Categories
บทความ

ทำความรู้จัก “โรคฝีดาษลิง” (Monkeypox) แพร่เชื้อ-ติดต่ออย่างไร?

ทำความรู้จัก “โรคฝีดาษลิง” (Monkeypox) แพร่เชื้อ-ติดต่ออย่างไร?

Categories
บทความ

โรคไข้เลือดออกระบาด – สาเหตุ อาการ ระวัง ป้องกัน รู้ทันยุงลาย

ไข้หวัดใหญ่ โรคร้ายในช่วงฤดูฝน ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19

เกร็ดความรู้เรื่องไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่แพร่ระบาดในฤดูฝนพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสโดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงลายที่มีเชื้อไวรัสกัดคน จะถ่ายทอดเชื้อให้คนทำให้เกิดอาการ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการช็อค ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันเวลาอาจเสียชีวิตได้ โดยมีอาการเลือดออกตามมา

เป็นโรคอันตรายที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขในพื้นที่ประเทศเขต ร้อนชื้น โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค เพื่อให้เกิดความ“ตระหนัก” ถึงความสำคัญของโรค การให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง จะมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออกและผู้ดูแลรู้จักวิธีการดูแลรักษาเบื้องต้นที่บ้าน รู้สัญญาณอันตราย ซึ่งต้องรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ ตลอดจนรู้แนวทาง และช่วยเหลือกันในการป้องกันไม่ให้เกิดโรค

ข้อมูลจากระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค 506 สำนักระบาดวิทยา รายงานถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี พ.ศ.2559 ณ วันที่20 ธันวาคม 2559 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก (Dengue fever: DF, Dengue haemorrhagic fever: DHF, Dengue shock syndrome: DSS) สะสมรวม 60,964 ราย อัตราป่วย 93.18 : แสนคน  จำนวนผู้ป่วยลดร้อยละ 57.36 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2558 ณ ช่วงเวลาเดียวกัน ผู้ป่วยเสียชีวิต 60 ราย อัตราป่วยตาย เท่ากับ ร้อยละ 0.10 จะเห็นได้ว่าคนมีการระวังและป้องกันอันตรายจากยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกกันมากขึ้น แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังกันอย่างใกล้ชิด เพราะไข้เลือดออกไม่มีทางรักษา และทำให้เสียชีวิตได้ หากไม่รู้จักวิธีการดูแลรักษาเบื้องต้น

สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อ ไวรัสเดงกี่  โดยมี 4 ชนิดคือ เดงกี่-1, เดงกี่-2, เดงกี่-3 และเดงกี่-4 ทําให้คนเรามีโอกาสที่จะป่วยจากโรคไข้เลือดออกได้หลายครั้ง มีพาหะนำโรคที่สำคัญคือ ยุงลาย เมื่อยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่ กัด จะส่งเชื้อให้คน ทำให้เกิดการติดเชื้อตามมา ยุงลายมักออกหากินตอนกลางวัน  และวางไข่ในน้ำสะอาดที่ขังนิ่ง

อาการ

แบ่งเป็น  3 ระยะได้แก่ ระยะไข้ ระยะวิกฤต และระยะพักฟื้น อาการที่สำคัญในระยะไข้

1. ระยะไข้ 

คือ อาการไข้สูงลอยประมาณ 39 – 40°C นาน 2-7 วัน มักมีหน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดตา ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกระดูก คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง และอาจมีภาวะเลือดออกร่วมด้วย โดยอาการของผู้ป่วยไข้เลือดออกส่วนใหญ่ จะไม่ปรากฏพร้อมๆ กัน จึงต้องเฝ้าติดตามเป็นระยะๆ 

