Categories
บทความ

รู้จัก! วัคซีนป้องกันโรคไข้ไทฟอยด์ หรือ ไข้รากสาดน้อย

รู้จัก! วัคซีนป้องกันโรคไข้ไทฟอยด์ หรือ ไข้รากสาดน้อย

โรคไข้ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า ซัลโมเนลล่า ไทฟี่ (Salmonella typhi) ติดต่อโดยการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ หากไม่ได้รับการรักษาและเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ก็อาจนำไปสู่ “ภาวะไตวาย” ได้!

 

สัญญาณเตือนแบบนี้ เสี่ยง “ไข้รากสาดน้อย”

อาการของโรคไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย ได้แก่ ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย อาจมีผื่น ถ่ายเหลวหรือท้องผูก ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษา จะมีไข้นานถึง 3-4 สัปดาห์ ในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงขึ้น เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร ลำไส้ทะลุ หรือไตวายได้ ในขณะที่ผู้ป่วยบางราย…แม้จะหายจากโรคแล้ว แต่ก็ยังสามารถเป็นพาหะแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นต่อไปได้

 

วัคซีนป้องกันโรคไข้ไทฟอยด์ชนิดฉีด คืออะไร ?

เป็นวัคซีนที่ทำมาจากเชื้อไทฟอยด์ที่ตายแล้ว ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ทำให้เกิดโรคไข้ไทฟอยด์ในผู้ที่ได้รับวัคซีน เหมาะสำหรับผู้ใหญ่ และเด็กที่มีอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป

 

ผู้ที่ “ควร” ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้ไทฟอยด์

    • ผู้ที่จะเดินทางไปยังถิ่นที่มีการระบาดของโรค เช่น ประเทศอินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน ประเทศในแถบละตินอเมริกา หรือแอฟริกา โดยควรรับวัคซีนก่อนเดินทางอย่างน้อย 2 สัปดาห์
    • ผู้ที่ใกล้ชิดหรืออาศัยอยู่กับผู้ที่เป็นพาหะของโรคไข้ไทฟอยด์
    • เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการที่ทำงานเกี่ยวกับเชื้อไทฟอยด์
    • สำหรับผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต้องการสัมผัสเชื้อควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 1 เข็ม ทุก 2-3 ปี
  •  
  •  

 

ผู้ที่ “ควรงด” รับวัคซีนป้องกันโรคไข้ไทฟอยด์

    • เคยมีอาการแพ้อย่างรุนแรงจากการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์ในครั้งก่อน
    • หากมีไข้ เจ็บป่วยเฉียบพลัน ควรเลื่อนการรับวัคซีนออกไปก่อน รอให้หายป่วยก่อนจึงค่อยมารับวัคซีน กรณีเป็นหวัดเล็กน้อย ไม่มีไข้ สามารถรับวัคซีนได้

 

อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังรับวัคซีนป้องกันโรคไข้ไทฟอยด์

    • อาจทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงได้ อย่างไรก็ตามอาการแพ้อย่างรุนแรงจากวัคซีนพบได้น้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่ของผู้ที่รับวัคซีนรวมป้องกันโรคไข้ไทฟอยด์มักไม่มีปัญหาใดๆ
    • ปฏิกิริยาที่อาจพบหลังฉีดวัคซีน ได้แก่ ปวด บวมแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน
    • อาจพบไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย แต่มักไม่รุนแรง และหายได้เองใน 1-2 วัน
    • หากมีอาการปวด บวมแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีนสามารถประคบเย็นได้ และหากมีไข้ต่ำๆ สามารถรับประทานยาลดไข้ได้ แต่ถ้ามีอาการผิดปกติอื่นนอกเหนือจากนี้ควรปรึกษาแพทย์
  •  
  •  

 

หมายเหตุ :

    • ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ เกี่ยวกับการให้วัคซีนชนิดนี้ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร อาจให้ได้ในกรณีจำเป็น
    • แม้ได้รับวัคซีนแล้ว ก็ยังควรรับประทานอาหารและน้ำที่สะอาด เพราะหากได้รับเชื้อจำนวนมาก ก็ยังสามารถติดโรคได้
    • วัคซีนชนิดนี้ ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อจาก เชื้อซัลโมเนลล่า ชนิดอื่นได้
    • หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์

