อาหารเป็นพิษอันตรายที่มากับอาหาร

สาเหตุของอาหารเป็นพิษ ส่วนใหญ่ภาวะอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิต ซึ่งเชื้อที่มักเป็นสาเหตุของภาวะอาหารเป็นพิษ คือ
  • ซาลโมเนลลา (Salmonella) พบมากในเนื้อสัตว์ดิบ ไข่ดิบ นม และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม
  • เอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia Coli) หรืออีโคไล (E. Coli) บางสายพันธ์ุ โดยพบมากในเนื้อสัตว์ดิบ
  • คลอสติเดียม โบทูลินัม (Clostridium Botulinum) เชื้อนี้เจริญเติบโตได้ดีในสภาวะแวดล้อมที่มีออกซิเจนน้อย จึงมักพบในอาหารที่บรรจุในภาชนะปิดสนิท ที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น หน่อไม้ปี๊บ หน่อไม้ดอง ผักกาดดอง เนื้อสัตว์แปรรูป เป็นต้น
  • ชิเกลล่า (Shigella) พบการปนเปื้อนทั้งในผลิตภัณฑ์อาหารสดน้ำดื่มที่ไม่สะอาด รวมไปถึงอาหารสดที่สัมผัสกับคนที่มีเชื้อโดยตรง
  • ไวรัสที่ก่อโรคในทางเดินอาหาร (Enteric Viruses) ที่มักปนเปื้อนได้ทั้งในอาหารสด สัตว์น้ำที่มีเปลือก และน้ำดื่มที่ไม่สะอาด
อาการของอาหารเป็นพิษ
ผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่จะแสดงอาการภายใน 1-2 วัน ขึ้นอยู่กับประเภทและปริมาณของเชื้อที่ร่างกายได้รับเข้าไป โดยอาจมีอาการหลังรับประทานอาหารไม่กี่ชั่วโมง หรือนานเป็นสัปดาห์หากได้รับเชื้อรุนแรง โดยอาการป่วยของผู้ที่เผชิญภาวะอาหารเป็นพิษ มีดังนี้
  • รู้สึกพะอืดพะอม คลื่นไส้ อาเจียนติดต่อกันหลายครั้ง หรืออาเจียนรุนแรงจนมีเลือดออกได้
  • มีอาการปวดท้องแบบบิดเกร็งเป็นพักๆ เนื่องจากการบีบตัวของลำไส้
  • ถ่ายเหลว ถ่ายมีมูก หรือเลือดปน
  • ไม่อยากอาหาร
  • มีอาการสูญเสียน้ำ เช่น รู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ หมดเรี่ยวแรง ปากแห้ง ตาโบ๋ กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะน้อย เป็นต้น มีไข้
การป้องกันอาหารเป็นพิษ
  • ดื่มน้ำสะอาด
  • รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุก
  • ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ค้างคืน
  • เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลง หนู และสัตว์อื่นๆ
  • แยกอาหารดิบและสุกออกจากกัน ป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนทำอาหาร หรือขนมทุกครั้ง
  • ใช้ช้อนกลาง
การรักษาอาหารเป็นพิษ
โดยปกติถ้าอาการของผู้ป่วยไม่รุนแรงสามารถหายได้เองภายใน 24-48 ชั่วโมง โดยรักษาตามอาการ และปฎิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และดูแลไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
  • ดื่มน้ำผสมผงเกลือแร่ หรือ ORS เพื่อทดแทนน้ำและแร่ธาตุบางชนิดที่สูญเสียไปจากการอาเจียนและถ่ายอุจจาระ โดยให้จิบทีละน้อยตลอดทั้งวันควบคู่กับการรับประทานอาหารตามปกติ และสามารถดื่มได้จนกว่าจะหยุดอาเจียนหรือกลับมาถ่ายอุจจาระแบบเป็นก้อนแล้ว
  • รับประทานยาแก้ท้องเสีย โดยผู้ป่วยอาจใช้ยาแก้ท้องเสียภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องเสียควบคู่ไปกับการดื่มน้ำ และผงเกลือแร่ซึ่งเป็นการรักษาหลัก
  • เมื่ออาการดีขึ้นควรรับประทานอาหารอ่อนที่ย่อยง่ายและมีไขมันน้อย เช่น โจ๊ก หรือข้าวต้ม เป็นต้น ควรหลีกเลี่ยงอาหาร และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของนม แอลกอฮอล์ คาเฟอีน น้ำอัดลม อาหารไขมันสูง และอาหารรสจัด
  • งดดื่มนมขณะท้องเสีย

 

อาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป ทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง และท้องเสีย สามารถเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย โดยทั่วไปเป็นภาวะไม่รุนแรง สามารถหายได้เอง หากมีอาการรุนแรง ควรรีบมาพบแพทย์

Source: https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/1892