Categories
บทความ

ปวดหลังโรคยอดฮิตของคนทำงาน

แก้ปวดหลังโรคยอดฮิตของคนทำงาน

ปวดหลัง โรคยอดฮิตของคนทำงาน
การปวดหลังเป็นปัญหาที่พบมากในผู้ที่ทำงานนั่งหรืองานที่ต้องใช้กล้ามเนื้อหลังอย่างต่อเนื่อง นี่คือบางข้อแนะนำที่อาจช่วยลดความเจ็บปวดหลังได้

1.การนั่งที่ถูกต้อง

ปรับท่านั่งให้ถูกต้องและสะดวกสบาย เช่น ควรนั่งตรง ไม่ควรก้มหน้าหรือโน้มตัวเกินไป เพื่อลดการกดทับกับหลัง

2.การยืดกล้ามเนื้อ

ทำการยืดกล้ามเนื้อหลังและไหล่อย่างเป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายได้มีการเคลื่อนไหว และผ่อนคลายอยู่สม่ำเสมอ 

3.การเคลื่อนไหวและออกกำลังกาย

พยายามทำกิจกรรมที่ใช้แรงในการออกกำลังกาย เช่นการวิ่งเบาๆ การเดินเล่นในสนามหน้าบ้าน เพื่อให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา

การเครื่องไหวและการยืดเวลา
  • ความสำคัญของการเครื่องไหว: การเครื่องไหวช่วยให้ร่างกายของคุณเตรียมตัวให้พร้อมกับกิจวัตรประจำวัน การทำความสะอาดเช่นการยืดตัวและการคลายเครียดเป็นวิธีที่ดีในการเริ่มต้นวัน
  • เทคนิคการยืดเวลา: การยืดตัวเบาๆ ค่อยๆ และค่อยๆ ยืดส่วนของกล้ามเนื้อทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการหมุนเวลาไปด้านที่สมมาตร

4.การใช้ที่นั่งที่ถูกต้อง

การใช้ท่านั่งที่ถูกต้อง เคล็ดลับสำหรับการรักษาสุขภาพร่างกายขณะทำงาน

การทำงานนั่งต่อเนื่องอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายได้หากไม่มีการใช้ท่านั่งที่ถูกต้อง การนั่งที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดปัญหาเช่น ปวดหลัง ปวดคอ หรือความเครียดทางจิตใจ ดังนั้น ควรปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้เพื่อรักษาสุขภาพร่างกายขณะทำงาน

 การตั้งท่านั่งที่ถูกต้อง

  • นั่งตรง : ให้ทรงกระดูกหลังและคอตรง หลีกเลี่ยงการโน้มตัวไปข้างหน้าหรือก้มตัวเกินไปที่จะทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหลังและคอในระยะยาว

  • รองรับส่วนล่างของร่างกาย : ให้เท้าท่ามกลางบนพื้นหรือใช้รองเท้าที่สามารถรองรับได้ดี อย่าให้เท้าแขนงหรือเท้าสะโพกลงไปสูงกว่าข้อเข่า

การปรับแต่งตำแหน่งท่านั่ง

  • การปรับเปลี่ยนท่า: ไม่ควรนั่งนานเกินไปในท่าเดิม ควรทำการยืดตัวและเปลี่ยนท่านั่งอย่างสม่ำเสมอทุก ๆ 30-60 นาที

  • การใช้เครื่องมือ: ใช้เก้าอี้ที่สามารถปรับสูงต่ำและก้านหัวเข็มได้เพื่อให้สามารถปรับท่านั่งได้ตรงกับความสูงของโต๊ะทำงาน

5.การพักผ่อนเพียงพอ

การพักผ่อนเพียงพอเพื่อให้ร่างกายสมดุลมีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่เพียงแค่ช่วยให้ร่างกายพักผ่อนจากการทำงานต่อเนื่อง แต่ยังช่วยรักษาสุขภาพร่างกายให้ดีขึ้นด้วย เช่น การยืดเวลา การออกกำลังกายเบาๆ การทำการหยุดพักที่สม่ำเสมอ

Categories
บทความ

โรคกระเพาะอาหารอักเสบ

โรคกระเพาะอาหารอักเสบ

โรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า โรคกระเพาะ เป็นโรคที่เกิดในระบบทางเดินอาหารที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมที่เร่งรีบของคนในยุคนี้ ทำให้มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง ถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ โดยพบว่ามีผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่มักมีอาการเป็นๆ หายๆ มากถึง 80%

แม้ว่าโรคกระเพาะอาหารอักเสบจะไม่ใช่โรคที่รุนแรง แต่ผู้ป่วยก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะว่าหากปล่อยไว้เรื้อรังอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร หรือมีเลือดไหลในกระเพาะอาหาร จนเกิดภาวะแทรกซ้อน อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้อีกด้วย!!!