Cr. https://www.phyathai.com/th/article/typhoid-vaccine

Categories
บทความ

โรคอาหารเป็นพิษ

อาหารเป็นพิษอันตรายที่มากับอาหาร

สาเหตุของอาหารเป็นพิษ ส่วนใหญ่ภาวะอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิต ซึ่งเชื้อที่มักเป็นสาเหตุของภาวะอาหารเป็นพิษ คือ
  • ซาลโมเนลลา (Salmonella) พบมากในเนื้อสัตว์ดิบ ไข่ดิบ นม และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม
  • เอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia Coli) หรืออีโคไล (E. Coli) บางสายพันธ์ุ โดยพบมากในเนื้อสัตว์ดิบ
  • คลอสติเดียม โบทูลินัม (Clostridium Botulinum) เชื้อนี้เจริญเติบโตได้ดีในสภาวะแวดล้อมที่มีออกซิเจนน้อย จึงมักพบในอาหารที่บรรจุในภาชนะปิดสนิท ที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น หน่อไม้ปี๊บ หน่อไม้ดอง ผักกาดดอง เนื้อสัตว์แปรรูป เป็นต้น
  • ชิเกลล่า (Shigella) พบการปนเปื้อนทั้งในผลิตภัณฑ์อาหารสดน้ำดื่มที่ไม่สะอาด รวมไปถึงอาหารสดที่สัมผัสกับคนที่มีเชื้อโดยตรง
  • ไวรัสที่ก่อโรคในทางเดินอาหาร (Enteric Viruses) ที่มักปนเปื้อนได้ทั้งในอาหารสด สัตว์น้ำที่มีเปลือก และน้ำดื่มที่ไม่สะอาด
อาการของอาหารเป็นพิษ
ผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่จะแสดงอาการภายใน 1-2 วัน ขึ้นอยู่กับประเภทและปริมาณของเชื้อที่ร่างกายได้รับเข้าไป โดยอาจมีอาการหลังรับประทานอาหารไม่กี่ชั่วโมง หรือนานเป็นสัปดาห์หากได้รับเชื้อรุนแรง โดยอาการป่วยของผู้ที่เผชิญภาวะอาหารเป็นพิษ มีดังนี้
  • รู้สึกพะอืดพะอม คลื่นไส้ อาเจียนติดต่อกันหลายครั้ง หรืออาเจียนรุนแรงจนมีเลือดออกได้
  • มีอาการปวดท้องแบบบิดเกร็งเป็นพักๆ เนื่องจากการบีบตัวของลำไส้
  • ถ่ายเหลว ถ่ายมีมูก หรือเลือดปน
  • ไม่อยากอาหาร
  • มีอาการสูญเสียน้ำ เช่น รู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ หมดเรี่ยวแรง ปากแห้ง ตาโบ๋ กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะน้อย เป็นต้น มีไข้
การป้องกันอาหารเป็นพิษ
  • ดื่มน้ำสะอาด
  • รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุก
  • ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ค้างคืน
  • เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลง หนู และสัตว์อื่นๆ
  • แยกอาหารดิบและสุกออกจากกัน ป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนทำอาหาร หรือขนมทุกครั้ง
  • ใช้ช้อนกลาง
การรักษาอาหารเป็นพิษ
โดยปกติถ้าอาการของผู้ป่วยไม่รุนแรงสามารถหายได้เองภายใน 24-48 ชั่วโมง โดยรักษาตามอาการ และปฎิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และดูแลไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
  • ดื่มน้ำผสมผงเกลือแร่ หรือ ORS เพื่อทดแทนน้ำและแร่ธาตุบางชนิดที่สูญเสียไปจากการอาเจียนและถ่ายอุจจาระ โดยให้จิบทีละน้อยตลอดทั้งวันควบคู่กับการรับประทานอาหารตามปกติ และสามารถดื่มได้จนกว่าจะหยุดอาเจียนหรือกลับมาถ่ายอุจจาระแบบเป็นก้อนแล้ว
  • รับประทานยาแก้ท้องเสีย โดยผู้ป่วยอาจใช้ยาแก้ท้องเสียภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องเสียควบคู่ไปกับการดื่มน้ำ และผงเกลือแร่ซึ่งเป็นการรักษาหลัก
  • เมื่ออาการดีขึ้นควรรับประทานอาหารอ่อนที่ย่อยง่ายและมีไขมันน้อย เช่น โจ๊ก หรือข้าวต้ม เป็นต้น ควรหลีกเลี่ยงอาหาร และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของนม แอลกอฮอล์ คาเฟอีน น้ำอัดลม อาหารไขมันสูง และอาหารรสจัด
  • งดดื่มนมขณะท้องเสีย

 

อาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป ทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง และท้องเสีย สามารถเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย โดยทั่วไปเป็นภาวะไม่รุนแรง สามารถหายได้เอง หากมีอาการรุนแรง ควรรีบมาพบแพทย์

Source: https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/1892
Categories
บทความ

โรคอหิวาตกโรค

โรคอหิวาตกโรค

ลักษณะโรค

เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหารจากแบคทีเรียชนิดเฉียบพลัน เริ่มด้วยอาการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำอย่างมากโดยไม่มีอาการปวดท้อง บางรายอุจจาระขาวขุ่นเหมือนน้ำซาวข้าว บางครั้งมีคลื่นไส้ อาเจียน สูญเสียน้ำอย่างรวดเร็วจนเกิดภาวะเป็นกรดในเลือด และการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว สำหรับเชื้อโรคอุจจาระร่วงอย่างแรง(อหิวาตกโรค) ชนิด El Tor biotype ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการเลยก็ได้ ในรายรุนแรงน้อยอาจพบแต่อาการถ่ายเป็นน้ำ พบได้บ่อยในเด็ก ในรายที่มีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยอาจตายในเวลา 2-3 ชั่วโมง และอัตราป่วยตายสูงมากกว่าร้อยละ 50 แต่ถ้าได้รับการรักษาถูกต้องและทันท่วงที อัตราป่วยตายจะลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 1

การวินิจฉัยโรค

ใช้วิธีการเพาะเชื้อจากอุจจาระหรือดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิด darkfield หรือ phase contrast จะเห็นลักษณะการเคลื่อนที่แบบเฉพาะของเชื้อ Vibrio ซึ่งจะถูกยับยั้งด้วย antiserum จำเพาะ ในพื้นที่ที่เกิดการติดเชื้อใหม่ๆ การแยกเชื้อต้องยืนยันด้วยการทดสอบทางชีวเคมีเบื้องต้น ถ้าเป็นไปได้ควรทดสอบดูด้วยว่าเชื้อโรคผลิตสารพิษด้วยหรือไม่ ในพื้นที่ที่ไม่ใช่เขตโรคประจำถิ่น เชื้อที่แยกได้จากผู้ป่วยที่ต้องสงสัยรายแรกๆ ต้องยืนยันโดยการทดสอบทางชีวเคมีและซีโรโลยี่ที่เหมาะสมและสารพิษที่เชื้อสร้างขึ้นด้วย

สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อ Vibrio cholerae serogroup O(โอ)1 ซึ่งมี 2 biotypes คือ classical และ El Tor แต่ละ biotype แบ่งออกได้เป็น 3 serotypes คือ Inaba, Ogawa และ Hikojima เชื้อเหล่านี้จะสร้างสารพิษเรียกว่า Cholera toxin ทำให้เกิดอาการป่วยคล้ายกัน ปัจจุบันพบว่าการระบาดส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อ biotype El Tor เป็นหลักแทบไม่พบ biotype classical เลย ในปี พ.ศ. 2535-2536 เกิดการระบาดครั้งใหญ่ในอินเดียและบังคลาเทศสาเหตุเกิดจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่คือ Vibrio cholerae O139 โดยที่ครั้งแรกตรวจพบสาเหตุการระบาดจากเชื้อ V. cholerae non O1 ที่ไม่ทำปฏิกิริยากับ V. cholerae antiserun O2-O138 ซึ่งปรกติกลไกก่อโรคจากเชื้อกลุ่มนี้มิได้เกิดจาก Cholera toxin สายพันธุ์ใหม่ที่พบสามารถสร้าง Cholera toxin ได้เหมือน Vibrio cholerae O1 ต่างกันที่โครงสร้าง Lipopolysaccharides (LPS) ที่เป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ของเชื้อ อาการทางคลินิกและลักษณะทางระบาดวิทยาเหมือนกับโรคอุจจาระร่วงอย่างแรงทุกประการ ดังนั้นองค์การอนามัยโลกแนะนำให้รายงานว่าเป็นโรคอุจจาระร่วงอย่างแรงด้วย สำหรับเชื้อ V. cholerae ในปัจจุบันมีถึง 194 serogroups การรายงานเชื้อที่ไม่ใช่ทั้ง O1 และ O139 ให้เรียกว่าเป็น V. cholerae non O1/non O139 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อให้เกิดอาการกระเพาะและลำไส้อักเสบ เชื้อ V. cholerae non O1/non O139 บาง serotypes อาจผลิต cholera toxin ก่อให้เกิดอาการคล้ายโรคอุจจาระร่วงอย่างแรงได้ จึงจำเป็นต้องตรวจการสร้างสารพิษชนิดนี้ด้วยเพื่อป้องกันการระบาดใหญ่