2. ระยะวิกฤต 

เมื่อผู้ป่วย มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น  มีอาการเพลีย ซึม ไม่ดื่มนํ้า ไม่รับประทานอาหาร ไม่มีกิจกรรมตามปกติ เมื่อไข้ลง (บางรายจะกระหายนํ้ามาก) อาเจียน ปวดท้องมาก เลือดออกผิดปกติ มีอาการช็อก (IMPENDING SHOCK) คือมือเท้าเย็นกระสับกระส่าย ร้องกวนมากในเด็กเล็ก ตัวเย็น เหงื่อออก ตัวลาย สีผิวคลํ้าลง ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ปัสสาวะ 4-6 ชม. ความประพฤติเปลี่ยนแปลง เช่น พูดไม่รู้เรื่อง เพ้อ เอะอะโวยวายเป็นระยะอันตรายของโรค เข้าสู่ระยะช็อก แม้อยู่ในภาวะช็อก ผู้ป่วยจะมีสติดี พูดจารู้เรื่อง ต้องรีบนําส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที และกระตุ้นให้ผู้ป่วยดื่มนํ้าเกลือแร่หรือนํ้าผลไม้ใส่เกลือเล็กน้อย โดยให้จิบครั้งละน้อยๆ บ่อยๆ ไม่ควรดื่มแต่นํ้าเปล่าอย่างเดียว  

ภาวะช็อกส่วนใหญ่เกิดจากมีการรั่วของพลาสม่าออกนอกหลอดเลือด ทําให้ความเข้มข้นของเลือดเพิ่มขึ้น และบางรายอาจถึงขั้นมีความดันโลหิตตํ่าหรือที่เรียกว่าช็อกตามมา นอกจากนั้นภาวะช็อกอาจเกิดจากการที่เลือดออกในอวัยวะสําคัญได้แก่ เลือดออกในกระเพาะอาหาร ประจําเดือนมามากกว่าปกติ และเลือดออกจากแผลผ่าตัดในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด ภาวะช็อก อาจทําให้เกิดภาวะล้มเหลวของอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะไตและตับ ซึ่งส่งผลรุนแรงถึงขั้นทําให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ง

3. ระยะพักฟื้น 

กรณีผู้ป่วยรับการรักษาแล้วแพทย์ให้กลับบ้านได้ ควรดูแลและปฏิบัติตนต่อไปคือไม่ควรให้ถูกยุงกัดภายใน 5 วันแรกของโรค เพราะผู้ป่วยยังมีไวรัสอยู่ในเลือดทําให้แพร่เชื้อไปให้คนอื่นได้ หากมีคนในบ้านมีไข้สูง ให้พามาตรวจควรเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ระมัดระวังภาวะเลือดออกต่อไปอีกประมาณ 1 สัปดาห์ ควรหลีกเลี่ยงการแคะจมูก การแปรงฟัน การออกกําลังกายหรือเล่นกีฬาที่มีความรุนแรงหากมีอาการผิดปกติควรรีบพามาพบแพทย์ทันทีให้ยาลดไข้พาราเซตามอล ควรหลีกเลี่ยงยาแอสไพริน หรือ ยากลุ่ม NSAID เช่น ไอบูโปรเฟน เนื่องจากทําให้เกิดเลือดออกทางเดินอาหารมากขึ้น หรือมีผลต่อตับได้ แนะนำให้ 

การรักษา

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคไข้เลือดออก มีเพียงรักษาตามอาการเท่านั้น ดังนั้นการป้องกัน กําจัดลูกนํ้า ภาชนะใส่นํ้าภายในบ้านควรปิดฝาให้มิดชิด  และอีกวิธีหนึ่งคือ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ซึ่งในตอนนี้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกตัวแรกของโลก ได้เข้าสู่ประเทศไทยแล้วซึ่งวัคซีนนี้สามารถใช้ได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 9 ปีถึง 45 ปี  และพบว่านอกจะสามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้แล้วยังสามารถลดการเกิดไข้เลือดออกชนิดรุนแรงได้ถึง 93.2%  และสามารถลดการนอนโรงพยาบาลโรคไข้เลือดออกได้ 80.8%

