ทุกๆ 1 ชั่วโมง คนไทยเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันประมาณ 6 คน หรือเท่ากับเสียชีวิตมากถึง 54,000 คนต่อปี ภาวะหัวใจหยุดเต้นถือเป็น “ภัยเงียบ” ที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ โดยไม่จำกัดอายุและไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้า
หากพบคนที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เรามีเวลาเพียงแค่ 4 นาทีเท่านั้น ที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยด้วยการทำ CPR (ปั๊มหัวใจผายปอดกู้ชีพ) เพราะทันทีที่หัวใจหยุดทำงาน เลือดจะไม่ถูกสูบฉีดไปเลี้ยงสมองทำให้สมองตายเนื่องจากขาดเลือดและออกซิเจน
การทำ CPR ไม่ยากอย่างที่คิด แต่สิ่งที่สำคัญคือผู้ช่วยเหลือต้องไม่ตื่นเต้นตกใจ แล้วทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
เหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทักษะการทำ CPR จึงสำคัญ
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า แต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันกว่า 54,000 คน หรือเฉลี่ยแล้วเท่ากับเสียชีวิตประมาณ 6 คน ทุกๆ 1 ชั่วโมง ในทางการแพทย์ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันถือเป็น “ภัยเงียบ” ที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่เว้นแม้แต่คนที่ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ
ปรัชญา โสภา หนุ่มวัยยี่สิบปลาย เคยหัวใจหยุดเต้นขณะวิ่ง โดยปกติเขาเป็นคนสุขภาพแข็งแรงและซ้อมวิ่งระยะ 5-10 กิโลเมตรอย่างสม่ำเสมอ เฉลี่ย 3 วันต่อสัปดาห์ แต่เหตุไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นในเช้ามืดวันหนึ่งของการแข่งขันมินิมาราธอนที่ จ.อยุธยา
“ประมาณกิโลเมตรที่สาม มันเหมือนจะขาดใจครับ แต่ไม่คิดว่าผิดปกติอะไร ทีนี้ผมก็วิ่งต่อไปเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าร่างกายเริ่มอยู่ตัว ไม่ค่อยเหนื่อยแล้ว จำได้ว่าวิ่งไปสักพักภาพก็ตัดเลย” ปรัชญาเล่าย้อนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2560
โชคดีในครั้งนั้นคนที่วิ่งตามหลังเขามาคือ พงษ์ศักดิ์ อุบลวรรณี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ซึ่งมีความรู้เรื่องการทำ CPR “พี่ก็ปั๊มไปตามรอบ ขณะที่ปั๊มหน้าเริ่มเขียวแล้ว มีน้องอีกคนหนึ่งที่เป็นนักวิ่งด้วยกันคอยช่วยอยู่ข้างๆ แล้วหน่วยกู้ชีพก็มา ใช้เครื่อง AED ช่วยคนไข้จนหัวใจเริ่มกลับมาเต้น” พงษ์ศักดิ์เล่า
ปรัชญารู้สึกตัวอีกทีที่โรงพยาบาล เขาบอกว่า “เหมือนได้โอกาสที่สอง” และนึกไม่ออกเลยว่าหากวันนั้นเขาเสียชีวิตไปจริงๆ ภรรยากับลูกสาวอีก 2 คนที่ยังเล็กอยู่ทั้งคู่ จะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร
แต่การรอดชีวิตของปรัชญาถือว่าเป็นส่วนน้อย เมื่อเทียบกับสถิติการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันของคนไทยที่ได้กล่าวไปข้างต้น
ถ้าทำ CPR พร้อมกับใช้เครื่อง AED สามารถเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้ 10 เท่า
CPR เป็นการกดนวดหัวใจเพื่อกระตุ้นอัตราการไหลเวียนของเลือด ส่วนการผายปอดคือการช่วยเติมออกซิเจนเข้าไป แต่ไม่ได้ทำให้หัวใจกลับมาทำงาน ดังนั้น AED หรือเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจจึงมีความสำคัญ เพราะการทำงานของเครื่อง AED คือปล่อยกระแสไฟฟ้าไปกระตุกหัวใจของผู้ป่วยให้กลับมาเต้นอีกครั้ง
“ในกลุ่มคนไข้ที่หมดสติแล้วมีภาวะหัวใจหยุดเต้น การทำ CPR อย่างเดียวอัตราการรอดชีวิตจะอยู่ที่ประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าใช้เครื่อง AED ร่วมด้วยอัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 10 เท่า” ผศ.นพ.นครินทร์ ศิริทรัพย์ หนึ่งในกรรมการดำเนินงานโครงการกระตุกหัวใจเพื่อคนไทยทุกคน อธิบาย
ผศ.นพ.นครินทร์ ยังกล่าวอีกว่า มีโรคหลายโรคที่ทางการแพทย์พยายามป้องกัน เช่น โรคหัวใจ บางชนิดสามารถตรวจทราบสาเหตุได้ แต่บางชนิดก็ไม่อาจทราบ เพราะสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติมีมากมาย โรคเหล่านี้ถือเป็น “ภัยเงียบ” ดังนั้นแม้ผู้ป่วยจะดูแลสุขภาพอย่างดี ออกกำลังกายดี โรคเหล่านี้ก็อาจเกิดขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนเครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะพื้นที่ต่างจังหวัด นอกจากนั้นคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังขาดความเข้าใจวิธีการทำ CPR และใช้เครื่อง AED ทำให้ผู้พบเห็นเหตุการณ์คนแรกๆ ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันเวลา
รู้ไว้ ไม่ได้ใช้ ดีกว่าต้องใช้…แล้วไม่รู้
สำหรับแฟนข่าวเวิร์คพอยท์ที่ต้องการเรียนรู้วิธีการทำ CPR และใช้เครื่อง AED เพื่อเตรียมความพร้อมไว้สำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน สามารถเลื่อนขึ้นไปชมคลิปสาธิตที่ด้านบนซึ่งอธิบายไว้โดย พว.พนมกรณ์ แสงอรุณ พยาบาลวิชาชีพแผนกฉุกเฉิน ฟังง่ายๆ แต่ละเอียดและครบทุกขั้นตอนภายใน 4 นาที
แหล่งที่มา : https://workpointtoday.com/aed-cpr/
สงวนลิขสิทธิ์ ©2023. www.occmed.co.th
552/30 หมู่ 3 ต.หนองขาม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 20110 (สำนักงานใหญ่)
552/4 หมู่ 3 ต.หนองขาม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 20110 (สาขาที่ 0001)