วิธีติดต่อ

ติดต่อโดยการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อที่มีชีวิตปนอยู่ เชื้อ El Tor สามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำได้เป็นเวลานาน การรับประทานอาหารทะเลดิบ หรืออาหารดิบๆสุกๆ เป็นสาเหตุของการระบาดทั่วไป การติดต่อระหว่างบุคคลสู่บุคคลโดยตรง พบได้น้อยมาก

ระยะฟักตัว

ตั้งแต่ 2-3 ชั่วโมง ไปจนถึง 5 วัน เฉลี่ยประมาณ 2-3 วัน

ระยะติดต่อ

ตลอดระยะเวลาที่ตรวจพบเชื้อในอุจจาระ ซึ่งปกติจะพบเชื้อได้อีก 2-3 วัน หลังจากผู้ป่วยอาการดีขึ้นแล้ว แต่บางรายอาจกลายเป็นพาหะต่อไปได้อีกหลายเดือน การให้ยาปฏิชีวนะ เช่น tetracycline จะช่วยลดระยะเวลาการแพร่เชื้อ ในผู้ใหญ่พบว่าการติดเชื้อเรื้อรังที่ทางเดินน้ำดี อาจเป็นได้นานเป็นปี และร่วมกับมีการปล่อยเชื้อ Vibrio ออกมากับอุจจาระเป็น ระยะได้

Cr. https://ddc.moph.go.th/disease_detail.php?d=74

Categories
บทความ

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคบิด พร้อมสาเหตุและวิธีการป้องกัน

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคบิด พร้อมสาเหตุและวิธีการป้องกัน

มาเรียนรู้สาเหตุของโรคบิด อาการเบื้องต้น และวิธีการป้องกันโรคบิดทั้งขณะพำนักในที่พักอาศัยหรือขณะเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการท้องเสียชนิดรุนแรง อันดับแรกมาทำความรู้จักกันก่อนเลยว่าโรคบิดคืออะไร บทความนี้จะช่วยคลายข้อสงสัยสำหรับคนที่กังวลว่าอาการที่เป็นอยู่นั้นใช่อาการของโรคบิดหรือไม่และเหมาะสำหรับคนที่อยากดูแลสุขภาพของตัวเองให้ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ

โรคบิดคือโรคอะไร

โรคบิดคือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือการติดเชื้ออะมีบาในลำไส้ซึ่งก่อให้เกิดอาการท้องเสียชนิดมีเลือดหรือมูกปน การแพร่กระจายของโรคบิดมักเกิดจากสุขอนามัยที่ไม่ดีโดยผู้ป่วยมักได้รับเชื้อ จากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อน โรคบิดมีอาการที่พบทั่วไป คือ : 

  • ท้องเสียโดยมีเลือดหรือมูกร่วมด้วย
  • ช่องท้องบีบเกร็ง จนทนไม่ได้
  • รู้สึกคลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ปวดท้องบิด
  • มีไข้สูง

โรคบิดเกิดจากอะไร

โรคบิดเกิดจากการมีสุขอนามัยที่ไม่ดีและรับประทานอาหารปนเปื้อน โดยทางการแพทย์ได้จำแนกโรคบิดไว้ 2 ชนิดคือ

1.โรคบิดชนิดไม่มีตัว (shigellosis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย shigella ในอุจจาระซี่งมักพบในประเทศที่มีสุขอนามัยไม่ดี

