Categories
บทความ

ไข้หวัดใหญ่ มีกี่สายพันธุ์? ป้องกันอย่างไร?

ไข้หวัดใหญ่ มีกี่สายพันธุ์? ป้องกันอย่างไร?

ไข้หวัดใหญ่ คืออะไร?

ไข้หวัดใหญ่เป็นอาการที่ร่างกายติดเชื้อไวรัส influenza ที่ระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน โดยจะมีอาการไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว และอ่อนเพลีย

อาการของไข้หวัดใหญ่ แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาอย่างไร?
โดยทั่วไปลักษณะอาการค่อนข้างคล้ายไข้หวัดธรรมดา เพียงแต่อาจมีอาการหนักกว่า และยาวนานกว่า เช่น ไข้สูง และนานกว่า ปวดเมื่อยตามตัวมากกว่า อ่อนเพลียมากกว่า และมักเป็นแบบทันทีทันใด ไม่ใช่อาการค่อยเป็นค่อยไปทีละอย่างเหมือนไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่อาจมีอาการนานถึง 6-10 วัน นอกจากนี้ไข้หวัดใหญ่ยังเสี่ยงจะมีภาวะแทรกซ้อนมากกว่า จึงทำให้บางครั้งผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่อาจต้องนอนโรงพยาบาล เพื่อคอยดูอาการ ป้องกันอาการแทรกซ้อน และการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

อะไรเป็นสาเหตุของการเกิด ไข้หวัดใหญ่?

เชื้อไข้หวัดใหญ่นี้เป็นไวรัสที่มีชื่อว่า อินฟลูเอนซา (Influenza Virus) ที่มีอยู่ในน้ำลาย น้ำมูก และเสมหะของผู้ป่วย ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มไวรัสที่เรียกว่า Orthomyxovirus

ไข้หวัดใหญ่ มีกี่สายพันธุ์?
เท่าที่เราทราบกันอยู่ คือ ไข้หวัดใหญ่มีหลายสายพันธุ์ สามารถแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ใหญ่ๆ ได้แก่

  1. ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A
  2. ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B

สายพันธุ์ C มีความรุนแรงน้อย และไม่ทำให้เกิดการระบาด จึงไม่นับรวมอยู่ในกลุ่มของไข้หวัดใหญ่ แต่สำหรับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A นั้น สามารถแบ่งแยกออกมาย่อยๆ ได้อีกมากมาย ตามที่เราเห็นกันในข่าว เช่น A(H1N1), A(H1N2), A(H3N2), A(H5N1) และ A(H9N2) ตามความแตกต่างของโปรตีนของไวรัสที่เรียกว่า hemagglutinin (H) และ neuraminidase (N) ที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดใหญ่นั้นๆ นั่นเอง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดจนเป็นสาเหตุให้มีคนเสียชีวิต คือ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ชนิด H1N1 และ H5N1 เป็นต้น

ใครที่มีความเสี่ยงในการเป็นไข้หวัดใหญ่บ้าง?
ไม่ว่าจะเป็นเพศใด อายุเท่าไร ก็สามารถเสี่ยงเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ หากภูมิคุ้มกันร่างกายไม่ดีพอ แต่คนที่มีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่น คือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอดเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ เบาหวาน และกลุ่มผู้สูงอายุ
ไข้หวัดใหญ่ ติดต่อกันได้อย่างไร?
ไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อกันจากการรับเชื้อไวรัสผ่านการไอ จาม พูด และลมหายใจของผู้ที่ติดเชื้อ รวมไปถึงน้ำลายจากการใช้ช้อน แก้วเดียวกัน หรือแม้กระทั่งสัมผัสข้าวของที่ผู้ป่วยสัมผัส หลังจากใช้มือป้องปากเวลาจามหรือไอด้วย

การรักษาไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัด เป็นโรคที่ไม่มียารักษาโดยตรง ทำได้แต่เพียงรักษาตามอาการที่มีเท่านั้น เช่น มีไข้ก็ให้ยาลดไข้ เจ็บคอก็ให้ยาแก้เจ็บคอ เป็นต้น ในกรณีของไข้หวัดใหญ่ก็เช่นกัน แพทย์จะรักษาตามอาการ พร้อมกับติดตามอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการรุนแรง แพทย์จึงค่อยพิจารณาการใช้ยาที่กดการเพิ่มจำนวนของไวรัส คือ Amantadine หรือ Rimantadine

วิธีป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

  1. สามารถรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ที่โรงพยาบาลทั่วไป
  2. รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
  3. หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่สักระยะ เพื่อป้องการการระบาด และแพร่กระจายของเชื้อไวรัสจากคนหนึ่ง ไปยังอีกคนหนึ่ง
  4. ล้างมือให้สะอาด ก่อนทานอาหาร หรือหยิบจับอาหารขึ้นมาทาน
  5. ผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ ควรสวมหน้ากากอนามัย หรือเมื่อจามหรือไอ ควรใช้กระดาษทิชชู่ปิดปาก แล้วขยำทิ้งลงถังขยะ และควรหยุดเรียน หยุดงาน เพื่อรักษาตัวให้หายโดยเร็ว และไม่เป็นการแพร่กระจายเชื้อไวรัสให้คนอื่น

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก https://th.ac-illust.com

แหล่งที่มา : http://www.cuhc.chula.ac.th/th/archives/87

Categories
บทความ

โรคที่มากับฤดูหนาว ไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่

โรคที่มากับฤดูหนาว ไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่

ขณะ นี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยคงเริ่มสัมผัสกับกลิ่นอายของ “ลมหนาว” ที่พัดโชยเข้ามาทำให้รู้สึกถึงอากาศที่เริ่มหนาวเย็น สำหรับผู้ที่ยังคงประสบภัยน้ำท่วมอยู่นั้นควรเพิ่มความระมัดระวังในการดูแล สุขภาพเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีความเปียกชื้นสูงกว่าที่อื่น ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ที่มีผู้คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น วัด โรงเรียน หรือ ศูนย์อพยพ หากไม่ป้องกันให้ดีแล้วอาจทำให้เกิดโรคระบาดได้ง่าย

จากสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ รวมถึงอากาศที่แปรปรวนและฤดูฝนที่ยาวนาน ส่งผลให้เราอาจมีช่วงเวลา ที่อุณหภูมิที่ลดต่ำลงหรือมีหน้าหนาวยาวนานกว่าปกติ โรคที่พบได้บ่อยในฤดูหนาวส่วนใหญ่จะเป็นโรค ที่เกิดจากเชื้อไวรัส ได้แก่ โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคปวดบวม โรคหัด โรคหัดเยอรมัน และโรคสุกใส ดังนั้นเรามาเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันโรคที่มากับฤดูหนาวกันนะคะ

1. ไข้หวัด (Common Cold)

โรคไข้หวัดเป็นโรคที่เกิดได้ตลอดทั้งปี พบบ่อยในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาว หรือช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง ไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายสายพันธุ์ เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดแต่ละครั้งมักเกิดจากเชื้อไวรัสหวัดเพียงชนิดเดียว และเมื่อหายแล้วร่างกายก็จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อชนิดนั้น และเมื่อป่วยเป็นไข้หวัดครั้งใหม่ก็มักจะเกิดจากเชื้อไวรัสหวัดชนิดใหม่ หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ

การติดต่อ

เชื้อไวรัสไข้หวัดที่อยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ ติดต่อโดยการไอ หรือหายใจรดกัน หรือจากการสัมผัส เมื่อมีเชื้อหวัดติดที่มือแล้วไปสัมผัสผู้อื่น เชื้อหวัดก็จะติดคนๆ นั้น และเมื่อนำไปขยี้ตาหรือแคะจมูกก็จะเข้าสู่ร่างกายจนกลายเป็นไข้หวัดได้

อาการของโรค

หลังจากเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายประมาณ 1 ถึง 3 วัน ก็จะเริ่มแสดงอาการ อาการที่พบบ่อยคือ ไข้ตัวร้อนเป็นพักๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกใส จาม คอแห้ง หรือเจ็บคอเล็กน้อย ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอโตขึ้น ไอแห้งหรือไอมีเสมหะเล็กน้อยลักษณะสีขาว ถ้าไอมากอาจทำให้เจ็บบริเวณลิ้นปี่ สำหรับผู้ใหญ่อาจไม่มีไข้ มีเพียงอาการคัดจมูก น้ำมูกใส แต่สำหรับเด็กมักมีไข้สูงเฉียบพลัน นอกจากนี้อาจเกิดอาการท้องเดินหรือถ่ายเป็นมูก ถ้ามีอาการเกิน 4 วันอาจพบเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนทำให้ถ่ายเป็นมูกข้นเหลืองหรือเขียว หรือไอมีเสมหะสีเหลืองหรือเขียว และอาจมีอาการอื่นตามมา

โรคแทรกซ้อนของไข้หวัด

เมื่อป่วยเป็นไข้หวัด ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะอ่อนแอลง ทำให้แบคทีเรียที่อยู่ในระบบทางเดินหายใจมีโอกาสแพร่เชื้อร่วมกับเชื้อไวรัส ได้ จึงทำให้เป็นต่อมทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ สำหรับเด็กเล็กอาจทำให้เกิดอาการชักจากไข้ได้ บางรายเสียงแหบเนื่องจากกล่องเสียงอักเสบ หรือวิงเวียนศีรษะเนื่องจากอวัยวะควบคุมการทรงตัวที่อยู่ภายในหูเกิดการ อักเสบหรือที่เรียกว่า “หวัดลงหู” ซึ่งปกติจะหายได้เองภายใน 3 ถึง 5 วัน โรคแทรกที่รุนแรงมักเกิดกับคนที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ตรากตรำงานหนัก หรือขาดอาหาร

เมื่อหายจากไข้หวัดแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดชนิดนั้น แต่เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดมีหลายสายพันธุ์แตกต่างกันตามช่วงเวลา ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นจึงมีข้อจำกัด ดังนั้นเราจึงมีโอกาสติดเชื้อไวรัสไข้หวัดสายพันธุ์อื่นได้อีก ทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เป็นไข้หวัดด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง นั่นเอง ส่วน “โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza)” นั้นมีอาการรุนแรงกว่าและมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ มากกว่าโรคไข้หวัดทั่วไป

2. ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลันที่เกิดจาก เชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (influenza virus) หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีหลายสายพันธุ์เช่น เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ (influenza A) และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี (influenza B) ส่วนไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ซี (influenza C) มีความรุนแรงน้อยและเกิดการระบาดเฉพาะในวงจำกัด

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่ระบาดได้ทั่วโลก โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว โดยแต่ละปีทั่วโลกจะมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ สูงถึงร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด สำหรับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2553 สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จำนวนทั้งสิ้น 115,183 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 180.82 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน อัตราเสียชีวิต 0.2 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน และจากข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 ถึง พ.ศ. 2549 พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละปีลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นเริ่มสูงขึ้นเล็กน้อยและกลับมาสูงขึ้นมากในปี พ.ศ. 2552 โดยพบอัตราป่วยถึง 189 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน กลุ่มอายุที่พบการติด เชื้อมากที่สุดคือกลุ่มเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 4 ปี และกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตหลังจากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ คือ กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ดังนั้นกลุ่มที่ต้องดูแล สุขภาพเป็นพิเศษเพื่อให้ห่างไกลจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในช่วงหน้า หนาวนี้ก็คือกลุ่มเด็กเล็กซึ่งมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย และกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเมื่อติดเชื้อแล้วอาจมีอาการรุนแรงจึงถึงขั้นเสีย ชีวิตได้

การติดต่อ

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ติดต่อทางลมหายใจ ไอ จาม หรือหายใจรดกันในที่ที่มีคนอยู่แออัด เช่น โรงเรียน โรงงาน นอกจากนี้เชื้อไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อทางละอองฝอยของน้ำมูกและน้ำลาย หรือติดต่อจากมือที่มีเชื้อไวรัสอยู่แล้วนำไปสัมผัสที่จมูกหรือปากทำให้ เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้

ระยะติดต่อ

ผู้ใหญ่ที่มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่อยู่ในร่างกายสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้ อื่นได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนที่จะมีอาการ และสามารถแพร่เชื้อ ต่อไปได้อีก 3 ถึง 5 วันหลังจากที่มีอาการแล้ว ในขณะที่เด็กที่มีเชื้อไข้หวัดใหญ่อยู่ในร่างกายสามารถแพร่เชื้อได้นานกว่า 7 วัน สำหรับผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แต่ไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อใน ช่วงเวลานั้นได้เช่นกัน

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่จะรุนแรงและป่วยนานกว่าโรคไข้หวัดทั่วไป หลังจากเชื้อเข้าสู่ร่างกายประมาณ 1 ถึง 4 วัน ก็จะเริ่มแสดงอาการ ที่พบบ่อยคือไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก และอาจมีอาการคัดจมูก เจ็บคอ ถ้าป่วยอยู่นานอาจมีอาการไอเนื่องจากหลอดลมอักเสบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติได้ภายใน 1 ถึง 2 สัปดาห์ แต่รายที่มีโรคแทรกซ้อนเช่นโรคปอดอักเสบก็อาจมีอาการรุนแรงจนทำให้เสียชีวิต ได้

ใครบ้างที่เสียงต่อการเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่

  1. ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
  2. ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  3. เด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี
  4. เด็กที่ทานยาแอสไพรินเป็นเวลานาน
  5. หญิงที่ตั้งครรภ์ในฤดูกาลที่มีไข้หวัดใหญ่ระบาด และมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป

การป้องกันโรคไข้หวัดและโรคไข้หวัดใหญ่

  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับคนที่ป่วยเป็นไข้หวัด
  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ
  • หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้าของตนเองโดยไม่จำเป็น
  • ดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ถูกหลักอนามัย และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • โรคไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ปัจจุบันแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ ตลอดจนกลุ่มเสี่ยงที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่

  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ห้ามตรากตรำงานหนัก หรือออกกำลังมากเกินไป
  • ดูแลร่างกายให้อบอุ่นเสมอด้วยการสวมเสื้อผ้าที่อบอุ่น หลีกเลี่ยงการถูกฝนหรืออยู่ในที่อากาศเย็น และไม่ควรอาบน้ำเย็น
  • อยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเทได้ดี
  • ควรดื่มน้ำมากๆ และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็น ควรดื่มน้ำอุ่นเพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายและช่วยลดไข้ รวมถึงช่วยทดแทนน้ำที่สูญเสียไปจากไข้สูง
  • ควรรับประทานอาหารอ่อน น้ำข้าว น้ำหวาน น้ำส้ม น้ำผลไม้
  • ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
  • เช็ดตัวลดไข้บ่อยๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กเพราะไข้อาจกระตุ้นให้ชักได้ ควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา อย่าใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็งเช็ดตัว
  • สวมผ้าปิดปากและจมูก เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และหมั่นล้างมือให้สะอาด
  • กลั้วคอบ่อยๆ ด้วยน้ำสะอาด
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ภูมิต้านทานโรคน้อย เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง หรือผู้ป่วยที่กินยากดภูมิคุ้มกันอยู่

เพียงเท่านี้ ท่านก็สามารถป้องกันตนเองและคนที่ท่านรักให้ห่างไกลจากโรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ได้แล้วค่ะ

ที่มา : ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ

ขอขอบคุณ : ที่ปรึกษาบทความ : นายแพทย์พรเทพ สวนดอก กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ

 

ที่มา: http://www.bangkokhealth.com/index.php/General-health/3738-Flu-Winter1.html

แหล่งที่มา : https://www.pidst.or.th/A289.html

Categories
บทความ

ดูแลตัวเองอย่างไร…ให้ห่างไกล ‘ไข้หวัดใหญ่’

ดูแลตัวเองอย่างไร…ให้ห่างไกล ‘ไข้หวัดใหญ่’

     เพราะ…ไข้หวัดใหญ่ เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด ทำความรู้จักกับโรคไข้หวัดใหญ่ ทำไมต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี วัคซีนแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันอย่างไร รวมถึงข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่หลายคนอยากรู้?


        โรคไข้หวัดใหญ่ สาเหตุจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza) อย่างเฉียบพลัน สามารถแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งอย่างง่ายดายเกิดตลอดทั้งปีทั่วโลกและอาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ปอดอักเสบ และอาจทำให้อาการของโรคที่เป็นอยู่เดิมร้ายแรงขึ้น เช่น หัวใจล้มเหลว เบาหวาน ในประเทศไทยปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ ทั่วประเทศกว่า 700,000 – 900,000 รายต่อปี จำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่กำลังมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน

 

ใครบ้างเสี่ยงป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่
1.สตรีมีครรภ์
2.ผู้ที่สุขภาพอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำ
3.เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี และผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป
4.โรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคปอด โรคหัวใจ ภูมิคุ้มกันต่ำ


ไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่ และ โรคไข้หวัด ต่างกันอย่างไร ?

         ไข้หวัดใหญ่ (influenza) และไข้หวัด (Common cold) มีลักษณะอาการคล้ายคลึงกัน แต่มีความแตกต่างของวิธีการรักษาความรุนแรงของรอยโรค ซึ่งเราสามารถสังเกตได้ คือ


โรคไข้หวัดใหญ่

1.ไข้สูง และนานกว่า 3-4 วัน ขึ้นไป
2.ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและอ่อนเพลียตามตัวมาก และอาจนานเป็นสัปดาห์
3.มีอาการเจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ระยะเริ่มแรก
4.ในเด็กสามารถพบอาการท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน
5.พบภาวะแทรกซ้อน เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน ภาวะร่างกายขาดน้ำ

 

โรคไข้หวัด
1.ไม่มีไข้ หรือ ไข้ต่ำๆ เมื่อทานยาลดไข้ 1-2 วันก็หาย
2.ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและอ่อนเพลียพบบ้างเล็กน้อย แต่เป็นในระยะสั้นๆ
3.มีอาการเจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ระยะหลัง
4.ไม่พบอาการท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน
5.ไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

 

เมื่อสงสัยว่าป่วย ทำอย่างไรดี ?

1.ไปพบแพทย์
2.สวมหน้ากากอนามัย
3.ใช้ผ้า ปิดปากและจมูกทุกครั้งเมื่อ ไอ หรือ จาม
4.ดื่มน้ำอุ่น ๆ
5.ทานยาลดไข้

เรามีวิธีการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ อย่างไรบ้าง ?
1.ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสะอาดและสบู่
2.หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่
3.สวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในพื้นที่แออัด ผู้คนพลุกพล่าน
4.รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง
5.เลือกรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่
6.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
7.เสริมภูมิคุ้มกันด้วย วัคซีน ป้องกันไข้หวัดใหญ่

        เสริมภูมิคุ้มกัน สร้างเกราะคุ้มกันโรค ช่วยลดความรุนแรงเมื่อเจ็บป่วย ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดได้ในทุกคนที่มีอายุ ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ทั้งนี้การฉีดวัคซีนแนะนำให้ฉีดป้องกันทุกปี ปีละ 1 เข็ม เนื่องจากในทุกปีจะมีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่หลังจากได้รับวัคซีนแล้วร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นภายในร่างกาย

 

Categories
บทความ

ไม่อยากติดโควิด 19 ป้องกันตัวเองอย่างไร

ไม่อยากติดโควิด 19 ป้องกันตัวเองอย่างไร

  • ปัจจุบันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด19 ถือเป็นวิกฤติด้านสุขภาพครั้งใหญ่ มีการระบาดในวงกว้าง และลุกลามไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก โดยเชื้อโควิด19 สามารถเข้าสู่ร่างกายของคนเราได้ 2 วิธี

    วิธีที่ 1 การแพร่กระจายผ่านสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ ได้แก่ น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ เมื่อผู้ติดเชื้อพูดหรือไอ จาม จะเกิดละอองฝอยของน้ำมูกน้ำลายกระจายออกมา หากผู้ที่อยู่ใกล้สูดหายใจเข้าไป ก็จะนำเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งละอองฝอยที่เกิดจากทางเดินหายใจ มีระยะการกระจายประมาณ 1 เมตร

    วิธีที่ 2 เกิดจากการที่ผู้ติดเชื้อนำมือไปสัมผัสกับสารคัดหลั่ง ได้แก่ น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของตนเอง จึงมีเชื้อปนเปื้อนอยู่ที่มือ เมื่อผู้ติดเชื้อใช้มือจับสิ่งของต่าง ๆ หรือในพื้นที่สาธารณะ เชื้อไวรัสจึงปนเปื้อนอยู่ตามผิวสัมผัสของสิ่งของเหล่านั้น เมื่อผู้อื่นนำมือไปสัมผัสสิ่งของเหล่านั้น และนำมือมาสัมผัสใบหน้า ปาก ตา จมูก ก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้

    เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง และผู้อื่น เราสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด19 ด้วยการปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันโควิด19 ดังต่อไปนี้

    1. สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าทุกครั้งที่ต้องพบปะผู้คน เมื่อต้องออกจากบ้าน หรืออยู่ในพื้นที่แออัด เพื่อป้องกันเชื้อโรคจากคนอื่นมาติดเรา หรือเมื่อท่านมีอาการป่วย เพื่อป้องกันเชื้อโรคจากเรา ที่อาจจะไปติดผู้อื่นได้
    2. ล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร ก่อนสัมผัสบริเวณใบหน้า ตา จมูก ปาก หลังเข้าห้องน้ำ หลังปิดปาก เมื่อไอ จาม โดยควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้ถูกวิธี โดยใช้เวลาในการล้างมืออย่างน้อย 20 วินาที หรือล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล
    3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ปาก จมูก ตา หู หากยังไม่ได้ล้างมือ เพราะอาจจะทำให้เชื้อโรคโควิด19 เข้าสู่ร่างกายได้
    4. หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัด
    5. เว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร
    6. ควรไอ จามอย่างถูกวิธี โดยใช้กระดาษทิชชู่ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อจะไอ หรือจาม แล้วทิ้งกระดาษลงถังขยะให้เรียบร้อย หรือไอจามใส่ข้อพับแขนหากไม่มีกระดาษทิชชู่
    7. ทำความสะอาดเครื่องใช้ อุปกรณ์ภายในบ้าน หรือที่ทำงาน รวมถึงจุดสัมผัสต่าง ๆ ที่มีการสัมผัสร่วมกันกับผู้อื่นบ่อยๆ
    8. ใช้แอพพลิเคชั่น หมอชนะ หรือไทยชนะ

    การปฏิบัติตัวให้ปลอดภัยเมื่อต้องออกไปชอปปิ้ง หรือซื้อของช่วงโควิด19

    1. ต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา
    2. เลือกเข้าร้านที่มีระบบระบายอากาศที่ดี คนไม่หนาแน่น
    3. วัดไข้ และลงทะเบียนเช็คอิน เมื่อเข้าหรือออกจากร้าน
    4. เข้าคิวตามที่ร้านกำหนด และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร
    5. สวมถุงมือพลาสติก หากทางร้านจัดไว้ให้สำหรับหยิบจับสิ่งของ และควรใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
    6. ล้างมือเมื่อจับจุดสัมผัสร่วมกับผู้อื่น เช่น ลูกบิดประตู ปุ่มลิฟต์
    7. เลือกชำระเงินด้วยระบบ E-Payment
    8. ควรใช้เวลาในการช้อปปิ้งหรือซื้อของให้น้อยที่สุด

    สิ่งที่ต้องทำเมื่อกลับถึงบ้าน เพื่อให้บ้านปลอดโควิด19

    1. เมื่อกลับถึงบ้าน ควรถอดรองเท้าไว้นอกบ้าน เพราะรองเท้าอาจจะเหยียบติดสารคัดหลั่งจากภายนอกเข้ามาได้
    2. ถอดหน้ากากอนามัย พับทิ้งลงถังขยะภายนอกบ้าน หรือถังขยะที่ปิดมิดชิดหรือหากสวมหน้ากากผ้า ควรซักทำความสะอาดทุกวัน
    3. ล้างมือก่อนเปิดประตูบ้าน เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่อาจติดมากับมือ
    4. เช็ดกระเป๋า กุญแจ หรือเครื่องใช้ส่วนตัวต่าง ๆ ที่อาจะนำไปวางตามพื้นที่สาธารณะ
    5. ห้ามนั่งเก้าอี้ หรือโซฟาก่อนอาบน้ำ
    6. แยกซักเสื้อผ้าที่ใส่นอกบ้านกับในบ้านออกจากกัน
    7. อาบน้ำ สระผม เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่

    รับผิดชอบต่อสังคมด้วยการรับผิดชอบต่อตัวเอง เพื่อหยุดการแพร่เชื้อโควิด19