุดมานอกเบ้าได้ 

2. การเล่นกีฬาบางประเภท

นอกจากสาเหตุที่มาจากอุบัติเหตุแล้ว การเล่นกีฬาบางประเภทยังเป็นอีกสาเหตุหลักของภาวะข้อไหล่หลุด เนื่องจากกีฬาบางประเภทจำเป็นที่ต้องรับแรงกระแทกที่รุนแรง รวมไปถึงการชน หกล้ม และการกระชากแขนในขณะที่เล่นกีฬา ไม่ว่าจะเป็น รักบี้ ว่ายน้ำ บาสเกตบอล ฟุตบอล และอเมริกันฟุตบอล เป็นต้น 

3. พันธุกรรมทางกายวิภาค

นอกจากการกระแทกอย่างรุนแรงแล้ว อาการไหล่หลุดยังถูกนับเป็นโรคทางพันธุกรรมที่เรียกว่า ข้อหลวม (Joint Laxity) ซึ่งผู้ป่วยข้อหลวมบริเวณข้อต่อที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อนจะมีความยืดหยุ่นสูงกว่าปกติ ทำให้ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ข้อยืดและหลุดได้ง่ายกว่า จึงเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยข้อหลวมมีเกิดโอกาสเสี่ยงการเกิดภาวะไหล่หลุดมากกว่าคนทั่วไป 

4. การตึงของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ

อาการตึงของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ สามารถทำให้ข้อไหล่หลุดไปทางด้านหลังได้ ซึ่งมีสาเหตุมาจากไฟช็อต ไฟดูด หรือโรคลมชัก เป็นต้น แต่สาเหตุการตึงของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติทำให้ข้อไหล่หลุดนั่นเป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อยมากนัก 

5. การเสื่อมสภาพตามอายุ

อายุเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดโอกาสเสี่ยงไหล่หลุดมากขึ้น โดยจากผลสำรวจพบว่าในเด็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอาการไหล่หลุดได้มากที่สุด พร้อมทั้งในเด็กที่อายุน้อยกว่า 19 ปี หากมีประวัติภาวะข้อไหล่หลุดมีโอกาสที่จะเกิดอาการไหล่หลุดซ้ำได้สูงถึง 90 – 95% 

6. ข้อต่อไม่แข็งแรงในเด็ก

อาการไหล่หลุดในเด็กมีสาเหตุมาจากเส้นเอ็นในข้อต่อของเด็กยังไม่มีความแข็งแรงมั่นคงเท่าเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อของผู้ใหญ่ ดังนั้นถ้าหากเกิดการกระชาก หรือการกระแทกในขณะที่เล่น หรือกำลังทำกิจกรรมอาจจะทำให้กระดูก Radius และเส้นเอ็นหลุดออกจากกันและเคลื่อนที่ได้ง่าย และกลายเป็นภาวะข้อไหล่หลุดในเด็กนั่นเอง 


อาการไหล่หลุดเป็นอย่างไร

กระดูกไหล่หลุดเป็นอาการที่เด่นชัด ผู้ป่วยสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า และอาการปวดบริเวณรอบข้อต่อ โดยอาการไหล่หลุดที่พบมักมีสาเหตุมาจากการทำกิจกรรม เล่นกีฬาบางประเภท และอุบัติเหตุ ซึ่งอาการของภาวะข้อไหล่หลุด มีดังนี้  

  • หัวกระดูกหัวไหล่หลุดออกจากเบ้าไหล่ สามารถหลุดได้หลายทิศทาง ไม่ว่าจะเป็น ด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง 
  • ข้อไหล่มีรูปร่างผิดแปลกจากเดิม ได้แก่ มีก้อนนูนขึ้นมาด้านหน้าเพราะหัวไหล่หลุดมาด้านหน้าด้าน หรือ ด้านข้างของไหล่แฟบลง 
  • รู้สึกปวดบริเวณหัวไหล่และบริเวณรอบข้างมากกว่า บางครั้งอาจจะมีอาการปวดรุนแรงจนถึงขั้นไม่สามารถขยับหรือเคลื่อนไหวได้ 
  • รู้สึกเจ็บเหมือนมีเข็มทิ่ม และชารอบข้าง เช่น คอหรือแขน
  • เมื่อกล้ามเนื้อที่หัวไหล่เกิดอาการเกร็ง หรือกล้ามเนื้อกระตุกจะรู้สึกเจ็บมากขึ้นเรื่อยๆ 

ใครบ้างที่เสี่ยงข้อไหล่หลุด

กลุ่มเสี่ยงภาวะไหล่หลุด

แม้ว่าอาการไหล่หลุดจะเป็นอาการที่สามารถเกิดได้กับทุกคนเพศ ทุกวัย แต่ยังมีกลุ่มคนที่มีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะข้อไหล่หลุดมากกว่าคนทั่วไป ได้แก่  

  • ในวัยเด็ก วัยรุ่น และผู้สูง ที่ข้อต่อหลวมเนื่องจากสภาพร่างกายที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ หรือเสื่อมสภาพตามอายุ มีโอกาสเสี่ยงเกิดอาการไหล่หลุด
  • ผู้ที่เคยมีประวัติไหล่หลุดมากก่อน 
  • ผู้ที่เป็นโรคภาวะข้อหลวม ที่ทำให้ข้อต่อในร่างกายหลุดได้ง่ายกว่าคนทั่วไป 
  • ผู้ที่เล่นกีฬาที่จำเป็นต้องมีการปะทะ กระแทก หรือชนระหว่างเล่น เช่น รักบี้ อเมริกันฟุตบอลบาสเกตบอล 
  • นักกีฬาที่จำเป็นต้องยกแขนเหนือศีรษะมีโอกาสเสี่ยงไหล่หลุดมากกว่ากีฬาอื่นๆ เช่น นักว่ายน้ำ นักเทนนิส และนักยิมนาสติก เป็นต้น 

การตรวจวินิจฉัยภาวะข้อไหล่หลุด

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไหล่หลุด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและเข้ารับการรักษาทันที โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยภาวะข้อไหล่หลุดเบื้องต้นด้วยการตรวจร่างกาย พร้อมทั้งดูลักษณะภายนอก ได้แก่ อาการบวม แดง การไหลเวียนของเลือดและความผิดปกติอื่นๆ บริเวณรอบข้อหัวไหล่ 

ทั้งนี้ถ้าหากแพทย์วินิจฉัยอาการไหล่หลุดว่ามีความรุนแรงและเสียหายภายในกระดูก แพทย์จะใช้วิธีเอกซเรย์ (X-ray) เพื่อตรวจหากว่ามีจุดใดบ้างที่กระดูกหักหรือได้รับความเสียหาย และในบางกรณีแพทย์อาจจะใช้การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อหาความผิดปกติของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ว่าได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด เพื่อประกอบการวินิจฉัยและรักษาได้ตรงจุดมากที่สุด 


วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อข้อไหล่หลุด

หลายคนเมื่อเกิดเหตุการณ์ไหล่หลุดขึ้นกับตนเองหรือคนใกล้ชิด ส่วนใหญ่มักจะมีอาการตกใจทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้ว่าควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไร ซึ่งบางครั้งการขยับไหล่หรือปฐมพยาบาลแบบผิดๆ สามารถทำให้ภาวะข้อไหล่หลุดแย่ลงได้ หากเกิดเหตุการณ์ไหล่หลุดแนะนำให้ปฏิบัติตามวิธีนี้ต่อไปนี้ 

  • หาตัวช่วยประคองแขน 

หลังจากที่เกิดภาวะไหล่หลุดแล้ว แนะนำให้ผู้ป่วยหาตัวช่วยมาประคองแขนสิ่งที่หาได้ง่ายที่สุด คือ มือและแขนอีกข้างของผู้ป่วย แนะนำให้นำมาประคองข้างที่ไหล่หลุดไว้ก่อน แล้วค่อยหาตัวช่วยเสริม เช่น ที่คล้องแขน ผ้า และหมอน เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้แขนเคลื่อนไหวมากจนเกินไป และควรรีบไปพบแพทย์และรักษาให้เร็วที่สุด เพราะภาวะข้อไหล่หลุดเป็นภาวะที่จำเป็นต้องรักษาทันที 

  • ประคบเย็น

ผู้ป่วยไหล่หลุดสามารถใช้วิธีประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการปวดก่อนที่จะไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาได้ ซึ่งการประคบเย็นเป็นเพียงการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดเท่านั้น แต่อาการปวดจะหายเมื่อแพทย์จัดตำแหน่งกระดูกให้กลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม 

  • ห้ามพยายามขยับหรือดัดหัวไหล่กลับตำแหน่งเดิม

สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะไหล่หลุดทางที่ดีที่สุด คือ รีบไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์จัดกระดูกกลับตำแหน่งเดิม และรักษาเพื่อบรรเทาความเสียหายต่างๆ การที่ผู้ป่วยพยายามขยับหัวไหล่หรือพยายามดึงไหล่ หลังจากเกิดภาวะไหล่หลุด ให้ไหล่กลับไปสู่ตำแหน่งเดิมจะยิ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อกระดูก เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อ บริเวณรอบๆ หัวไหล่ ซึ่งอาจจะทำให้กระดูกแตกหัก หรือเส้นเอ็นต่างๆ ฉีกขาด และส่งผลให้อาการแย่ลงกว่าเดิมได้ 


แนวทางการรักษาภาวะข้อไหล่หลุด

วิธีรักษาอาการไหล่หลุด

เนื่องจากภาวะข้อไหล่หลุดมีระดับความรุนแรงหลายระดับ ทำให้การรักษามีหลายแบบ ตั้งแต่วิธีรักษาไหล่หลุดแบบไม่จำเป็นผ่าตัด ไปจนถึงการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการไหล่หลุด ทั้งนี้การรักษาหลายรูปแบบเพื่อให้เหมาะสมกับความรุนแรงของอาการ 

1. การรักษาข้อไหล่หลุดแบบไม่ผ่าตัด

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไหล่หลุดครั้งแรก ส่วนใหญ่มักจะรักษาไหล่หลุดแบบไม่ผ่าตัด โดยแพทย์จะจ่ายยาช่วยระงับอาการปวด และใส่ที่คล้องแขนเพื่อจัดตำแหน่งกระดูกกลับตำแหน่งเดิมประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ และเมื่อครบกำหนดแล้ว แพทย์จะนัดเพื่อตรวจดูอาการไหล่อีกครั้ง เมื่อไหล่กลับเข้าสู่ภาวะปกติและตำแหน่งเดิมแล้วจึงจะนำที่คล้องแขนออก หลังจากที่นำที่คล้องแขนแล้ว ผู้ป่วยจำเป็นต้องทำกายภาพบำบัดตามที่แพทย์แนะนำ เพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณรอบๆ หัวไหล่และแขน ให้กลับมาเคลื่อนไหวได้อย่างปกติ 

2. การผ่าตัดข้อไหล่หลุด

วิธีการรักษาไหล่หลุดโดยการผ่าตัด เหมาะกับผู้ป่วยที่เคยมีประวัติไหล่หลุด และเกิดอาการไหล่หลุดซ้ำๆ อยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากผู้ป่วยที่เคยมีประวัติไหล่หลุด เนื้อเยื่ออ่อนในข้อไหล่ฉีก และไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองให้กลับมาเหมือนเดิมได้ ทำให้เกิดภาวะเบ้ากระดูกไหล่สึก ข้อหลวม และเกิดอาการไหล่หลุดซ้ำๆ นั่นเอง 

ก่อนการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการไหล่หลุด แพทย์จะใช้วิธีตรวจ MRI เพื่อตรวจดูว่าข้อไหล่ได้รับความเสียหายบริเวณใดบ้าง เพื่อประเมินอาการและความรุนแรงของผู้ป่วย โดยวิธีผ่าตัดรักษาไหล่หลุดมีทั้งหมด 2 แบบ ได้แก่ 

 