 

สาเหตุของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ

สาเหตุการเกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบยังไม่ทราบได้อย่างชัดเจน แต่พบว่าส่วนใหญ่มักมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ดังนี้

  • การติดเชื้อแบคทีเรียนเอชไพโลไร (H.pylori)
  • การรับประทานยากลุ่มยาต้านการอักเสบหรือยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน เป็นต้น
  • สาเหตุอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

นอกจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้ว ยังพบว่าพฤติกรรมต่างๆ ในการใช้ชีวิตก็มีส่วนกระตุ้นให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบมากขึ้น เช่น การรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา การรับประทานอาหารอย่างเร่งรีบ ภาวะความเครียด ความวิตกกังวล การรับประทานอาหารที่ส่งผลให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะและลำไส้

 

อาการโรคกระเพาะอาหารอักเสบ

อาการแสดงของผู้ป่วยแต่ละรายอาจแตกต่างกัน แม้ว่าจะมีอาการไม่ร้ายแรง แต่หากเกิดขึ้นนานเป็นสัปดาห์หรือมากกว่านั้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

  • ปวด เสียด ตื้อ จุก และแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่
  • ปวดท้อง รู้สึกไม้สบายช่องท้องส่วนบน
  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอบ่อย
  • ปวดท้องก่อนและหลังรับประทานอาหาร
  • ปวดท้องตอนท้องว่างหรือปวดท้องกลางดึก
  • มีอาการปวดแบบเป็นๆ หายๆ
  • คลื่นไส้หรืออาเจียนหลังรับประทานอาหาร
  • อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด เนื่องจากมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร
  • ไม่มีความอยากอาหาร เบื่ออาหาร และอาจผอมลง

 

การรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ

โรคกระเพาะอาหารอักเสบสามารถรักษาให้หายได้ หากได้รับการดูแลรักษาที่ดี และผู้ป่วยมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเอง แต่หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติท เช่น การตรวจโดยการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร (Gastroscope: EGD) เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกวิธี

อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของตนเอง ดังนี้

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและโภชนาการ ได้แก่ รับประทานอาหารตรงเวลาทุกมื้อ รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย
  • งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  • งดสูบบุหรี่ เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น
  • ไม่เครียดหรือวิตกกังวล และพักผ่อนให้เพียงพอ
  • รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งให้ถูกต้องและสม่ำเสมอ
  • ไม่ซื้อยารับประทานเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร

ที่มา https://www.sikarin.com/health/โรคกระเพาะอาหารอักเสบ

Categories
บทความ

ทำไมนั่งทำงานหรือขับรถนานๆแล้วถึงปวดก้นร้าวลงขา

ทำไมนั่งทำงานหรือขับรถนานๆแล้วถึงปวดก้นร้าวลงขา

ทำไมนั่งทำงานหรือขับรถนานๆแล้วถึงปวดก้นร้าวลงขา?

อาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท หรือเรียกว่า “Piriformis syndrome” เป็นความผิดปกติของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เกิดจากกล้ามเนื้อ piriformis ที่อยู่บริเวณก้นใกล้กับสะโพก มีความตึงตัวมากทำให้ไปกดทับเส้นประสาท scistic ส่งผลให้มีอาการปวดก้นร้าวไปยังขา

สาเหตุการเกิด

มักเกิดจาก ปัจจัยเสียงดังต่อไปนี้

– เคลื่อนไหวร่างกายส่วนล่างผิดท่า

– ออกกำลังกายมากเกินไป

– นั่งเป็นเวลานาน นั่งไขว้ห้าง

– เกิดอุบัติเหตุเช่น ลื่นล้ม

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อโรคนี้

    โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในคนหลายๆ กลุ่ม โดยเฉพาะคนที่นั่งทำงานนานๆ ในออฟฟิศ ทำให้เกิดการงอสะโพก และมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะนี้ได้

    คนที่ต้องนั่งท่าเดิมเป็นเวลานานๆ เช่น พนักงานออฟฟิศ พนักงานขับรถ พนักงานขายตั๋ว รวมถึงคนที่เคลื่อนไหวสะโพกมากเกินไป เช่น ออกกำลังกายหนักๆ นักวิ่ง ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ได้

การรักษาเบื้องต้น

– หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดกำเริบ

– ประคบร้อนบริเวณก้นและขาบริเวณที่ปวด 15 -20 นาที

– ออกกำลังกายยืดเหยียดกล้ามเนื้อเพื่อลดความตึงตัว มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

     1. นอนราบกับพื้นแล้วชันเข่าทั้ง 2 ข้างเป็นท่าเตรียมพร้อม

     2. ยกข้อเท้าซ้ายขึ้นแล้ววางพาดไว้บนเข่าขวา

     3. ใช้มือดึงเข่าขวาเข้าหาอก แล้วค้างไว้ 5 วินาที ค่อย ๆ วางขากลับไปยังท่าเตรียมพร้อมสลับมายกข้อเท้าขวาในท่าเดียวกัน ทำซ้ำข้างละ 10 ครั้ง/set ทำ 3 set