  • ยังไม่มียาต้านไวรัส เป็นการรักษาตามอาการ
  • ให้เช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดาเวลามีไข้ เช็ดนาน 10-15 นาที 
  • กินยาลดไข้พาราเซตามอลได้ เมื่อมีไข้ โดยให้ยาห่างกัน ไม่น้อยกว่า 4-6 ช.ม. งดแอสไพรินเด็ดขาด
  • ดื่มน้ำมากๆ 
  • ให้อาหารอ่อน ย่อยง่าย งดอาหารที่มีสีแดง ดำ และน้ำตาล
  • ติดตามอาการอันตราย และไปพบแพทย์ตามนัด โดยเฉพาะในระยะไข้ลงที่ผู้ป่วยยังไม่สามารถทำกิจกรรมตามปกติได้ หรืออาการยังไม่ดีเหมือนปกติ

กรณีผู้ป่วยรับการรักษาแล้วแพทย์ให้กลับบ้านได้ ควรดูแลและปฏิบัติตนต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกไม่ควรให้ถูกยุงกัดภายใน 5 วันแรกของโรค เพราะผู้ป่วยยังมีไวรัสอยู่ในเลือดทำให้แพร่เชื้อไปให้คนอื่นได้ หากมีคนในบ้านมีไข้สูง ให้พามาตรวจ
  • ควรเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติควรรีบพามาพบแพทย์ทันที
  • ให้ยาลดไข้พาราเซตามอล ควรหลีกเลี่ยงยาแอสไพริน หรือ ยากลุ่ม NSAID เช่น ไอบูโปรเฟน เนื่องจากทำให้เกิดเลือดออกทางเดินอาหารมากขึ้น หรือมีผลต่อตับได้
  • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน และที่โรงเรียน

การป้องกัน

  • ควรนอนในมุ้ง หรือในห้องติดมุ้งลวดที่ปลอดยุงลาย
  • ม่เล่นในมุมมืด หรือบริเวณที่ไม่มีลมพัดผ่าน
  • ห้องเรียน หรือห้องทำงานควรมีแสงสว่างทั่วถึง มีลมพัดผ่าน ไม่มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น แจกันดอกไม้ควรเปลี่ยนน้ำทุกวัน พลูด่างควรปลูกในดิน
  • กำจัดยุงในบริเวณมุมอับภายในบ้าน ตู้เสื้อผ้า บริเวณรอบ ๆ บ้าน ทุกสัปดาห์
  • กำจัดลูกน้ำ ภาชนะใส่น้ำภายในบ้านปิดฝาให้มิดชิด ถ้าไม่สามารถปิดได้ ให้ใส่ทรายอะเบทหรือใส่ปลาหางนกยูง จานรองขาตู้กับข้าว จานรองกระถางต้นไม้ ใส่เกลือหรือน้ำส้มสายชูหรือผงซักฟอก สัปดาห์ละครั้ง
  • วัสดุที่เหลือใช้รอบ ๆ บ้าน เช่น กระป๋อง กะลา ยางรถยนต์เก่า ฯลฯ ให้คว่ำหรือทำลายเสีย

วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก

ปัจจุบันมีวัคซีนโรคไข้เลือดออก 4 สายพันธุ์(DEN 1-4) แนะนำให้ฉีดในกลุ่มอายุ 9-45 ปี ฉีด 3 เข็ม ( เดือนที่ 0,6 และ 12 เดือน) ในผู้ที่เคยมีการติดเชื้อมาก่อน ไม่แนะนำให้ฉีดในผู้ที่ไม่เคยมีการติดเชื้อมาก่อน
จากงานวิจัยทวีปเอเชียแปซิฟิกและแถบละตินอเมริกาในอาสาสมัครอายุ 9-16 ปี พบว่า วัคซีน CYD-TDV มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันไข้เลือดออกเดงกี้ ดังนี้

  • สามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกเดงกีทุกสายพันธุ์ได้ 65%
  • ลดการนอนโรงพยาบาลได้ถึง 80.8%
  • ป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกีได้ถึง 92.9%