  • การผ่าตัดแบบเปิด

การผ่าตัดแบบเปิด หรือที่เรียกว่า การผ่าตัดเสริมภาวะเบ้ากระดูกไหล่เสื่อม (Glenoid Reconstruction) เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะข้อไหล่หลุดซ้ำๆ เป็นการผ่าตัดเพื่อเสริมกระดูกเบ้าหัวไหล่ด้วยการตัดกระดูกจากกระดูกกลุ่มโคราคอยด์ โพรเซส (Coracoid Process) มาเสริมที่บริเวณเบ้าหัวไหล่ 

การผ่าตัดแบบเปิดเหมาะกับผู้ป่วยที่ภาวะเบ้ากระดูกไหล่สึกเกิน 15 – 25 % โดยแพทย์จะส่งตัวไปตรวจ MRI เพื่อประเมินกระดูก เนื้อเยื่อ และกล้ามเนื้อ การผ่าตัดแบบเปิดจึงเป็นวิธีการรักษาสำหรับผู้ที่แพทย์พิจารณาว่าไม่สามารถตัดแบบส่องกล้องได้ หรือมีโอกาสผ่าตัดไม่สำเร็จสูง 

 

  • การผ่าตัดแบบส่องกล้อง

ผู้ป่วยภาวะไหล่หลุดส่วนใหญ่ที่ไม่ได้รับความเสียหายที่กระดูกข้อไหล่ หรือสึกหรอน้อย มักจะรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งการผ่าตัดส่องกล้องเป็นการเย็บซ่อมแซมเยื่อหุ้มข้อไหล่ที่เกิดการฉีดขาด หรือการยืดให้กลับมาใกล้เคียงปกติ โดยใส่กล้องและอุปกรณ์เข้าไปเย็บซ่อมแซมเยื่อหุ้มข้อไหล่ให้ตึงมากขึ้น 

ทั้งนี้การผ่าตัดแบบส่องกล้องเพื่อรักษาอาการไหล่หลุด เป็นวิธีที่เสียเลือดน้อย ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้ไว และไม่จำเป็นต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลเป็นเวลา ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้ นอกจากนี้การผ่าตัดส่องกล้องยังช่วยลดโอกาสการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อในบริเวณรอบๆ 


ระยะฟื้นตัวจากภาวะข้อไหล่หลุด

กายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยไหล่หลุด

โดยปกติแล้วผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ทันทีหลังจากที่ไหล่กลับสู่ตำแหน่งเดิม แต่ต้องหลีกเลี่ยงการใช้แขนข้างที่ไหล่หลุดประมาณ 2 – 3 วัน 

1. ระยะฟื้นตัวของผู้ป่วยข้อไหล่หลุด

ระยะฟื้นตัวของผู้ป่วยข้อไหล่หลุด สามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้ดังนี้ 

 

  • ผู้ป่วยข้อไหล่หลุดที่รักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด

สำหรับการพักฟื้นในระยะนี้ผู้ป่วยจะใช้ที่คล้องแขนเพื่อลดการเคลื่อนไหวของแขนประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ เมื่อครบตามกำหนดที่แพทย์สั่ง และตรวจเช็คร่างกายกับแพทย์อีกครั้งแล้วจึงจะสามารถกลับมาใช้แขน และเริ่มทำกายภาพเพื่อให้กล้ามเนื้อแขนกลับมาใช้งานได้ปกติ 

  • ผู้ป่วยข้อไหล่หลุดที่รักษาด้วยวิธีผ่าตัด

สำหรับผู้ป่วยภาวะข้อไหล่หลุดที่รักษาด้วยวิธีผ่าตัดจำเป็นต้องใช้ที่คล้องแขนเพื่อลดการเคลื่อนไหวประมาณ 4 – 6 สัปดาห์ และหลังจากถอดที่คล้องแขนแล้วจำเป็นต้องทำกายภาพบำบัด เพื่อให้แขนจะสามารถกลับมาใช้งานได้ใกล้เคียงปกติ โดยจะใช้เวลาประมาณ 2 – 3 เดือน ทั้งนี้ระยะพักฟื้นตัวของแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสมรรถภาพทางร่างกายและความแข็งแรงของแต่ละคน

2. การใช้ยาบรรเทาอาการปวด

ผู้ป่วยไหล่หลุดอาจจะมีอาการปวดบริเวณหัวไหล่รุนแรง 2 – 3 วันแรกหลังจากที่กลับมารักษาตัวต่อที่บ้าน แนะนำให้ทานยาแก้ปวดหรือยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อบรรเทาอาการปวด เช่น พาราเซตามอล นาพรอกเซน อะเซตามิโนเฟน หรือ ไอบูโพรเฟน โดยผู้ป่วยสามารถอ่านวิธี ปริมาณ และข้อควรปฏิบัติได้ที่ฉลากข้างกล่องยา และสำหรับผู้ป่วยไหล่หลุดที่มีอาการปวดรุนแรงยาแก้ปวดไม่สามารถบรรเทาอาการได้ แพทย์อาจจะสั่งยาแก้ปวดที่ออกฤทธิ์รุนแรงมากกว่า เช่น โคเดอีน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการความรุนแรง และดุลยพินิจของแพทย์ 

3. การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยข้อไหล่หลุด

หลังจากที่ผู้ป่วยไหล่หลุดถอดที่คล้องแขนออกแล้ว แพทย์อาจจะแนะนำให้ทำกายภาพบำบัดและออกกำลังกายแขนและไหล่เบาๆ เพื่อช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้กลับมาแข็งแรง โดยการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยไหล่หลุดสามารถช่วยบรรเทาอาการต่อไปนี้  

  • ลดภาวะข้อไหล่ติด 
  • ลดความฝืดของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น 
  • บรรเทาความเจ็บปวด
  • เสริมสร้างกล้ามเนื้อให้กลับมาแข็งแรง

ทั้งนี้ผู้ป่วยไหล่หลุดที่มีอาการเจ็บปวดหลังจากที่เริ่มออกกำลังกายควรหยุด และปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อความปลอดภัย 


ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดเมื่อข้อไหล่หลุด

ภาวะแทรกซ้อนจากข้อไหล่หลุด

ผู้ป่วยที่เคยมีประวัติไหล่หลุด หรือเกิดอาการไหล่หลุดบ่อยๆ เมื่อมีอาการปวดข้อความรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากข้อไหล่หลุดได้ 

1. กล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นฉีกขาด

เนื่องจากบริเวณหัวไหล่มีกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นจำนวนมาก เมื่อเกิดภาวะข้อไหล่หลุดอาจจะทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณรอบๆได้รับความเสียหาย หรือได้รับบาดเจ็บ ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรงเนื่องจากกล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บ หรือเส้นเอ็นฉีกขาด  

2. เส้นประสาทได้รับความเสียหาย

บริเวณหัวไหล่มีเส้นประสาทจำนวนมาก เมื่อเกิดอาการไหล่หลุดอาจจะส่งผลต่อเส้นประสาทบริเวณรอบๆ หัวไหล่ ทำให้ได้รับความเสียหาย และเมื่อเส้นประสาทได้รับความเสียหายสามารถส่งผลให้เกิดอาการแขนอ่อนแรง หรือรู้สึกชาบริเวณแขนและหัวไหล่ได้ 

3. ภาวะไหล่คลอน

ภาวะไหล่คลอนเป็นภาวะที่เกิดกับผู้ป่วยที่มีประวัติไหล่หลุดรุนแรงมาก่อน หรือไหล่หลุดบ่อยๆ หลายครั้ง โดยมักจะมีอาการเหมือนกับกระดูกหัวไหล่ต่อไม่สนิทกับเบ้าหัวไหล่ ทำให้รู้สึกสะดุดเวลาขยับแขนหรือขยับร่างกาย 


การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะข้อไหล่หลุด

 วิธีป้องกันภาวะข้อไหล่หลุด

เพราะอาการไหล่หลุดมักเกิดจากกระแทกจากอุบัติเหตุ หรือการเล่นกีฬาบางประเภท รวมไปถึงการหกล้มในผู้สูงอายุ การป้องกันไหล่หลุดได้ดีที่สุดคือการระมัดระวังในการใช้ชีวิต นอกจากนี้ยังสามารถปฏิบัติตามวิธีต่อไปนี้เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะข้อไหล่หลุด  

  • ใช้ราวจับในขณะขึ้นลงบันได
  • ใช้แผ่นกันลื่นในห้องน้ำ หรือบริเวณที่มักเปียก 
  • สวมอุปกรณ์ป้องกันในขณะที่เล่นกีฬาที่จำเป็นต้องกระแทก หรือชนในระหว่างเล่น 
  • พยายามปลูกฝังพฤติกรรมให้เด็กๆ ระมัดระวังในขณะที่เล่น 
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ 

คำถามที่พบบ่อย

หากข้อไหล่หลุด ดึงกลับเข้าที่ด้วยตัวเองได้ไหม

สำหรับผู้ที่มีภาวะข้อไหล่หลุดบ่อยๆ ถึงแม้ว่าจะสามารถดึงหัวไหล่กลับเข้าที่ได้ด้วยตัวเอง แต่ทางการแพทย์ไม่แนะนำให้ทำ เนื่องจากเป็นวิธีแก้ไหล่หลุดอาจจะสร้างความเสียหายให้กับกระดูก กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น บริเวณหัวไหล่และรอบๆ ได้ ซึ่งอาจจะทำให้กระดูกแตกหัก หรือเส้นเอ็นฉีกขาดทำให้อาการไหล่หลุดรุนแรงมากกว่าเดิม และทำให้การรักษายากขึ้นไปอีกขั้น ทางที่ดีที่สุดเมื่อเกิดอาการไหล่หลุดแนะนำให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยการหาตัวช่วยประคองแขนไม่ให้เคลื่อนไหวและรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด 

ไหล่หลุด จำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่

การผ่าตัดเพื่อรักษาอาการไหล่หลุดเป็นการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไหล่หลุดซ้ำๆ ถี่ๆ เนื่องจากเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณรอบๆ อ่อนแรง หรือเข้าข่ายภาวะข้อหลวมทำให้เกิดอาการไหล่หลุดบ่อยๆ แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไหล่หลุดครั้งแรก ส่วนใหญ่มักจะไม่จำเป็นต้องผ่าตัด โดยวิธีที่ใช้รักษาผู้ป่วยไหล่หลุดครั้งแรกจะเป็นการจัดกระดูกให้เข้าที่ (Manipulation) และใช้ที่คล้องแขน เพื่อลดการเคลื่อนไหวของแขน เพื่อให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และกระดูกให้พักฟื้น และซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย 


ข้อสรุป

ไหล่หลุด คือ ภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กบทุกเพศ ทุกวัย โดยในวัยเด็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุมักเกิดอาการไหล่หลุดที่มีสาเหตุมาจากการได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรงจากอุบัติเหตุ และการเล่นกีฬาบางประเภท ซึ่งภาวะข้อไหล่หลุดเป็นอาการที่ต้องรีบรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทันที 

ที่สำคัญผู้ป่วยที่มีอาการไหล่หลุดไม่ควรพยายามดึงไหล่ให้กลับสู่ตำแหน่งเดิมด้วยตนเอง เพราะจะยิ่งทำให้กล้ามเนื้อ กระดูก และเส้นเอ็นบริเวณหัวไหล่และรอบๆ ได้รับความเสียหายมากกว่าเดิม หากผู้ป่วยมีอาการไหล่หลุดครั้งแรกมักจะเป็นการรักษาโดยการจัดกระดูกและใช้ที่คล้องแขนประคองแขน แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการไหล่หลุดซ้ำๆ อาจจะต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ทั้งนี้วิธีรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและดุลยพินิจของแพทย์

Cr. https://www.samitivejchinatown.com/th/health-article/dislocated-shoulder

Categories
บทความ

โรคมะเร็งทางนรีเวชที่พบบ่อย ภัยร้ายของผู้หญิงที่ต้องระวัง

โรคมะเร็งทางนรีเวชที่พบบ่อย ภัยร้ายของผู้หญิงที่ต้องระวัง

มะเร็งทางนรีเวช หรือ มะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ผู้หญิง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้หญิง โดยปัจจัยสำคัญมากจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือประวัติการเป็นมะเร็งของคนในครอบครัว ที่ทำให้ผู้หญิงไทยเป็นโรคมะเร็งนรีเวชกันมากขึ้น โดย 3 อันดับที่พบบ่อย ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และมะเร็งรังไข่ แต่จริงๆ แล้วสามารถพบได้ทุกอวัยวะ ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งช่องคลอด มะเร็งกล้ามเนื้อมดลูก มะเร็งเนื้อรก แต่ส่วนนี้จะพบได้น้อย ทั้งนี้มะเร็งทางนรีเวชสามารถเป็นได้ทุกช่วงอายุ ดังนั้นผู้หญิงทุกคนควรหมั่นสังเกตตัวเอง หากพบว่ามีอาการผิดปกติควรรีบมาพบแพทย์เฉพาะทาง และเพื่อให้รู้เท่าทันไปทำความรู้จักกับ 3 มะเร็งทางนรีเวชที่พบบ่อยกันดีกว่า

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งทางนรีเวชแต่ละชนิด

  1. มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งในผู้หญิง มักพบในผู้หญิงที่มีช่วงอายุ 35-55 ปี ตัวก่อมะเร็งที่ชัดเจน คือ เชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV: Human Papillomavirus) เชื้อไวรัสที่แพร่กระจายได้ง่ายผ่านการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง หรือการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนั้นก็จะเป็นพฤติกรรมต่างๆ เช่น การสูบบุหรี่ การมีคู่นอนหลายคน หรือกรรมพันธุ์ซึ่งอาจจะไม่ค่อยมีส่วนเกี่ยว ส่วนใหญ่จะเป็นการติดเชื้อ HPV แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเชื้อ HPV เท่านั้น
  2. มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มักพบในผู้หญิงที่อายุ 60 ปีขึ้นไป เกิดจากการทานตัวยาบางอย่าง และได้รับฮอร์โมนที่เกินขนาด อาจจะเป็นยาฮอร์โมนที่ซื้อทานเอง ยาฮอร์โมนในวัยทองที่ได้รับมานานเกินไป หรือว่าการทานยาบางอย่าง เช่น ทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) ที่ใช้รักษาโรคมะเร็งเต้านม และมาจากร่างกายที่มีน้ำหนักเยอะ หรือประจำเดือนไม่ค่อยมา
  3. มะเร็งรังไข่ มักพบได้บ่อยในช่วงอายุ 55-64 ปี ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดมะเร็งรังไข่อย่างแน่ชัด แต่สันนิษฐานได้ว่าเกิดจากการผิดปกติที่ถ่ายทอดของพันธุกรรม โดยจะพบมากในกลุ่มครอบครัวที่มีประวัติเป็นมะเร็งรังไข่ รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มสตรีที่ใช้ยากระตุ้นการตกไข่

อาการของมะเร็งทางนรีเวชแต่ละชนิด

  1. มะเร็งปากมดลูก ถ้ารอให้มีอาการแสดงว่าก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นแล้ว มะเร็งปากมดลูกยังมีข้อดีอยู่ตรงที่ก้อนมะเร็งจะค่อยๆ โตขึ้น โตช้า แต่ว่าจะมีขั้นตอนการตรวจที่ชัดเจน คือ จะสามารถตรวจจับได้ตั้งแต่เซลล์ก่อนเป็นมะเร็ง โดยมะเร็งปากมดลูกระยะแรกจะไม่มีอาการ พบได้จากจากตรวจเท่านั้น ถ้ามีอาการจะมีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ เลือดออกไม่เป็นรอบ กระปริบกระปรอย หรือตกขาวเหม็นไม่หายเรื้อรัง แต่ถ้ามีอาการก็จะพบเป็นก้อน 3-4 เซนติเมตร
  2. มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก จะแยกระหว่างวัยหมดประจำเดือนและวัยยังไม่หมดประจำเดือน ถ้าในวัยหมดประจำเดือน การกลับมามีเลือดออกอีกจะเป็นอาการเริ่มต้น แต่ในส่วนวัยก่อนหมดประจำเดือน จะมีอาการประจำเดือนมาผิดปกติ มามากขึ้น หรือมาไม่เป็นรอบ ซึ่งมะเร็งชนิดนี้ไม่มีการตรวจคัดกรอง
  3. มะเร็งรังไข่ ค่อนข้างจะไม่มีอาการก่อนเริ่มเป็น ถ้ามีอาการก็ คือ เป็นมากแล้วในระยะ 3-4 อาการจะค่อนข้างกำกวมกับโรคทางเดินอาหาร เช่น บวมๆ ท้อง กินไม่ได้ รู้สึกท้องตึงหน่อยๆ รู้สึกขึ้นคลื่นไส้อาเจียน จะไม่มีอาการเลือดออกใดๆ ถ้าจะพบก็ คือ บังเอิญเจอจากการตรวจสุขภาพประจำปี หรือจากการอัลตราซาวด์ด้วยสาเหตุอื่นๆ จึงบังเอิญพบเนื้องอกรังไข่

การตรวจวินิจฉัย แต่ละชนิดตรวจอย่างไรบ้าง

โดยส่วนใหญ่ต้องได้ชิ้นเนื้อไม่ว่ามะเร็งอะไร

  1. มะเร็งปากมดลูก จะคัดกรองร่วมกับ การหาเชื้อ HPV (HPV DNA testing) หากสงสัยก็จะตัดชิ้นเนื้อนำไปวินิจฉัยต่อในห้องปฏิบัติการ
  2. มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก จะวินิจฉัยด้วยการดูด ขูด หรือส่องกล้องโพรงมดลูก เพื่อเอาชิ้นเนื้อไปวินิจฉัยต่อในห้องปฏิบัติการ
  3. มะเร็งรังไข่ จะตรวจตามการวัดค่าต่างๆ เช่น การตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งร่วมกับการอัลตราซาวด์ ตรวจด้วยรังสีวินิจฉัยการส่องกล้องแลปพาโรสโคปเก็บตัวอย่างของเนื้องอกเพื่อนำไปวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา โดยนำอายุ และค่าอื่นๆ มาคิดคำนวณค่าเป็นเปอร์เซ็นต์ หากค่ามากให้สงสัยว่าเป็นมะเร็ง และส่งพบแพทย์มะเร็ง

แนวทางการรักษามะเร็งทางนรีเวชแต่ละชนิด

การรักษามะเร็งทั้ง 3 ชนิด มีอยู่ 3 วิธีหลักๆ ดังนี้ การผ่าตัด การใช้รังสีรักษาหรือการฉายแสง และเคมีบำบัด รวมถึงการให้ยามุ่งเป้า ซึ่งรายละเอียดจะต่างกัน เช่น

  1. มะเร็งปากมดลูก ในระยะเริ่มแรกก่อนเป็นมะเร็ง จะใช้การตัดปากมดลูกออก (LEEP) ซึ่งมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มต้นจะใช้การผ่าตัด เพราะมะเร็งปากมดลูกในระยะแรก เซลล์มะเร็งจำกัดอยู่เฉพาะที่ปากมดลูก ยังไม่แพร่ไปอวัยวะใกล้เคียง แต่เมื่อผู้ป่วยอยู่ระยะลุกลาม เซลล์มะเร็งแพร่ไปยังอวัยวะใกล้เคียงแล้ว เช่น ตัวมดลูก รังไข่ ต่อมน้ำเหลือง กระเพาะปัสสาวะ ท่อไต ลำไส้ใหญ่ ตลอดจนเยื่อบุช่องท้อง การรักษาในระยะนี้จะใช้รังสีรักษาเป็นหลัก อาจร่วมกับการให้เคมีบำบัดด้วย
  2. มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก จะรักษาด้วยการผ่าตัด จากนั้นจะใช้รังสีรักษาหรือการฉายแสง หากเป็นระยะลุกลามจะมีเคมีบำบัดร่วมด้วย ซึ่งอยู่ที่ดุลยพินิจของแพทย์
  3. มะเร็งรังไข่การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดจะเป็นวิธีหลักของมะเร็งรังไข่ด้วยการผ่าตัดมดลูก และรังไข่ทั้ง 2 ข้าง พร้อมทั้งเลาะต่อมน้ำเหลืองและเยื่อบุช่องท้องตามตำแหน่งที่มะเร็งมักแพร่กระจายไป หรือเอาก้อนมะเร็งออกให้มากที่สุด และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับยาเคมีบำบัดเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

การป้องกันโรคมะเร็งทางนรีเวช

  1. มะเร็งปากมดลูกป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น มีเพศสัมพันธ์เร็ว มีคู่เพศสัมพันธ์หลายคน เป็นต้น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสม่ำเสมอเพื่อตรวจหาเซลล์ผิดปกติ หรือรอยโรคมะเร็งก่อนที่จะเกิดเซลล์ลุกลาม นอกจากนี้ควรฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกหรือวัคซีนเอชพีวี ได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป
  2. มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกสามารถลดโอกาสเกิดมะเร็งชนิดนี้ได้โดยการควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี รวมทั้งการเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางเมื่อเกิดความผิดปกติ เช่น ประจำเดือนขาดต่อเนื่อง มีประจำเดือนมาไม่ตรงรอบ หรือมีเลือดออกผิดปกติหลังเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เป็นต้น
  3. มะเร็งรังไข่เข้ารับการตรวจสุขภาพ รวมทั้งการตรวจภายในและพบสูตินรีแพทย์เป็นประจำทุกปี เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งรังไข่ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวหรือญาติสายตรงเป็นมะเร็งรังไข่ตั้งแต่อายุยังน้อย

อย่างไรก็ตามการรักษามะเร็งทางนรีเวชแต่ละชนิดนั้น ความสำเร็จจากการรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็ง ขนาดก้อนมะเร็ง สุขภาพของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์จะพิจารณาการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละราย ทั้งนี้หากคุณมีอาการผิดปกติดังกล่าว หรือสงสัยว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อเข้ารับคำแนะนำและการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพราะหากตรวจพบได้เร็ว รักษาได้ทันท่วงที จะยิ่งเพิ่มโอกาสและประสิทธิภาพในการรักษามากยิ่งขึ้น

Categories
บทความ

ภาวะสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ มีอาการแบบไหน รักษาได้หรือไม่

ภาวะสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ มีอาการแบบไหน รักษาได้หรือไม่

หากผู้สูงอายุที่บ้านของคุณ มีพฤติกรรมและอารมณ์ที่เปลี่ยนไป มีอาการหลงลืม สับสนเรื่องเวลา สถานที่ ไม่สามารถรับรู้หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และใช้ภาษาผิดปกติ พฤติกรรมเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญให้ระวังการเป็นโรคอัลไซเมอร์ โดยข้อแตกต่างสำคัญระหว่างผู้ที่มีอาการขี้ลืมหรือหลงลืมตามวัย กับการเริ่มเข้าสู่กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ มีข้อสังเกตที่ต้องใช้ความใส่ใจและวิเคราะห์อย่างใกล้ชิด

ความแตกต่างระหว่างหลงลืมตามวัยกับโรคอัลไซเมอร์

หากเป็นการหลงลืมตามวัยแบบทั่วไปแล้ว โดยปกติเมื่ออายุมากกว่า 60 ปี สมองของเรามักจะถดถอยตามวัย อาจมีการคิดช้า ใช้เวลาในการนึก ตัดสินใจแย่ลง อาจจะเริ่มมีหลงลืม เช่น หากุญแจไม่เจอ จำที่จอดรถไม่ได้ หรืออาจจะนึกชื่อเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนานๆ ไม่ออก แต่เมื่อมีการบอกใบ้ ก็จะสามารถดึงข้อมูลนั้นออกมาได้ ที่สำคัญ คือ ยังช่วยเหลือตัวเองในกิจวัตรประจำวันได้

หากมีอาการหลงลืมแบบเข้าข่ายโรคอัลไซเมอร์ มักจะจำไม่ได้เลยว่ามีเหตุการณ์นั้นๆ เกิดขึ้น นึกอย่างไรก็นึกไม่ออก หรือลืมแล้วลืมเลย ลืมแม้กระทั่งทักษาการใช้เครื่องมือในชีวิตประจำวัน หรืออาจจะถึงกับลืมชื่อคนในครอบครัว เช่น เปิดฝักบัวไม่เป็น ลืมวิธีกดรีโมท ซึ่งการเสื่อมของสมองจะค่อยเป็นค่อยไปและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

