โรคซึมเศร้ากำลังรุกเร้าสู่สังคมไทย
ในช่วงเวลาหลายปีมานี้ สื่อต่างๆ มีการนำเสนอข่าวคนดัง ข่าวอาชญากรรม และแม้แต่ข่าวการฆ่าตัวตายที่มีส่วนเกี่ยวโยงกับการเป็นโรคซึมเศร้าออกมาอย่างต่อเนื่อง เราจึงควรตระหนักว่า โรคซึมเศร้าใกล้ตัวเรากว่าที่คิด เราอาจจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองหรือคนรอบข้างกำลังเสี่ยงหรือเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ เพราะข่าวที่ออกมาก็ไม่ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคในเชิงลึกสักเท่าไหร่ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักโรคซึมเศร้าในแง่มุมต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อจะเป็นประโยชน์ในการระแวดระวังและหาทางป้องกันหรือรีบรักษา
โรคซึมเศร้ากับสถิติอันตราย
ปัจจุบันโลกของเรามีประชากรราว 7.6 พันล้านคน และมีคนเป็นโรคซึมเศร้าถึง 300 ล้านคน หรือเกือบ 4% เลยทีเดียว ส่วนในคนไทยเองนั้นพบว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน หรือ 2.2% ของคนไทยทั้งหมด 69 ล้านคน และน่าตกใจว่าคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 4,000 คนต่อปี ซึ่งสาเหตุสำคัญของการฆ่าตัวตายก็คือโรคซึมเศร้านั่นเอง
โรคซึมเศร้าคืออะไร
โรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสมองในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพทางกาย แต่ที่คนส่วนใหญ่รู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าก็มักจะนึกถึงเพียงอาการหรือสภาพจิตใจที่เปลี่ยนไป จึงคิดว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดหวัง หรือการได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ และจะสามารถรักษาหรือแก้ไขได้ด้วยการให้กำลังใจ ซึ่งในความจริงแล้ว โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท 3 ชนิด คือ ซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน จึงจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ เพราะนอกจากจะต้องบำบัดอย่างถูกวิธีแล้ว ยังอาจจะต้องใช้ยาในการรักษาร่วมด้วย
พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และเหตุเสี่ยงโรคซึมเศร้า
ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าประกอบไปด้วยพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และการใช้ชีวิต
- หากมีฝาแฝดคนหนึ่งเป็นโรคซึมเศร้า หรือ bipolar ฝาแฝดอีกคนมีโอกาสเป็นสูงถึง 60-80%
- หากคนในครอบครัวที่เป็นญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง) ที่เป็นโรคซึมเศร้า ก็จะมีโอกาสเป็นมากกว่าคนทั่วไป 20%
- อาจสรุปได้ว่าระหว่างพันธุกรรมกับสิ่งแวดล้อม ปัจจัยที่ส่งผลให้เป็นโรคซึมเศร้านั้นเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 40:60%
- การใช้ยาบางอย่างก็ส่งผลให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ เช่น ยานอนหลับบางตัว ยารักษาสิว ยาแก้อักเสบ ยาแก้ปวด สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์
9 ข้อสำรวจเข้าข่ายโรคซึมเศร้า
การสังเกตตัวเองหรือคนรอบข้างว่าเข้าข่ายโรคซึมเศร้าหรือไม่ สามารถตรวจจากข้อสำรวจง่ายๆ 9 ข้อนี้ ซึ่งข้อสำรวจนี้ก็ คือ เกณฑ์ที่แพทย์ใช้ในการวินิจฉัยโรคซึมเศร้า หากมีอาการ 5 ข้อขึ้นไป โดยต้องมีข้อ 1.) และ/หรือข้อ 2.) อยู่ด้วย หากอาการ 5 ใน 9 ข้อดังกล่าวเป็นยาวนานติดต่อกันเกินกว่า 2 สัปดาห์ ก็เข้าข่ายเสี่ยง ควรปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อวิเคราะห์และหาแนวทางแก้ไขหรือรักษาต่อไป