ผู้ที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกเดงกี ได้แก่

  • ผู้ที่แพ้หรือไวต่อการแพ้ต่อสารออกฤทธิ์หรือส่วนประกอบอื่น ๆ ในวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก
  • ผู้ที่เกิดการแพ้หลังได้รับวัคซีนไข้เลือดออกเข็มแรก โดยอาการแพ้ที่เกิดขึ้น ได้แก่ ผื่นคัน หายใจถี่หอบ หน้าและลิ้นบวม
  • ผู้ที่กำลังป่วยด้วยโรคใดก็ตามที่ทำให้มีไข้ ตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงไข้สูง หรือกำลังเจ็บป่วยแบบเฉียบพลัน แพทย์จะทำการเลื่อนนัดการฉีดวัคซีนออกไปก่อนจนกว่าจะหายเป็นปกติ
  • ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม การติดเชื้อเอดส์(HIV) หรือรับยากดภูมิคุ้มกันเช่น ยา Prednisone หรือเทียบเท่า 20 มก.หรือ :2 มก/กก. ของน้ำหนักตัวเป็นเวลา ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไปเป็นต้น
  • สตรีมีครรภ์หรืออยู่ระหว่างช่วงให้นมบุตร

5ป ปราบยุงลาย ป้องกันไข้เลือดออก

 

  • ป1 ปิด ภาชนะเก็บกักน้ำให้มิดชิด
  • ป2 เปลี่ยน น้ำในภาชนะต่าง ๆ ทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำ
  • ป3 ปล่อย ปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เช่น อ่างบัว
  • ป4 ปรับปรุง สิ่งแวดล้อมให้โปร่งลมพัดผ่านได้ไม่ให้ยุงมาเกาะพัก
  • ป5 ปฏิบัติ ตามทั้ง 4ป ข้างตนเป็นประจำจนเป็นนิสัย

ถ้าผู้ป่วยมีไข้สูงติดต่อกันเกิน 3 วัน ให้พาไปพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง ระวังไม่ให้ยุงกัดในเวลากลางวัน และ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายโดยการปิดฝาภาชนะเก็บน้ำให้มิดชิด กางมุ้ง ทายากันยุง 

แหล่งที่มา : https://www.vibhavadi.com/Health-expert/detail/251

Categories
บทความ

ไข้หวัดใหญ่ โรคร้ายในช่วงฤดูฝน ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19

ไข้หวัดใหญ่ โรคร้ายในช่วงฤดูฝน ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19

การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงเป็นปัญหาสำหรับสังคมไทย ทำให้คนไทยส่วนมากวิตกกังวล กับการป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงอาจจะลืมนึกถึงไปว่า ยังมีโรคประจำฤดูฝน และเป็นอันตรายเหมือนกับเชื้อโควิด-19 เช่นกัน นั้นคือ “ไข้หวัดใหญ่” หากท่านยังประมาทในการป้องกันการติดเชื้อของไข้หวัดใหญ่ และเชื้อไวรัสโควิด-19 สุขภาพร่างกายของท่านอาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต และท่านเองก็เป็นตัวแพร่เชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ และเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกด้วย

 

ความแตกต่างของไข้หวัดใหญ่ และ โควิด-19

 

  • ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อ อินฟลูเอนซา มีระยะฟักตัว 1-3 วัน สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ชนิด คือ ชนิดเอ ชนิดบี และชนิดซี อาการแรกเริ่มเหมือนไข้หวัดทั่วไป สามารถหายได้ 1-2 สัปดาห์ แต่ในบางกรณีรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบ จนเสียชีวิตได้                                               
  • โควิด-19 เกิดจากกลุ่มเชื้อไวรัส โคโรนา สายพันธุ์ใหม่ มีสัตว์เป็นตัวกลางในการแพร่เชื้อสู่มนุษย์ มีระยะฟักตัว 2-4 วัน อาการแรกเริ่มจะมีอาการป่วย เป็นไข้ มีอาการผิดปกติทางเดินหายใจ หากเกิดภาวะแทรกซ้อน ในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

 

ไข้หวัดใหญ่ได้กลายพันธุ์ออกเป็น 4 ประเภท

  1. ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A/H1N1 หรือที่คุ้นชินในชื่อ “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009” รักษาโดยการใช้ยาต้าน “โอเซลตามิเวียร์”
  2. ไข้หวัดสายพันธุ์ A/H3N2 หรือที่คุ้นชินในชื่อ “ไข้หวัดหมู”  
  3. ไข้หวัดสายพันธุ์ B Corolado ตระกูล Victoria
  4. ไข้หวัดสายพันธุ์ B Phuket ตระกูล Yamagata