สาเหตุอาการอัลไซเมอร์

อาการของโรคสมองเสื่อมที่มีสาเหตุมาจากอัลไซเมอร์นั้น จะมีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยอาการแรกเริ่มที่สำคัญของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ คือ การสูญเสียความจำระยะสั้น ซึ่งเป็นอาการที่ใกล้เคียงกับภาวะความจำเสื่อมตามธรรมชาติในผู้สูงอายุ แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้ป่วยร้อยละ 80-90 จะมีอาการทางพฤติกรรมหรือทางจิตเวชร่วมด้วย ซึ่งอาการทางพฤติกรรมนี่เองที่ทำให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะรายที่มีอาการก้าวร้าว

อาการทั่วไปของโรคอัลไซเมอร์อาจแบ่งคร่าวๆ ได้เป็นสามระยะ ได้แก่

  • ระยะแรก ผู้ป่วยจะมีความจำถดถอยจนตัวเองรู้สึกได้ ชอบถามซ้ำ พูดซ้ำๆ เรื่องเดิม สับสนทิศทาง เริ่มเครียด อารมณ์เสียง่ายและซึมเศร้า
  • ระยะกลาง ผู้ป่วยมีอาการชัดเจนขึ้น ความจำแย่ลงอีก เดินออกจากบ้านไปโดยไม่มีจุดหมาย พฤติกรรมเปลี่ยนไปมาก เช่น จากที่เป็นคนใจเย็นก็กลายเป็นหงุดหงิดฉุนเฉียว ก้าวร้าว พูดจาหยาบคาย เป็นต้น
  • ระยะสุดท้าย ถือว่าเป็นระยะรุนแรง ผู้ป่วยจะตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างน้อยลง สุขภาพทรุดโทรมลงคล้ายผู้ป่วยติดเตียง รับประทานได้น้อยลง การเคลื่อนไหวน้อยลงหรือไม่เคลื่อนไหวเลย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ปัสสาวะหรืออุจจาระเล็ด เนื่องจากกลั้นไม่อยู่ และสูญเสียความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน ต้องพึ่งพาผู้อื่นในเรื่องง่ายๆ เช่น ป้อนข้าว อาบน้ำ เป็นต้น รวมทั้งภูมิคุ้มกันอ่อนแอเป็นสาเหตุให้เกิดโรคแทรกซ้อน ภาวะการติดเชื้อที่นำไปสู่การเสียชีวิตได้

เช็คลิสต์ความเสี่ยงหลงลืมแบบไหน กำลังเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์

  • อาการหลงลืม เช่น หลงลืมสิ่งของ ลืมนัด จำเหตุการณ์หรือคำพูดที่เพิ่งผ่านมาไม่ได้ ลืมสิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ลืมวันสำคัญหรือเหตุการณ์สำคัญที่ผ่านมา
  • สับสนเรื่องเวลา สถานที่ ฤดูกาล กลับบ้านไม่ถูก หลงทิศทาง หรือไม่รู้ว่าจะไปสถานที่นั้นๆ ได้อย่างไร
  • จำบุคคลที่เคยรู้จัก เพื่อน หรือสมาชิกในครอบครัวไม่ได้ คิดว่าเป็นคนแปลกหน้า
  • มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร หรือเรียกสิ่งของไม่ถูก พูดคำหรือประโยคซ้ำๆ
  • ไม่สนใจในสิ่งที่เคยสนใจ เช่น กิจกรรมประจำวัน งานอดิเรก
  • มีปัญหาเรื่องการนับหรือทอนเงิน การใช้โทรศัพท์ การดูนาฬิกา
  • มีพฤติกรรมที่อาจเกิดปัญหายุ่งยาก เช่น ออกนอกบ้านเวลากลางคืน พฤติกรรมก้าวร้าว
  • ไม่สนใจดูแลความสะอาดของตัวเอง เช่น แปรงฟันไม่เป็น อาบน้ำไม่เป็น
  • ซึมเศร้า ร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล

โรคอัลไซเมอร์ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิดอย่างไร

โรคอัลไซเมอร์ ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ป่วยความจำถดถอยเท่านั้น ยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ได้แก่

  • ด้านการเคลื่อนไหว สมองที่ควบคุมในส่วนความเคลื่อนไหว ควบคุมอวัยวะต่างๆ จะค่อยๆ เสื่อมลง เช่น การรับรู้ ทางหู ตา ประสาทสัมผัส การเดิน สมดุลของร่างกาย
  • ด้านภาษา ความสามารถในการสื่อสารจะด้อยลง ไม่สามารถสื่อสารเป็นประโยค นึกคำศัพท์ไม่ออก
  • ด้านสมาธิ และการให้ความสนใจในเรื่องต่างๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีสมาธิสั้น ไม่สามารถทำกิจกรรมได้นานๆ
  • ด้านการตีความ เกิดความสับสนในการตีความ เช่น การที่คนเดินเข้ามาใกล้ คิดว่าจะมาทำร้าย
  • ด้านการตัดสินใจ ขาดความสามารถในการตัดสินใจ ซึ่งจะส่งผลต่อกิจกรรมหลายอย่าง เช่น การขับรถ
  • ด้านความเข้าใจในนามธรรม เกิดความสับสนใจเรื่องของเวลา อดีต ปัจจุบัน ไม่สามารถเข้าใจคำพูดเปรียบเปรยได้

อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อผู้ใกล้ชิดที่จะต้องมาคอยดูแล อาจก่อให้เกิดความอ่อนล้า ความเครียด ความซึมเศร้า หงุดหงิด ต่อผู้ดูแลและอาจทำให้มีปัญหาทางสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจได้

ความแตกต่างระหว่าง โรคอัลไซเมอร์กับ สมองเสื่อม

หลายท่านสงสัยว่า โรคสมองเสื่อม กับ โรคอัลไซเมอร์ เหมือนกันหรือไม่ โดยมีความสับสนว่าโรคสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคเดียวกัน แต่ความจริงแล้วโรคสมองเสื่อมไม่ใช่โรคเดียวกับโรคอัลไซเมอร์ แต่โรคอัลไซเมอร์เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดโรคสมองเสื่อม โดยผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมที่มีสาเหตุจากอัลไซเมอร์ จะมีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ ไม่เป็นที่สังเกต จนเมื่อผ่านไปราว 5-6 ปี ความผิดปกติต่าง ๆ จะแสดงออกมาชัดเจนขึ้น เช่น ไม่สามารถการอาบน้ำแต่งตัวได้เอง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และจะเป็นมากขึ้นตามระยะอาการ

สำหรับ โรคสมองเสื่อม (Dementia Syndrome) หรือ ภาวะสมองเสื่อม เป็นความถดถอยในการทำงานของสมองซึ่งเกิดจากการสูญเสียเซลล์สมองหลายส่วนซึ่งพบได้ในผู้สูงอายุ โดยเริ่มจากส่วนใดส่วนหนึ่งในการทำงานของสมองขั้นสูง 6 ด้าน คือ ด้านสมาธิ ด้านการคิด ตัดสินใจ และการวางแผน ด้านความจำ ด้านการใช้ภาษา ด้านมิติสัมพันธ์ ด้านการเข้าสังคม ถ้าหากการทำงานของสมอง 1 ใน 6 ด้าน อย่างใดอย่างหนึ่งสูญเสียการทำงานไปหรือเสียมากถึงระดับที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย เราเรียกภาวะนี้ว่า “ภาวะสมองเสื่อม”

ประเภทของโรคสมองเสื่อม สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ตามสาเหตุ ได้แก่

  1. กลุ่มที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น โรคอัลไซเมอร์ เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคสมองเสื่อมที่พบมากที่สุด
  2. กลุ่มที่รักษาให้ดีขึ้นได้ เช่น โรคสมองเสื่อมที่เกิดจากการทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ หรือเกิดจากการมีน้ำคั่งในโพรงสมองมากกว่าปกติ หรือเกิดจากการมีเลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง

จะรู้ได้อย่างไร อาการแบบไหนเป็นสมองเสื่อม?

กรณีผู้ป่วยมีอาการที่เข้าข่ายโรคอัลไซเมอร์มาระยะหนึ่ง หรือเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน อาจสงสัยว่าอาการที่เป็นอยู่ปัจจุบันเข้าข่ายภาวะสมองเสื่อมแล้วหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้จากอาการเหล่านี้

  • ความเข้าใจภาษาลดลง ใช้ภาษาไม่ถูกต้อง เรียกชื่อสิ่งของไม่ถูก อาจหยุดพูดกลางคันและไม่รู้ว่าจะต้องพูดอะไรต่อ หรือพูดย้ำกับตัวเอง รวมถึงอาจพูดน้อยลง
  • สับสนเรื่องเวลาหรือสถานที่ อาจลืมว่าตอนนี้ตนอยู่ที่ใดและเดินทางมายังสถานที่นั้นได้อย่างไร
  • ไม่สามารถทำกิจกรรมที่เคยทำได้มาก่อน เช่น ลืมวิธีการเปลี่ยนช่องทีวี
  • บกพร่องในการรับรู้หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ทราบว่าของสิ่งนี้มีไว้ทำอะไร หรือไม่สามารถแยกแยะรสชาติหรือกลิ่นได้
  • บกพร่องในการบริหารจัดการ และตัดสินใจแก้ไขปัญหา ไม่กล้าตัดสินใจหรือตัดสินใจผิดพลาดบ่อย ๆ
  • บกพร่องในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ แต่งตัว ไม่สามารถไปไหนตามลำพังได้
  • บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง เช่น ซึมเศร้า เฉื่อยชา โมโหฉุนเฉียวง่ายโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน เห็นภาพหลอน หวาดระแวง

แพทย์วินิจฉัยและรักษาโรคอัลไซเมอร์อย่างไร

แพทย์จะมีการซักประวัติจากผู้ป่วย ญาติ หรือผู้ดูแลที่สามารถให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับความสามารถในชีวิตประจำวัน และพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความถดถอยด้านการทำงานของสมอง จากนั้นจะเริ่มการทดสอบทางสมอง เพื่อวัดสมรรถภาพการทำงานประเมินความบกพร่องในการรับรู้เพื่อใช้วินิจฉัยโรค เช่น ให้ทำแบบทดสอบกระดาษหน้าเดียวที่มีคำถามเกี่ยวกับความรู้ทั่วไป ทักษะสมอง คิดเลข ร่วมกับการตรวจร่างกายและเลือกการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เหมาะสม เพื่อให้การวินิจฉัยแยกโรคที่ถูกต้องว่าผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมหรือไม่ และมีสาเหตุจากอะไร โดยการตรวจในห้องปฏิบัติการจะประกอบไปด้วย การตรวจเลือดต่างๆ การตรวจภาพสมองด้วยเครื่อง Computed Tomography (CT) หรือ Magnetic Resonance Imaging (MRI)

ในด้านของการรักษานั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุเป็นหลัก โดยผู้ป่วยที่ภาวะสมองเสื่อมเกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทหรือเกิดจากโรคอัลไซเมอร์นั้น การรักษาจะประกอบด้วยการให้ยาที่ทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นและชะลอการดำเนินโรคให้ช้าลง ซึ่งมักจะได้ผลกับผู้ป่วยในระยะเริ่มแรก ร่วมกับการให้ยารักษาอารมณ์และพฤติกรรมที่ผิดปกติในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง การรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองด้วยกระแสไฟฟ้าอย่างอ่อนเพิ่มความจำและความสามารถของสมอง เป็นต้น ส่วนผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ได้เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทนั้น จะเป็นการรักษาสาเหตุของโรคเป็นหลัก