ออกกำลังกายยืดเหยียดกล้ามเนื้อเพื่อลดความตึงตัว

การป้องกันการเกิดโรค

– คนที่ต้องนั่งทำงานนานๆ ควรเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 1 ชั่วโมง เช่น ไปเข้าห้องน้ำ ไปดื่มน้ำ เพื่อเปลี่ยนแปลงท่านั่ง ความเสี่ยงในการเกิดโรคก็จะลดลง

– ออกกำลังกายอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะในคนที่มีอาการของโรคนี้แล้ว ควรลดการออกกำลังกายที่ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณก้น หรือการออกกำลังกายที่ต้องใช้กล้ามเนื้อบริเวณสะโพกมากๆ เน้นเป็นวิธีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อจะเหมาะสมมากกว่า

    หากความรู้สึกปวดและชาบริเวณก้นหรือขาไม่ดีขึ้นใน 2-3 สัปดาห์ ควรรีบมาพบนักกายภาพบำบัดเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง

ที่มา https://www.rehabcareclinic.com/blog/ทำไมนั่งทำงานหรือขับรถนานๆแล้วถึงปวดก้นร้าวลงขา

Categories
บทความ

5 โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่มากับหน้าฝน

5 โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่มากับหน้าฝน

เนื่องจากฤดูฝนอากาศเปลี่ยนแปลงค่อนข้างบ่อย มีความชื้นมาก ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตและแพร่เชื้อได้ดี หากถูกฝนก็มีโอกาสเจ็บป่วย มีโอกาสเกิดโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจได้ง่าย จึงควรเตรียมพร้อมเพื่อรับมือและป้องกันกลุ่มโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ

กลุ่มโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ

1) โรคหวัด (Acute Rhinopharyngitis: Common Cold)

โรคหวัดหรือไข้หวัด (Acute Rhinopharyngitis : Common Cold) เป็นโรคติดเชื้อที่พบบ่อยมากที่สุดโรคหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายสายพันธุ์ พบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว หรือโดยเฉพาะช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง สามารถพบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ ในเด็กเล็กสามารถเป็นได้หลายครั้งในแต่ละปี ในผู้ใหญ่จะเป็นน้อยลงตามลำดับเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น โดยเฉลี่ยเด็กจะเป็นโรคหวัด 6 – 12 ครั้งต่อปี ผู้ใหญ่จะเป็น 2 – 4 ครั้งต่อปี ความรุนแรงของโรคไม่มาก และสามารถหายเองได้ภายในไม่กี่วัน เนื่องจากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสจึงเน้นรักษาประคับประคองอาการจนอาการหายดีเอง

การติดต่อ

ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งมีอยู่มากกว่า 100 ชนิด โดยส่วนใหญ่มักเป็นเชื้อไวรัสประเภทคอรีซา (Coryza Virus) ได้แก่ ไรโนไวรัส (Rhinovirus) และอื่น ๆ ติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ โดยการหายใจเอาเชื้อที่กระจายจากการไอหรือหายใจรดกัน หรือมือที่เปื้อนเชื้อโรคสัมผัสจมูกหรือตา ระยะเวลาแพร่เชื้อสามารถแพร่ได้ก่อนเกิดอาการและ 1 – 2 วันหลังเกิดอาการ

อาการที่พบ
เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่เยื่อบุโพรงจมูก เชื้อจะเกาะและเข้าสู่เซลล์เยื่อบุ แบ่งตัวเพิ่มจำนวน และทำให้เซลล์ถูกทำลาย เกิดการอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูก เยื่อบุบวม และแดง พบว่ามีการหลั่งของเมือกออกมา ใช้เวลาฟักตัวประมาณ 1 – 3 วัน (โดยเฉลี่ย 10 – 12 ชั่วโมง) จึงจะแสดงอาการ

อาการของโรคหวัด ได้แก่

  • คัดจมูก
  • น้ำมูกไหลลักษณะใส
  • ไอ
  • จาม
  • เจ็บคอ
  • เสียงแหบ
  • อาจมีอาการไข้ต่ำ ๆ
  • ปวดศีรษะเล็กน้อย
ในผู้ใหญ่อาการจะน้อยมาก อาจมีแค่คัดจมูกและน้ำมูกไหล (ยกเว้นผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ) อาการของโรคมักเป็นไม่เกิน 2 – 5 วัน แต่อาจมีน้ำมูกไหลนาน 10 – 14 วัน