 

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สร้างโดยส่วนประกอบของเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรียที่ตายแล้ว สามารถสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ โดยฉีดเข้าสู่ร่างกายทางต้นแขนใช้เวลาฟูมฟักเป็นเวลา 2 สัปดาห์ – 1 เดือน ควรฉีดปีละหนึ่งครั้ง ก่อนฤดูฝน 

 

วัคซีนป้องกันโควิด

 

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ช่วยลดความรุนแรงของเชื้อไวรัสได้ สำหรับประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา (อย.) มีอยู่ 6 ชนิดได้แก่

 

  1. วัคซีนซิโนแวค (Sinovac) มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ 51% 
  2. วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca) มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ 70.4%
  3. วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้มากกว่า 65%
  4. วัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ 94%
  5. วัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm) มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ 79%
  6. วัคซีนไฟเซอร์ ไปโอเอ็นเท็ค (Pfizer/BioNtech) มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ 95%

 

 

 

อาการไข้หวัดใหญ่ และ โควิด-19 ที่เหมือนกัน

 

  • มีไข้ขึ้นสูงประมาณ 37.5-38 องศาเซลเซียส ขึ้นไป
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ปวดศรีษะ
  • เบื่ออาหาร

 

อาการที่ใกล้เคียงกันของไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 ทำให้เป็นเรื่องที่ยากต่อการวินิจฉัย สิ่งที่คล้ายเคียงกันอีกอย่างคือ การป้องกัน แต่จะแตกต่างกันในเรื่องของ เชื้อไวรัส และวัคซีนในการรักษา ดังนั้นหากละเลยการป้องกัน ร่างกายจะเกิดการติดเชื้อทั้งไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นมา และเป็นอันตรายต่อชีวิต ควรที่จะฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกันไว้ก่อนฤดูฝน  อาการแทรกซ้อนจากโควิด-19 และเชื้อโรคอื่นๆ จะไม่สามารถทำอันตรายใดๆต่อร่างกายของท่านได้

Categories
บทความ

วิธีป้องกัน “เชื้อไวรัส HPV”

วิธีป้องกัน “เชื้อไวรัส HPV”

กรมการแพทย์ ชี้ HPV หรือ Human Papillomavirus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อเอชพีวี แพร่กระจายได้ง่ายผ่านการสัมผัสกับเชื้อโดยตรงหรือการมีเพศสัมพันธ์ ปัจจุบันพบว่ามีเชื้อชนิดนี้มากกว่า 100 สายพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่มักทำให้เกิดหูดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ เชื้อ HPV บางสายพันธุ์อาจเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งชนิดต่าง ๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก  มะเร็งช่องปากและลำคอ เป็นต้น

 นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ การแสดงอาการของโรคอาจเกิดขึ้นหลายปีหลังจากติดเชื้อและสามารถแพร่เชื้อไปยังคนอื่นได้ สำหรับอาการของการติดเชื้อไวรัส HPV มีดังนี้

1. มีหูดหงอนไก่ ( Condyloma Acuminata ) เป็นตุ่มเล็กๆ ผิวไม่เรียบหลายๆตุ่ม กระจายตามอวัยวะเพศภายนอก มีอาการคันได้ สามารถพบได้ทั้งปากช่องคลอด และปากมดลูก ลักษณะของหูด หูดชนิดทั่วไป จะมีรูปร่างเป็นตุ่มเล็กๆ เจ็บปวดบ้างในบางครั้ง และหากสัมผัสจะรู้สึกว่าผิวของหูดนั้นมีความขรุขระ มีได้หลายสี พบได้ที่บริเวณมือ นิ้วมือ หรือข้อศอก ซึ่งหูดลักษณะเช่นนี้ส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย นอกจากนี้ยังมีหูดชนิดอื่นๆ เช่น หูดชนิดแบนราบ เกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย หูดฝ่าเท้า มักขึ้นบริเวณส้นเท้า ทำให้รู้สึกเจ็บในระหว่างยืนหรือเดิน แต่หูดที่สร้างความทุกข์ใจกับผู้ป่วยมากที่สุดคือ หูดที่อวัยวะเพศ หรือเรียกว่า หูดหงอนไก่เป็นติ่งเนื้อลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ มักเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศหญิง อวัยวะเพศชาย และทวารหนัก ส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บ แต่อาจทำให้รู้สึกคัน

2. มีอาการตกขาวมากกว่าปกติ อาจมีเลือดปนตกขาว ตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือมีเลือดออกกะปริบกะปรอยจากช่องคลอด มีอาการเป็นๆหายๆ หากติดเชื้อที่ทวารหนัก ก็จะมีแผลหรือก้อนยื่นออกมาผิดปกติ แต่ก็มีบ่อยครั้งที่ผู้หญิงบางรายได้รับเชื้อ HPV เข้าสู่ร่างกายแต่ไม่แสดงอาการและเชื้อก็จะหายไปเอง หรือหากร่างกายอ่อนแอก็อาจก่อให้เกิดความผิดปกติภายหลัง

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคติดเชื้อ HPV มักติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก ปาก หรือการใช้อุปกรณ์เพื่อสนองความต้องการทางเพศร่วมกัน และสามารถแพร่ผ่านรอยแผลหรือรอยขีดข่วนตามผิวหนัง หากมีการสัมผัสผิวหนังหรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อจากผู้ป่วย แม้กระทั่งในช่วงที่ผู้ติดเชื้อยังไม่แสดงอาการก็ตาม ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้ออาจแพร่เชื้อสู่บุตรระหว่างการคลอดได้ แต่เกิดขึ้นได้ค่อนข้างน้อย ทั้งนี้วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัส HPV สามารถทำได้ดังนี้

1. ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุก 3 ปี หรือตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ทุก 5 ปี

2. ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี

3. สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งขณะมีเพศสัมพันธ์

4. เลี่ยงพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย

แหล่งที่มา : https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/178002/

Categories
บทความ

ไข้เลือดออก ภัยร้ายหน้าฝนจากยุงลาย

ไข้เลือดออก ภัยร้ายหน้าฝนจากยุงลาย

ไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) การติดเชื้อเกิดจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสกัด ทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด แล้วเกิดอาการป่วยขึ้น ไวรัสเดงกีมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ส่วนใหญ่เมื่อติดเชื้อด้วยสายพันธุ์หนึ่งจะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นไปตลอดชีวิต แต่ยังสามารถติดเชื้อสายพันธุ์อื่นได้ 

ระบาดวิทยา

ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีโอกาสเป็นไข้เลือดออกได้ ในสมัยก่อนโรคไข้เลือดออกมักเกิดในเด็กเล็ก ไม่ค่อยพบในผู้ใหญ่ แต่ปัจจุบันพบในเด็กโต ผู้ใหญ่ รวมถึงผู้สูงอายุมากขึ้น อาจเกิดจากโครงสร้างของประชากรเปลี่ยนแปลงไป ผู้สูงอายุมีมากขึ้น ร่วมกับการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เด็กมีโอกาสถูกยุงลายกัดน้อยลง ในช่วงปี 2565 พบว่ามีการระบาดของโรคไข้เลือดออกมากขึ้นเมื่อเทียบกันกับในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การระบาดของโรคไข้เลือดออกลดลงอย่างชัดเจน มีการสำรวจพบว่าลูกน้ำยุงลายลดลงในช่วงนี้ คาดว่าช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ประชากรอยู่บ้านกันมากขึ้น ทำให้มีเวลาในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายมากขึ้น อย่างไรก็ตามตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 2566 นี้พบว่ามีคนติดเชื้อแล้วประมาณ 6,000 ราย

ความรุนแรงของโรค ไข้เลือดออก

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเดงกีและเป็นโรคไข้เลือดออกส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง บางคนไม่ต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาล มีเพียงส่วนน้อยที่ต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล และจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลส่วนน้อยมาก ๆ จะมีอาการรุนแรง

ความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกที่ทำให้มีอาการหนักเกิดจากสาเหตุ ดังนี้

  1. ผู้ป่วยมีภาวะเลือดออกมาก เนื่องจากมีเกล็ดเลือดต่ำและภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ภาวะเลือดออกที่เป็นอันตรายที่พบบ่อยในโรคนี้ คือ ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หรือถ่ายดำ
  2. ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะมีการรั่วของพลาสมาในหลอดเลือดออกมาอยู่ในเนื้อเยื่อ รวมถึงช่องเยื่อหุ้มปอดหรือในช่องท้อง ในเลือดคนปกติจะมี 2 ส่วนประกอบใหญ่ ๆ คือ ส่วนที่เป็นเซลล์เม็ดเลือด และส่วนที่เป็นน้ำเหลืองเรียกว่าพลาสมา ในผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกที่มีการรั่วของพลาสมา พลาสมาจะรั่วออกนอกหลอดเลือด ทำให้ร่างกายเหมือนสูญเสียของเหลวออกไปจึงทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำหรือภาวะช็อกตามมา ถ้ามีการรั่วของพลาสมาออกมามากหรือมีภาวะช็อกอาจทำให้เสียชีวิตได้
  3. ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจมีการทำงานของอวัยวะสำคัญเสียไป เช่น ภาวะตับวาย ไตวาย สมองบวม เม็ดเลือดต่ำ หรือภาวะติดเชื้ออื่นแทรกซ้อน ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้

อาการและอาการแสดง

ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสเดงกีไม่จำเป็นต้องมีอาการเป็นไข้เลือดออกทุกคน ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัส จะมีเพียงร้อยละ 25-30 ที่จะมีอาการป่วยขึ้น ที่เหลือจะติดเชื้อแบบไม่มีอาการแต่สามารถแพร่เชื้อได้ ผู้ป่วยจะมีอาการได้หลากหลายตั้งแต่อาการน้อยจนถึงอาการรุนแรง สามารถแบ่งอาการของการติดเชื้อเดงกีได้ ดังนี้

  1. อาการไข้ไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเดงกีบางรายอาจมีไข้เพียงอย่างเดียวหรืออาการอื่น ๆ เช่น ปวดเมื่อยตามตัว ผื่น แล้วอาการหายไปเอง
  2. ไข้เดงกีโดยไม่มีการรั่วของพลาสมา ผู้ป่วยที่เป็นไข้เดงกีโดยไม่มีการรั่วของพลาสมาจะมีไข้สูง รับประทานอาหารได้ลดลง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ ปวดข้อ คลื่นไส้อาเจียน ผื่น อาจมีเลือดออก เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ผู้ป่วยอาจมีไข้อยู่ 4-5 วันแล้วหายเองโดยไม่ช็อก
  3. ไข้เดงกีโดยมีการรั่วของพลาสมา ผู้ป่วยที่เป็นไข้เดงกีโดยมีการรั่วของพลาสมาจะมีอาการเหมือนอาการในข้อ 2. แต่เมื่อถึงเวลาไข้เริ่มลงจะมีอาการแย่ลง คือ มีการรั่วของพลาสมาหากมีการรั่วมากจะทำให้ความดันโลหิตต่ำลงและมีภาวะช็อกได้ นอกจากนี้ยังมีภาวะเลือดออกร่วมด้วย ในบางครั้งอาจมีภาวะเลือดออกมากจนต้องให้เลือด ผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกจะมีอาการมือเท้าเย็น ชีพจรเบาเร็ว กระสับกระส่าย ปัสสาวะออกน้อยลง โดยปกติการรั่วของพลาสมาจะกินเวลาประมาณ 24-48 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะเข้าสู่ระยะฟื้น กล่าวคือ การรั่วของพลาสมาจะลดลงจนหยุด พลาสมาที่เคยรั่วออกไปจะกลับเข้าสู่เส้นเลือดตามเดิม ผู้ป่วยจะเริ่มรับประทานอาหารได้มากขึ้น มีปัสสาวะออกมากขึ้น มีผื่นแดงคันขึ้นตามตัว และแขนขา
  4. การติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มีอาการอื่น ๆ ผู้ป่วยจะอาการสมองอักเสบ มีภาวะชัก หรือมีการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ

ดังนั้น หากมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน มีจุดเลือดออกตามตัว ไม่มีอาการไอ หรือน้ำมูก ร่วมกับมีการระบาดของโรคไข้เลือดออกในชุมชน ต้องระวังว่าจะเป็นไข้เลือดออก หากไม่แน่ใจควรไปพบแพทย์เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง

การรักษา ไข้เลือดออก

ผู้ป่วยที่มีอาการในช่วงแรกจะมีไข้สูง เบื่ออาหาร ช่วงที่ไข้สูง มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย สามารถดูแลเบื้องต้นได้ด้วยการให้รับประทานยาลดไข้อย่างพาราเซตามอล หลีกเลี่ยงยาลดไข้กลุ่ม แอสไพริน หรือ ไอบูโพรเฟน เพราะยาเหล่านี้จะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถให้ดื่มน้ำเกลือแร่ รับประทานอาหารอ่อน ๆ แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสีแดงหรือน้ำตาล เพราะหากผู้ป่วยอาเจียนออกมาจะแยกยากว่าเป็นสีจากอาหารหรือสีจากเลือดออก ให้พักผ่อนมาก ๆ หากใน 3-4 วันอาการยังไม่ดีขึ้น มีอาการอาเจียนมาก ปวดท้องมาก ซึมลง ปัสสาวะออกน้อยลง มีเลือดออกมาก ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล

ในผู้ป่วยที่มีอาการมาก เช่น รับประทานอาหารไม่ได้ อาเจียนมาก มีเลือดออกมาก หรือแพทย์สงสัยว่าอาจเริ่มเข้าสู่ภาวะช็อก แพทย์จะรับรักษาตัวไว้ในโรงพยาบาล แพทย์จะรักษาด้วยการให้น้ำเกลือและเฝ้าติดตามสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิด อาจต้องมีการจับชีพจรและวัดความดันทุก 15-30 นาที มีการวัดปริมาณปัสสาวะ หากมีเลือดออกมากจำเป็นต้องให้ส่วนประกอบของเลือด และให้การรักษาอื่น ๆ ตามภาวะแทรกซ้อนที่พบ

ในปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสที่จำเพาะต่อไวรัสไข้เลือดออก สำหรับวัคซีนเริ่มมีใช้แล้ว แต่ประสิทธิภาพยังไม่ได้ 100% กล่าวคือสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ และสามารถลดความรุนแรงของโรคได้ แต่ไม่ได้ครบ 100% และราคายังค่อนข้างสูง

การป้องกัน

เนื่องจากโรคนี้แพร่โดยยุงลาย ควรมีการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างเหมาะสม เช่น ไม่ควรมีน้ำขังตามภาชนะต่าง ๆ ในบ้าน หรือใส่ทรายอะเบท ภาชนะใส่น้ำควรมีฝาปิดให้มิดชิด หากอยู่ในที่ที่อาจมียุงชุม ควรสวมเสื้อ กางเกงขายาว ทายาป้องกันการกัดของยุง และนอนในมุ้งเพื่อไม่ให้ถูกยุงกัด

โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี โดยมียุงลายเป็นพาหะ ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ ผู้มีอาการส่วนใหญ่จะมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีจุดเลือดออก และหายเองได้ มีผู้ป่วยส่วนน้อยที่อาจมีภาวะช็อก การดูแลที่สำคัญคือป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด หากมีไข้และสงสัยว่าอาจเป็นไข้เลือดออก สามารถให้การรักษาแบบประคับประคอง แต่ต้องไปรับการตรวจติดตามไม่ควรรับประทานยากลุ่ม แอสไพริน หรือ ไอบูโพรเฟน หากมีไข้แล้ว 3-4 วันอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการซึมลง ตัวเย็น กระสับกระส่าย ควรรีบไปตรวจที่โรงพยาบาล

 

ข้อมูลจาก

รศ. ดร. นพ.นพพร อภิวัฒนากุล

สาขาวิชาโรคติดเชื้อ

ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ 

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี 

มหาวิทยาลัยมหิดล