คนวัยทำงานในปัจจุบันมักทำงานอยู่ในท่านั่ง นั่งหน้าคอมพิวเตอร์ หรือนั่งประชุมติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะใน 2-3 ปีที่ผ่านมาในสถานการณ์โรคระบาด ทำให้หนุ่มสาวออฟฟิศส่วนใหญ่ต้องทำงาน work from home อยู่ที่บ้าน ยิ่งทำให้ต้องนั่งติดต่อกันนาน ไม่ได้ลุกขึ้นยืน หรือเปลี่ยนท่าทางตลอดทั้งวัน ยิ่งไปกว่านั้นหากบ้านใดไม่มีโต๊ะทำงาน หรือเก้าอี้ทำงานที่ถูกหลักการยศาสตร์ (ergonomics) ทำให้จำเป็นต้องนั่งพื้น, นั่งทำงานที่โต๊ะญี่ปุ่น, กึ่งนั่งกึ่งนอนพิงหัวเตียงในการทำงาน ซึ่งท่าทางเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมทำให้เกิดความผิดปกติทางร่างกายตามมา เช่น ภาวะปวดคอบ่า ออฟฟิศซินโดรม (office syndrome), ภาวะปวดหลังส่วนล่าง (low back pain) และอาจส่งผลทำให้กระดูกบริเวณก้นกบ (coccyx), กระเบนเหน็บ (sacrum) หรือเนื้อเยื่อบริเวณอุ้งเชิงกราน (pelvic girdle) บาดเจ็บได้ เรียกภาวะนี้ว่า ภาวะปวดข้อต่ออุ้งเชิงกราน (sacroiliac joint dysfunction) (1)
ภาวะปวดข้อต่ออุ้งเชิงกราน (sacroiliac joint dysfunction หรือ SI joint pain) คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของข้อต่อบริเวณเชิงกราน ซึ่งเป็นข้อต่อที่เชื่อมระหว่างกระดูกสันหลังส่วนกระเบนเหน็บ (sacrum) และกระดูกเชิงกราน (ilium) ดังรูปที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ในการรองรับน้ำหนักตัว (body absorption) ที่จะส่งผ่านแรงจากลำตัวส่วนบน (upper body parts) ต่อไปยังเชิงกราน และรยางค์ส่วนล่าง (lower limbs) ซึ่งระหว่างข้อต่อจะมีเอ็นเชื่อมระหว่างกระดูกทั้งสองที่ช่วยส่งผ่านแรงต่าง ๆ เรียกว่า เอ็นก้นกบ (sacrotuberous ligament) แรงที่ข้อต่อสามารถรองรับได้ เช่น แรงเฉือน (shearing), แรงบิด (torsion), แรงหมุน (rotation) และแรงดึง (tension) ซึ่งหากมีแรงกระทำที่มากเกินไป, การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ หรือการวางตัวของแนวกระดูกผิดไปจากเดิม, การเสื่อมของข้อต่อ (osteoarthritis), ข้อต่อหลวม (joint laxity), เส้นเอ็นที่ยึดข้อเชิงกรานอักเสบ (sacroiliitis) หรือการยึดรั้งข้อต่อ (joint stiffness) จนทำให้เกิดการเสียดสีของกระดูกจนเจ็บปวดขึ้นในขณะเคลื่อนไหวได้ อาการปวดอุ้งเชิงกรานที่อาจจะเกิดขึ้น ได้แก่
– อาการปวดที่บริเวณอุ้งเชิงกราน หรือบริเวณสะโพก มักจะเกิดอาการปวดขณะนั่ง, เดินลงน้ำหนักข้างที่ปวด, นอนตะแคงทับข้างที่ปวด, ขณะเดินขึ้นลงบันได หรือขณะที่เปลี่ยนท่าทาง เช่น เปลี่ยนจากท่านั่งลุกขึ้นยืน, นอนพลิกตะแคงตัว
– อาการมักเกิดขึ้นได้ในลักษณะของอาการปวดแหลม (sharp pain), ปวดคล้ายเข็มเสียดแทง (stabbing pain) หรืออาการปวดร้าว (shooting pain) ซึ่งอาจปวดร้าวลงไปที่บริเวณก้นย้อย, ขา หรือปลายเท้าข้างที่มีอาการ โดยเฉพาะบริเวณต้นขาด้านหลัง
– อาการชา (numbness) ร้าวลงขาที่เกิดจากเส้นประสาทไซอาติก (sciatic nerve) โดนกดเบียดบริเวณข้อต่ออุ้งเชิงกราน ซึ่งมีอาการชาคล้ายกับโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท (disc herniation) จนทำให้เกิดการวินิจฉัยคลาดเคลื่อนได้ หากอาการกดเบียดเส้นประสาทเกิดขึ้นเป็นเวลานาน อาจจะทำให้เกิดอาการแขนขาอ่อนแรง (weakness) หรือปวดเมื่อย (fatique) ตามแขนขาได้บ่อยขึ้น (1-3)
รูปที่ 1 แสดงตำแหน่งของกระดูกส่วนต่าง ๆ ของบริเวณข้อต่ออุ้งเชิงกราน
การรักษาทางกายภาพบำบัดในภาวะปวดข้อต่ออุ้งเชิงกรานมีวัตถุประสงค์ตั้งแต่ การดูแลภาวะอักเสบขณะเกิดอาการปวดขึ้นเฉียบพลัน (acute pain) โดยใช้แผ่นประคบเย็น (cold pack) หรือร่วมกับการใช้ยาลดการอักเสบ (anti-inflammatory medication) จากคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการช่วยลดอาการปวดและการอักเสบ ในผู้ป่วยที่มีภาวะข้อต่อเชิงกรานยึดรั้ง การรักษาด้วยวิธีช่วยขยับข้อต่อ (mobilization) จากนักกายภาพบำบัด จะทำให้ข้อต่อเชิงกรานเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น นอกจากนี้การออกกำลังกายกล้ามเนื้อมัดใหญ่ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว (lumbar core stabilizer muscle) และกล้ามเนื้อสะโพก (gluteal muscle) จะทำให้กล้ามเนื้อเหล่านี้ช่วยกระชับข้อต่อ, ลดแรงกระทำต่อข้อต่อที่มากเกินไป และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกับข้อต่อสำหรับการทำกิจกรรมต่างๆ ในขีวิตประจำวัน เช่น การเดิน, การลุกขึ้นยืน-ลงนั่งเก้าอี้ หรือการเดินขึ้นลงบันได
Cr. https://pt.mahidol.ac.th/knowledge/?p=2804
สงวนลิขสิทธิ์ ©2023. www.occmed.co.th
552/30 หมู่ 3 ต.หนองขาม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 20110 (สำนักงานใหญ่)
552/4 หมู่ 3 ต.หนองขาม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 20110 (สาขาที่ 0001)