Categories
บทความ

โรคมะเร็งทางนรีเวชที่พบบ่อย ภัยร้ายของผู้หญิงที่ต้องระวัง

โรคมะเร็งทางนรีเวชที่พบบ่อย ภัยร้ายของผู้หญิงที่ต้องระวัง

มะเร็งทางนรีเวช หรือ มะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ผู้หญิง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้หญิง โดยปัจจัยสำคัญมากจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือประวัติการเป็นมะเร็งของคนในครอบครัว ที่ทำให้ผู้หญิงไทยเป็นโรคมะเร็งนรีเวชกันมากขึ้น โดย 3 อันดับที่พบบ่อย ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และมะเร็งรังไข่ แต่จริงๆ แล้วสามารถพบได้ทุกอวัยวะ ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งช่องคลอด มะเร็งกล้ามเนื้อมดลูก มะเร็งเนื้อรก แต่ส่วนนี้จะพบได้น้อย ทั้งนี้มะเร็งทางนรีเวชสามารถเป็นได้ทุกช่วงอายุ ดังนั้นผู้หญิงทุกคนควรหมั่นสังเกตตัวเอง หากพบว่ามีอาการผิดปกติควรรีบมาพบแพทย์เฉพาะทาง และเพื่อให้รู้เท่าทันไปทำความรู้จักกับ 3 มะเร็งทางนรีเวชที่พบบ่อยกันดีกว่า

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งทางนรีเวชแต่ละชนิด

  1. มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งในผู้หญิง มักพบในผู้หญิงที่มีช่วงอายุ 35-55 ปี ตัวก่อมะเร็งที่ชัดเจน คือ เชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV: Human Papillomavirus) เชื้อไวรัสที่แพร่กระจายได้ง่ายผ่านการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง หรือการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนั้นก็จะเป็นพฤติกรรมต่างๆ เช่น การสูบบุหรี่ การมีคู่นอนหลายคน หรือกรรมพันธุ์ซึ่งอาจจะไม่ค่อยมีส่วนเกี่ยว ส่วนใหญ่จะเป็นการติดเชื้อ HPV แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเชื้อ HPV เท่านั้น
  2. มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มักพบในผู้หญิงที่อายุ 60 ปีขึ้นไป เกิดจากการทานตัวยาบางอย่าง และได้รับฮอร์โมนที่เกินขนาด อาจจะเป็นยาฮอร์โมนที่ซื้อทานเอง ยาฮอร์โมนในวัยทองที่ได้รับมานานเกินไป หรือว่าการทานยาบางอย่าง เช่น ทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) ที่ใช้รักษาโรคมะเร็งเต้านม และมาจากร่างกายที่มีน้ำหนักเยอะ หรือประจำเดือนไม่ค่อยมา
  3. มะเร็งรังไข่ มักพบได้บ่อยในช่วงอายุ 55-64 ปี ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดมะเร็งรังไข่อย่างแน่ชัด แต่สันนิษฐานได้ว่าเกิดจากการผิดปกติที่ถ่ายทอดของพันธุกรรม โดยจะพบมากในกลุ่มครอบครัวที่มีประวัติเป็นมะเร็งรังไข่ รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มสตรีที่ใช้ยากระตุ้นการตกไข่

อาการของมะเร็งทางนรีเวชแต่ละชนิด

  1. มะเร็งปากมดลูก ถ้ารอให้มีอาการแสดงว่าก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นแล้ว มะเร็งปากมดลูกยังมีข้อดีอยู่ตรงที่ก้อนมะเร็งจะค่อยๆ โตขึ้น โตช้า แต่ว่าจะมีขั้นตอนการตรวจที่ชัดเจน คือ จะสามารถตรวจจับได้ตั้งแต่เซลล์ก่อนเป็นมะเร็ง โดยมะเร็งปากมดลูกระยะแรกจะไม่มีอาการ พบได้จากจากตรวจเท่านั้น ถ้ามีอาการจะมีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ เลือดออกไม่เป็นรอบ กระปริบกระปรอย หรือตกขาวเหม็นไม่หายเรื้อรัง แต่ถ้ามีอาการก็จะพบเป็นก้อน 3-4 เซนติเมตร
  2. มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก จะแยกระหว่างวัยหมดประจำเดือนและวัยยังไม่หมดประจำเดือน ถ้าในวัยหมดประจำเดือน การกลับมามีเลือดออกอีกจะเป็นอาการเริ่มต้น แต่ในส่วนวัยก่อนหมดประจำเดือน จะมีอาการประจำเดือนมาผิดปกติ มามากขึ้น หรือมาไม่เป็นรอบ ซึ่งมะเร็งชนิดนี้ไม่มีการตรวจคัดกรอง
  3. มะเร็งรังไข่ ค่อนข้างจะไม่มีอาการก่อนเริ่มเป็น ถ้ามีอาการก็ คือ เป็นมากแล้วในระยะ 3-4 อาการจะค่อนข้างกำกวมกับโรคทางเดินอาหาร เช่น บวมๆ ท้อง กินไม่ได้ รู้สึกท้องตึงหน่อยๆ รู้สึกขึ้นคลื่นไส้อาเจียน จะไม่มีอาการเลือดออกใดๆ ถ้าจะพบก็ คือ บังเอิญเจอจากการตรวจสุขภาพประจำปี หรือจากการอัลตราซาวด์ด้วยสาเหตุอื่นๆ จึงบังเอิญพบเนื้องอกรังไข่