2.โรคบิดที่เกิดจากอะมีบา (amoebiasis) เกิดจากปรสิตเซลล์เดียวที่มีชื่อว่า Entamoeba histolytica 

ที่มักพบในเขตร้อน ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เผชิญกับโรคบิดที่เกิดจากอะมีบามักมีอาการรุนแรงมากกว่าผู้ป่วยโรคบิดชนิดไม่มีตัว

วิธีรักษาโรคบิด

วิธีการรักษาโรคบิด มีดังนี้ 

วิธีรักษาโรคบิดชนิดไม่มีตัว (shigellosis) 

ถ้าหากผู้ป่วยไม่ได้มีอาการุนแรงและพื้นฐานเป็นคนที่มีสุขภาพดี ไม่ได้มีโรคร้ายแรงหรือเป็นผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่การรักษาโรคบิดเบื้องต้นจะรักษาภาวะการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกายที่มาจากการท้องเสีย และพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยารักษาท้องเสีย หรือสามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชร่วมด้วย และถ้าหากมีอาหารปวดท้องบิดเกร็ง เป็นพัก ๆ มีวิธีแก้ด้วยการนอนพัก ถ้าหากนอนพักแล้วยังไม่หาย สามารถเข้าไปพบแพทย์เพื่อทำการปรึกษาได้ทันที 

โรคบิดที่เกิดจากอะมีบา (amoebiasis)

สำหรับกรณีโรคบิดที่เกิดจากอะมีบาหรือโรคบิดชนิดมีตัว แพทย์จะเน้นไปที่เน้นที่การใช้ยาเป็นหลักเพื่อรักษาเชื้อแบคทีเรีย และสำหรับอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วม แพทย์จะทำการรักษาตามอาการ จนกว่าอาการของผู้ป่วยโรคบิดชนิดมีตัวจะดีขึ้น ไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าโรคบิดกี่วันหาย ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละบุคคล

ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เกิดโรคบิด 

ปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียที่ส่งผลหรือได้รับเชื้ออะมีบาดำเนินเข้าสู่ร่างกาย มักเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่มีลักษณะดังนี้

  • ผู้ที่เดินทางหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีสุขอนามัยไม่ดี เช่น พื้นที่ห่างไกลน้ำสะอาด
  • ผู้ที่อพยพมาจากพื้นที่ที่มีสุขอนามัยที่ไม่ดี
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก เนื่องจากทวารหนักเป็นแหล่งรวมเชื้อโรค
  • ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการจัดการสุขอนามัยไม่ดี เช่น ชุมชนแออัดหรือเรือนจำ
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน
  • ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอ
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรืออายุมาก

วิธีป้องกันให้ห่างไกลจากโรคบิด

มาดูวิธีการป้องกันโรคบิดง่าย ๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน โดยสิ่งที่สำคัญมากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ คือการเลือกรับประทานอาหาร หรือถ้าหากใครมีอาการปวดท้องบิดเกร็ง เป็นพัก ๆ มีวิธีแก้ดังนี้ 

  • ล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่และน้ำสะอาดก่อนการประกอบหรือรับประทานอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ เพราะเชื้อโรคอาศัยอยู่ในห้องน้ำเป็นจำนวนมาก
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ห้ามใช้ผ้าขนหนู เครื่องนอน จานชามช้อนส้อมร่วมกับผู้ป่วยจนกว่าผู้ป่วยจะหายเป็นปกติ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำจากก๊อกน้ำในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ควรต้มน้ำหรือฆ่าเชื้อก่อนดื่มน้ำทุกครั้งหรืออาจเลือกดื่มน้ำบรรจุขวดเพื่อความปลอดภัย
  • ระมัดระวังอาหารที่รับประทานหากอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เพราะไม่สามารถมั่นใจได้ว่าอาหารที่ถูกปรุงนั้นสะอาดหรือไม่ นอกจากนี้ร่างกายอาจจะยังไม่สามารถปรับตัวได้ทันทีเมื่อรับประทานอาหารต่างถิ่น
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้หรือผักดิบ เว้นแต่เป็นผลไม้ที่ต้องปอกก่อนการรับประทาน เช่น กล้วย 
  • หลีกเลี่ยงการดื่มนมหรือรับประทานอาหารที่ผลิตจากนม เว้นแต่จะเป็นนมที่ผลิตโดยกรรมวิธีที่สะอาดผ่านการฆ่าเชื้อโรคแล้ว
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารข้างถนนเนื่องจากเป็นเรื่องยากที่จะมั่นใจได้ถึงความสะอาดในการเตรียมและประกอบอาหาร
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมการเติมน้ำแข็งในเครื่องดื่มเพราะน้ำแข็งอาจผลิตจากน้ำก๊อก ทั้งนี้เว้นแต่คุณจะทราบที่มาของน้ำที่ใช้ผลิตน้ำแข็ง

โรคบิดเป็นอีกหนึ่งโรคที่ไม่มีใครอยากเผชิญกับความเจ็บปวดและความทรมาน ดังนั้นถ้าไม่อยากเผชิญกับอาการต่าง ๆ ของโรคบิด ควรให้ความสำคัญในประโยชน์ของการล้างมือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ติดเชื้อ การเลือกรับประทานอาหารให้ดี โดยเฉพาะอาหารข้างถนนหรืออาหารปรุงดิบและกึ่งดิบ หมั่นดูแลสุขอนามัยโดยรวมอย่างสม่ำเสมอ และรีบพบแพทย์ทันทีหากมีอาการรุนแรงมากขึ้น 

Cr. https://www.dettolthailand.com/common-infections/germs-bacteria-viruses/dysyntery/

Categories
บทความ

ไวรัสตับอักเสบเอและบี ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

โรคฮีทสโตรก…อันตรายถึงชีวิต

  • การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบนอกจากจะส่งผลให้ตับไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติแล้ว หากปล่อยไว้จนตับอักเสบเรื้อรัง อาจทำให้เกิดโรคตับแข็ง และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับได้
  • ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ สามารถติดต่อได้ผ่านการรับประทานอาหาร น้ำดื่ม หรือสัมผัสสิ่งปนเปื้อนเชื้อไวรัสหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี อาจส่งผลให้ตับวาย
  • การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบเอเป็นการป้องกันโรคที่ได้ผลเกือบ 100% และสามารถป้องกันการติดเชื้อได้นานตลอดชีวิต

โรคไวรัสตับอักเสบ คืออะไร

โรคไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis) เป็นภาวะที่เกิดการอักเสบของตับ  จากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซึ่งมีหลายสายพันธุ์ ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี ดี และอี  โดยไวรัสทั้งหมดมีการติดต่อแตกต่างกันไปตามชนิดและลักษณะเฉพาะ  การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบนอกจากจะส่งผลให้ตับเสียหาย ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติแล้ว  หากปล่อยไว้จนตับอักเสบเรื้อรัง อาจทำให้เกิดโรคตับแข็ง และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับได้

ไวรัสตับอักเสบเอ

ไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A)  เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอ (Hepatitis A virus; HAV) สามารถติดต่อได้จากการรับประทานอาหาร น้ำดื่ม หรือสัมผัสสิ่งปนเปื้อนเชื้อไวรัส  โดยเชื้อจะเข้าฝังตัวในลำไส้ แล้วค่อยๆ กระจายไปสู่ตับ จนเกิดการอักเสบของตับหลังจากได้รับเชื้อราว 1-2 สัปดาห์ ส่งผลให้เกิดภาวะอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และดีซ่าน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี อาจส่งผลให้ตับวาย และเสียชีวิตได้

สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอแล้วจะไม่เป็นซ้ำอีก รวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันหรือฉีดวัคซีนป้องกันก็จะสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอได้เช่นกัน

วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ

การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบเอเป็นการป้องกันโรค ที่ได้ผลเกือบ 100%  และภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอจะอยู่ติดตัวไปได้ตลอด  สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่คุณพ่อคุณแม่เริ่มพาลูกๆ ออกไปมีกิจกรรมนอกบ้าน หรือเริ่มเข้าโรงเรียน   อาจได้รับเชื้อจากการรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรือสัมผัสกับเชื้อได้ง่าย โดยฉีดวัคซีน 2 ครั้ง ห่างกัน 6 เดือน  สำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคไวรัสตับอักเสบเอ สามารถรับการฉีดวัคซีน 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน โดยสามารถขอคำแนะนำหรือปรึกษาแพทย์

