ร่างกายรับ PM 2.5 เรื้อรังอันตราย เสี่ยงก่อโรคมะเร็งปอด
มะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 2 ของคนไทย (เป็นอันดับที่ 2 ในผู้ชายรองจากมะเร็งตับ และเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิง) เป็นที่ทราบดีว่าสาเหตุสำคัญเกิดจาการสูบบุหรี่ หรือการอยู่ใกล้ชิดกับคนที่สูบบุหรี่ ปัจจุบันพบมะเร็งปอดในกลุ่มที่ไม่สูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้น เช่น กลุ่มที่ทำงานสัมผัสสารเคมี เช่น แร่ใยหิน โครเมียม นิกเกิล เป็นต้นและ ที่เป็นปัญหาที่สำคัญขณะนี้ คือ มลภาวะอากาศ โดยเฉพาะ PM 2.5 สามารถเพิ่มการเกิดมะเร็งปอดได้ 1-1.4 เท่า
PM 2.5 ก่อให้เกิดมะเร็งปอดได้จริงหรือ
PM 2.5 (Particulate Matter) เป็นอนุภาคขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (เล็กกว่าเส้นผมมนุษย์ 20 กว่าเท่า) เกิดจากการเผาไหม้เครื่องรถยนต์ การเผาในที่โล่ง และควันจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยอนุภาคที่เล็กมากนี้สามารถเข้าสู่ปอด และเข้าสู่กระแสเลือดได้ ก่อให้เกิดผลต่อสุขภาพ ในระยะสั้น เช่น แสบตา แสบจมูก ระคายเคืองตา ทำให้ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ หอบหืด และถุงลมโป่งพองกำเริบได้ ถ้าได้รับ PM 2.5 ปริมาณมากและยาวนาน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืด ภูมิแพ้ ถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไต
นอกจากนี้ PM 2.5 ยังมีองค์ประกอบสารเคมีบางชนิด ที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้ เช่น โพลีไซคลิกอะโรมาติก ไฮโครคาร์บอน เกิดจาการเผาไหม้ของสารอินทรีย์ไม่สมบูรณ์
ทั้งนี้ได้มีการศึกษาพบว่า PM 2.5 ปริมาณ 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เทียบเท่าการสูบบุหรี่ 1 มวน แม้ความเสี่ยงของ PM 2.5 ต่อมะเร็งปอดจะไม่มากเท่าการสูบบุหรี่ แต่ถ้าต้องได้รับ PM 2.5 ในปริมาณมาก เป็นเวลานานก็เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปอดได้
สามารถป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงมะเร็งปอดจาก PM 2.5 ได้อย่างไร
จากคำแนะนำของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ร่วมกับ 5 สมาคมวิชาชีพเวชกรรม ออกคำแนะนำการปฏิบัติตัวของประชาชนในช่วงวิฤตฝุ่น PM 2.5 ประกาศ ณ วันที่ 10 มีนาคม 2566 โดยประชาชนกลุ่มเสี่ยงคือ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง (โรคปอด หัวใจ สมอง ไต) ดังนี้
- หมั่นตรวจสอบคุณภาพอากาศจากแหล่งข้อมูลของรัฐและเอกชน หรือใช้เครื่องวัดปริมาณฝุ่นแบบพกพา เพื่อวางแผนกิจวัตรประจำวันให้เหมาะสม
- เมื่อค่า PM2.5 ในขณะนั้น (ค่ารายชั่วโมง) ขึ้นสูงเกินเกณฑ์ คือ
- กรณีสูงกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กลุ่มเสี่ยงงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง บุคคลทั่วไปลดและปรับเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
- กรณีสูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกคนต้องงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง ยกเว้นบุคคลที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะ ให้ใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา
- กรณีสูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกคนควรอยู่ในตัวอาคารซึ่งติดตั้งระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ยกเว้นบุคคลที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะ ให้ใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา และจำกัดช่วงเวลาปฏิบัติงานไม่ให้เกินครั้งละ 60 นาที
- ขณะที่ปริมาณฝุ่นภายนอกขึ้นสูง ภายในตัวอาคารควรจัดให้มีระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
- การออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกายเกิดพิษภัยได้น้อยลง และควรหลีกเลี่ยงหรือลดเวลาการออกกำลังกายกลางแจ้งตามระดับเตือนภัยในข้อ 2. ทั้งนี้การออกกำลังกายในร่มควรจัดให้มีระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
- การดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ จะช่วยเร่งการขับฝุ่น PM2.5 ที่เล็ดรอดเข้ากระแสเลือด ออกไปทางไตในรูปของปัสสาวะได้มากขึ้น
- การรับประทานผักและผลไม้ให้เพียงพอ จะช่วยเสริมการทำงานของระบบแอนติออกซิแดนท์ ซึ่งช่วยลดการทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อจากพิษของฝุ่นได้
อย่างไรก็ตามปัจจุบันวิกฤติฝุ่น PM 2.5 เกิดขึ้นทุกปี โดยเฉพาะ ปลายฤดูหนาวก่อนเข้าฤดูร้อน (ต้นเดือนกุมภาพันธ์) และดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ การดูแลตัวเอง หลีกเลี่ยงมลพิษ ฝุ่นควัน และหมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำตรวจภาพรังสีทรวงอก ( X-ray) ประจำปี สำหรับกลุ่มเสี่ยงมะเร็งปอด ที่แนะนำตรวจ Low dose CT scan คือ ผู้มีอายุ 55 ปี ขึ้นไป และ สูบบุหรี่ประมาณ 20 มวนต่อวัน ติดต่อกันนาน 30 ปี หรือ 40 มวนต่อวัน ติดต่อกันนาน 15 ปี รวมถึงผู้ที่เลิกบุหรี่มาน้อยกว่า 15 ปี