การปฏิบัติตัวของผู้ที่เป็นโรคหวัด
  1. เนื่องจากเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่จึงใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น ยาลดน้ำมูก ยาลดไข้ จนอาการหายดีเอง การใช้ยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็นจะทำให้เชื้อแบคทีเรียเกิดการดื้อยาได้
  2. พักผ่อนให้เพียงพอ
  3. ดื่มน้ำมาก ๆ (ควรเป็นน้ำอุ่น)
  4. รักษาร่างกายให้อบอุ่น
  5. รับประทานอาหารอุ่น
  6. หลีกเลี่ยงการจามหรือสั่งน้ำมูกอย่างรุนแรง เพราะจะทำให้น้ำมูกที่มีเชื้อโรคเข้าไปในไซนัสเกิดการอักเสบติดเชื้อได้
  7. เวลาไอหรือจามให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูก

ป้องกันการติดเชื้อหวัด

  1. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้คนที่เป็นโรคหวัด ลดการสัมผัสกับผู้ป่วย หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ล้างมือหลังสัมผัส อย่าเอามือสัมผัสหรือถูจมูก หรือขยี้ตา
  2. พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ
  3. หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยที่กำลังไอหรือจาม หลีกเลี่ยงที่มีคนแออัดในช่วงที่มีการระบาด
  4. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ไม่สามารถป้องกันโรคหวัดได้ เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสคนละชนิด

อาการที่ควรไปพบแพทย์

  • เมื่อน้ำมูกหรือเสมหะเหลืองเขียว
  • ปวดหู หูอื้อ
  • ปวดศีรษะมาก
  • ไข้สูง
  • มีอาการหอบเหนื่อย
ควรพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อน หากมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามร่างกายมาก อาจเป็นไข้หวัดใหญ่ไม่ใช่โรคหวัด

ภาวะแทรกซ้อน

  1. คนที่เป็นโรคหวัดบางส่วนจะมีการติดเชื้อของแบคทีเรียซ้อนร่วมด้วย ทำให้มีอาการน้ำมูกข้น สีเหลืองหรือเขียว มีเสมหะเขียว
  2. ไซนัสอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียซ้อน
  3. เยื่อบุตาอักเสบ
  4. หลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบ
  5. ผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคหอบหืดหรือถุงลมในปอดโป่งพอง เมื่อเป็นโรคหวัดจะทำให้อาการหอบเหนื่อยรุนแรงมากขึ้น

2) ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เป็นโรคติดต่อที่เกิดการระบาดใหญ่เป็นครั้งคราว เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ พบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว เชื้อไวรัสสามารถแพร่ระบาดได้ทั่วโลก โดยแต่ละปีทั่วโลกจะมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ประมาณร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด พบได้ในทุกช่วงอายุ ในเด็กเล็กจะติดเชื้อได้ง่าย ส่วนผู้สูงอายุเมื่อติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงกว่า ความรุนแรงโรคอาจมีแค่อาการไข้สูง ไอ ปวดตามร่างกาย หรือรุนแรง มีอาการปอดอักเสบ การรักษาใช้การรักษาประคับประคองอาการหรือยาต้านไวรัสในรายที่รุนแรง ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ซึ่งได้ผลดีมากในการช่วยลดความรุนแรงของโรค

การติดต่อ 

ไวรัสไข้หวัดใหญ่มีหลายสายพันธุ์ ได้แก่
  • สายพันธุ์เอ (Influenza A Virus) พบได้ประมาณร้อยละ 80 เป็นสาเหตุของการระบาดใหญ่บ่อยครั้ง
  • ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี (Influenza B Virus) พบบ่อยรองลงมา
  • ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ซี (Influenza C Virus) มีความรุนแรงน้อยไม่ค่อยมีความสำคัญ

เชื้อไวรัสติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ โดยการหายใจเอาเชื้อที่กระจายจากการไอหรือหายใจรดกัน หรือมือที่เปื้อนเชื้อโรคสัมผัสจมูก ผู้ที่มีเชื้อไวรัสในร่างกายสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนที่จะมีอาการ และต่อไปได้อีก 3 – 5 วันหลังจากที่มีอาการแล้ว หรือบางรายไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อได้เช่นกัน

อาการที่พบ

หลังจากเชื้อไวรัสเข้าสู่ทางเดินหายใจ ใช้เวลาฟักตัวประมาณ 1 – 7 วัน (โดยเฉลี่ย 2 – 3 วัน) จะเริ่มแสดงอาการ

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่

  • ไข้สูงเฉียบพลัน (39 –  40 องศาเซลเซียส)
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดกระบอกตา
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • อ่อนเพลียมาก
  • อาจมีอาการคัดจมูก ไอ จาม เจ็บคอ น้ำมูกไหลลักษณะใส หลอดลมอักเสบ
  • อาจมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น เบื่ออาหาร ถ่ายอุจจาระเหลว คลื่นไส้ อาเจียน
โดยส่วนใหญ่อาการจะหายเป็นปกติได้เองภายใน 1 – 2 สัปดาห์ ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อน

