อาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูก

อาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูก

อาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูก เป็นอาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อ และเส้นเอ็น อาการปวดอาจเกิดขึ้นที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งหรือทั่วร่างกาย อาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูกเฉียบพลันอาจเป็นผลมาจากการได้รับบาดเจ็บอย่างฉับพลัน ส่วนอาการปวดเรื้อรังอาจเกิดจากภาวะเสื่อมถอยของร้างกาย โรคข้ออักเสบ หรือโรคไฟโบรมัยอัลเจีย (fibromyalgia) หากอาการปวดรบกวนการใช้ชีวิตประจําวัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมเพื่อจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

ประเภทของอาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูก

  • อาการปวดกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้อเป็นตะคริว หดเกร็ง กระตุก บาดเจ็บ ติดเชื้อ หรือมีเนื้องอก
  • อาการปวดกระดูก: เนื่องจากกระดูกแตก ได้รับบาดเจ็บ  หรือเนื้องอกกระดูก ซึ่งอาจทําให้ปวดกระดูกได้เช่นกันแต่พบได้น้อย
  • อาการปวดข้อ: จากการข้ออักเสบ ข้อติด หรือติดเชื้อในข้อ  
  • อาการปวดเอ็นยึดกระดูกและเอ็นกล้ามเนื้อ: เนื่องจากการฉีกขาด เคล็ดขัดยอก หรือการใช้งานที่หนักเกินไป

สาเหตุของอาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูก
อาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูกอาจเป็นผลมาจากท่าทางของร่างกายที่ไม่เหมาะสม กล้ามเนื้อเคล็ดขัดยอก การใช้งานกล้ามเนื้อซ้ำ ๆ กระดูกหัก หรือข้อต่อโดนกระแทกจนข้อต่อหลุด เป็นต้น

อาการของการปวดกล้ามเนื้อและกระดูก

อาการของการปวดกล้ามเนื้อและกระดูกนั้นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค โดยผู้ป่วยอาการที่พบบ่อย ได้แก่

  • ปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจเป็นมากขึ้นเวลาขยับร่างกายส่วนนั้น ๆ
  • ตึงยึดของแขน ขา หรือลำตัว รวมถึงอาจมีกล้ามเนื้อกระตุก
  • รู้สึกกล้ามเนื้อเมื่อยล้าในช่วงกลางวัน หรือมีนอนหลับได้ยากในช่วงกลางคืน

การตรวจวินิจฉัย

แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอาการปวด และอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้ ร่วมด้วยหรือไม่  อะไรที่บรรเทาหรือทำให้อาการแย่ลง ร่วมกับประวัติการรักษาก่อนหน้า รวมถึงโรคประจำตัว  แพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อระบุสาเหตุของอาการและอาจสั่งให้ทำการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น เอกซ์เรย์ การตรวจวินิฉัยด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือตรวจเลือดเพิ่มเติม

การรักษา

เมื่อระบุสาเหตุของอาการปวดได้แล้ว แพทย์จะวางแผนการรักษาซึ่งท่านจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเลือกและตัดสินใจ หากอาการปวดนั้นสามารถรักษาได้ด้วยวิธีที่ไม่ต้องผ่าตัด ( หรือท่านไม่ต้องการผ่าตัด) แพทย์อาจสั่งยาแก้ปวด ฉีดยาสเตียรอยด์  ปักเข็มคลายกล้ามเนื้อ ฝังเข็ม หรือให้ท่านใส่อุปกรณ์พยุงร่างกายในส่วนที่มีอาการเจ็บ และแพทย์อาจแนะนำให้ทำกายภาพบําบัด กิจกรรมบําบัด ทำกายอุปกรณ์จัดกระดูก หรือนวดบําบัดทางการแพทย์

เมื่อมีอาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูก ท่านควรปฎิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การบำบัดรักษาร่วมด้วย เช่น การรับประทานยา การปรับวิธีการทำงานในชีวิตประจำวันให้อยู่ในท่าทางที่เหมาะสม   โดยเฉพาะในวันที่อาการปวดเป็นเฉียบพลัน หรือเป็นมากขึ้น ให้ประคบเย็นเพื่อลดอาการบวมและอักเสบ งดใช้งานกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อที่ได้รับบาดเจ็บ  ต่อมาเมื่ออาการปวดเริ่มทุเลาให้เปลี่ยนเป็นประคบอุ่นและค่อยๆยืดเหยียด และออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของส่วนที่ปวดไปที่ละน้อยๆทุกวัน  โดยทำในแบบที่ไม่ทำให้เกิดการปวดเพิ่มขึ้น

หากท่านสูบบุหรี่ ควรงดสูบบุหรี่เพราะบุหรี่จะทำให้เกิดอาการอักเสบมากขึ้นได้

การป้องกัน

  • หมั่นออกกําลังกายและยืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นประจําเพื่อให้กล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อแข็งแรง
  • หลีกเลี่ยงการทำท่าทางซ้ำ ๆ เป็นเวลานานเพราะจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บจากการใช้งานกล้ามเนื้อและข้อต่อมากเกินไป
  • เรียนรู้เรื่อง การยศาสตร์ เช่น วิธียกของหนักที่ถูกต้อง, การเลือกโต๊ะเก้าอี้และท่าทางที่ถูกต้องในการทำงานคอมพิวเตอร์ และนำไปปรับใช้เพื่อให้มีท่าทางที่ถูกต้องเหมาะสมได้ตลอดวัน

บทความโดย
พญ.เนตรยา นิ่มพิทักษ์พงศ์

แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด

Cr. https://www.medparkhospital.com/disease-and-treatment/musculoskeletal-pain