วิธีป้องกัน “เชื้อไวรัส HPV”

กรมการแพทย์ ชี้ HPV หรือ Human Papillomavirus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อเอชพีวี แพร่กระจายได้ง่ายผ่านการสัมผัสกับเชื้อโดยตรงหรือการมีเพศสัมพันธ์ ปัจจุบันพบว่ามีเชื้อชนิดนี้มากกว่า 100 สายพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่มักทำให้เกิดหูดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ เชื้อ HPV บางสายพันธุ์อาจเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งชนิดต่าง ๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก  มะเร็งช่องปากและลำคอ เป็นต้น

 นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ การแสดงอาการของโรคอาจเกิดขึ้นหลายปีหลังจากติดเชื้อและสามารถแพร่เชื้อไปยังคนอื่นได้ สำหรับอาการของการติดเชื้อไวรัส HPV มีดังนี้

1. มีหูดหงอนไก่ ( Condyloma Acuminata ) เป็นตุ่มเล็กๆ ผิวไม่เรียบหลายๆตุ่ม กระจายตามอวัยวะเพศภายนอก มีอาการคันได้ สามารถพบได้ทั้งปากช่องคลอด และปากมดลูก ลักษณะของหูด หูดชนิดทั่วไป จะมีรูปร่างเป็นตุ่มเล็กๆ เจ็บปวดบ้างในบางครั้ง และหากสัมผัสจะรู้สึกว่าผิวของหูดนั้นมีความขรุขระ มีได้หลายสี พบได้ที่บริเวณมือ นิ้วมือ หรือข้อศอก ซึ่งหูดลักษณะเช่นนี้ส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย นอกจากนี้ยังมีหูดชนิดอื่นๆ เช่น หูดชนิดแบนราบ เกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย หูดฝ่าเท้า มักขึ้นบริเวณส้นเท้า ทำให้รู้สึกเจ็บในระหว่างยืนหรือเดิน แต่หูดที่สร้างความทุกข์ใจกับผู้ป่วยมากที่สุดคือ หูดที่อวัยวะเพศ หรือเรียกว่า หูดหงอนไก่เป็นติ่งเนื้อลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ มักเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศหญิง อวัยวะเพศชาย และทวารหนัก ส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บ แต่อาจทำให้รู้สึกคัน

2. มีอาการตกขาวมากกว่าปกติ อาจมีเลือดปนตกขาว ตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือมีเลือดออกกะปริบกะปรอยจากช่องคลอด มีอาการเป็นๆหายๆ หากติดเชื้อที่ทวารหนัก ก็จะมีแผลหรือก้อนยื่นออกมาผิดปกติ แต่ก็มีบ่อยครั้งที่ผู้หญิงบางรายได้รับเชื้อ HPV เข้าสู่ร่างกายแต่ไม่แสดงอาการและเชื้อก็จะหายไปเอง หรือหากร่างกายอ่อนแอก็อาจก่อให้เกิดความผิดปกติภายหลัง

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคติดเชื้อ HPV มักติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก ปาก หรือการใช้อุปกรณ์เพื่อสนองความต้องการทางเพศร่วมกัน และสามารถแพร่ผ่านรอยแผลหรือรอยขีดข่วนตามผิวหนัง หากมีการสัมผัสผิวหนังหรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อจากผู้ป่วย แม้กระทั่งในช่วงที่ผู้ติดเชื้อยังไม่แสดงอาการก็ตาม ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้ออาจแพร่เชื้อสู่บุตรระหว่างการคลอดได้ แต่เกิดขึ้นได้ค่อนข้างน้อย ทั้งนี้วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัส HPV สามารถทำได้ดังนี้

1. ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุก 3 ปี หรือตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ทุก 5 ปี

2. ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี

3. สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งขณะมีเพศสัมพันธ์

4. เลี่ยงพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย

แหล่งที่มา : https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/178002/