Categories
บทความ

เด็กกับโรคโควิด-19

เด็กกับโรคโควิด-19

  • พบเด็กประมาณร้อยละ 13 ของผู้ป่วยทั้งหมด ติดเชื้อ SARS-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดโรค COVID-19 แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการ
  • เด็กที่มีภาวะอ้วน เป็นโรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคพันธุกรรมเมตาบอลิก หรือภาวะความผิดปกติทางระบบประสาท มีโอกาสเกิดอาการป่วยแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
  • แม้ในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด ก็ควรพาเด็กไปรับการตรวจสุขภาพและรับวัคซีนตามนัด โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ โดยเลือกรับบริการเฉพาะสถานพยาบาลที่แยกบริเวณเด็กป่วยกับเด็กไม่ป่วยออกจากกัน ไม่ให้ปะปนกันอย่างชัดเจน

ช่วงนี้อาจเห็นข่าวเด็กติดเชื้อ SARS-CoV-2 เยอะขึ้นพอสมควร พ่อแม่หลายคนมีความกังวลใจว่าจะดูแลลูกๆ อย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยงหรือติดโรค COVID-19 หรือหากเรื่องร้ายแรงไปถึงขั้นที่ว่า หากเด็กเกิดการติดเชื้อแล้ว จะมีอาการรุนแรงหรือไม่ หรือต้องทำอย่างไรต่อไป แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคติดเชื้อมีคำแนะนำมาให้เพื่อคลายข้อกังวลใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่ ดังนี้

อัตราการติดโรค COVID-19 ของเด็กๆ

ในสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา พบเด็กที่ติดเชื้อ SARS-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดโรค COVID-19 ประมาณร้อยละ 13 ของผู้ป่วยทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการเลย และพบน้อยมากที่เด็กติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรงและต้องรับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตหรือใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่อย่างไรก็ตาม เด็กก็มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ หากผู้ป่วยเด็กคนนั้นมีภาวะอ้วน เป็นโรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคพันธุกรรมเมตาบอลิก หรือภาวะผิดปกติทางระบบประสาท

ส่วนในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 1 ขวบ หากติดโควิด-19 จะมีอาการมากกว่าเด็กโต เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายยังพัฒนาได้ไม่ดีพอและช่องทางเดินหายใจยังมีขนาดเล็ก พูดให้เห็นภาพชัดขึ้นก็คือ มีลักษณะเหมือนเด็กที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะมีปัญหาของระบบทางเดินหายใจ ส่วนเด็กที่ได้รับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรงก็จะป้องกันได้เฉพาะเชื้อที่ฉีดวัคซีนป้องกันไปเท่านั้น

เด็กติดเชื้อก่อโรค COVID-19 ได้อย่างไร

สภาพแวดล้อมที่เด็กจะติดเชื้อ SARS-CoV-2 ได้ ก็ไม่ต่างจากในผู้ใหญ่  นั่นก็คือ การอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ อยู่ในพื้นที่ที่มีผู้คนรวมกันอยู่มาก พบปะผู้คนโดยไม่มีการป้องกันโรค ไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่ทำความสะอาดร่างกาย ไม่รักษาระยะห่าง ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อทั้งที่มีและไม่มีอาการ ก็อาจติดเชื้อได้หากไม่มีการป้องกันการติดเชื้อที่เหมาะสมและดีพอ ไม่เว้นแม้แต่พ่อแม่ก็อาจติดเชื้อจากลูกที่ป่วยได้

วิธีป้องกันโรค COVID-19 ในเด็ก

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) และศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้ให้คำแนะนำแนวทางสำหรับครอบครัวที่มีลูกเล็กในการป้องกันการแพร่เซื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อโรค COVID-19 จากเด็กที่ติดเชื้อไปสู่บุคคลอื่นไว้ ดังนี้

การดูแลและล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ (Keep your Hands Clean)

  • สอนเด็กให้รู้จักล้างมืออย่างถูกต้องตามมาตรฐาน  7 ขั้นตอน
  • หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่อย่างถูกวิธี นานอย่างน้อย 20 วินาที หรือใช้แอลกอฮอล์ล้างมือที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 70%
  • ปฏิบัติตัวให้ถูกสุขลักษณะ ไอ/จามต้องปิดปากและจมูกด้วยการงอศอก หรือใช้กระดาษชำระปิด จากนั้นนำไปทิ้งในที่ที่เหมาะสม และล้างมืออีกครั้งเพื่อทำความสะอาด
  • หลีกเลี่ยงการเอามือสัมผัสบริเวณ ตา จมูก ปาก
  • ให้เด็กล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทันทีที่กลับเข้าบ้าน หลังใช้ห้องสุขา และก่อนรับประทานอาหาร รวมถึงพ่อแม่ต้องดูแลความสะอาดก่อนจัดเตรียมอาหารด้วย

การเว้นระยะห่าง (Practice Social Distancing)