ข้อปฏิบัติตัวของผู้ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์

การมีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ เป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในการดูแลผู้ป่วย ผู้ดูแลจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค อาการและอาการแสดง พฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้น และการดูแลที่เป็นพิเศษ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม โดยขั้นตอนแรกให้วางแผนการดูแลผู้ป่วยร่วมกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยจะได้รับการดูแลที่ถูกต้องเมื่ออยู่ที่บ้าน สิ่งใดก่อให้เกิดอารมณ์หรือความไม่พอใจแก่ผู้ป่วย ควรหาสาเหตุแก้ไขหรือหลีกเลี่ยง จะช่วยลดความเครียดแก่ผู้ป่วย กระตุ้นให้ผู้ป่วยดูแลตนเองให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การทำความสะอาดร่างกาย การอาบน้ำ จัดเตรียมอุปกรณ์ตามลำดับก่อนหลัง กำหนดเวลาอาบน้ำ การเข้าห้องน้ำ ให้สอดคล้องกับชีวิตประจำวันที่เคยทำ เป็นต้น

ผู้ดูแลควรส่งเสริมให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว พาออกไปเที่ยวนอกบ้านเป็นครั้งคราว หรือไปพบปะเพื่อน พร้อมดูแลช่วยเหลือให้ผู้ป่วยได้ออกกำลังกายตามสมควร และเพื่อให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น ผู้ดูแลควรสังเกตอาการที่ผิดปกติของผู้ป่วย บันทึกพฤติกรรม และแจ้งให้แพทย์ทราบเมื่อถึงเวลานัดตรวจโรค ดูแลเรื่องการทานยาให้ครบและสม่ำเสมอตามที่แพทย์สั่ง หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ เช่น อาการนอนไม่หลับ วิตกกังวล หรือซึมเศร้ามากเกินไป พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ก้าวร้าว หลงผิด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครอยากเป็นโรคอัลไซเมอร์จึงควรดูแลตัวเองด้วยวิธีง่าย ๆ คือหมั่นบริหารสมอง เช่น อ่านหนังสือเป็นประจำ ดูแลสุขภาพจิตให้ดี และสำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือผู้สูงอายุที่บ้านมีสัญญาณอาการดังกล่าว หรือข้อใดข้อหนึ่ง ควรเริ่มตรวจวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ เพราะโรคนี้หากรู้เร็ว รักษาทัน ป้องกันภาวะอัลไซเมอร์ด้วยการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านสมอง

Categories
บทความ

อย่าชะล่าใจ! แค่น้ำเข้าหูอาจเสี่ยงเป็นหูชั้นนอกอักเสบได้

อย่าชะล่าใจ! แค่น้ำเข้าหูอาจเสี่ยงเป็นหูชั้นนอกอักเสบได้

เชื่อว่าหลายคนคงเคยประสบปัญหาน้ำเข้าหูมาแล้ว ซึ่งอาจเกิดระหว่างการว่ายน้ำ อาบน้ำหรือสระผม ทำให้เกิดอาการหูอื้อ รู้สึกเหมือนมีเสียงน้ำอยู่ในหู บางครั้งทำให้การได้ยินลดลงจนเกิดความรำคาญ ในขณะที่หลายคนพยายามจะเอาน้ำออกจากหูด้วยวิธีต่างๆ เช่น ตะแคงหัวแล้วตบที่หู การเอียงหูแล้วกระโดดโยกหัวแรงๆ รวมไปถึงการเอาน้ำหยอดลงในหูอีกครั้งให้เต็มโดยให้ไหลออกมาเอง หรือบางคนใช้ไม้แคะหู ปั่นหู เพื่อเอาน้ำออกจนเกิดแผลถลอกและเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบตามมาได้ แต่รู้หรือไม่ว่าการว่ายน้ำก็อาจทำให้เกิดภาวะหูชั้นนอกอักเสบ หรือที่เรียกว่า “Swimmer Ear” ได้ด้วยเช่นกัน

สาเหตุของหูชั้นนอกอักเสบ

โดยปกติในสรีระร่างกายทางธรรมชาติ รูหูส่วนนอกมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคต่างๆ และสิ่งแปลกปลอมผ่านเข้าไปได้ แต่ก็มีปัจจัยหลายๆ สาเหตุที่ทำให้การป้องกันนี้เสื่อมสภาพลงไปและเกิดอันตรายต่อหูชั้นนอกตามมาได้ นั่นก็คือ

  1. ความเครียดทางอารมณ์ เมื่อเครียดมากเราอาจแสดงออกโดยการใช้นิ้วมือหรือวัตถุอื่นเขี่ยในหู ซึ่งอาจทำให้เกิดรอยถลอก และเกิดการอักเสบตามมาจากการถลอกหรือรอยแผลนั้น
  2. การแคะหู หรือ เขี่ยขี้หูออก ซึ่งเป็นความเข้าใจของหลายๆ คนว่า ขี้หูเป็นสิ่งสกปรก ต้องทำให้หมดไป จึงทำให้ไขมันที่ทำหน้าที่ให้ความชุ่มชื้นกับผิวหนังรูหูที่เคลือบอยู่หลุดออกไป และการแคะหูบ่อยๆ อาจนำมาซึ่งการอักเสบได้
  3. ความร้อนและความชื้น สภาวะอากาศและอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้เชื้อโรคต่างๆ เจริญเติบโตได้ดีมากขึ้น
  4. ผู้ที่มีรูหูแคบและขี้หูมาก เมื่อน้ำเข้าหูก็ไม่สามารถระบายออกมาได้ ต้องเช็ดหรือแคะหู ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ
  5. การว่ายน้ำ ดำน้ำ ทำให้ขี้หูถูกละลายออกไป เกิดภาวะเป็นด่างในรูหู เชื้อโรคจึงสามารถเจริญเติบโตได้ดี
  6. โรคทางระบบอื่นๆ เช่น โรคของระบบต่อมไร้ท่อ โรคเลือด โรคขาดวิตามิน โรคผิวหนังบางชนิด ภูมิแพ้ผิวหนัง ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส แพ้เครื่องช่วยฟัง แพ้น้ำยาจากการล้างชิ้นส่วนของแว่นตา ซึ่งทำให้เกิดการระคายเคืองและการอักเสบของรูหูส่วนนอกได้

หูชั้นนอกอักเสบมีอาการอย่างไร

อาการของหูชั้นนอกอักเสบติดเชื้อ ได้แก่

  • คันในรูหู ปวดหู หูอื้อ
  • ความสามารถในการได้ยินลดลง
  • มีน้ำหรือน้ำเหลืองไหลออกจากหู
  • เมื่อใช้เครื่องมือส่องดูในช่องหู ทำให้มองเห็นแก้วหูไม่ชัด มีช่องหูแดง
  • ในบางรายอาจมีไข้ร่วมด้วยได้ เนื่องจากติดเชื้อเป็นฝีหนอง
  • กดแล้วมีอาการเจ็บบริเวณหน้าใบหู โยกใบหูแล้วเจ็บมากขึ้น

ทำอย่างไรเมื่อน้ำเข้าหู

โดยปกติช่องหูชั้นนอกจะเป็นรูปตัวเอส (S) ฉะนั้นเมื่อมีน้ำเข้าหู ควรปฏิบัติดังนี้

  1. เอียงศีรษะ เอาหูข้างที่น้ำเข้าลงต่ำและดึงใบหูให้กางออก
  2. ดึงใบหูขึ้นบนและไปทางด้านหลังเพื่อทำให้ช่องหูอยู่ในแนวตรง จะทำให้น้ำสามารถไหลออกมาได้ง่าย
  3. ไม่ควรปั่นหรือแคะหูเพราะจะทำให้หูอักเสบ
  4. หากปฏิบัติด้วยวิธีดังกล่าวเบื้องต้นแล้วน้ำยังไม่ออกจากช่องหูแนะนำพบแพทย์หู คอ จมูก

การตรวจน้ำเข้าหูและหูชั้นนอกอักเสบรักษาอย่างไร

ในการตรวจและการดูแลรักษา เบื้องต้นแพทย์จะส่องตรวจหูด้วยเครื่องมือประเมินการบวมอักเสบของช่องหูว่ามีอาการบวมมากน้อยเพียงใด โดยมีขั้นตอนการรักษาดังนี้

  1. ถ้าพบว่าหูมีอาการบวมมาก แพทย์จะใช้ผ้าก๊อซเล็กๆ (Ear wick) ชุบยาหยอดหูไว้ที่หูชั้นนอกร่วมกับให้ยาหยอดหู เช่น Sofradex ในรายที่หูชั้นนอกอักเสบเฉพาะที่ เพื่อให้ยาซึมเข้าไปในช่องหูด้านในได้ดีขึ้น และนัดเปลี่ยน Ear wick ประมาณ 2 – 3 วัน
  2. ยารับประทาน ได้แก่ ยาแก้อักเสบหรือยาปฏิชีวนะกลุ่ม Penicillin เช่น Cloxacillin (กรณีผู้ป่วยแพ้ยา Penicillin อาจพิจารณาเลือกใช้ยา Clindamycin แทน) เพื่อครอบคลุมเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรค ส่วนใหญ่ คือ Staphylococcus aureus แต่ถ้าผู้ป่วยมีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวานหรือมีหูชั้นนอกอักเสบแบบทั่ว ๆ อาจใช้ยาเป็นกลุ่ม Quinolone เช่น Ciprofloxacin เพื่อครอบคลุมเชื้อ Pseudomonas aeruginosa เป็นต้น
  3. ยาอื่นๆ มักใช้เพื่อบรรเทาอาการต่างๆ เช่น อาการปวด ใช้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการ ความรุนแรงของอาการและดุลพินิจของแพทย์หู คอ จมูก
  4. แพทย์อาจจะนัดตรวจติดตามอาการทุก 2 – 3 วัน ตามความรุนแรงของอาการและตามดุลพินิจของแพทย์หู คอ จมูก จนกระทั่งอาการหายเป็นปกติ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นภายใน 7 – 14 วัน

วิธีป้องกันหูชั้นนอกอักเสบ

ควรจะหลีกเลี่ยงจากสิ่งก่อภูมิแพ้ทันทีบางครั้งอาจจะต้องใช้น้ำสะอาดล้างตาอาจจะใช้น้ำตาเทียมซึ่งจะช่วยชะล้างสารก่อภูมิแพ้ใช้ผ้าเย็นปิดตา หลีกเลี่ยงการขยี้ตา เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบที่รุนแรงมากขึ้น และยิ่งทำให้เกิดอาการคันมากขึ้น เพื่อลดอาการบวมอาจจะซื้อยาแก้แพ้รับประทาน หากดูแลตัวเองแล้วยังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ทันทีเมื่อเกิดอาการต่อไปนี้

  • เมื่อน้ำเข้าหู ให้เอียงศีรษะข้างที่น้ำเข้าหูลงต่ำ ดึงใบหูกางออกไปทางด้านหลัง จะทำให้น้ำสามารถไหลออกมาได้
  • ทุกครั้งที่ว่ายน้ำ ควรใช้วัสดุอุดรูหู (Earplug)
  • ใช้หมวกคลุมผม คลุมปิดใบหูทุกครั้งเวลาอาบน้ำ
  • ไม่ควรล้างหูด้วยสบู่ หรือยาฆ่าเชื้อบ่อยๆ
  • ไม่ซื้อยาหยอดหู มาใช้เอง
  • เมื่อมีอาการคันหูมากๆ ใช้วิธีดึงขยับใบหูเบาๆ ไม่ควรแคะหรือปั่นหู
  • หากมีอาการคันหูมาก หูอื้อ และเป็นบ่อยครั้ง หรือมีอาการหูอักเสบเกิดขึ้น ควรรีบพบแพทย์

ทั้งนี้เมื่อรักษาหูชั้นนอกอักเสบจนหายเป็นปกติแล้ว ผู้ป่วยสามารถกลับไปว่ายน้ำได้ตามปกติ แต่แนะนำให้ระวังอย่าให้น้ำเข้าหู และห้ามปั่นหู เนื่องจากมีโอกาสที่หูชั้นนอกจะกลับมาอักเสบได้อีก

Categories
บทความ

โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ คัน เคืองตาเรื้อรัง

โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ คัน เคืองตาเรื้อรัง

โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic conjunctivitis) เกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งที่แพ้ เป็นภาวะที่มีการอักเสบหรือติดเชื้อที่ด้านในของเปลือกตาบนและล่างและเยื่อบุด้านนอกของตาขาว ซึ่งสาเหตุของภาวะเยื่อบุตาอักเสบ อาจจะเกิดจาก การติดเชื้อจากเชื้อโรคต่างๆ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย หรือเกิดจากภูมิแพ้ก็ได้

โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้เกิดขึ้นได้อย่างไร

อาการทางภูมิแพ้มักจะเกิดที่ตาเนื่องจากตาเป็นอวัยวะที่มีเลือดไปเลี้ยงมาก เส้นเลือดเหล่านี้ตอบสนองต่อสารภูมิแพ้ได้ง่าย และที่สำคัญตาสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมภายนอก เมื่อคุณได้รับสารก่อภูมิแพ้ เช่น เกสรดอกไม้ ฝุ่น รังแคสัตว์ ยา ควันบุหรี่ สารภูมิแพ้เหล่านั้นจะละลายในน้ำตา และกลับสู่เยื่อบุตาซึ่งจะสร้างสารต่อต้านสารภูมิแพ้ที่เรียกว่า Antibody IgE เมื่อภูมิจับกับ antibody จะเกิดการหลั่งสารหลายอย่างทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ขึ้นตาของคุณ ก็จะมีอาการเคือง แดง และมีน้ำตาไหล

ชนิดของเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้

 

  1. ภูมิแพ้ขึ้นตาตามฤดูกาล (Seasonal allergic conjunctivitis) เป็นเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย มักจะมีอาการน้ำมูกไหลร่วมด้วยอาการที่สำคัญ คือ มีน้ำตาไหลเคืองตา มักจะเป็นกับตาสองข้าง อาการจะเป็นตามฤดูกาลหรือช่วงเวลาที่มีฝุ่นละอองมาก มักแพ้เกสรหญ้า เกสรดอกไม้ ซึ่งแตกต่างกันไปตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์และสภาพอากาศในแต่ละวัน
  2. ภูมิแพ้ขึ้นตาที่เป็นตลอดทั้งปี (Perennial allergic conjunctivitis) เป็นการเกิดภูมิแพ้ที่เกิดจากสารภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นตลอดปีพบได้น้อยกว่าชนิดแรก อาการมักจะน้อยกว่าชนิดแรก
  3. Atopic Keratoconjunctivitis เป็นการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุตาและเปลือกตาหรือแก้ม มักจะพบร่วมกับผื่น atopic ของผิวหนังที่หนังตา และหน้าอาการที่พบร่วมคือ ตาแดง เคืองตา คัน น้ำตาไหล สัมพันธ์กับไรฝุ่น ขนสัตว์
  4. ภูมิแพ้ขึ้นตาเฉียบพลัน (Acute Allergic Conjunctivitis) จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยได้รับสารก่อภูมิแพ้ในเวลาไม่นาน มักทำให้ดวงตามีสีแดง คัน น้ำตาไหล และเปลือกตาบวม หรืออาจมีอาการน้ำมูกไหลร่วมด้วย

ลักษณะสำคัญที่บ่งบอกเยื่อบุตาอักเสบเกิดจากภูมิแพ้

 

  • อาการคันในตาเป็นอาการที่สำคัญหากติดเชื้อจะเป็นอาการปวดแสบร้อน
  • น้ำตาจะเป็นน้ำใส หากติดเชื้อจะเป็นเมือก หรือหนองมักจะมีการอักเสบของเปลือกตา
  • อาการอื่นๆ เช่น ตาแดง มีขี้ตาใส ตาสู้แสงไม่ได้ เปลือกตาบวม เคืองตา
  • ผู้ป่วยมีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว

การป้องกันเยื่อบุตาอักเสบเกิดจากภูมิแพ้

ควรจะหลีกเลี่ยงจากสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น หรือ ละอองเกสรดอกไม้ รวมถึงหลีกเลี่ยงการเผชิญกับลมที่พัดแรง เพราะลมอาจพัดพาฝุ่น หรือ ละอองเกสรดอกไม้ มากระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้ อาจใส่แว่นกันลมที่ปิดด้านหน้าและด้านข้าง เพื่อป้องกันดวงตาไม่ ให้โดนสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้เกิดภูมิแพ้ได้ รวมทั้งการล้างมือ อาบน้ำ และเปลี่ยนเสื้อผ้า เมื่อกลับเข้าที่พักอาศัยแล้วเสมอ การหลีกเลี่ยงใช้พรมในบ้าน เนื่องจากพรมจะกักเก็บฝุ่นไว้ในปริมาณมาก และเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยงที่มีขน เช่น แมว สุนัข เป็นต้น

การดูแลตัวเองเมื่อเกิดอาการเคืองตาและสงสัยว่าเกิดจากภูมิแพ้

ควรจะหลีกเลี่ยงจากสิ่งก่อภูมิแพ้ทันทีบางครั้งอาจจะต้องใช้น้ำสะอาดล้างตาอาจจะใช้น้ำตาเทียมซึ่งจะช่วยชะล้างสารก่อภูมิแพ้ใช้ผ้าเย็นปิดตา หลีกเลี่ยงการขยี้ตา เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบที่รุนแรงมากขึ้น และยิ่งทำให้เกิดอาการคันมากขึ้น เพื่อลดอาการบวมอาจจะซื้อยาแก้แพ้รับประทาน หากดูแลตัวเองแล้วยังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ทันทีเมื่อเกิดอาการต่อไปนี้

  • ดวงตาแดงก่ำมากขึ้น
  • เจ็บปวดรุนแรงบริเวณดวงตา
  • มีตุ่ม หรือแผลพุพองบริเวณดวงตา เปลือกตา หรือจมูก
  • รู้สึกเจ็บปวดบริเวณดวงตาเมื่อถูกแสงแดดและแสงไฟ
  • ความสามารถในการมองเห็นลดลง

ในด้านการรักษาโรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Conjunctivitis) นั้นจักษุแพทย์จะเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับอาการและความรุนแรงของโรค ซึ่งมีทั้งยาหยอดตา เช่น ประเภทแอนตี้ฮิสตามีน ประเภทป้องกันปฏิกิริยาภูมิแพ้ และยารับประทาน นอกจากการใช้ยาจะช่วยเสริมการรักษาด้วยยาได้ ได้แก่ การหยอดน้ำตาเทียมเย็นๆ ซึ่งจะช่วยเจือจางสารก่อการแพ้ และการประคบเย็นก็จะช่วยลดการบวมได้

Categories
บทความ

ภาวะลำไส้รั่ว จุดเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพที่คาดไม่ถึง

ภาวะลำไส้รั่ว จุดเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพที่คาดไม่ถึง

ปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งน้ำหนักขึ้นง่าย สิวไม่หาย ลำไส้แปรปรวน มีอาการอักเสบของผิวหนัง และอาการอื่นๆ ที่หลายคนกำลังเผชิญอยู่นั้น อาจมีสาเหตุมาจากภาวะลำไส้รั่ว (Leaky Gut Syndrome) ซึ่งเป็นภาวการณ์ดูดซึมของลำไส้ผิดปกติ โดยหนึ่งในสาเหตุอาจมาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารเดิม ๆ ซ้ำ ๆ จนส่งผลต่อความสมดุลภายในร่างกาย รวมถึงระบบภูมิคุ้มกัน ระบบเผาผลาญ และเป็นสาเหตุก่อโรคเรื้อรังอันตรายตามมาได้ เพื่อให้รู้เท่าทัน เราไปทำความรู้จักกับโรคนี้กันกับแพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัยกันดีกว่า

ภาวะลำไส้รั่วเป็นอย่างไร

ภาวะลำไส้รั่ว (Leaky Gut Syndrome) เป็นภาวะการดูดซึมของลำไส้ผิดปกติ โดยทั่วไปแล้วเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้ หรือ เซลล์ดูดซึมสารอาหารของลำไส้เล็กจะเรียงชิดติดกัน เพื่อป้องกัน คัดกรอง และควบคุมสารพิษ รวมทั้งเชื้อโรคที่จะเข้าสู่กระแสเลือด หากเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้อักเสบ หรือมีการบวมของเซลล์เยื่อบุผิวลำไส้จึงไม่เรียงชิดติดกัน ทำให้เกิดช่องว่างที่บริเวณนี้ขึ้นมา ซึ่งตรงช่องว่างนี้เองทำให้สิ่งแปลกปลอม เชื้อแบคทีเรีย สารอาหารที่เป็นโมเลกุลขนาดใหญ่ สารพิษต่างๆ รั่วซึมเข้าสู่ร่างกาย สู่กระแสเลือด เข้าไปรบกวนระบบภูมิต้านทาน ทำให้เกิดกระบวนการการอักเสบต่างๆ ภายในร่างกายตามมา

ลำไส้รั่วตัวการเกิดโรคอะไรบ้าง

ลำไส้รั่วส่งผลให้เกิดภาวะการอับเสบในร่างกายแบบเรื้อรัง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดในสมองตีบ ความดันโลหิตสูง อันเนื่องมาจากกระบวนการอักเสบที่เพิ่มขึ้น แม้กระทั่งการไปรบกวนหรือกระตุ้นการตอบสนองของเม็ดเลือดขาว ทำให้เม็ดเลือดขาวสับสนเกิดภาวะภูมิแพ้ง่ายขึ้น ยังมีผลต่อการอักเสบในเซลล์สมอง มีผลต่อการนอนหลับ อารมณ์ ความจำระยะสั้น เป็นต้น

ลำไส้รั่วเกิดจากสาเหตุอะไร

สาเหตุลำไส้รั่ว (Leaky Gut Syndrome) มาจากภาวะอะไรก็ตามที่ทำให้เกิดการทำลายเซลล์บุผนังลำไส้ โดยสาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่

  1. ยาแก้ปวดหรือแก้อักเสบต่างๆ ยากลุ่มนี้จะมีผลต่อความแข็งแรงของเยื่อบุในผนังทางเดินอาหาร และเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดภาวะลำไส้รั่วได้หากใช้ยากลุ่มนี้ติดต่อกันนาน
  2. ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ โดยในลำไส้จะแข็งแรงได้นอกจากผนังของลำไส้แล้ว ยังมีเรื่องสายพันธุ์ของแบคทีเรียหรือสมดุลของแบคทีเรียในร่างกายอยู่ด้วย เมื่อเรากินยายาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อไปบ่อยๆ หรือกินมากๆ แล้วไม่ได้เติมเต็มแบคทีเรียตัวดีเข้าไปทดแทน จะก่อให้เกิดการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ตัวร้าย หรือจุลินทรีย์ชนิดอื่น เช่น เชื้อรา หรือ แบคทีเรียตัวอื่นที่ร่างกายไม่ต้องการเพิ่มขึ้นจนทำให้เกิดกระบวนการอักเสบของเยื่อบุลำไส้ได้
  3. ความเครียด ความวิตกกังวล การนอนหลับไม่เพียงพอ
  4. ภาวะภูมิแพ้อาหารแฝง

ลำไส้รั่วอาการเป็นอย่างไร

 

  • ปวดศีรษะหรือปวดตามข้อต่าง ๆ ไม่ทราบสาเหตุ
  • น้ำหนักขึ้นง่าย ขึ้นผิดปกติ
  • มีแก๊สในระบบทางเดินอาหารมากผิดปกติ
  • มีภาวะภูมิแพ้อาหารแฝง ภาวะการไม่สามารถย่อยอาหารบางชนิดได้ เช่น อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต
  • มีปัญหาระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้องบ่อยๆ ท้องเสียเรื้อรัง หรือท้องผูก 1 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นไป ท้องอืดอาหารไม่ย่อยเป็นประจำ
  • นอนไม่ค่อยหลับ อ่อนเพลีย
  • มีผื่นคัน มีสิวขึ้นเรื้อรัง

ภาวะลำไส้รั่ว ตรวจวินิจฉัยอย่างไร

แพทย์จะพิจารณาจากอาการที่เกิดขึ้น ได้แก่

  1. หากมีปัญหาระบบทางเดินอาหารมาก่อน เช่น โรคกระเพาะ ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ท้องเสียง่าย ท้องผูกง่าย เป็นกลุ่มที่จะมีความเสี่ยงเกิดลำไส้รั่วง่ายมากขึ้น
  2. มีอาการอันไม่พึงประสงค์หลังรับประทานอาหาร เช่น การกินนม แป้งสาลี ภายใน 1-2 วันมีสิวขึ้น มีผื่นคัน มีอาการปวดตามข้อมากขึ้น หรือตกกลางคืนนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หรือไม่