การตรวจวินิจฉัย แต่ละชนิดตรวจอย่างไรบ้าง

โดยส่วนใหญ่ต้องได้ชิ้นเนื้อไม่ว่ามะเร็งอะไร

  1. มะเร็งปากมดลูก จะคัดกรองร่วมกับ การหาเชื้อ HPV (HPV DNA testing) หากสงสัยก็จะตัดชิ้นเนื้อนำไปวินิจฉัยต่อในห้องปฏิบัติการ
  2. มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก จะวินิจฉัยด้วยการดูด ขูด หรือส่องกล้องโพรงมดลูก เพื่อเอาชิ้นเนื้อไปวินิจฉัยต่อในห้องปฏิบัติการ
  3. มะเร็งรังไข่ จะตรวจตามการวัดค่าต่างๆ เช่น การตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งร่วมกับการอัลตราซาวด์ ตรวจด้วยรังสีวินิจฉัยการส่องกล้องแลปพาโรสโคปเก็บตัวอย่างของเนื้องอกเพื่อนำไปวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา โดยนำอายุ และค่าอื่นๆ มาคิดคำนวณค่าเป็นเปอร์เซ็นต์ หากค่ามากให้สงสัยว่าเป็นมะเร็ง และส่งพบแพทย์มะเร็ง

แนวทางการรักษามะเร็งทางนรีเวชแต่ละชนิด

การรักษามะเร็งทั้ง 3 ชนิด มีอยู่ 3 วิธีหลักๆ ดังนี้ การผ่าตัด การใช้รังสีรักษาหรือการฉายแสง และเคมีบำบัด รวมถึงการให้ยามุ่งเป้า ซึ่งรายละเอียดจะต่างกัน เช่น

  1. มะเร็งปากมดลูก ในระยะเริ่มแรกก่อนเป็นมะเร็ง จะใช้การตัดปากมดลูกออก (LEEP) ซึ่งมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มต้นจะใช้การผ่าตัด เพราะมะเร็งปากมดลูกในระยะแรก เซลล์มะเร็งจำกัดอยู่เฉพาะที่ปากมดลูก ยังไม่แพร่ไปอวัยวะใกล้เคียง แต่เมื่อผู้ป่วยอยู่ระยะลุกลาม เซลล์มะเร็งแพร่ไปยังอวัยวะใกล้เคียงแล้ว เช่น ตัวมดลูก รังไข่ ต่อมน้ำเหลือง กระเพาะปัสสาวะ ท่อไต ลำไส้ใหญ่ ตลอดจนเยื่อบุช่องท้อง การรักษาในระยะนี้จะใช้รังสีรักษาเป็นหลัก อาจร่วมกับการให้เคมีบำบัดด้วย
  2. มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก จะรักษาด้วยการผ่าตัด จากนั้นจะใช้รังสีรักษาหรือการฉายแสง หากเป็นระยะลุกลามจะมีเคมีบำบัดร่วมด้วย ซึ่งอยู่ที่ดุลยพินิจของแพทย์
  3. มะเร็งรังไข่การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดจะเป็นวิธีหลักของมะเร็งรังไข่ด้วยการผ่าตัดมดลูก และรังไข่ทั้ง 2 ข้าง พร้อมทั้งเลาะต่อมน้ำเหลืองและเยื่อบุช่องท้องตามตำแหน่งที่มะเร็งมักแพร่กระจายไป หรือเอาก้อนมะเร็งออกให้มากที่สุด และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับยาเคมีบำบัดเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

การป้องกันโรคมะเร็งทางนรีเวช

  1. มะเร็งปากมดลูกป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น มีเพศสัมพันธ์เร็ว มีคู่เพศสัมพันธ์หลายคน เป็นต้น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสม่ำเสมอเพื่อตรวจหาเซลล์ผิดปกติ หรือรอยโรคมะเร็งก่อนที่จะเกิดเซลล์ลุกลาม นอกจากนี้ควรฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกหรือวัคซีนเอชพีวี ได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป
  2. มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกสามารถลดโอกาสเกิดมะเร็งชนิดนี้ได้โดยการควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี รวมทั้งการเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางเมื่อเกิดความผิดปกติ เช่น ประจำเดือนขาดต่อเนื่อง มีประจำเดือนมาไม่ตรงรอบ หรือมีเลือดออกผิดปกติหลังเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เป็นต้น
  3. มะเร็งรังไข่เข้ารับการตรวจสุขภาพ รวมทั้งการตรวจภายในและพบสูตินรีแพทย์เป็นประจำทุกปี เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งรังไข่ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวหรือญาติสายตรงเป็นมะเร็งรังไข่ตั้งแต่อายุยังน้อย

อย่างไรก็ตามการรักษามะเร็งทางนรีเวชแต่ละชนิดนั้น ความสำเร็จจากการรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็ง ขนาดก้อนมะเร็ง สุขภาพของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์จะพิจารณาการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละราย ทั้งนี้หากคุณมีอาการผิดปกติดังกล่าว หรือสงสัยว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อเข้ารับคำแนะนำและการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพราะหากตรวจพบได้เร็ว รักษาได้ทันท่วงที จะยิ่งเพิ่มโอกาสและประสิทธิภาพในการรักษามากยิ่งขึ้น

Categories
บทความ

ภาวะสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ มีอาการแบบไหน รักษาได้หรือไม่

ภาวะสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ มีอาการแบบไหน รักษาได้หรือไม่