ส่วนมากจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน ภาวะแทรกซ้อนที่พบ ได้แก่
  1. โรคปอดอักเสบติดเชื้อ หลอดลมอักเสบ หากอาการรุนแรงมากจะเกิดภาวะการหายใจล้มเหลวได้
  2. ภาวะสมดุลน้ำผิดปกติ เนื่องจากมีไข้สูง ดื่มน้ำได้น้อยลง หรือมีอาเจียน
  3. กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (พบน้อย)
  4. สมองอักเสบหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (พบน้อย)
  5. ผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคหอบหืดหรือถุงลมในปอดโป่งพอง เมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่ จะทำให้อาการหอบเหนื่อยรุนแรงมากขึ้น

ผู้ป่วยกลุ่มที่เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนสูง ได้แก่

  • ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป หรือเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน
  • ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี (เอดส์) มะเร็ง เอสแอลอี (โรคพุ่มพวง) เป็นต้น
  • เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่รับประทานยาแอสไพรินเป็นเวลานาน
  • หญิงที่ตั้งครรภ์หรือผู้ป่วยโรคอ้วน

การปฏิบัติตัวของผู้ที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่

  1. เนื่องจากเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่จึงใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ จนอาการหายดีเอง การใช้ยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็นจะทำให้เชื้อแบคทีเรียเกิดการดื้อยาได้
  2. ในรายที่มีอาการรุนแรงหรือมีความเสี่ยงสูง อาจพิจารณาการใช้ยาต้านไวรัส
  3. พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ (ควรเป็นน้ำอุ่น) รักษาร่างกายให้อบอุ่น อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเท
  4. เวลาไอหรือจามให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูก หรือสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ
  5. ในเด็กเล็กควรเช็ดตัวลดไข้บ่อย ๆ เพราะไข้สูงอาจกระตุ้นให้ชักได้ วิธีการเช็ดตัวควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดาเช็ด ไม่ควรใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็งเช็ดตัว
  6. ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ภูมิต้านทานโรคน้อย เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง หรือผู้ป่วยที่กินยากดภูมิคุ้มกันอยู่

การป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่

  1. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้คนที่เป็นโรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ลดการสัมผัสกับผู้ป่วย หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ล้างมือหลังสัมผัส อย่าเอามือสัมผัสหรือถูจมูก หรือขยี้ตา
  2. พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ
  3. หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยที่กำลังไอหรือจาม หลีกเลี่ยงที่มีคนแออัดในช่วงที่มีการระบาด
  4. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ และผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ปัจจุบันแนะนำให้ฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลควรฉีดทุก 1 ปีเนื่องจากมีการเปลี่ยนสายพันธุ์บ่อย

อาการที่ควรไปพบแพทย์

  1. ผู้ที่มีอาการรุนแรง หายใจหอบเหนื่อย แน่นหน้าอก อ่อนเพลียมาก รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้ หรือมีอาการนานกว่า 7 วัน
  2. ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน หากมีอาการข้างต้น สงสัยเป็นไข้หวัดใหญ่ควรไปพบแพทย์

หากมีอาการไข้สูงนานประมาณ 3 วัน ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาการที่เป็นอยู่อาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่นที่คล้ายกันได้ เช่น ไข้เลือดออก

3) คออักเสบ (Acute Pharyngitis)

โรคคออักเสบ (Acute Pharyngitis) เกิดจากเยื่อบุภายในคออักเสบ เป็นโรคติดเชื้อที่พบบ่อยมากส่วนใหญ่ สามารถพบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ ในเด็กจะพบได้บ่อยกว่า ความรุนแรงของโรคไม่มาก มักมีอาการกลืนเจ็บ แสบคอ และสามารถหายได้เองภายในไม่กี่วัน แต่การติดเชื้อแบคทีเรียอาจทำให้มีอาการนาน การรักษาจะเน้นการรักษาประคับประคองอาการจนหายดี 

การติดต่อ

ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส (40 – 80%) รองลงมาเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย (20%) เชื้อไวรัสส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Rhinovirus, Adenovirus และ Coronavirus อาการส่วนใหญ่คล้าย ๆ กันและเป็นไม่มากนัก เชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคที่พบมากที่สุดและมีความสำคัญมากคือ กลุ่มสเตรปโตคอกคัส Streptococcus spp. (โดยเฉพาะ S. pyogenes) เชื้อติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลายและเสมหะ โดยการหายใจเอาเชื้อที่กระจายจากการไอหรือหายใจรดกัน หรือมือที่เปื้อนเชื้อโรคสัมผัสจมูก ช่องปาก ระยะเวลาแพร่เชื้อสามารถแพร่ได้ก่อนเกิดอาการและหลังเกิดอาการ (ระยะเวลานานขึ้นกับชนิดของเชื้อ)

อาการที่พบ

บริเวณที่เป็นคออักเสบจะอยู่พื้นที่ระหว่างหลังโพรงจมูกกับกล่องเสียง เมื่อเชื้อเข้ามาจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและทำลายเซลล์ เกิดการอักเสบ เชื้อไวรัสมักใช้เวลาฟักตัวประมาณ 1 – 3 วัน ส่วนเชื้อแบคทีเรีย (กล่าวถึงกลุ่มสเตรปโตคอกคัส) ใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2 – 5 วัน

อาการคออักเสบ ได้แก่

  • เจ็บคอ
  • กลืนเจ็บ
  • ไอ
  • ปวดศีรษะ
  • ไข้
  • อาจพบต่อมน้ำเหลืองโต
  • ถ้าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียจะมีอาการไข้สูง เจ็บคอมาก คอแดงมาก มีจุดหนองที่คอเพิ่มเติม
อาการมักดีขึ้นเองภายใน 7 – 10 วัน แต่ในกลุ่มติดเชื้อสเตรปโตคอกคัสอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้

การปฏิบัติตัวของผู้ที่เป็นโรคคออักเสบ
  1. กรณีที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น ยาแก้เจ็บคอ ยาแก้ไอ ยาลดไข้จนอาการหายดีเองกรณีที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย พิจารณาการใช้ยาฆ่าเชื้อและต้องรับประทานจนครบตามแพทย์สั่ง
  2. พักผ่อนให้เพียงพอ
  3. ดื่มน้ำมาก ๆ (ควรเป็นน้ำอุ่น แต่ถ้าเจ็บคอมากอาจจิบน้ำเย็นเพื่อลดอาการเจ็บได้)
  4. รักษาร่างกายให้อบอุ่น
  5. อาจจิบน้ำผึ้งผสมน้ำมะนาว
  6. เวลาไอหรือจามให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูก

การป้องกันการติดเชื้อคออักเสบ

  1. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้คนที่เป็นโรคหวัดหรือคออักเสบ ลดการสัมผัสกับผู้ป่วย หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ล้างมือหลังสัมผัส อย่าเอามือสัมผัสหรือถูจมูก
  2. พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ
  3. หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยที่กำลังไอหรือจาม หลีกเลี่ยงที่มีคนแออัดในช่วงที่มีการระบาด

อาการที่ควรไปพบแพทย์

  • น้ำมูกหรือเสมหะเหลืองเขียว
  • ปวดหู หูอื้อ
  • ไข้สูง
  • หายใจหอบเหนื่อย
  • มีอาการแทรกซ้อนอื่น หรืออาการคออักเสบเป็นอยู่นานเกิน 7 วัน หรือเมื่อรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 – 2 วัน

ภาวะแทรกซ้อน

ในคออักเสบชนิดติดเชื้อไวรัส ภาวะแทรกซ้อนมีโอกาสเกิดได้น้อยมาก มักเกิดจากการที่มีการติดเชื้อของแบคทีเรียซ้อนร่วมด้วย (ยกเว้นเชื้อไวรัสบางชนิดที่พบไม่บ่อย เช่น Ebstein-Barr Virus (EBV) จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มาก) ในคออักเสบชนิดติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะกลุ่มสเตรปโตคอกคัส แบ่งภาวะแทรกซ้อนได้เป็น

  • ภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับหนอง มักเกิดจากเชื้อโรครุกล้ำบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ ฝีรอบต่อมทอนซิล ฝีข้างคอหอย ฝีที่ผนังคอหอย ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองที่คออักเสบ
  • ภาวะแทรกซ้อนที่ไม่เกี่ยวกับหนอง เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ไว้ต่อสู้กับเชื้อมาทำลายอวัยวะของผู้ป่วยเอง ได้แก่ ไข้รูห์มาติก, โรคหัวใจรูห์มาติก, ไตอักเสบ เป็นต้น

4) โรคปอดอักเสบ (Pneumonia)

โรคปอดอักเสบ หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า “ปอดบวม” เป็นโรคทางระบบทางเดินหายใจที่เกิดการติดเชื้อบริเวณปอด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย และทำให้เกิดการอักเสบ บวม มีน้ำหรือหนองอยู่ภายในถุงลมปอด ทำให้การแลกเปลี่ยนอากาศทำได้ไม่ดี พบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว โรคปอดอักเสบสามารถพบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ แต่ในเด็กอายุน้อยกว่า 4 ปีและผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปี มีโอกาสเกิดความรุนแรงของโรคได้มากกว่า โรคปอดอักเสบทำให้เกิดอาการไอ หายใจลำบาก และหายใจหอบเหนื่อย ในรายที่มีอาการมากอาจเสียชีวิตได้ การรักษาอาจพิจารณาใช้ยาฆ่าเชื้อตามชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุ ร่วมกับการให้ออกซิเจนเสริม และการรักษาตามอาการจนอาการหายดี

เชื้อที่ก่อโรค
เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ ได้แก่ เชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย
  • เชื้อไวรัสที่พบบ่อย ได้แก่ อดิโนไวรัส (Adenovirus), อินฟลูเอนซา (ไข้หวัดใหญ่ : Influenza), พาราอินฟลูเอนซา (Parainfluenza) และอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus : RSV)
  • เชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อย ได้แก่ สเตรปโตคอกคัส (Streptococcus Pneumoniae), ฮีโมฟิลุส (Haemophilus Influenzae), มอแรกเซลลา (Moraxella Catarrhalis) และ ไมโคพลาสมา (Mycoplasma Pneumoniae)

การติดต่อ

ติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ โดยการหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในละอองฝอยกระจาย จากการไอหรือหายใจรดกัน หรืออาจเกิดจากการสำลักเชื้อลงสู่ปอด เช่น สำลักน้ำลาย อาหาร (โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ) ระยะเวลาแพร่เชื้อขึ้นกับชนิดของเชื้อและสามารถแพร่เชื้อได้จนกว่าเชื้อในเสมหะจะน้อยลงมาก การระบาดสามารถเกิดได้ในบริเวณที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก ค่ายทหาร เรือนจำ

อาการที่พบ

เมื่อเชื้อลงมาที่ทางเดินหายใจส่วนล่าง คือ ปอดและถุงลมปอด เชื้อจะแบ่งตัวและทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อปอด ต่อมาภูมิคุ้มกันของร่างกายจะเข้ามาทำลายเชื้อ เกิดการอักเสบบวมมากขึ้น และมีน้ำหรือหนองอยู่ภายในถุงลมปอดแทนที่อากาศ ส่งผลให้การแลกเปลี่ยนอากาศระหว่างถุงลมและเลือดทำได้ไม่ดี ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะขาดออกซิเจนในร่างกาย มีอาการไอ หายใจเร็ว หายใจลำบาก หายใจหอบเหนื่อยมากขึ้น

อาการของโรคปอดอักเสบ ได้แก่

  • ไข้
  • ไอ
  • มีเสมหะ
  • หายใจเร็ว
  • หายใจลำบาก
  • หอบเหนื่อย
  • หายใจเจ็บหน้าอก
ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีหายใจแรงจนจมูกบาน บางรายเกิดหลอดลมภายในปอดตีบจนหายใจดังวี๊ด (คล้ายหอบหืด) ในรายที่มีอาการรุนแรงมากจะมีภาวะการหายใจล้มเหลว ร่างกายขาดออกซิเจนมาก ทำให้ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยน หงุดหงิด สับสน ซึมลง หมดสติ และเสียชีวิตได้ ระยะเวลาการเป็นโรคขึ้นกับชนิดของเชื้อโรคและความรุนแรงของโรค

การป้องกันการติดเชื้อ

  1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีคนแออัด โดยเฉพาะเด็กเล็ก ลดการสัมผัสกับผู้ป่วย หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ล้างมือหลังสัมผัส อย่าเอามือสัมผัสหรือถูจมูก หรือขยี้ตา
  2. พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ
  3. หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยที่กำลังไอหรือจาม หลีกเลี่ยงที่มีคนแออัดในช่วงที่มีการระบาด
  4. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ และผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ปัจจุบันแนะนำให้ฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลควรฉีดทุก 1 ปีเนื่องจากมีการเปลี่ยนสายพันธุ์บ่อย
  5. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอพีดี (Invasive Pneumococcal Disease : IPD) ป้องกันและลดความรุนแรงจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอกคัส (Streptococcus Pneumoniae) โดยเฉพาะเด็กและผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่ควรฉีดได้แก่
    • ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง พิษสุราเรื้อรัง ตับแข็ง ไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคไต
    • ผู้ที่ถูกตัดม้าม ไม่มีม้ามตั้งแต่กำเนิดหรือม้ามทำหน้าที่ไม่ดี
    • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้แก่ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (เอดส์) ผู้ที่เป็นมะเร็งได้ยาเคมีบำบัด หรือผู้ที่ได้ยากดภูมิคุ้มกัน

อาการที่ควรไปพบแพทย์

  • ไข้
  • ไอ
  • ไอปนเลือด
  • หายใจหอบเหนื่อย หายใจเหนื่อยมากขึ้น
  • หายใจเจ็บหน้าอกมาก
  • แน่นหน้าอก
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลด

ภาวะแทรกซ้อน

โดยปกติโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนเกิดได้ไม่มาก ยกเว้นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะมีโอกาสเกิดได้มากกว่า ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ได้แก่

  • มีน้ำหรือมีหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด หรืออาจเกิดปอดแตก และเกิดปอดแฟบได้
  • มีฝีหรือโพรงหนองที่ปอด หรือมีหนองที่หลอดลม
  • ภาวะหายใจล้มเหลวต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจ และอาจเสียชีวิตได้
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจอักเสบ (พบได้น้อย)

5) หลอดลมอักเสบ (Acute Bronchitis)

โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis) สามารถแบ่งได้เป็นชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ในชนิดที่จะกล่าวถึงนี้คือ โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน (Acute Bronchitis) เป็นโรคทางระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากการติดเชื้อที่หลอดลม หลอดลมในร่างกายมีขนาดใหญ่และจะแตกแขนงเป็นขนาดเล็กย่อย ๆ จนกว่าจะถึงถุงลม ปอด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เยื่อบุหลอดลมเกิดการอักเสบบวม ทำให้การไหลผ่านอากาศทำได้ไม่ดี พบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว พบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ โรคหลอดลมอักเสบทำให้เกิดอาการไอมาก มีเสมหะ หายใจลำบาก การรักษามักใช้การรักษาประคับประคองตามอาการจนอาการหายดี

การติดต่อ
ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยส่วนใหญ่ได้แก่เชื้อ อดิโนไวรัส (Adenovirus), ไรโนไวรัส (Rhinovirus), อินฟลูเอนซา (ไข้หวัดใหญ่ : Influenza), พาราอินฟลูเอนซา (Parainfluenza) และ อาร์เอสวี (Respiratory syncytial virus : RSV) ส่วนน้อยเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย คือ ไมโคพลาสมา (Mycoplasma) และ คลาไมเดีย (Chlamydia) การติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลายและเสมหะ โดยการหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในละอองฝอยกระจายอยู่ในอากาศ จากการไอหรือหายใจรดกัน ระยะเวลาแพร่เชื้อสามารถแพร่ได้ก่อนเกิดอาการและหลังเกิดอาการ

อาการที่พบ

เมื่อเชื้อเข้าสู่ทางเดินหายใจบริเวณหลอดลม เชื้อจะแบ่งตัวและทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุหลอดลมและบวมมากขึ้น ส่งผลให้หลอดลมตีบแคบ อากาศไหลผ่านหลอดลมเข้าปอดได้ไม่ดี หายใจลำบาก ในรายที่หลอดลมตีบมาก ๆ จะหายใจดังวี้ดได้ และจากการอักเสบทำให้การขับเสมหะของเยื่อบุหลอดลมไม่ดี ส่งผลให้เกิดอาการไอมากขึ้น อาจไอแห้ง ๆ หรือไอมีเสมหะ อาจมีอาการอื่น ๆ คล้ายอาการของโรคหวัด เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ไข้ต่ำๆ ได้ อาการของโรคหลอดลมอักเสบส่วนใหญ่มักหายได้เองภายใน 7 – 10 วัน แต่อาการไอแห้ง ๆ อาจเป็นได้นานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน อาการไอ จะไอบ่อยครั้ง ไอถี่ ๆ หรือเป็นชุด อาจมีอาการเจ็บกล้ามเนื้อหน้าอกหรือชายโครงได้ ในบางรายอาจมีปัสสาวะเล็ดได้

การปฏิบัติตัวของผู้ที่เป็นหลอดลมอักเสบ

  1. เนื่องจากส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่จึงใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น ยาละลายเสมหะ ยาแก้ไอ ยาขยายหลอดลม จนอาการหายดีเอง ส่วนการติดเชื้อแบคทีเรียอาจพิจารณาการใช้ยาฆ่าเชื้อ
  2. พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ (ควรเป็นน้ำอุ่น) รักษาร่างกายให้อบอุ่น รับประทานอาหารอุ่น
  3. เวลาไอหรือจามให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูก หรือสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งเมื่อสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ
  4. งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ฝุ่น เขม่าควันต่าง ๆ หรือสารที่ระคายเคืองทางเดินหายใจ

การป้องกันการติดเชื้อ

  1. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้คนที่เป็นโรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ลดการสัมผัสกับผู้ป่วย หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ล้างมือหลังสัมผัส อย่าเอามือสัมผัสหรือถูจมูก
  2. พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรืออากาศที่หนาวเย็น
  3. หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยที่กำลังไอหรือจาม หลีกเลี่ยงที่มีคนแออัดในช่วงที่มีการระบาด

อาการที่ควรไปพบแพทย์

  • ไอมาก
  • ไอถี่ ๆ
  • ไอปนเลือด
  • มีเสมหะข้นกลิ่นเหม็น
  • มีไข้สูง
  • หายใจหอบเหนื่อยมากขึ้น
  • แน่นหน้าอก
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลด
  • มีโรคประจำตัวเดิมเป็นโรคปอดเรื้อรัง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม

ภาวะแทรกซ้อน

  1. หลอดลมอักเสบจากเชื้อไวรัส อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้อนร่วมด้วย ทำให้มีอาการไอมาก มีเสมหะข้นสีเหลืองหรือเขียว ทำให้ระยะเวลาดำเนินโรคนานกว่าปกติ
  2. โรคปอดอักเสบ พบได้ประมาณ 5 ใน 100 จะมีอาการไข้ ไอมีเสมหะ หายใจหอบเหนื่อย อาการหอบเหนื่อยจะแย่กว่าหลอดลมอักเสบ

Cr. https://www.bangkokhospital.com/content/5-respiratory-infections-came-with-rain