 

ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวก็สงสัยว่าอาจเป็นภาวะลำไส้รั่วได้ ก็จำเป็นต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น

  • การตรวจอุจจาระประเมินความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร หรือ Comprehensive Digestive Stool Analysis (CDSA) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์คุณภาพการย่อยจากอุจจาระของเราว่าอาหารมีการย่อยสมบูรณ์ไหม สายพันธุ์ของเแบคทีเรียอยู่สมดุลดีไหม มีการเจริญเติมโดของแบคทีเรียร้าย ยีสต์ เชื้อรา หรือมีพยาธิหรือเปล่า
  • การตรวจ Zonulin Test เป็นการตรวจดูระดับของโปรตีน Zonulin ที่ทำหน้าที่ควบคุมขนาดของช่องระหว่างเซลล์ที่บุผิวภายในลำไส้ดังกล่าวว่าสูงหรือไม่ เช่น เมื่อมีการแพ้สารอาหาร หรือเกิดภูมิแพ้ขึ้นมา จะทำให้ระดับของ Zonulin ในกระแสเลือดของสูงขึ้นซึ่งก็จะบอกได้ว่า ท่านเป็นลำไส้รั่วจริง

การรักษาภาวะลำไส้รั่ว

 

  1. ทำความสะอาดของเสียออกจากลำไส้ เช่น หลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ การทำ Colon Detox
  2. การซ่อมแซมเยื่อบุลำไส้ที่ไม่แข็งแรง โดยเสริมกรดอะมิโน L-Glutamine รวมไปถึงวิตามินอี สังกะสี (Zinc) ซีลีเนียม (Selenium) และโอเมก้า–3 (Omega–3) ที่มีส่วนช่วยในการซ่อมแซมเยื่อบุผนังลำไส้ที่ได้รับบาดเจ็บและลดการอักเสบของลำไส้ได้
  3. การปรับสมดุลร่างกาย โดยปรับเรื่องอาหาร เลี่ยงอาหารที่แพ้ ลดความเครียด
  4. การเติมเต็มแบคทีเรียดีเข้าไป ได้แก่ จุลินทรีย์ดี Probiotic ซึ่งพบในโยเกิร์ต คีเฟอร์ ถั่วหมัก กิมจิ และอาหาร Probiotic เช่น กล้วย น้ำผึ้ง หน่อไม้ฝรั่ง กระเทียม แก่นตะวัน หอมหัวใหญ่ และมะเขือเทศ เป็นต้น

หากเราไม่ดูแลเอาใจใส่ลำไส้ให้ดี อาจส่งผลให้สุขภาพร่างกายไม่ดีตามไปด้วย ฉะนั้น การดูแลลำไส้ให้แข็งแรง โรคเรื้อรังต่างๆ ที่เผชิญอยู่ ก็จะสามารถควบคุมได้หรือค่อยๆ หายไปได้นั่นเอง

Categories
บทความ

ไมโคพลาสมา โรคติดเชื้อแบคทีเรียในเด็ก ทำปอดอักเสบติดเชื้อ

ไมโคพลาสมา โรคติดเชื้อแบคทีเรียในเด็ก ทำปอดอักเสบติดเชื้อ

โรคติดเชื้อ Mycoplasma pneumonia ก่อให้เกิดโรคทางระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบน และส่วนล่าง สามารถพบได้ทุกวัย เมื่อติดเชื้อจะก่อให้เกิดอาการคล้ายหวัด และจะมีอาการไอรุนแรง ทำให้เกิดหลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ หรือปอดบวม บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สมองอักเสบ ข้ออักเสบ อาการทางผิวหนัง และเยื่อบุอักเสบได้

ทำความรู้จัก ไมโคพลาสมา

Mycoplasma pneumonia เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อยู่ตามธรรมชาติ มีขนาดเล็กมาก พบได้ทั่วโลก แพร่ระบาดได้ตลอดทั้งปี มักทำให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ติดต่อโดยหายใจสูดเอาละอองฝอยที่มีเชื้อผ่านการไอ จาม เป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน ระยะฟักของเชื้อประมาณ 2-3 สัปดาห์ อาการมักหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีรายที่สามารถก่อโรครุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการในระบบที่นอกเหนือจากระบบทางเดินหายใจ เช่น ระบบประสาท ระบบเลือด ผิวหนัง ไต ข้อ ระบบหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น

อาการโรคติดเชื้อไมโคพลาสมา

เมื่อได้รับเชื้อจะทำให้เกิดอาการทางระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบน และส่วนล่าง ได้แก่

  1. ไอมาก จาม มีน้ำมูก
  2. มีไข้สูง 38 องศา ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  3. เจ็บคอ คออักเสบ
  4. เจ็บหน้าอกเวลาหายใจ หายใจเร็ว หายใจมีหน้าอกบุ๋ม
  5. ปวดเมื่อยตามร่างกาย มีอาการอ่อนเพลีย
  6. ภาวะหลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบติดเชื้อ
  7. บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ซีดรุนแรง ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ภาวะสมองอักเสบ ทำให้เกิดไข้สูง ชัก หรือหมดสติ ได้

การวินิจฉัยโรคติดเชื้อไมโคพลาสมา

แพทย์จะวินิจฉัยจากการซักประวัติอาการ ตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ปัจจุบันนิยมตรวจทางภูมิคุ้มกันวินทยา โดยวิธี FIA หรือ IFA จากเลือด ซึ่งสะดวกและรวดเร็ว ส่วนการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อโดยวิธี PCR จะมีความไวสูงและจำเพราะสูง จากสิ่งส่งตรวจจากจมูกหรือคอยังมีข้อจำกัดในการตรวจใช้ในสถานพยาบาล รวมไปถึงการตรวจเอกซเรย์ปอด ตรวจเลือดเพื่อประเมินความรุนแรง

การรักษาโรคติดเชื้อไมโคพลาสมา

แพทย์จะรักษาด้วยการให้ยารับประทานตามอาการเพื่อประคับประคองอาการที่เกิดขึ้น รวมทั้งยาปฏิชีวนะที่สามารถครอบคลุมเชื้อ ได้แก่ ยากลุ่ม macrolides เช่น azithromycin, erythromycin, clarithromycin หรือกลุ่ม Doxycycline หรือ Levofloxacin ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติ และรักษาภาวะแทรกซ้อนของโรค

โรคติดเชื้อไมโคพลาสมายังไม่มีวัคซีนป้องกัน การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การหลีกเลี่ยงสถานที่แอดอัด คนจำนวนมาก สถานที่ที่มีการระบายอากาศไม่ดี หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วย ใส่หน้ากากอนามัย ควรล้างมือให้บ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนการปรุงอาหาร หรือรับประทานอาหาร ทั้งนี้หากลูกน้อยมีอาการไม่สบาย หรือมีอาการดังกล่าวข้างต้น เช่น มีไข้เกิน 38 องศา ไอมาก หายใจเร็ว หายใจมีหน้าอกบุ๋ม ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง

Categories
บทความ

ปวดหัวตำแหน่งใด บ่งบอกว่าคุณกำลังเป็นอะไรอยู่

ปวดหัวตำแหน่งใด บ่งบอกว่าคุณกำลังเป็นอะไรอยู่

เรื่องของอาการปวดหัว หรือ ปวดศีรษะ เชื่อว่าทุกคนจะต้องผ่านมาอย่างน้อย 1 ครั้ง และสร้างความหงุดหงิดใจอยู่ไม่น้อย ซึ่งหลายคนเมื่อมีอาการปวดหัวก็อาจมองข้ามอาการปวดหัวที่เกิดขึ้น เพียงเพราะคิดว่าอาจเกิดจากความเครียด พักผ่อนน้อย แต่อาการปวดที่เกิดขึ้นนั้นกำลังเตือนเราอยู่ก็เป็นได้ว่ามีความผิดปกติซ่อนอยู่ อาการปวดหัวเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งการปวดในตำแหน่งต่างๆ จะบ่งบอกสาเหตุของโรคที่ต่างกันออกไป แล้วอาการปวดหัวตำแหน่งไหน บ่งบอกถึงโรคอะไรบ้างมาดูกัน

อาการปวดหัวสามารถแบ่งออกได้ 2 กลุ่ม ได้แก่

  • อาการปวดหัวในกลุ่มที่ไม่ได้มีรอยโรคในสมอง เช่น ไมเกรน กล้ามเนื้อรอบ ๆ ศีรษะตึงตัวหรือจากความเครียด กลุ่มนี้เป็นกลุ่มสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของอาการปวดหัว แม้ว่าจะรบกวนชีวิตประจำวัน แต่ไม่มีอันตรายร้ายแรง
  • อาการปวดหัวในกลุ่มที่มีรอยโรคในสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง เส้นเลือดสมองโป่งพอง เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง ต้องรีบพบแพทย์ทันที ซึ่งอาการปวดหัวของกลุ่มนี้ถือว่าอันตราย หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาให้ทันเวลา

ปวดหัว บ่งบอกอะไร

  • ปวดทั่วศีรษะ ปวดหัวแบบตึ้บ ๆ คือ อาการปวดหัวจากกล้ามเนื้อตึงตัว จากความเครียด มีอาการลงที่ท้ายทอย อาจร้าวไปขมับสองข้าง มักปวดเหมือนอะไรมาบีบมารัด อาจมีอาการปวดร้าวมาสะบักไหล่ทั้ง 2 ข้าง อาการค่อยๆ เป็น อาการปวดอาจเป็นชั่วโมง วัน สัปดาห์ เดือน หรือปีก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเครียดและการพักผ่อน
  • ปวดหัวข้างเดียวคืออาการปวดหัวไมเกรน มักปวดหัวตุบๆ ปวดข้างเดียวของศีรษะ(Unilateral) แต่บางครั้งปวด 2 ข้าง หรือทั้งศีรษะก็ได้ หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียน แพ้แสง เกิดจากความผิดปกติชั่วคราวของระดับสารเคมีในสมอง ทำให้หลอดเลือดในเยื่อหุ้มสมองมีการบีบและคลายตัวมากกว่าปกติ
  • ปวดหัวแบบคลัสเตอร์คือ อาการปวดหัวรุนแรงแบบข้างเดียว มักจะปวดบริเวณรอบๆ ตาหรือที่ขมับปวดร้าว ตาแดง มีน้ำตาไหลข้างเดียว กับที่ปวดศีรษะได้ โดยอาการปวดแต่ละครั้งจะมีระยะเวลาไม่นานประมาณ 5 นาที หรือนานสุดประมาณ 3 ชั่วโมง อาการปวดจะเกิดขึ้นบ่อยและเป็นช่วงเวลาที่แน่นอน
  • ปวดหัวจากไซนัสจะเหมือนอาการปวดหัวไมเกรน และอาการหวัดทั่วไปมากจนยากที่จะแยกออก แต่ไซนัสจะรู้สึกปวดหน่วงๆ บริเวณหน้าผาก โพรงจมูกลามไปถึงโหนกแก้ม
  • ปวดหัวจากการเส้นประสาทใบหน้าอักเสบสามารถปวดบริเวณหน้า ใบหู ลักาณะมักจะเป็นการปวดเสียวแปล๊บ เหมือนไฟช็อต อาการอาจถูกกระตุ้น เช่น มือสัมผัส ล้างหน้า เคี้ยวข้าว
  • ปวดหัวรุนแรงชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อนอาจเกิดจากภาวะหลอดเลือดสมอง หรือเนื้องอกในสมอง ซึ่งจะมีอาการปวดอย่างรุนแรงและอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การมองเห็นผิดปกติ เห็นภาพซ้อน มองเห็นไม่ชัด มีอาการชา กล้ามเนื้อแขน ขา อ่อนแรง ทรงตัวลำบากหรือบางคนอาจมีอาการชัก ซึ่งถือเป็นอาการรุนแรง จำเป็นต้องพบแพทย์โดยด่วน

อย่างไรก็ตามแม้ส่วนใหญ่อาการปวดหัว ปวดศีรษะจะไม่เป็นอันตราย แต่การรักษาอย่างถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ และหมั่นสังเกตความผิดปกติหรือสัญญาณอันตรายที่เกิดขึ้น จะช่วยให้เราได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที

Categories
บทความ

หลอดลมอักเสบ พบได้ทุกช่วงอายุ

หลอดลมอักเสบ พบได้ทุกช่วงอายุ

ด้วยปัจจุบันปัญหามลภาวะเป็นพิษ PM 2.5 ควันรถ ควันบุหรี่ ล้วนเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหลอดลมอักเสบ (Bronchitis) ที่ตามด้วยอาการไอนาน ไอแห้ง หายใจลำบาก หอบเหนื่อยได้ ภาวะหลอดลมอักเสบ มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน และฤดูหนาว สามารถพบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงวัย หากได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อน การติดเชื้อจากหลอดลมอาจลามไปที่ปอด ทำให้เกิดปอดอักเสบ (Pneumonia) และโรคถุงลมโป่งพองได้


หลอดลมอักเสบเป็นอย่างไร

หลอดลมอักเสบ (Bronchitis) การอักเสบของเยื่อบุหลอดลมซึ่งเป็นท่อที่นำลมหรืออากาศหายใจเข้าสู่ปอด เมื่อเยื่อบุหลอดลมอักเสบจะบวม มีเสมหะ ท่อหลอดลมจะแคบลง ส่งผลให้อากาศไหลผ่านหลอดลมเข้าปอดได้ไม่ดี ทำให้ไอ หายใจไม่อิ่ม เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี้ด อาจเจ็บคอ แสบคอ หรือ เจ็บหน้าอกได้ โดยภาพรังสีทรวงอกปกติ แบ่งเป็น

  • หลอดลมอักเสบฉับพลัน (Acute bronchitis) ส่วนใหญ่อาการหายได้ใน 7-10 วัน มักไม่เกิน 3 สัปดาห์
  • หลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง (Chronic bronchitis) มักเกิดจากภูมิแพ้ หอบหืด ปัจจุบันสภาวะมลภาวะอากาศที่เปลี่ยนไป ฝุ่น หรือ PM 2.5 ควัน หรือ สารเคมีกลิ่นฉุน หรือภาวะหลังหายจากการติดเชื้อทางเดินหายใจ จะพบผู้ป่วยกลุ่มนี้มากขึ้น สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่หรือเคยสูบอาจมีภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผู้ป่วยมักไอมาก ไอนาน ไอเสมหะมาก เสมหะเหนียวติดคอ ไอออกลำบาก หลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง ถ้าไม่ได้รับการรักษา ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายขึ้น เสมหะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือเขียว หรือหายใจหอบเหนื่อย มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตประจำวัน และการรักษาจะยากมากขึ้น

ทั้งนี้ ภาวะหลอดลมอักเสบ พบว่า 50% ไอนานกว่า 2 สัปดาห์ และ 25% ไอนานกว่า 4 สัปดาห์ ผู้ที่มีหลอดลมอักเสบ ร่วมกับอาการสงสัยว่าหลอดลมตีบ เช่น อาการหายใจไม่อิ่ม แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี้ด เหนื่อยง่าย พบว่าสัมพันธ์กับการเป็น หอบหืด หรือ ถุงลมโป่งพอง มากขึ้น ควรได้รับการรักษา ติดตาม และตรวจประเมินเพิ่มเติม เช่น ตรวจสมรรภภาพปอด


สาเหตุของโรคหลอดลมอักเสบ

  • จากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ส่วนมากเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกับที่ก่อให้เกิดไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ พบมากถึง 90% ที่ทำให้เกิดหลอดลมอักเสบ
  • จากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น Bordateria pertussis, Mycoplasma pneumoniae, Chlamydia pneumoniae, Streptococcus pneumoniae, Haemophilus influenzae
  • จากการถูกสิ่งระคายเคือง ที่พบบ่อยคือ การสูบบุหรี่ ควันไอเสียรถยนต์ ฝุ่นละออง และสารเคมี
  • การระคายเคืองจากน้ำย่อยในผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน

อาการแบบไหนต้องพบแพทย์

  • มีอาการไอนานกว่า 8 สัปดาห์ในผู้ใหญ่
  • ไอมีเสมหะมาก เสมหะจุกคอ เสมหะอยู่ลึกๆ ไอไม่ออก
  • ไอมากตอนกลางคืน หรือเช้ามืด ไอช่วงเวลาอากาศเย็น หรือ เวลาฝนตก
  • ไอเสมหะเลือดปน
  • ไอ ร่วมกับ เหนื่อยง่ายขึ้นเวลาทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรง
  • ไอ ร่วมกับ หายใจไม่อิ่ม หายใจเข้าออกไม่สุด หายใจได้ยินเสียงวี้ด รู้สึกขาดอากาศหายใจ
  • ไอ ร่วมกับเจ็บหน้าอกแปล๊บๆ เป็นๆหายๆ
  • ไอ ร่วมกับ มีไข้เป็นๆหายๆ น้ำหนักลด กินได้น้อยเบื่ออาหาร

การวินิจฉัยโรคหลอดลมอักเสบทำอย่างไร

แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยหาสาเหตุของอาการไอเรื้อรังที่เกิดขึ้น ได้แก่

  1. ตรวจร่างกาย ร่วมกับการซักประวัติ เช่นมีอาการสัมพันธ์กับสารก่อภูมิแพ้ หรือเหตุกระตุ้นให้เกิดอาการไอ (เช่น ฝุ่น ควัน อากาศเย็น กลิ่นฉุน) อาการทางจมูกหรือโรคไซนัส ประวัติโรคภูมิแพ้ของผู้ป่วยและคนในครอบครัว การสูบบุหรี่ เป็นต้น
  2. การตรวจระบบทางเดินหายใจส่วนบนและล่าง และอาจส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น ส่งตรวจภาพถ่ายรังสีของโพรงไซนัสและปอด การส่องกล้องตรวจระบบทางเดินหายใจ การตรวจเสมหะ การตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอด เป็นต้น

การรักษาโรคหลอดลมอักเสบ

  • โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน ปกติมักจะหายได้เอง ภายใน 7-10 เนื่องจากส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส จึงใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น การใช้ยาละลายเสมหะ ยาแก้ไอ ยาขยายหลอดลม จนอาการหายดีเอง ส่วนการติดเชื้อแบคทีเรียอาจพิจารณาการใช้ยาฆ่าเชื้อ
  • โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง ควรหาสาเหตุ และรักษาตามสาเหตุ อาจให้ยาลดการอักเสบของหลอดลม, ยาขยายหลอดลม

การป้องกันโรคหลอดลมอักเสบ

การปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องจะช่วยป้องกันจากโรคหลอดลมอักเสบได้ อาทิ

  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ เพราะน้ำเป็นยาละลายเสมหะที่ดีที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงการสูดควัน กลิ่นฉุน ควันบุหรี่ สารเคมี ฝุ่น สารระคายเคืองต่างๆ ซึ่งจะทำให้การอักเสบในหลอดลมเป็นมากขึ้น
  • ควรพยายามหลีกเลี่ยงอากาศเย็น และแห้ง เนื่องจากอากาศที่เย็นสามารถทำให้ร่างกายอ่อนแอ
  • ควรให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายขณะนอนให้เพียงพอ
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

โรคหลอดลมอักเสบ หากให้การรักษาไม่ถูกต้อง การติดเชื้อจากหลอดลมอาจลามไปที่ปอด ทำให้เกิดปอดอักเสบได้ หรือจากหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน อาจกลายเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ดังนั้นหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอแห้งหรือไอมีเสมหะ รับประทานยาแก้ไขแล้วไม่ดีขึ้น ให้เข้ามาพบแพทย์เพื่อรับการการตรวจและรักษาที่ตรงจุดต่อไป
Categories
บทความ

สาเหตุโรคไต ไม่ใช่แค่ “กินเค็ม”

สาเหตุโรคไต ไม่ใช่แค่ "กินเค็ม"

โรคไต คือ ภาวะที่ไตทำงานผิดปกติ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ แม้ว่าหนึ่งในสาเหตุของการเกิดโรคไตนั้นมาจากการกินเค็ม แต่การไม่กินเค็ม ไม่เติมเกลือ หรือน้ำปลาในอาหาร ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่เสี่ยงเป็นโรคไต เนื่องจากโรคไตนั้นไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารที่มีรสเค็มเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีสาเหตุอื่นๆ ทั้งจากการใช้ชีวิตประจำวัน พันธุกรรม และโรคเรื้อรัง ก็ทำให้มีโอกาสป่วยเป็นโรคไตได้เช่นกัน


สาเหตุของโรคไต ไม่ใช่แค่ “กินเค็ม”

สาเหตุของการเป็นโรคไตไม่ใช่แค่กินเค็มเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้ร่างกายคนเรามีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคไต ได้เหมือนกัน โดยปัจจัยที่พบบ่อยได้แก่

  • การมีโรคที่มีผลกระทบกับไต เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วนหรือมีภาวะน้ำหนักเกิน โรคเก๊าท์หรือระดับกรดยูริกในเลือดสูง โรคแพ้ภูมิตนเอง การสูบบุหรี่เรื้อรัง ซึ่งจะส่งผลให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไตเสื่อมลง ส่งผลให้การทำงานของไตเสื่อมลง
  • การมีภาวะไตผิดปกติ ไม่สมบูรณ์ตั้งแต่กำเนิด เช่น ไตฝ่อ มีมวลเนื้อไตลดลง หรือมีไตข้างเดียว เป็นต้น
  • การมีภาวะหลอดเลือดฝอยในไตอักเสบ
  • การเป็นโรคติดเชื้อทางเดินระบบปัสสาวะส่วนบนช้ำหลายครั้ง
  • การตรวจพบนิ่วในไตหรือระบบทางเดินปัสสาวะ หรือตรวจพบถุงน้ำในไตมากกว่า 3 ตำแหน่งขึ้นไป
  • การมีประวัติครอบครัวเป็นโรคไตเรื้อรัง หรือ มีประวัติการเป็นโรคไตอักเสบ หรือถุงน้ำในไต
  • การได้รับยาในกลุ่มยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs หรือสารพิษที่ทำลายไต (Nephrotoxic agents)
  • ดื่มน้ำน้อยเกินไป เกิดภาวะขาดน้ำของไตจนทำงานบกพร่อง หรือเกิดการสะสมของสารเคมีในทางเดินปัสสาวะ จนตกตะกอนกลายเป็นโรคนิ่วในไตหรือทางเดินปัสสาวะ
  • รับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูงแต่ไม่เค็ม อาทิ ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก น้ำจิ้มสุกี้ อาหารแปรรูปยอดนิยม เช่น แฮม เบคอน ขนมกรุบกรอบ ผลไม้กระป๋อง รวมถึงอาหารหมักดอง เช่น ผักกาดดอง หรือไข่เค็ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผงฟู สารกันบูด หรือสารกันเชื้อราในขนมปัง เป็นต้น

เช็กสัญญาณเสี่ยงโรคไต ควรพบแพทย์

  • อาการบวม หน้าบวม ขาบวม
  • ปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะมีฟอง ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะกลางคืนบ่อยกว่าปกติ
  • ปวดเอว ปวดหลังมากผิดปกติ
  • ความดันโลหิตสูงมากผิดปกติ
  • คลื่นไส้อาเจียนมาก
อย่างไรก็ตาม “ไต” เป็นอวัยวะที่ต้องทำงานตลอดเวลา ถ้าไตทำงานผิดปกติไปจะทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติตามไปด้วย ฉะนั้นการดูแลไตและลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคไต พร้อมหมั่นตรวจสุขภาพไตว่ายังทำงานปกติอยู่หรือไม่จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะโรคไตถือว่าเป็นภัยเงียบ เนื่องจากในระยะแรกอาจไม่แสดงอาการชัดเจน แต่จะเริ่มมีอาการเมื่อตอนที่ไตเสียหายไปพอสมควรแล้ว จนเข้าสู่โรคไตเรื้องรังระยะสุดท้าย ต้องรักษาด้วยการฟอกไตตลอดชีวิตได้