หากผู้สูงอายุที่บ้านของคุณ มีพฤติกรรมและอารมณ์ที่เปลี่ยนไป มีอาการหลงลืม สับสนเรื่องเวลา สถานที่ ไม่สามารถรับรู้หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และใช้ภาษาผิดปกติ พฤติกรรมเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญให้ระวังการเป็นโรคอัลไซเมอร์ โดยข้อแตกต่างสำคัญระหว่างผู้ที่มีอาการขี้ลืมหรือหลงลืมตามวัย กับการเริ่มเข้าสู่กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ มีข้อสังเกตที่ต้องใช้ความใส่ใจและวิเคราะห์อย่างใกล้ชิด

ความแตกต่างระหว่างหลงลืมตามวัยกับโรคอัลไซเมอร์

หากเป็นการหลงลืมตามวัยแบบทั่วไปแล้ว โดยปกติเมื่ออายุมากกว่า 60 ปี สมองของเรามักจะถดถอยตามวัย อาจมีการคิดช้า ใช้เวลาในการนึก ตัดสินใจแย่ลง อาจจะเริ่มมีหลงลืม เช่น หากุญแจไม่เจอ จำที่จอดรถไม่ได้ หรืออาจจะนึกชื่อเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนานๆ ไม่ออก แต่เมื่อมีการบอกใบ้ ก็จะสามารถดึงข้อมูลนั้นออกมาได้ ที่สำคัญ คือ ยังช่วยเหลือตัวเองในกิจวัตรประจำวันได้

หากมีอาการหลงลืมแบบเข้าข่ายโรคอัลไซเมอร์ มักจะจำไม่ได้เลยว่ามีเหตุการณ์นั้นๆ เกิดขึ้น นึกอย่างไรก็นึกไม่ออก หรือลืมแล้วลืมเลย ลืมแม้กระทั่งทักษาการใช้เครื่องมือในชีวิตประจำวัน หรืออาจจะถึงกับลืมชื่อคนในครอบครัว เช่น เปิดฝักบัวไม่เป็น ลืมวิธีกดรีโมท ซึ่งการเสื่อมของสมองจะค่อยเป็นค่อยไปและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

สาเหตุอาการอัลไซเมอร์

อาการของโรคสมองเสื่อมที่มีสาเหตุมาจากอัลไซเมอร์นั้น จะมีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยอาการแรกเริ่มที่สำคัญของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ คือ การสูญเสียความจำระยะสั้น ซึ่งเป็นอาการที่ใกล้เคียงกับภาวะความจำเสื่อมตามธรรมชาติในผู้สูงอายุ แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้ป่วยร้อยละ 80-90 จะมีอาการทางพฤติกรรมหรือทางจิตเวชร่วมด้วย ซึ่งอาการทางพฤติกรรมนี่เองที่ทำให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะรายที่มีอาการก้าวร้าว

อาการทั่วไปของโรคอัลไซเมอร์อาจแบ่งคร่าวๆ ได้เป็นสามระยะ ได้แก่

  • ระยะแรก ผู้ป่วยจะมีความจำถดถอยจนตัวเองรู้สึกได้ ชอบถามซ้ำ พูดซ้ำๆ เรื่องเดิม สับสนทิศทาง เริ่มเครียด อารมณ์เสียง่ายและซึมเศร้า
  • ระยะกลาง ผู้ป่วยมีอาการชัดเจนขึ้น ความจำแย่ลงอีก เดินออกจากบ้านไปโดยไม่มีจุดหมาย พฤติกรรมเปลี่ยนไปมาก เช่น จากที่เป็นคนใจเย็นก็กลายเป็นหงุดหงิดฉุนเฉียว ก้าวร้าว พูดจาหยาบคาย เป็นต้น
  • ระยะสุดท้าย ถือว่าเป็นระยะรุนแรง ผู้ป่วยจะตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างน้อยลง สุขภาพทรุดโทรมลงคล้ายผู้ป่วยติดเตียง รับประทานได้น้อยลง การเคลื่อนไหวน้อยลงหรือไม่เคลื่อนไหวเลย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ปัสสาวะหรืออุจจาระเล็ด เนื่องจากกลั้นไม่อยู่ และสูญเสียความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน ต้องพึ่งพาผู้อื่นในเรื่องง่ายๆ เช่น ป้อนข้าว อาบน้ำ เป็นต้น รวมทั้งภูมิคุ้มกันอ่อนแอเป็นสาเหตุให้เกิดโรคแทรกซ้อน ภาวะการติดเชื้อที่นำไปสู่การเสียชีวิตได้

เช็คลิสต์ความเสี่ยงหลงลืมแบบไหน กำลังเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์

  • อาการหลงลืม เช่น หลงลืมสิ่งของ ลืมนัด จำเหตุการณ์หรือคำพูดที่เพิ่งผ่านมาไม่ได้ ลืมสิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ลืมวันสำคัญหรือเหตุการณ์สำคัญที่ผ่านมา
  • สับสนเรื่องเวลา สถานที่ ฤดูกาล กลับบ้านไม่ถูก หลงทิศทาง หรือไม่รู้ว่าจะไปสถานที่นั้นๆ ได้อย่างไร
  • จำบุคคลที่เคยรู้จัก เพื่อน หรือสมาชิกในครอบครัวไม่ได้ คิดว่าเป็นคนแปลกหน้า
  • มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร หรือเรียกสิ่งของไม่ถูก พูดคำหรือประโยคซ้ำๆ
  • ไม่สนใจในสิ่งที่เคยสนใจ เช่น กิจกรรมประจำวัน งานอดิเรก
  • มีปัญหาเรื่องการนับหรือทอนเงิน การใช้โทรศัพท์ การดูนาฬิกา
  • มีพฤติกรรมที่อาจเกิดปัญหายุ่งยาก เช่น ออกนอกบ้านเวลากลางคืน พฤติกรรมก้าวร้าว
  • ไม่สนใจดูแลความสะอาดของตัวเอง เช่น แปรงฟันไม่เป็น อาบน้ำไม่เป็น
  • ซึมเศร้า ร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล

โรคอัลไซเมอร์ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิดอย่างไร

โรคอัลไซเมอร์ ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ป่วยความจำถดถอยเท่านั้น ยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ได้แก่

  • ด้านการเคลื่อนไหว สมองที่ควบคุมในส่วนความเคลื่อนไหว ควบคุมอวัยวะต่างๆ จะค่อยๆ เสื่อมลง เช่น การรับรู้ ทางหู ตา ประสาทสัมผัส การเดิน สมดุลของร่างกาย
  • ด้านภาษา ความสามารถในการสื่อสารจะด้อยลง ไม่สามารถสื่อสารเป็นประโยค นึกคำศัพท์ไม่ออก
  • ด้านสมาธิ และการให้ความสนใจในเรื่องต่างๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีสมาธิสั้น ไม่สามารถทำกิจกรรมได้นานๆ
  • ด้านการตีความ เกิดความสับสนในการตีความ เช่น การที่คนเดินเข้ามาใกล้ คิดว่าจะมาทำร้าย
  • ด้านการตัดสินใจ ขาดความสามารถในการตัดสินใจ ซึ่งจะส่งผลต่อกิจกรรมหลายอย่าง เช่น การขับรถ
  • ด้านความเข้าใจในนามธรรม เกิดความสับสนใจเรื่องของเวลา อดีต ปัจจุบัน ไม่สามารถเข้าใจคำพูดเปรียบเปรยได้

อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อผู้ใกล้ชิดที่จะต้องมาคอยดูแล อาจก่อให้เกิดความอ่อนล้า ความเครียด ความซึมเศร้า หงุดหงิด ต่อผู้ดูแลและอาจทำให้มีปัญหาทางสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจได้

ความแตกต่างระหว่าง โรคอัลไซเมอร์กับ สมองเสื่อม

หลายท่านสงสัยว่า โรคสมองเสื่อม กับ โรคอัลไซเมอร์ เหมือนกันหรือไม่ โดยมีความสับสนว่าโรคสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคเดียวกัน แต่ความจริงแล้วโรคสมองเสื่อมไม่ใช่โรคเดียวกับโรคอัลไซเมอร์ แต่โรคอัลไซเมอร์เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดโรคสมองเสื่อม โดยผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมที่มีสาเหตุจากอัลไซเมอร์ จะมีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ ไม่เป็นที่สังเกต จนเมื่อผ่านไปราว 5-6 ปี ความผิดปกติต่าง ๆ จะแสดงออกมาชัดเจนขึ้น เช่น ไม่สามารถการอาบน้ำแต่งตัวได้เอง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และจะเป็นมากขึ้นตามระยะอาการ

สำหรับ โรคสมองเสื่อม (Dementia Syndrome) หรือ ภาวะสมองเสื่อม เป็นความถดถอยในการทำงานของสมองซึ่งเกิดจากการสูญเสียเซลล์สมองหลายส่วนซึ่งพบได้ในผู้สูงอายุ โดยเริ่มจากส่วนใดส่วนหนึ่งในการทำงานของสมองขั้นสูง 6 ด้าน คือ ด้านสมาธิ ด้านการคิด ตัดสินใจ และการวางแผน ด้านความจำ ด้านการใช้ภาษา ด้านมิติสัมพันธ์ ด้านการเข้าสังคม ถ้าหากการทำงานของสมอง 1 ใน 6 ด้าน อย่างใดอย่างหนึ่งสูญเสียการทำงานไปหรือเสียมากถึงระดับที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย เราเรียกภาวะนี้ว่า “ภาวะสมองเสื่อม”

ประเภทของโรคสมองเสื่อม สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ตามสาเหตุ ได้แก่

  1. กลุ่มที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น โรคอัลไซเมอร์ เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคสมองเสื่อมที่พบมากที่สุด
  2. กลุ่มที่รักษาให้ดีขึ้นได้ เช่น โรคสมองเสื่อมที่เกิดจากการทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ หรือเกิดจากการมีน้ำคั่งในโพรงสมองมากกว่าปกติ หรือเกิดจากการมีเลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง

จะรู้ได้อย่างไร อาการแบบไหนเป็นสมองเสื่อม?

กรณีผู้ป่วยมีอาการที่เข้าข่ายโรคอัลไซเมอร์มาระยะหนึ่ง หรือเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน อาจสงสัยว่าอาการที่เป็นอยู่ปัจจุบันเข้าข่ายภาวะสมองเสื่อมแล้วหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้จากอาการเหล่านี้

  • ความเข้าใจภาษาลดลง ใช้ภาษาไม่ถูกต้อง เรียกชื่อสิ่งของไม่ถูก อาจหยุดพูดกลางคันและไม่รู้ว่าจะต้องพูดอะไรต่อ หรือพูดย้ำกับตัวเอง รวมถึงอาจพูดน้อยลง
  • สับสนเรื่องเวลาหรือสถานที่ อาจลืมว่าตอนนี้ตนอยู่ที่ใดและเดินทางมายังสถานที่นั้นได้อย่างไร
  • ไม่สามารถทำกิจกรรมที่เคยทำได้มาก่อน เช่น ลืมวิธีการเปลี่ยนช่องทีวี
  • บกพร่องในการรับรู้หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ทราบว่าของสิ่งนี้มีไว้ทำอะไร หรือไม่สามารถแยกแยะรสชาติหรือกลิ่นได้
  • บกพร่องในการบริหารจัดการ และตัดสินใจแก้ไขปัญหา ไม่กล้าตัดสินใจหรือตัดสินใจผิดพลาดบ่อย ๆ
  • บกพร่องในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ แต่งตัว ไม่สามารถไปไหนตามลำพังได้
  • บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง เช่น ซึมเศร้า เฉื่อยชา โมโหฉุนเฉียวง่ายโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน เห็นภาพหลอน หวาดระแวง

แพทย์วินิจฉัยและรักษาโรคอัลไซเมอร์อย่างไร

แพทย์จะมีการซักประวัติจากผู้ป่วย ญาติ หรือผู้ดูแลที่สามารถให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับความสามารถในชีวิตประจำวัน และพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความถดถอยด้านการทำงานของสมอง จากนั้นจะเริ่มการทดสอบทางสมอง เพื่อวัดสมรรถภาพการทำงานประเมินความบกพร่องในการรับรู้เพื่อใช้วินิจฉัยโรค เช่น ให้ทำแบบทดสอบกระดาษหน้าเดียวที่มีคำถามเกี่ยวกับความรู้ทั่วไป ทักษะสมอง คิดเลข ร่วมกับการตรวจร่างกายและเลือกการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เหมาะสม เพื่อให้การวินิจฉัยแยกโรคที่ถูกต้องว่าผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมหรือไม่ และมีสาเหตุจากอะไร โดยการตรวจในห้องปฏิบัติการจะประกอบไปด้วย การตรวจเลือดต่างๆ การตรวจภาพสมองด้วยเครื่อง Computed Tomography (CT) หรือ Magnetic Resonance Imaging (MRI)

ในด้านของการรักษานั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุเป็นหลัก โดยผู้ป่วยที่ภาวะสมองเสื่อมเกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทหรือเกิดจากโรคอัลไซเมอร์นั้น การรักษาจะประกอบด้วยการให้ยาที่ทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นและชะลอการดำเนินโรคให้ช้าลง ซึ่งมักจะได้ผลกับผู้ป่วยในระยะเริ่มแรก ร่วมกับการให้ยารักษาอารมณ์และพฤติกรรมที่ผิดปกติในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง การรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองด้วยกระแสไฟฟ้าอย่างอ่อนเพิ่มความจำและความสามารถของสมอง เป็นต้น ส่วนผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ได้เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทนั้น จะเป็นการรักษาสาเหตุของโรคเป็นหลัก

ข้อปฏิบัติตัวของผู้ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์

การมีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ เป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในการดูแลผู้ป่วย ผู้ดูแลจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค อาการและอาการแสดง พฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้น และการดูแลที่เป็นพิเศษ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม โดยขั้นตอนแรกให้วางแผนการดูแลผู้ป่วยร่วมกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยจะได้รับการดูแลที่ถูกต้องเมื่ออยู่ที่บ้าน สิ่งใดก่อให้เกิดอารมณ์หรือความไม่พอใจแก่ผู้ป่วย ควรหาสาเหตุแก้ไขหรือหลีกเลี่ยง จะช่วยลดความเครียดแก่ผู้ป่วย กระตุ้นให้ผู้ป่วยดูแลตนเองให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การทำความสะอาดร่างกาย การอาบน้ำ จัดเตรียมอุปกรณ์ตามลำดับก่อนหลัง กำหนดเวลาอาบน้ำ การเข้าห้องน้ำ ให้สอดคล้องกับชีวิตประจำวันที่เคยทำ เป็นต้น

ผู้ดูแลควรส่งเสริมให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว พาออกไปเที่ยวนอกบ้านเป็นครั้งคราว หรือไปพบปะเพื่อน พร้อมดูแลช่วยเหลือให้ผู้ป่วยได้ออกกำลังกายตามสมควร และเพื่อให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น ผู้ดูแลควรสังเกตอาการที่ผิดปกติของผู้ป่วย บันทึกพฤติกรรม และแจ้งให้แพทย์ทราบเมื่อถึงเวลานัดตรวจโรค ดูแลเรื่องการทานยาให้ครบและสม่ำเสมอตามที่แพทย์สั่ง หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ เช่น อาการนอนไม่หลับ วิตกกังวล หรือซึมเศร้ามากเกินไป พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ก้าวร้าว หลงผิด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครอยากเป็นโรคอัลไซเมอร์จึงควรดูแลตัวเองด้วยวิธีง่าย ๆ คือหมั่นบริหารสมอง เช่น อ่านหนังสือเป็นประจำ ดูแลสุขภาพจิตให้ดี และสำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือผู้สูงอายุที่บ้านมีสัญญาณอาการดังกล่าว หรือข้อใดข้อหนึ่ง ควรเริ่มตรวจวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ เพราะโรคนี้หากรู้เร็ว รักษาทัน ป้องกันภาวะอัลไซเมอร์ด้วยการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านสมอง

Categories
บทความ

อย่าชะล่าใจ! แค่น้ำเข้าหูอาจเสี่ยงเป็นหูชั้นนอกอักเสบได้

อย่าชะล่าใจ! แค่น้ำเข้าหูอาจเสี่ยงเป็นหูชั้นนอกอักเสบได้

เชื่อว่าหลายคนคงเคยประสบปัญหาน้ำเข้าหูมาแล้ว ซึ่งอาจเกิดระหว่างการว่ายน้ำ อาบน้ำหรือสระผม ทำให้เกิดอาการหูอื้อ รู้สึกเหมือนมีเสียงน้ำอยู่ในหู บางครั้งทำให้การได้ยินลดลงจนเกิดความรำคาญ ในขณะที่หลายคนพยายามจะเอาน้ำออกจากหูด้วยวิธีต่างๆ เช่น ตะแคงหัวแล้วตบที่หู การเอียงหูแล้วกระโดดโยกหัวแรงๆ รวมไปถึงการเอาน้ำหยอดลงในหูอีกครั้งให้เต็มโดยให้ไหลออกมาเอง หรือบางคนใช้ไม้แคะหู ปั่นหู เพื่อเอาน้ำออกจนเกิดแผลถลอกและเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบตามมาได้ แต่รู้หรือไม่ว่าการว่ายน้ำก็อาจทำให้เกิดภาวะหูชั้นนอกอักเสบ หรือที่เรียกว่า “Swimmer Ear” ได้ด้วยเช่นกัน

สาเหตุของหูชั้นนอกอักเสบ

โดยปกติในสรีระร่างกายทางธรรมชาติ รูหูส่วนนอกมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคต่างๆ และสิ่งแปลกปลอมผ่านเข้าไปได้ แต่ก็มีปัจจัยหลายๆ สาเหตุที่ทำให้การป้องกันนี้เสื่อมสภาพลงไปและเกิดอันตรายต่อหูชั้นนอกตามมาได้ นั่นก็คือ

  1. ความเครียดทางอารมณ์ เมื่อเครียดมากเราอาจแสดงออกโดยการใช้นิ้วมือหรือวัตถุอื่นเขี่ยในหู ซึ่งอาจทำให้เกิดรอยถลอก และเกิดการอักเสบตามมาจากการถลอกหรือรอยแผลนั้น
  2. การแคะหู หรือ เขี่ยขี้หูออก ซึ่งเป็นความเข้าใจของหลายๆ คนว่า ขี้หูเป็นสิ่งสกปรก ต้องทำให้หมดไป จึงทำให้ไขมันที่ทำหน้าที่ให้ความชุ่มชื้นกับผิวหนังรูหูที่เคลือบอยู่หลุดออกไป และการแคะหูบ่อยๆ อาจนำมาซึ่งการอักเสบได้
  3. ความร้อนและความชื้น สภาวะอากาศและอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้เชื้อโรคต่างๆ เจริญเติบโตได้ดีมากขึ้น
  4. ผู้ที่มีรูหูแคบและขี้หูมาก เมื่อน้ำเข้าหูก็ไม่สามารถระบายออกมาได้ ต้องเช็ดหรือแคะหู ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ
  5. การว่ายน้ำ ดำน้ำ ทำให้ขี้หูถูกละลายออกไป เกิดภาวะเป็นด่างในรูหู เชื้อโรคจึงสามารถเจริญเติบโตได้ดี
  6. โรคทางระบบอื่นๆ เช่น โรคของระบบต่อมไร้ท่อ โรคเลือด โรคขาดวิตามิน โรคผิวหนังบางชนิด ภูมิแพ้ผิวหนัง ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส แพ้เครื่องช่วยฟัง แพ้น้ำยาจากการล้างชิ้นส่วนของแว่นตา ซึ่งทำให้เกิดการระคายเคืองและการอักเสบของรูหูส่วนนอกได้

หูชั้นนอกอักเสบมีอาการอย่างไร

อาการของหูชั้นนอกอักเสบติดเชื้อ ได้แก่

  • คันในรูหู ปวดหู หูอื้อ
  • ความสามารถในการได้ยินลดลง
  • มีน้ำหรือน้ำเหลืองไหลออกจากหู
  • เมื่อใช้เครื่องมือส่องดูในช่องหู ทำให้มองเห็นแก้วหูไม่ชัด มีช่องหูแดง
  • ในบางรายอาจมีไข้ร่วมด้วยได้ เนื่องจากติดเชื้อเป็นฝีหนอง
  • กดแล้วมีอาการเจ็บบริเวณหน้าใบหู โยกใบหูแล้วเจ็บมากขึ้น

ทำอย่างไรเมื่อน้ำเข้าหู

โดยปกติช่องหูชั้นนอกจะเป็นรูปตัวเอส (S) ฉะนั้นเมื่อมีน้ำเข้าหู ควรปฏิบัติดังนี้

  1. เอียงศีรษะ เอาหูข้างที่น้ำเข้าลงต่ำและดึงใบหูให้กางออก
  2. ดึงใบหูขึ้นบนและไปทางด้านหลังเพื่อทำให้ช่องหูอยู่ในแนวตรง จะทำให้น้ำสามารถไหลออกมาได้ง่าย
  3. ไม่ควรปั่นหรือแคะหูเพราะจะทำให้หูอักเสบ
  4. หากปฏิบัติด้วยวิธีดังกล่าวเบื้องต้นแล้วน้ำยังไม่ออกจากช่องหูแนะนำพบแพทย์หู คอ จมูก

การตรวจน้ำเข้าหูและหูชั้นนอกอักเสบรักษาอย่างไร

ในการตรวจและการดูแลรักษา เบื้องต้นแพทย์จะส่องตรวจหูด้วยเครื่องมือประเมินการบวมอักเสบของช่องหูว่ามีอาการบวมมากน้อยเพียงใด โดยมีขั้นตอนการรักษาดังนี้

  1. ถ้าพบว่าหูมีอาการบวมมาก แพทย์จะใช้ผ้าก๊อซเล็กๆ (Ear wick) ชุบยาหยอดหูไว้ที่หูชั้นนอกร่วมกับให้ยาหยอดหู เช่น Sofradex ในรายที่หูชั้นนอกอักเสบเฉพาะที่ เพื่อให้ยาซึมเข้าไปในช่องหูด้านในได้ดีขึ้น และนัดเปลี่ยน Ear wick ประมาณ 2 – 3 วัน
  2. ยารับประทาน ได้แก่ ยาแก้อักเสบหรือยาปฏิชีวนะกลุ่ม Penicillin เช่น Cloxacillin (กรณีผู้ป่วยแพ้ยา Penicillin อาจพิจารณาเลือกใช้ยา Clindamycin แทน) เพื่อครอบคลุมเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรค ส่วนใหญ่ คือ Staphylococcus aureus แต่ถ้าผู้ป่วยมีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวานหรือมีหูชั้นนอกอักเสบแบบทั่ว ๆ อาจใช้ยาเป็นกลุ่ม Quinolone เช่น Ciprofloxacin เพื่อครอบคลุมเชื้อ Pseudomonas aeruginosa เป็นต้น
  3. ยาอื่นๆ มักใช้เพื่อบรรเทาอาการต่างๆ เช่น อาการปวด ใช้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการ ความรุนแรงของอาการและดุลพินิจของแพทย์หู คอ จมูก
  4. แพทย์อาจจะนัดตรวจติดตามอาการทุก 2 – 3 วัน ตามความรุนแรงของอาการและตามดุลพินิจของแพทย์หู คอ จมูก จนกระทั่งอาการหายเป็นปกติ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นภายใน 7 – 14 วัน

วิธีป้องกันหูชั้นนอกอักเสบ

ควรจะหลีกเลี่ยงจากสิ่งก่อภูมิแพ้ทันทีบางครั้งอาจจะต้องใช้น้ำสะอาดล้างตาอาจจะใช้น้ำตาเทียมซึ่งจะช่วยชะล้างสารก่อภูมิแพ้ใช้ผ้าเย็นปิดตา หลีกเลี่ยงการขยี้ตา เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบที่รุนแรงมากขึ้น และยิ่งทำให้เกิดอาการคันมากขึ้น เพื่อลดอาการบวมอาจจะซื้อยาแก้แพ้รับประทาน หากดูแลตัวเองแล้วยังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ทันทีเมื่อเกิดอาการต่อไปนี้

  • เมื่อน้ำเข้าหู ให้เอียงศีรษะข้างที่น้ำเข้าหูลงต่ำ ดึงใบหูกางออกไปทางด้านหลัง จะทำให้น้ำสามารถไหลออกมาได้
  • ทุกครั้งที่ว่ายน้ำ ควรใช้วัสดุอุดรูหู (Earplug)
  • ใช้หมวกคลุมผม คลุมปิดใบหูทุกครั้งเวลาอาบน้ำ
  • ไม่ควรล้างหูด้วยสบู่ หรือยาฆ่าเชื้อบ่อยๆ
  • ไม่ซื้อยาหยอดหู มาใช้เอง
  • เมื่อมีอาการคันหูมากๆ ใช้วิธีดึงขยับใบหูเบาๆ ไม่ควรแคะหรือปั่นหู
  • หากมีอาการคันหูมาก หูอื้อ และเป็นบ่อยครั้ง หรือมีอาการหูอักเสบเกิดขึ้น ควรรีบพบแพทย์

ทั้งนี้เมื่อรักษาหูชั้นนอกอักเสบจนหายเป็นปกติแล้ว ผู้ป่วยสามารถกลับไปว่ายน้ำได้ตามปกติ แต่แนะนำให้ระวังอย่าให้น้ำเข้าหู และห้ามปั่นหู เนื่องจากมีโอกาสที่หูชั้นนอกจะกลับมาอักเสบได้อีก

Categories
บทความ

โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ คัน เคืองตาเรื้อรัง

โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ คัน เคืองตาเรื้อรัง

โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic conjunctivitis) เกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งที่แพ้ เป็นภาวะที่มีการอักเสบหรือติดเชื้อที่ด้านในของเปลือกตาบนและล่างและเยื่อบุด้านนอกของตาขาว ซึ่งสาเหตุของภาวะเยื่อบุตาอักเสบ อาจจะเกิดจาก การติดเชื้อจากเชื้อโรคต่างๆ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย หรือเกิดจากภูมิแพ้ก็ได้

โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้เกิดขึ้นได้อย่างไร

อาการทางภูมิแพ้มักจะเกิดที่ตาเนื่องจากตาเป็นอวัยวะที่มีเลือดไปเลี้ยงมาก เส้นเลือดเหล่านี้ตอบสนองต่อสารภูมิแพ้ได้ง่าย และที่สำคัญตาสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมภายนอก เมื่อคุณได้รับสารก่อภูมิแพ้ เช่น เกสรดอกไม้ ฝุ่น รังแคสัตว์ ยา ควันบุหรี่ สารภูมิแพ้เหล่านั้นจะละลายในน้ำตา และกลับสู่เยื่อบุตาซึ่งจะสร้างสารต่อต้านสารภูมิแพ้ที่เรียกว่า Antibody IgE เมื่อภูมิจับกับ antibody จะเกิดการหลั่งสารหลายอย่างทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ขึ้นตาของคุณ ก็จะมีอาการเคือง แดง และมีน้ำตาไหล

ชนิดของเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้

 

  1. ภูมิแพ้ขึ้นตาตามฤดูกาล (Seasonal allergic conjunctivitis) เป็นเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย มักจะมีอาการน้ำมูกไหลร่วมด้วยอาการที่สำคัญ คือ มีน้ำตาไหลเคืองตา มักจะเป็นกับตาสองข้าง อาการจะเป็นตามฤดูกาลหรือช่วงเวลาที่มีฝุ่นละอองมาก มักแพ้เกสรหญ้า เกสรดอกไม้ ซึ่งแตกต่างกันไปตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์และสภาพอากาศในแต่ละวัน
  2. ภูมิแพ้ขึ้นตาที่เป็นตลอดทั้งปี (Perennial allergic conjunctivitis) เป็นการเกิดภูมิแพ้ที่เกิดจากสารภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นตลอดปีพบได้น้อยกว่าชนิดแรก อาการมักจะน้อยกว่าชนิดแรก
  3. Atopic Keratoconjunctivitis เป็นการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุตาและเปลือกตาหรือแก้ม มักจะพบร่วมกับผื่น atopic ของผิวหนังที่หนังตา และหน้าอาการที่พบร่วมคือ ตาแดง เคืองตา คัน น้ำตาไหล สัมพันธ์กับไรฝุ่น ขนสัตว์
  4. ภูมิแพ้ขึ้นตาเฉียบพลัน (Acute Allergic Conjunctivitis) จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยได้รับสารก่อภูมิแพ้ในเวลาไม่นาน มักทำให้ดวงตามีสีแดง คัน น้ำตาไหล และเปลือกตาบวม หรืออาจมีอาการน้ำมูกไหลร่วมด้วย

ลักษณะสำคัญที่บ่งบอกเยื่อบุตาอักเสบเกิดจากภูมิแพ้

 

  • อาการคันในตาเป็นอาการที่สำคัญหากติดเชื้อจะเป็นอาการปวดแสบร้อน
  • น้ำตาจะเป็นน้ำใส หากติดเชื้อจะเป็นเมือก หรือหนองมักจะมีการอักเสบของเปลือกตา
  • อาการอื่นๆ เช่น ตาแดง มีขี้ตาใส ตาสู้แสงไม่ได้ เปลือกตาบวม เคืองตา
  • ผู้ป่วยมีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว

การป้องกันเยื่อบุตาอักเสบเกิดจากภูมิแพ้

ควรจะหลีกเลี่ยงจากสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น หรือ ละอองเกสรดอกไม้ รวมถึงหลีกเลี่ยงการเผชิญกับลมที่พัดแรง เพราะลมอาจพัดพาฝุ่น หรือ ละอองเกสรดอกไม้ มากระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้ อาจใส่แว่นกันลมที่ปิดด้านหน้าและด้านข้าง เพื่อป้องกันดวงตาไม่ ให้โดนสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้เกิดภูมิแพ้ได้ รวมทั้งการล้างมือ อาบน้ำ และเปลี่ยนเสื้อผ้า เมื่อกลับเข้าที่พักอาศัยแล้วเสมอ การหลีกเลี่ยงใช้พรมในบ้าน เนื่องจากพรมจะกักเก็บฝุ่นไว้ในปริมาณมาก และเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยงที่มีขน เช่น แมว สุนัข เป็นต้น

การดูแลตัวเองเมื่อเกิดอาการเคืองตาและสงสัยว่าเกิดจากภูมิแพ้

ควรจะหลีกเลี่ยงจากสิ่งก่อภูมิแพ้ทันทีบางครั้งอาจจะต้องใช้น้ำสะอาดล้างตาอาจจะใช้น้ำตาเทียมซึ่งจะช่วยชะล้างสารก่อภูมิแพ้ใช้ผ้าเย็นปิดตา หลีกเลี่ยงการขยี้ตา เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบที่รุนแรงมากขึ้น และยิ่งทำให้เกิดอาการคันมากขึ้น เพื่อลดอาการบวมอาจจะซื้อยาแก้แพ้รับประทาน หากดูแลตัวเองแล้วยังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ทันทีเมื่อเกิดอาการต่อไปนี้

  • ดวงตาแดงก่ำมากขึ้น
  • เจ็บปวดรุนแรงบริเวณดวงตา
  • มีตุ่ม หรือแผลพุพองบริเวณดวงตา เปลือกตา หรือจมูก
  • รู้สึกเจ็บปวดบริเวณดวงตาเมื่อถูกแสงแดดและแสงไฟ
  • ความสามารถในการมองเห็นลดลง

ในด้านการรักษาโรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Conjunctivitis) นั้นจักษุแพทย์จะเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับอาการและความรุนแรงของโรค ซึ่งมีทั้งยาหยอดตา เช่น ประเภทแอนตี้ฮิสตามีน ประเภทป้องกันปฏิกิริยาภูมิแพ้ และยารับประทาน นอกจากการใช้ยาจะช่วยเสริมการรักษาด้วยยาได้ ได้แก่ การหยอดน้ำตาเทียมเย็นๆ ซึ่งจะช่วยเจือจางสารก่อการแพ้ และการประคบเย็นก็จะช่วยลดการบวมได้