- รู้สึกเศร้า เบื่อ ท้อแท้ หรือหงุดหงิดง่ายอย่างต่อเนื่อง
- เลิกสนใจสิ่งที่เคยชอบมากๆ หรือไม่อยากทำสิ่งที่เคยชอบทำ
- พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป กินมากไป กินน้อยไป จนทำให้น้ำหนักขึ้นหรือลงผิดปกติ
- จากที่เคยหลับง่ายก็หลับยากขึ้น หรือไม่ก็นอนมากเกินไป
- มีอาการกระวนกระวายหรือเฉื่อยชาที่แสดงออกให้เห็นชัด
- รู้สึกหมดเรี่ยวแรง ไม่มีพลัง ไม่อยากลุกขึ้นมาทำอะไรเลย
- รู้สึกไร้ค่าหรือรู้สึกผิด โทษตัวเองในทุกๆ เรื่อง
- ไม่มีสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ มีปัญหาเรื่องการคิดหรือตัดสินใจ
- คิดถึงความตายหรืออยากตาย หรืออยากฆ่าตัวตายบ่อยๆ
ประเภทของโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้ามีหลายประเภท ทำให้ผู้ป่วยซึมเศร้าแต่ละคนมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป เช่น
- โรคซึมเศร้าแบบเมเจอร์ ดีเพรสชั่น (Major Depression)
โรคซึมเศร้าชนิดนี้ ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ซึมเศร้านานกว่า 2 สัปดาห์ โดยมากมักมีอาการเศร้าซึมมากจนไม่มีความสุขหรือไม่สนใจในสิ่งต่างๆ ที่เคยชอบ หลับยาก น้ำหนักขึ้นหรือลงฮวบฮาบ รู้สึกหงุดหงิด เหนื่อยๆ เนือยๆ ไม่มีเรี่ยวแรง รู้สึกไร้ค่า ช่วงภาวะซึมเศร้านี้สามารถเกิดในช่วงหลังคลอดได้ และมีอาการหลง หูแว่วประสาทหลอนเกิดขึ้นร่วมด้วย ดังนั้นควรเริ่มรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้โรครุนแรงขึ้น และลดความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ - โรคซึมเศร้าแบบดิสทีเมีย (Dysthymia Depression)
โรคซึมเศร้าชนิดนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าชนิด เมเจอร์ ดีเพรสชั่น แต่จะมีอาการอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี อาการไม่รุนแรงถึงขนาดทำอะไรไม่ได้ เพียงแต่จะรู้สึกไม่อยากอาหารหรือกินมากไป นอนไม่หลับหรือนอนมากไป เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หมดแรง ขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่ค่อยมีสมาธิ การตัดสินใจแย่ลง และรู้สึกหมดหวัง - โรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นก่อนมีระดู (Premenstrual depressive disorder)
ผู้ป่วยจะมีอาการเกิดขึ้นในสัปดาห์สุดท้ายก่อนมีระดู อาการจะดีขึ้นใน 2-3 วันหลังจากมีระดู อาการที่พบบ่อย คือ อารมณ์แกว่ง รู้สึกเศร้า อ่อนไหวง่าย ขัดแย้งกับคนอื่นง่าย รู้สึกสิ้นหวัง ดูถูกตนเอง อาจมีอาการวิตกกังวล เครียด นั่งไม่ติด สมาธิลดลง รู้สึกล้า อ่อนเพลีย ไม่อยากทำอะไร ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลง การนอนผิดปกติไปจากเดิม และมีอาการทางร่างกายร่วมด้วย เช่น เจ็บเต้านม เต้านมบวม ปวดข้อปวดกล้ามเนื้อ ตัวบวมขึ้น
เด็กเป็นโรคซึมเศร้าได้ไหม
โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นได้ทุกช่วงอายุรวมทั้งในเด็กด้วย ซึ่งอาการของโรคซึมเศร้าในเด็กจะมีลักษณะหลากหลาย บางคนแสดงออกด้วยอาการก้าวร้าว อาละวาด ร้องไห้ง่าย ในขณะที่บางคนมีอาการเศร้า ซึม มีความรู้สึกสิ้นหวังเวลาถูกปฏิเสธ ถูกขัดใจก็จะอ่อนไหวง่ายกว่าปกติ ใช้คำพูดรุนแรง บ่นปวดหัว ปวดท้อง รู้สึกไร้ค่า ไม่มีสมาธิ คิดถึงความตาย คล้ายกับที่ผู้ใหญ่เป็น หรือบางคนอาจจะมีอาการให้เห็นได้จากการไม่เข้าสังคมในช่วงเริ่มต้นของอาการ ซึ่งอาการเหล่านี้จะต้องเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ เด็กส่วนใหญ่ที่มีอาการของโรคซึมเศร้า มักจะมีปัญหาในด้านการเรียนร่วมด้วย
การตรวจและรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
การตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะเริ่มจากการสอบถามอาการ ผลกระทบที่เกิดขึ้น และระดับความรุนแรง ลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน โรคประจำตัว ยาที่กินอยู่ รวมถึงประวัติครอบครัว โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะประเมินร่วมกับบุคลิกภาพที่สังเกตได้ ทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา เพื่อนำผลมาประเมินว่าผู้ป่วยควรได้รับการรักษาในแนวทางใด เช่น การรักษาด้วยยา การใช้จิตบำบัด
การให้กำลังใจและช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
เมื่อเราพบหรือเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เราควรที่จะเรียนรู้วิธีการที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกมีค่า มีกำลังใจในชีวิตมากขึ้น การให้กำลังใจผู้ป่วย การเป็นผู้ฟังที่ดีจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายขึ้น ผู้ใกล้ชิดสามารถที่จะสื่อสารกับผู้ป่วยด้วย ประโยคเหล่านี้ เช่น
- เธอไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวนะ ฉันจะอยู่ข้างๆ เธอเอง
- ฉันอาจจะไม่เข้าใจเธอ แต่ฉันเป็นห่วงและอยากช่วยเธอนะ
- เธอไหวไหม เธอเหนื่อยมากไหม
- ชีวิตเธอสําคัญกับฉันมากๆ นะ
- เธออยากให้เราช่วยอะไรบ้าง บอกได้นะ เราอยากช่วย
ข้อความดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่รู้สึกกดดัน และทำให้ผู้ป่วยได้พูดถึงความคิดของตนได้มากขึ้น ส่วนคำที่ชวนให้ผู้ป่วยคิดเปรียบเทียบ หรือแสดงความไม่เข้าใจว่าทำไม่ถึงต้องซึมเศร้า และจากการที่ผู้ป่วยมีปัญหาในกระบวนการคิดจากภาวะความเจ็บป่วยอยู่ ยิ่งจะเป็นการซ้ำเติม เป็นคำที่ไม่ควรพูด เช่น
- เธอคิดไปเอง
- ใครๆ ก็เคยผ่านเรื่องแบบนี้ทั้งนั้นแหละ
- ลองมองในแง่ดีดูสิ
- ชีวิตมีอะไรอีกตั้งเยอะ ทําไมถึงอยากตายล่ะ
- หัดช่วยตัวเองบ้างสิ
- หยุดคิดเรื่องที่ทําให้เครียดสิ
- ทําไมยังไม่หายล่ะ
- มีคนที่แย่กว่าเราอีกตั้งเยอะ เขายังสู้ได้เลย
ทำอย่างไรจึงห่างไกลโรคซึมเศร้า
- หมั่นดูแลตนเองให้มีสุขภาพดี ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ กินอาหารถูกสุขลักษณะ ไม่ใช้สารเสพติด ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง
- ในด้านจิตใจ ฝึกให้เป็นคนคิดบวก มองโลกในแง่ดี ไม่คิดร้ายกับใคร ไม่กล่าวโทษตัวเองไปซะทุกเรื่อง ควรหางานอดิเรก คลายเครียด เข้าชมรมต่างๆ ที่เหมาะกับวัย หรือเป็นจิตอาสา ทําสิ่งที่ทำให้รู้สึกตัวเองมั่นใจ มีคุณค่า รู้ว่าใครรักและเป็นห่วงก็ให้อยู่ใกล้คนๆ นั้น และให้อยู่ห่างจากคนที่ไม่ถูกใจ
- ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ควรหาเวลาออกไปทำกิจกรรมที่สนุกสนาน ไม่เคร่งเครียดหรือทำงานหนักเกินไป ไม่ไปอยู่ในสถานการณ์หรือดูข่าวร้ายที่ทำให้จิตใจหดหู่ หากมีการใช้ยาเพื่อรักษาโรคใดๆ อยู่ไม่ควรหยุดยาเอง โดยเฉพาะถ้ารักษาโรคด้านจิตเวชอยู่ควรกินยาตามแพทย์สั่ง อย่าได้ขาดหรือหยุดยาเอง
ท้ายที่สุด… เราไม่สามารถรักษาหรือบำบัดโรคซึมเศร้าได้ด้วยตัวเอง หากเริ่มรู้สึกว่าชีวิตของตนเองไม่ปกติ ขาดความสมดุล มีความเครียดสูง การพบจิตแพทย์ก็เหมือนกับการตรวจสุขภาพใจให้เราเข้าใจสภาพจิตใจของตนเองในขณะนั้น แพทย์จะแนะนำวิธีป้องกันและปรับสภาพจิตใจให้ดีขึ้นด้วยการปรับวิธีคิด หรือรักษาด้วยการใช้ยา เพราะปัญหาทางด้านจิตใจหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนั้น ไม่ใช่มีสาเหตุจากโรคซึมเศร้าเพียงอย่างเดียว การพบจิตแพทย์จะช่วยให้เราได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี