Categories
บทความ

ผลลัพท์จากเลือด….มีความหมายว่าอย่างไร

ผลแลปจากการตรวจเลือด....มีความหมายว่าอย่างไร

การตรวจเลือด (Blood testing) 

เป็นหนึ่งในวิธีการสำคัญเพื่อบ่งชี้การทำงานของอวัยะต่าง ๆ ภายในร่างกาย หรือเป็นการตรวจวิเคราะห์หาปัจจัยเสี่ยงของสุขภาพของแต่ละบุคคล ซึ่งจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคหรือสภาวะบางอย่างที่ผิดปกติของร่างกายได้ เชื่อว่าผู้ป่วยหลาย ๆ ท่านหรือผู้ที่เข้ารับการตรวจสุขภาพเมื่อได้ใบผลการตรวจเลือดจากโรงพยาบาลนั้น มักจะไม่เข้าใจความหมายของค่าต่าง ๆ 

จากข้อจำกัดดังกล่าวบทความนี้จึงได้รวบรวมคำอธิบายและความหมายของค่าต่าง ๆ ไว้เพื่อช่วยให้หลาย ๆ ท่านได้เข้าใจผลเลือดของตนเองได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามผลการตรวจเลือดเพียงอย่างเดียวไม่สามารถยืนยันความผิดปกติที่พบหรือโรคบางโรคได้ เนื่องจากโรคบางชนิดต้องอาศัยการตรวจหลายอย่างเพื่อยืนยันผลและมีหลายปัจจัยที่ทำให้ผลตรวจเลือดออกมาอยู่ในเกณฑ์ไม่ปกติ เช่น อาหารที่รับประทาน อยู่ในช่วงมีประจำเดือน การออกกำลังกาย ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่ม หรือการใช้ยาบางชนิด จึงจำเป็นต้องมีการตรวจในขั้นตอนต่อไปเพิ่มขึ้นตามดุลยพินิจของแพทย์ หรือตรวจซ้ำอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตามการตรวจเลือดเป็นวิธีการพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็นที่จะใช้ในการวินิจฉัย ซึ่งในปัจจุบันการตรวจเลือดแบ่งได้หลายประเภทดังนี้ 

การตรวจทางเคมีในเลือด (Blood Chemistry) 
น้ำตาลในเลือด (Blood sugar)

  1. Glucose 
    กลูโคสเป็นน้ำตาลชนิดสำคัญในร่างกายทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานให้แก่เซลล์ต่าง ๆ ทางการแพทย์ใช้น้ำตาลกลูโคสเป็นสารบ่งชี้โรคเบาหวาน
    • ผู้ใหญ่ 70-100 mg/dL
    • เด็ก 60-100 mg/dL
    • 100-125 mg/dl มีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน
    • >= 126 mg/dl เข้าได้กับเบาหวาน นัดมาตรวจเลือดซ้ำ ถ้าผลตรวจเลือดซ้ำ พบว่า FBS>= 126 mg/dl เป็นจำนวน 2 ใน 3 ครั้งถือว่าเป็นเบาหวาน
  2. HbA1c (Glycated hemoglobin)
     เป็นการตรวจวัด hemoglobin ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งในเลือดที่สามารถเกิดปฏิกิริยาทางเคมีกับน้ำตาลที่อยู่ในเลือด และคงอยู่ในเลือดของเราได้นานถึง 8-12 สัปดาห์ ดังนั้นการตรวจวัดระดับของ HbA1c จึงสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ค่าเฉลี่ยของระดับน้ำตาลในเลือด ณ ช่วงเวลา และใช้ติดตามการควบคุมระดับน้ำตาลในระยะยาวของผู้ป่วยเบาหวานได้
    • ค่าปกติ 4.8-6.0 %
    • ค่าสูง >6.5% เป็นเบาหวาน

ไขมัน (Lipid profile) 

วัตถุประสงค์ของการตรวจวัดระดับไขมันในเลือดเพื่อใช้บ่งชี้ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคสมองขาดเลือดจากการอุดตัน หรือตีบตันของเส้นเลือด และใช้ติดตามการรักษาในผู้ป่วยที่ได้รับยาลดระดับไขมันในเลือด

  1. Low-density lipoprotein (LDL-cholesterol) 
    เป็นไขมันชนิดที่ทำหน้าที่นำพา cholesterol ในกระแสเลือดเรียก LDL-cholesterol ว่า ไขมันเลว
    • ค่าปกติ 40 mg/dL (ผู้หญิง), >50 mg/dL (ผู้ชาย)
    • ค่าต่ำ – อาจมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดแข็ง (atherosclerosis) ส่งผลให้เกิดการตีบตันของเส้นเลือดในอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ และสมอง
  2. Total cholesterol
    เป็นไขมันชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตฮอร์โมนต่างๆ เอนไซม์ และเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของผนังเซลล์ การตรวจวัดระดับคลอเลสเตอรอลจะบ่งชี้ระดับไขมันโดยรวม ทั้ง HDL-cholesterol, LDL-cholesterol และ triglyceride ภายในเลือด 
    ค่าปกติ
Categories
บทความ

CPR คือ ทุกเรื่องควรรู้เกี่ยวกับปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ

CPR คือ ทุกเรื่องควรรู้เกี่ยวกับปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ

การเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอๆ รู้หรือไม่ว่าคนไทยเราเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน แต่ถ้าหากช่วงจังหวะที่เราอยู่ในสถานการณ์ที่มีคนเกิดเหตุการณ์ที่หัวใจหยุดเต้นกระทันหัน หรือการหายใจไม่ปกติ เทคนิกการปฐมพยาบาลที่เรียกว่า CPR คือ สิ่งที่จะช่วยชีวิตคนอื่นและลดสถิติดังกล่าวได้ ในบทความนี้ Jorportoday จะมาอธิบายถึง CPR ว่าคืออะไร ขั้นตอนในการทำ ความสำคัญและเหตุผลที่คุณเองควรได้รับการฝึกฝนเช่นกันครับ

CPR คือ

Cardiopulmonary Resuscitation หรือ CPR คือ เทคนิกการปฐมพยาบาลที่สามารถใช้ได้ในกรณีที่มีคนหายใจไม่ปกติหรือหัวใจหยุดเต้น จากสาเหตุต่างๆ เช่น  หัวใจวายหรือจมน้ำ เมื่อผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติหรือหัวใจหยุดเต้นร่างกายจะไม่ได้รับเลือดใหม่ที่มีออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะในร่างกาย การขาดเลือดที่มีออกซิเจนในช่วงเวลาไม่กี่นาทีอาจทำให้สมองเกิดความเสียหายได้ การทำ CPR จะช่วยทำให้เลือดที่มีออกซิเจนไหลเวียนไปยังสมองและอวัยวะส่วนอื่นๆ เพื่อรอการรักษาอย่างถูกต้องจากแพษย์ต่อไป

สำหรับคนที่ไม่เคยได้เรียนเกี่ยวกับการ CPR หรือไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรให้ถูกต้อง โปรดทราบว่าเมื่อเกิดเหตุมีคนหัวใจหยุดเต้นอยู่ตรงหน้าให้พยายามปั้มหัวใจโดยการกดหน้าอกอย่างแรงและเร็ว ถือเป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้เช่นกัน บางครั้งการทำ CPR ในช่วงเวลาสั้นๆ อาจหมายถึงความเป็นและความตายเลยทีเดียว

จากการรายงานสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2563 พบว่า

“กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรคนี้ประมาณ 17.9 ล้านคน และจากสถิติข้อมูลการเสียชีวิตของคนไทย ในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด พบว่า ร้อยละ 80 เสียชีวิตด้วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน อีกทั้งข้อมูลจากกรมการแพทย์ ปี 2557 พบว่า ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเฉลี่ยของผู้ป่วยโรคหัวใจถึง 6,906 ล้านบาทต่อปี ”

คำแนะนำจาก American Heart Association :

  • สำหรับคนที่ไม่ยังเคยได้รับการฝึกฝน : หากคุณไม่ได้รับการฝึกทำ CPR หรือกังวลเกี่ยวกับการช่วยหายใจ ให้ทำการ CPR ด้วยมือเท่านั้น โดยทำการกดหน้าอกอย่างต่อเนื่อง 100 ถึง 120 ครั้งต่อนาทีจนกว่าแพทย์จะมาถึง (ส่วนนี้มีอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อถัดไปครับ) โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องพยายามช่วยหายใจ (ฝายปอด)
  • อบรมแล้วพร้อมลุย : หากคุณได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีและมั่นใจในความสามารถของคุณ ให้ตรวจดูว่ามีชีพจรและการหายใจหรือไม่ หากไม่มีชีพจรหรือการหายใจภายใน 10 วินาที ให้เริ่มกดหน้าอก เริ่ม CPR ด้วยการกดหน้าอก 30 ครั้ง ก่อนเป่าลมหายใจเพื่อช่วยชีวิตสองครั้ง
  • หากเคยฝึกหัดแต่ขึ้นสนิมไปแล้ว : หากคุณเคยได้รับการฝึก CRP มาแล้วแต่ไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเอง ให้กดหน้าอกในอัตรา 100 ถึง 120 นาทีต่อนาที (รายละเอียดอธิบายด้านล่าง) คล้ายกับคนที่ยังไม่เคยผ่านการฝึก!!

คำแนะนำดังกล่าวสามารถใช้ได้กับสถานการณ์ที่เป็นผู้ใหญ่ เด็ก และทารก ที่ต้องการทำ CPR แต่ไม่ใช่ทารกแรกเกิด (ทารกอายุไม่เกิน 4 สัปดาห์)

ก่อนการเริ่มทำ CPR ควรปฏิบัติตามแนวทาง “ห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต” (Chain of Survival) เพื่อเป็นหลักการช่วยฟื้นคืนชีพแนวทางเดียวกันทั่วโลกและเป็นข้อตกลงร่วมกันในการปฏิบัติ ประกอบด้วย

  1. การประเมินผู้ป่วยว่ายังรู้สึกตัวอยู่หรือไม่ หากไม่มีสติ คลำหาชีพจรไม่พบ ควรเรียกขอความช่วยเหลือหรือเรียกบริการการแพทย์ฉุกเฉินจากหน่วยงานต่าง ๆ ทันที เช่น ศูนย์เอราวัณ (เฉพาะในพื้นที่ กทม.) โทร. 1646, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โทร. 1669 (ทั่วประเทศ)
  2. การกดหน้าอกอย่างถูกต้องและทันท่วงที (ทำ CPR)
  3. การทำการช็อกไฟฟ้าหัวใจ (AED) ภายใน 3-5 นาที เมื่อมีข้อบ่งชี้
  4. การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นสูงอย่างมีประสิทธิภาพ
  5. การดูแลภายหลังการช่วยฟื้นคืนชีพ

สำหรับอาการของผู้บาดเจ็บที่ควรได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนด้วยการทำ CPR สามารถสังเกตได้ดังนี้

  1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว
  2. ไม่หายใจ หรือหายใจเฮือก
  3. หัวใจหยุดเต้น

ขั้นตอนการทำ CPR

การทำ CPR หรือการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานประกอบด้วย 3 ขั้นตอนใหญ่สำคัญ คือ A B C

  • A – Airway : การเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง
  • B – Breathing : การช่วยให้หายใจ
  • C – Circulation : การนวดหัวใจเพื่อช่วยให้เกิดเลือดไหลเวียนอีกครั้ง

ในปี 2010 คู่มือการช่วยเหลือชีวิตเบื้องต้นนั้นได้มีการจัดลำดับขั้นตอนในการช่วยชีวิตใหม่ ในปัจจุบันแทนที่จะใช้ A-B-C ซึ่งมาจากทางเดินหายใจและการหายใจแล้วค่อยกดหน้าอกนั้น American Heart Association ได้สอนให้ผู้ช่วยเหลือทำตามขั้นตอน C-A-B แทน คือกดหน้าอกก่อนแล้วค่อยช่วยทางเดินหายใจและการหายใจ

ในบทสรุปของการเปลี่ยนแปลงนี้ American Heart Association ได้อธิบายไว้ว่า

“การใช้ลำดับการช่วยชีวิตแบบ A-B-C นั้นมักทำให้การกดหน้าอกนั้นเกิดขึ้นช้าในขณะที่ผู้ช่วยเหลือต้องการเปิดทางเดินหายใจ และช่วยหายใจหรือมองหาอุปกรณ์สำหรับการช่วยหายใจ การเปลี่ยนลำดับการช่วยเหลือมาเป็น C-A-B นั้นจะทำให้มีการเริ่มกดหน้าอกได้เร็วขึ้นและการช่วยหายใจก็เกิดขึ้นช้ากว่าเล็กน้อย คือหลังจากจบการกดหน้าอกรอบแรก (การกดหน้าอก 30 ครั้งสามารถทำได้ภายในประมาณ 18 วินาที)”

 

ในการเริ่มทำ CPR ให้ทำตามขั้นตอน  C – A B

C – Circulation : การนวดหัวใจเพื่อช่วยให้เกิดเลือดไหลเวียนอีกครั้ง

ปั๊มหัวใจช่วยให้ผู้บาดเจ็บมีการไหลเวียนของเลือดในร่างกายอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้หลักในการปั๊มหัวใจ คือ ต้องกดให้กระดูกหน้าอก (Sternum) ลงไปชิดกับกระดูกสันหลัง ซึ่งจะทำให้หัวใจที่อยู่ระหว่างกระดูกทั้งสองอันถูกกดไปด้วย ทำให้มีการบีบเลือดออกจากหัวใจไปเลี้ยงร่างกาย เสมือนการบีบตัวของหัวใจ ซึ่งมีขั้นตอนในการปั๊มหัวใจตามนี้

1. จัดให้ผู้ป่วยนอนหงายราบ บนพื้นแข็ง ถ้าพื้นอ่อนนุ่มให้สอดไม้กระดานแข็งใต้ลำตัว

2. วัดตำแหน่งที่เหมาะสำหรับการนวดหัวใจ โดยใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางข้างที่ถนัด วาดจากขอบชายโครงล่างของผู้ป่วยขึ้นไป จนถึง ปลายกระดูกหน้าอก วัดเหนือปลายกระดูกหน้าอกขึ้นมา 2 นิ้วมือ แล้วใช้สันมือข้างที่ไม่ถนัดวางบนตำแหน่งดังกล่าว และใช้สันมือข้างที่ถนัดวางทับลงไป และเกี่ยวนิ้วมือให้นิ้วมือที่วางทับแนบชิดในร่องนิ้วมือของมือข้างล่าง (interlocked fingers) ยกปลายนิ้วขึ้นจากหน้าอก

3. ผู้ช่วยเหลือยืดไหล่และแขนเหยียดตรง จากนั้นปล่อยน้ำหนักตัวผ่านจากไหล่ไปสู่ลำแขนทั้งสองและลงไปสู่กระดูกหน้าอกในแนวตั้งฉากกับลำตัวของผู้เจ็บป่วยในผู้ใหญ่และเด็กโต กดลงไปลึกประมาณ 1.5 – 2 นิ้ว ให้กดลงไปในแนวดิ่ง และอย่ากระแทก

4. ผ่อนมือที่กดขึ้นให้เต็มที่เพื่อให้ทรวงอกมีการขยายตัว และหัวใจได้รับเลือดที่อุดมไปด้วยออกซิเจน ขณะที่ผ่อนมือไม่จำเป็นต้องยกมือขึ้นสูง มือยังคงสัมผัสอยู่ที่กระดูกหน้าอก อย่ายกมือออกจากหน้าอก จะทำให้มีเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ในร่างกาย และมีเลือดไหลกลับเข้าสู่หัวใจ ทำให้มีการไหลเวียนเลือดในร่างกาย

5. การกดนวดหัวใจจะนวดเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ในอัตราเร็ว 100 ครั้ง/นาที ถ้าน้อยกว่านี้จะไม่ได้ผล

 

A – Airway : การเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง

การเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง เพราะโดยมากผู้บาดเจ็บที่หมดสติจะมีภาวะโคนลิ้นและกล่องเสียงตกลงไปอุดทางเดินหายใจส่วนบน ดังนั้นจึงต้องเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง โดยพิจารณาจาก

  • หากผู้ป่วยไม่มีการบาดเจ็บที่ศีรษะหรือคอ จะใช้วิธีการแหงนหน้าและเชยคาง (Head tilt – Chin lift)
  • หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการเจ็บของไขสันหลัง ให้ใช้วิธี Manual Spinal Motion Restriction โดยการวางมือสองข้างบริเวณด้านข้างของศีรษะ เพื่อป้องกันการเคลื่อนของศีรษะ
  • หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังบริเวณคอให้เปิดทางเดินหายใจด้วยวิธียกขากรรไกร (Jaw Thrust) คือ ดึงขากรรไกรทั้งสองข้างขึ้นไปด้านบน โดยผู้ช่วยเหลือจะอยู่เหนือศีรษะของผู้ป่วย

 

B – Breathing : การช่วยให้หายใจ

การช่วยหายใจ เนื่องจากการหายใจหยุด ร่างกายจะมีออกซิเจนคงอยู่ในปอดและกระแสเลือด แต่ไม่มีสำรองไว้ใช้ดังนั้น เมื่อหยุดหายใจ จึงต้องช่วยหายใจ เป็นวิธีที่จะช่วยให้ออกซิเจนเข้าสู่ปอดผู้ป่วยได้ ซึ่งออกซิเจนที่เป่าออกไปนั้นมีออกซิเจนประมาณ 16-17 % ซึ่งเพียงพอสำหรับใช้ในร่างกาย สามารถทำได้หลายวิธี คือ ด้วยการเป่าปาก (mouth to mouth) เป่าจมูก (mouth to nose) และวิธีการกดหลังยกแขนของโฮลเกอร์ – นิลสัน (back pressure arm lift or Holger – Nielson method) ทำได้ดังนี้

  • กรณีเป่าปาก บีบจมูกของผู้ป่วย ผู้ช่วยเหลือหายใจเข้าปอดลึก ๆ ซัก 2-3 ครั้ง หายใจ เข้าเต็มที่แล้วประกบปากให้แนบสนิทกับปากของผู้ป่วย แล้วเป่าลมหายใจเข้าไปในปอดให้เต็มที่
  • กรณีเป่าจมูก ใช้ในรายที่มีการบาดเจ็บในปาก หรือในเด็กเล็ก ต้องปิดปากของผู้ป่วยก่อน และเป่าลมหายใจเข้าทางจมูกแทน

ขณะที่เป่าให้เหลือบมองยอดอกของผู้รับบริการด้วยว่ามีการยกตัวขึ้นหรือไม่ การเป่าลมหายใจของผู้ช่วยเหลือผ่านทางปากหรือจมูก จะต้องทำอย่างช้าๆ ปล่อยปากหรือผู้ช่วยเหลือออกจากปากหรือจมูกของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยหายใจออก ให้ ผายปอด 2 ครั้ง ๆ ละ 1-1.5 วินาที (แต่ละครั้งได้ออกซิเจน 16 %) อัตราเร็วในการเป่า คือ 12 -15 ครั้ง / นาที ใกล้เคียงกับการหายใจปกติ

CPR คือ

4 เหตุผลที่คุณควรผ่านการฝึกและได้รับใบรับรองการทำ CPR

ในหัวข้อก่อนหน้าผมได้อธิบายถึงขั้นตอนการทำ CPR คร่าวๆ เพื่อนให้เพื่อนๆ ได้ทราบแต่อย่างไรก็ตามข้อความในบทความนี้เป็นเพียงไกด์ไลน์เท่านั้น การไปฝึกอบรมกับผู้เชี่ยวชาญจะทำให้คุณได้ทั้งความรู้ ประสบการณ์จริง

การฝึกอบรมเพื่อได้ใบรับรองการทำ CPR อาจดูเป็นเรื่องใหญ่ในการเสียเงินเสียเวลาไปเรียนโดยเพาะคนที่มีเวลาและทรัพยากรจำกัด แต่เชื่อหรือไม่ว่าเวลาในการเรียนทำ CPR ในไม่กี่ชั่วโมงนั้นคุณสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้มหาศาลและนี้คือ 4 เหตุผลที่ผมอยากแนะนำครับ

1.คุณสามารถช่วยชีวิตใครบางคนได้

เพื่อให้ทุกคนเข้าใจผลกระทบของการทำ CPR ในกรณีฉุกเฉินได้ดีขึ้น ผมขออนุญาตนำสถิติจาก American Heart Association (AHA)

  • 70% ของชาวอเมริกันรู้สึกหมดหวังไร้สิ้นหนทางที่จะตอบสนองต่อกรณีฉุกเฉินเกี่ยวกับเหตุการด้านการหยุดหายใจหรืออัตราการเต้นของหัวใจผลิตปกติ เนื่องจากไม่เคยได้รับการฝึกทำ CPR มาก่อน
  • มีเพียง 32% ของผู้ป่วยที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเท่านั้นที่ได้รับการช่วยเหลือโดยการ CPR จากผู้ที่ยืนดูอยู่ข้างๆ
  • 4/5 ของเหตุหัวใจหยุดเต้นเกิดขึ้นที่บ้าน หมายความว่าผู้ป่วยที่มีโอกาสหัวใจหยุดเต้นนั้นอาจจะเป็นคนที่คุณรัก
  • ทุกๆ นาทีที่ผ่านไปโดยไม่ได้ทำ CPR และกระตุ้นหัวใจ โอกาศรอดของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นจะลดลง 7-10%

ด้วยความรู้ของการเข้ารับการอบรมและฝึกฝนการทำ CPR โดยบุคคลที่สามาถรับรอง CPR สามารถช่วยลดการสูญเสียชีวิตในกรณีฉุกเฉินได้

2.การสร้างความแตกต่างระหว่างความเป็นและความตาย

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (SCA) เป็นปัญหาที่สำคัญ เนื่องจากเมื่อมีภาวะหัวใจหยุดเต้นเกิดขึ้นเลือดจะหยุดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองและอวัยะส่วนต่างๆ ทั่วร่างกาย ดังนั้นผู้ที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันที่ไม่ได้รับการดูแลภายใน 2-3 นาทีหลังเกิดเหตุมีโอกาศเสียชีวิตสูง

จากสถิติของ American Heart Association อีกเช่นเคยได้ชี้ให้เห็นว่าผู้ที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันประมาณ 92% เสียชีวิตก่อนถึงโรคพยาบาล อย่างไรก็ตามถ้าผู้ป่วยได้รับการทำ CPR ทันทีสามารถเพิ่มโอกาศรอดชีวิตได้มากขึ้น สองหรือสามเท่า

3.เป็นบุคคลที่มีค่าในองค์กร

ลองจินตนาการว่าหากคุณกำลังทำงานแล้วจู่ๆ เพื่อนร่วมงานของคุณเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น แต่ถ้าคุณได้รับการฝึกอบรมมาแล้วคุณสามารถให้ความช่วยเหลือได้ทันที

การเรียนรู้การทำ CPR จะช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับองค์กรเป็นส่วนหนึ่งของอาชีวอนามัยและความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณอยู่ในหน่วยงานด้านความปลอดภัยด้วยแล้วการเรียนทำ CPR คือสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

4.เป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นให้บุคคลรอบข้างเข้ารับการอบรมทำ CPR

สิ่งที่ดีที่สุดประการหนึ่งเกี่ยวกับการทำ CPR คือ ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง เด็กนักเรียน หรือบุคคลอื่น การทำ CPR จะช่วยให้แต่ละคนมีทักษะ ในการช่วยชีวิตที่จำเป็นและเมื่อคุณรู้ว่าจำเป็นต่อทั้งสุขภาพของคุณเองและคนรอบข้าง การแนะนำให้คนรอบตัวสามารถทำ CPR ได้จึงเป็นเรื่องที่ดี

แหล่งที่มา : https://www.jorportoday.com/how-to-perform-cpr/

Categories
บทความ

ดูวิธีใช้ AED และทำ CPR ช่วยคนหัวใจหยุดเต้นภายใน 4 นาที

ดูวิธีใช้ AED และทำ CPR ช่วยคนหัวใจหยุดเต้นภายใน 4 นาที

ทุกๆ 1 ชั่วโมง คนไทยเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันประมาณ 6 คน หรือเท่ากับเสียชีวิตมากถึง 54,000 คนต่อปี  ภาวะหัวใจหยุดเต้นถือเป็น “ภัยเงียบ” ที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้  โดยไม่จำกัดอายุและไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้า

      หากพบคนที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน  เรามีเวลาเพียงแค่ 4 นาทีเท่านั้น  ที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยด้วยการทำ CPR (ปั๊มหัวใจผายปอดกู้ชีพ) เพราะทันทีที่หัวใจหยุดทำงาน  เลือดจะไม่ถูกสูบฉีดไปเลี้ยงสมองทำให้สมองตายเนื่องจากขาดเลือดและออกซิเจน 

      การทำ CPR ไม่ยากอย่างที่คิด  แต่สิ่งที่สำคัญคือผู้ช่วยเหลือต้องไม่ตื่นเต้นตกใจ  แล้วทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

  1. เพื่อพบคนหมดสติ  ให้ตบไหล่พร้อมปลุกเรียก “คุณ! คุณ! คุณ!
  2. ถ้าผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว  รีบตะโกนขอความช่วยเหลือและโทรแจ้ง 1669 (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ)
  3. เช็กดูว่าผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นหรือไม่  โดยเอาหูแตะบริเวณจมูกของคนไข้  ตามองที่หน้าอก  หากหน้าอกคนไข้ไม่ขยับ  หน้าท้องไม่กระเพื่อม  แสดงว่าหยุดหายใจให้ปั๊มหัวใจทันที
  4. สำหรับการปั๊มหัวใจ  ให้ปั๊ม 100-120 ครั้งต่อนาที  ปั๊มต่อเนื่องนาน 2 นาที  แล้วสลับคนปั๊ม  ควรปั๊มไปเรื่อยๆ จนกว่าทีมกู้ภัยจะมาถึง
  5. ในขณะเดียวกัน  ถ้าในสถานที่เกิดเหตุมีเครื่อง AED (เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ) ให้รีบไปนำมาช่วยผู้ป่วยให้เร็วที่สุด
  6. ส่วนวิธีการใช้เครื่อง AED นั้น  ให้กดปุ่มเปิดเครื่อง  แปะแผ่นนำไฟฟ้าในตำแหน่งที่ลูกศรบอก  จากนั้นทำตามที่เครื่องสั่งระหว่างรอทีมกู้ภัย

 

เหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา  ทักษะการทำ CPR จึงสำคัญ

      ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า  แต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันกว่า 54,000 คน หรือเฉลี่ยแล้วเท่ากับเสียชีวิตประมาณ 6 คน ทุกๆ 1 ชั่วโมง  ในทางการแพทย์ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันถือเป็น “ภัยเงียบ” ที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้  ไม่เว้นแม้แต่คนที่ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ

      ปรัชญา โสภา  หนุ่มวัยยี่สิบปลาย  เคยหัวใจหยุดเต้นขณะวิ่ง  โดยปกติเขาเป็นคนสุขภาพแข็งแรงและซ้อมวิ่งระยะ 5-10 กิโลเมตรอย่างสม่ำเสมอ  เฉลี่ย 3 วันต่อสัปดาห์  แต่เหตุไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นในเช้ามืดวันหนึ่งของการแข่งขันมินิมาราธอนที่ จ.อยุธยา

ปรัชญา โสภา นักวิ่งอายุ ที่เคย ‘หัวใจหยุดเต้น’ – ภรรยาและลูกสาว

      “ประมาณกิโลเมตรที่สาม  มันเหมือนจะขาดใจครับ  แต่ไม่คิดว่าผิดปกติอะไร  ทีนี้ผมก็วิ่งต่อไปเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าร่างกายเริ่มอยู่ตัว  ไม่ค่อยเหนื่อยแล้ว  จำได้ว่าวิ่งไปสักพักภาพก็ตัดเลย”  ปรัชญาเล่าย้อนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2560

      โชคดีในครั้งนั้นคนที่วิ่งตามหลังเขามาคือ  พงษ์ศักดิ์ อุบลวรรณี  พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ  ซึ่งมีความรู้เรื่องการทำ CPR  “พี่ก็ปั๊มไปตามรอบ ขณะที่ปั๊มหน้าเริ่มเขียวแล้ว  มีน้องอีกคนหนึ่งที่เป็นนักวิ่งด้วยกันคอยช่วยอยู่ข้างๆ  แล้วหน่วยกู้ชีพก็มา ใช้เครื่อง AED ช่วยคนไข้จนหัวใจเริ่มกลับมาเต้น”  พงษ์ศักดิ์เล่า

พงษ์ศักดิ์ อุบลวรรณี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ‘ผู้ช่วยชีวิต’ นักวิ่งที่หัวใจหยุดเต้น

      ปรัชญารู้สึกตัวอีกทีที่โรงพยาบาล  เขาบอกว่า “เหมือนได้โอกาสที่สอง”  และนึกไม่ออกเลยว่าหากวันนั้นเขาเสียชีวิตไปจริงๆ ภรรยากับลูกสาวอีก 2 คนที่ยังเล็กอยู่ทั้งคู่ จะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร 

      แต่การรอดชีวิตของปรัชญาถือว่าเป็นส่วนน้อย  เมื่อเทียบกับสถิติการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันของคนไทยที่ได้กล่าวไปข้างต้น

 

ถ้าทำ CPR พร้อมกับใช้เครื่อง AED สามารถเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้ 10 เท่า

      CPR เป็นการกดนวดหัวใจเพื่อกระตุ้นอัตราการไหลเวียนของเลือด  ส่วนการผายปอดคือการช่วยเติมออกซิเจนเข้าไป  แต่ไม่ได้ทำให้หัวใจกลับมาทำงาน  ดังนั้น AED หรือเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจจึงมีความสำคัญ  เพราะการทำงานของเครื่อง AED คือปล่อยกระแสไฟฟ้าไปกระตุกหัวใจของผู้ป่วยให้กลับมาเต้นอีกครั้ง

      “ในกลุ่มคนไข้ที่หมดสติแล้วมีภาวะหัวใจหยุดเต้น  การทำ CPR อย่างเดียวอัตราการรอดชีวิตจะอยู่ที่ประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์  แต่ถ้าใช้เครื่อง AED ร่วมด้วยอัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 10 เท่า”  ผศ.นพ.นครินทร์ ศิริทรัพย์  หนึ่งในกรรมการดำเนินงานโครงการกระตุกหัวใจเพื่อคนไทยทุกคน อธิบาย

      ผศ.นพ.นครินทร์  ยังกล่าวอีกว่า  มีโรคหลายโรคที่ทางการแพทย์พยายามป้องกัน  เช่น  โรคหัวใจ  บางชนิดสามารถตรวจทราบสาเหตุได้  แต่บางชนิดก็ไม่อาจทราบ  เพราะสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติมีมากมาย  โรคเหล่านี้ถือเป็น “ภัยเงียบ”  ดังนั้นแม้ผู้ป่วยจะดูแลสุขภาพอย่างดี  ออกกำลังกายดี  โรคเหล่านี้ก็อาจเกิดขึ้นได้

      อย่างไรก็ตาม  ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนเครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะ  โดยเฉพาะพื้นที่ต่างจังหวัด  นอกจากนั้นคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังขาดความเข้าใจวิธีการทำ CPR และใช้เครื่อง AED  ทำให้ผู้พบเห็นเหตุการณ์คนแรกๆ ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันเวลา

 

รู้ไว้  ไม่ได้ใช้  ดีกว่าต้องใช้…แล้วไม่รู้

      สำหรับแฟนข่าวเวิร์คพอยท์ที่ต้องการเรียนรู้วิธีการทำ CPR และใช้เครื่อง AED  เพื่อเตรียมความพร้อมไว้สำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน  สามารถเลื่อนขึ้นไปชมคลิปสาธิตที่ด้านบนซึ่งอธิบายไว้โดย พว.พนมกรณ์ แสงอรุณ  พยาบาลวิชาชีพแผนกฉุกเฉิน  ฟังง่ายๆ แต่ละเอียดและครบทุกขั้นตอนภายใน 4 นาที

แหล่งที่มา : https://workpointtoday.com/aed-cpr/

Categories
บทความ

ไขข้อสงสัย ไข้หวัดใหญ่ต่างจากไข้หวัดธรรมดาอย่างไร?

ไขข้อสงสัย ไข้หวัดใหญ่ต่างจากไข้หวัดธรรมดาอย่างไร?

เวลาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็น เช้าแดดเปรี้ยง บ่ายฝนกระหน่ำ แขกไม่ได้รับเชิญอย่างไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ก็พร้อมจะมาเยือนเราได้เสมอ และเนื่องจากโรคทั้งสองชนิดนี้มีอาการทั่วไปคล้ายกัน จึงไม่แปลกเลยที่บางครั้งก็ทำให้หลายคนสับสน จนอาจดูแลตัวเองและลูก ๆ ไม่ถูกวิธี ดังนั้นเราจึงรวบรวมวิธีสังเกตความแตกต่าง ระหว่างไข้หวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่แบบง่าย ๆ มาฝากดังนี้ค่ะ

 

ไข้หวัดธรรมดา เริ่มต้นจากอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม หรือเจ็บคอ มีไข้ต่ำ ๆ หรือไม่มีไข้ก็ได้ ไม่ค่อยปวดกล้ามเนื้อ มีโอกาสเป็นได้ตลอดทั้งปี อาการไม่รุนแรงและหายได้เอง หากเป็นไข้หวัดเรื้อรังจะเกิดโรคแทรกซ้อนอย่างเช่น ไซนัสอักเสบ หูอักเสบ ปอดอักเสบ

 

ไข้หวัดใหญ่ แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาตรงที่มีไข้สูง 38-40 องศาเซลเซียส เป็นนาน 3-4 วันขึ้นไป ไม่เจ็บคอ ส่วนใหญ่จะไอแห้ง ๆ ปวดหัว ร่างกายอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามข้อและกล้ามเนื้อ อาจมีอาการหนาวสั่นสะท้านและเบื่ออาหาร อาการรุนแรงและยาวนานกว่าไข้หวัดธรรมดา มีภาวะแทรกซ้อนได้บ่อยกว่า สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจหรือปอด อาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรง อย่างปอดบวม กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สมองอักเสบ จนอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ปกติจะระบาดหนักช่วงปลายฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว

 

ถึงจะเป็นกันง่าย แต่ก็รักษาไม่ยาก

ไข้หวัดธรรมดามักหายได้เอง จึงรักษาตามอาการ เช่น กินยาบรรเทาอาการปวดลดไข้พาราเซตามอล กินยาแก้ไอ ดื่มน้ำอุ่น นอนพักผ่อนมาก ๆ ส่วนไข้หวัดใหญ่นั้นนอกจากจะรักษาตามอาการเช่นเดียวกับไข้หวัดธรรมดาแล้ว การฉีดวัคซีนป้องกันปีละครั้ง ก็เป็นอีกวิธีที่ได้ผลและช่วยลดความรุนแรงจากภาวะแทรกซ้อนได้ค่ะ

 

ไข้หวัดธรรมดา กลายพันธุ์เป็นไข้หวัดใหญ่ได้หรือไม่?

ใครที่กลัวว่าไข้หวัดธรรมดาจะทวีความรุนแรงจนกลายเป็นไข้หวัดใหญ่ละก็ หายห่วงไปได้เลย เพราะไข้หวัดทั้งสองเกิดจากไวรัสคนละชนิดกันค่ะ ไข้หวัดธรรมดาเกิดจากไวรัสร่วม 200 ชนิด ที่พบมากสุดคือ ไรโนไวรัส (Rhinovirus) รองลงมาเป็นโคโรนาไวรัส (Coronavirus) ส่วนเชื้อต้นเหตุของไข้หวัดใหญ่คือ อินฟลูเอนซาไวรัส (Influenza virus) หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งสายพันธุ์หลักที่พบบ่อยได้แก่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B วิธีสังเกตความแตกต่างง่าย ๆ ระหว่างไข้หวัดใหญ่ 2 สายพันธุ์นี้คือ สายพันธุ์ A มีอาการรุนแรงกว่า ส่วนสายพันธุ์ B มักแพร่ระบาดในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้เติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่เย็นและแห้งนั่นเอง

 

 

ดูแลตัวเองอย่างไร ไม่ให้เป็นไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่?

ไม่ว่าจะไข้หวัดธรรมดาหรือไข้หวัดใหญ่ก็คงไม่มีใครอยากเป็นใช่ไหมละคะ ดังนั้นการดูแลตัวเอง เด็ก ๆ และคนรอบข้าง ให้ห่างไกลจากโรคอยู่เสมอจึงสำคัญที่สุดค่ะ วิธีป้องกันง่าย ๆ ได้แก่ ล้างมือให้สะอาด กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย และไม่อยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรค ที่สำคัญต้องพักผ่อนให้เพียงพอ แค่นี้ชีวิตก็ห่างไกลจากไข้หวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่ได้ไม่ยากค่ะ

 

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ช่วยป้องกันไข้หวัดธรรมดาได้ไหมนะ?

วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากไข้หวัดใหญ่คือ การฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี โดยวัคซีน 1 เข็ม สามารถต้านได้ทั้งไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และสายพันธุ์ B แต่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่ได้ช่วยป้องกันไข้หวัดธรรมดานะคะ เพราะเกิดจากเชื้อไวรัสคนละชนิดกัน และปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดธรรมดา

กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงและควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่คือ เด็กอายุ 6 เดือน – 3 ขวบ คนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป คนที่อาศัยในสถานพักฟื้นหรือบ้านพักคนชรา ผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 3 เดือนขึ้นไป บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่บริการสังคม ส่วนคนที่ไม่เหมาะจะรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน คนที่มีประวัติแพ้ไข่รุนแรงหรือเคยมีอาการแพ้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้ หากคุณกำลังมีไข้สูง มีอาการของโรคประจำตัวกำเริบ หรือเพิ่งหายจากการเจ็บป่วย ควรเลื่อนการรับวัคซีนออกไปก่อน กรณีที่เป็นหวัดเล็กน้อยและไม่มีไข้ สามารถรับฉีดวัคซีนได้ตามปกติค่ะ

 

อันที่จริงไข้หวัดแบบไหนก็ไม่สำคัญ ถ้าเรารู้เท่าทันและดูแลป้องกันตัวเองสม่ำเสมอ ทีนี้ต่อให้มันเข้ามารุกรานบ่อยแค่ไหน เราก็รับมือได้ง่ายนิดเดียวค่ะ

 

บทความนี้ตรวจสอบความถูกต้องโดยแพทย์ชำนาญการ

แหล่งที่มา : https://www.painandpill.com/kids/influenza