ผู้ที่ควรฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ

 
ผู้ที่จะเดินทางไปยังสถานที่ ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ ซึ่งควรได้รับการฉีดวัคซีนก่อนเดินทางประมาณ 1 เดือน
  • ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบเอ
  • ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ ทั้งจากคน สัตว์และสิ่งแวดล้อม เช่น ผู้ดูแลผู้ป่วย หรือผู้ที่ทำงานในบ่อบำบัดน้ำเสีย
  • ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน
  • ผู้ที่ใช้ยาเสพติดทุกประเภท
  • ผู้ป่วยโรคตับอักเสบเรื้อรัง
  • บุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาลหรือห้องปฏิบัติการ
  • พ่อครัว แม่ครัวที่ต้องปรุงอาหารเป็นประจำ

ไวรัสตับอักเสบบี

ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B)  มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี (Hepatitis B virus; HBV)  ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่อันตรายอย่างยิ่ง  หากได้รับเชื้อแล้วไม่ได้รับรักษา อาจนำไปสู่การอักเสบเรื้อรัง  ตับวาย ตับแข็ง และมะเร็งตับ โดยสามารถติดต่อผ่านทางการคลอด การสัมผัสเลือดหรือแผลเปิดของผู้ติดเชื้อ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ และการใช้อุปกรณ์ที่แหลมคมหรือของใช้ส่วนตัวร่วมกัน เช่น  เข็มฉีดยา มีดโกนหนวด หรือแปรงสีฟัน

วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี

อาจเรียกได้ว่าเป็นวัคซีนป้องกันมะเร็งชนิดแรก เนื่องจากสามารถช่วยป้องกันมะเร็งตับ อันเกิดต่อเนื่องจากภาวะไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งตับถึง 80%  และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับสองของโรคมะเร็งทั้งหมด

วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี  ประกอบด้วยโปรตีนจากผิวของไวรัส (HBsAg)  ซึ่งไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี แต่จะไปกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานขึ้นในร่างกาย  สามารถฉีดป้องกันได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิด โดยฉีดเหมือนกับผู้ใหญ่ ทั้งหมด 3 เข็ม  หลังจากฉีดเข็มแรกแล้ว 1 เดือนจึงฉีดเข็มที่ 2 และฉีดเข็มที่ 3  หลังจากฉีดเข็มที่ 2 แล้ว 5 เดือน 

เมื่อฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี  ครบ 3 เข็ม ส่วนใหญ่พบว่าร่างกายสร้างภูมิคุมกันได้มากถึง  97%  และสามารถป้องกันการติดเชื้อได้นานตลอดชีวิต  อย่างไรก็ตาม หลังจากได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม ประมาณ 1-2 เดือน  ควรเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อยืนยันว่ามีภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบี หากยังไม่มีภูมิต้านทาน  ควรฉีดวัคซีนเพิ่มตามคำแนะนำของแพทย์

ผู้ที่ควรฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี

  • ทารกแรกเกิด เด็ก และวัยรุ่นที่ไม่ได้รับวัคซีนเมื่อแรกเกิด
  • ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่ทำงานในสถานพยาบาล
  • ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง
  • ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการฟอกไต
  • ผู้ป่วยที่ได้รับเลือดบ่อยๆ
  • ผู้ที่ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น
  • ผู้ที่ต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค
  • ผู้ที่เสี่ยงต่อโรคเนื่องจากปัจจัยเสี่ยงทางพฤติกรรมทางเพศ เช่น รักร่วมเพศ มีคู่นอนหลายคน

เนื่องจากไวรัสตับอักเสบแต่ละชนิดเกิดจากเชื้อไวรัสแตกต่างกัน   การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบแต่ละสายพันธุ์จะสามารถป้องกันเฉพาะไวรัสสายพันธุ์ที่ฉีดเท่านั้น ดังนั้นหากจำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิดใดควรเจาะจงชนิดของวัคซีนให้ถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ และวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีรวมในเข็มเดียวกัน โดยสามารถสอบถามรายละเอียดจากแพทย์หรือโรงพยาบาลที่ต้องการเข้ารับการฉีดวัคซีน

Cr. https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/ไวรัสตับอักเสบเอและบี