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลอื่นในบ้าน ทั้งเด็กและสมาชิกในบ้าน
  • ให้เว้นระยะห่าง 6 ฟุตหรือ 1 เมตร กับบุคคลอื่นที่ไม่ได้อยู่ในบ้าน
  • กรณีมีเด็กคนอื่นมาที่บ้าน ควรให้เด็กเล่นกันนอกบ้าน และเว้นระยะห่าง 6 ฟุต
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการใช้ของเล่นหรืออุปกรณ์ร่วมกัน เช่น ลูกฟุตบอล บาสเก็ตบอล ฯลฯ

การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อภายในบ้าน (Clean and Disinfected your Home)

  • ใช้สบู่กับน้ำสะอาด หรือแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 70% หรือน้ำยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้ เช่น น้ำยาซักผ้าขาวที่มีส่วนผสมของ Sodium Hypochlorite โดยผสมกับน้ำในอัตราส่วนที่ถูกต้อง เช็ดทำความสะอาดบริเวณดังต่อไปนี้
    • พื้นผิวบริเวณที่มีการใช้ร่วมกันทุกวันและบริเวณที่มีการสัมผัสบ่อย เช่น ผ้าปูโต๊ะ ลูกบิดประตู มือจับประตู เก้าอี้ สวิตช์ไฟ  รีโมทคอนโทรล เครื่องใช้ไฟฟ้า หน้าต่าง โต๊ะ ห้องน้ำ อ่างล้างมือ เป็นต้น
    • บริเวณที่สกปรกได้ง่าย เช่น โต๊ะเปลี่ยนผ้าอ้อม โต๊ะอาหาร
    • พื้นผิวบริเวณที่เด็กสัมผัสบ่อยๆ เช่น ขอบเตียงนอน โต๊ะวางของเล่น หรือของเล่นต่างๆ โดยเฉพาะของเล่นเด็กชนิดที่เด็กอาจหยิบใส่ปากได้ ให้ทำความสะอาดโดยใช้สบู่และน้ำสะอาด และระวังอย่าให้มีคราบสบู่ตกค้าง
  • ในกรณีที่จำเป็นจะต้องดูแลเด็กที่ติดเชื้อ COVID-19 ให้พ่อแม่ผู้ปกครองล้างมือทุกครั้งหลังจับต้องสิ่งของและของเล่นที่เด็กใช้ รวมถึงหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือผ้าปูเตียงเด็ก เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อ และควรรักษาระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอ

การสวมใส่หน้ากากอนามัย (Wear Face Mask)

  • แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน หรือไปในที่สาธารณะ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดบุคคลอื่น
  • แนะนำให้เด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไปสวมหน้ากากอนามัย เมื่อต้องอยู่ท่ามกลางบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัว
  • ไม่แนะนำให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ หรือเด็กที่มีปัญหาด้านการหายใจ รวมถึงเด็กที่อยู่ในสภาพที่ถอดหน้ากากเองไม่ได้ สวมหน้ากากอนามัย เนื่องจากระบบทางเดินหายใจของเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ เด็กอาจขาดออกซิเจนและเป็นอันตรายได้ ควรใช้การเว้นระยะห่างอย่างต่ำ 2 เมตร หรือเอาผ้าคลุมรถเข็นที่มีเด็กนอนอยู่แทน

ที่สำคัญที่สุดคือ ควรพาเด็กไปรับการตรวจสุขภาพและรับวัคซีนตามนัด โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ โดยเลือกรับบริการเฉพาะสถานพยาบาลที่แยกบริเวณเด็กป่วยกับเด็กไม่ป่วยออกจากกัน ไม่ให้ปะปนกันอย่างชัดเจน

การเตรียมตัวและผลข้างเคียง กรณีรับวัคซีนโควิด-19 (Pfizer)

โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช ให้ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ฉีดวัคซีนโควิด-19 สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กๆ ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข ให้กับเด็กนักเรียนอายุ 12-18 ปี ต้องเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีน Pfizer อย่างไร และผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน Pfizer ในเด็ก อาจทำให้มีอาการอย่างไรบ้าง อาการแบบไหนที่ควรรีบมาพบแพทย์ทันที อ่านเพิ่มเติมในภาพด้านล่าง

เด็กไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19  ต้องทำอย่างไร แล้ววัคซีนในเด็กที่ควรฉีดในช่วงนี้มีอะไรบ้าง

เด็กๆ ถึงจะยังไม่ได้รับวัคซีน COVID-19 แต่วัคซีนของเด็กๆ เองก็จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กๆ มีร่างกายที่เเข็งแรง ต่อสู้กับเชื้อโรคได้  ซึ่งมีทั้ง วัคซีนป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ​Hib , วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ Pneumococcal ​vaccine และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ Influenza vaccine

สุดท้ายนี้ พ่อ แม่ ผู้ใหญ่ในบ้านควรปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค COVID-19 เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กๆ สามารถทำตามได้

Categories
บทความ

โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 ล่าสุด ปี 2566 เป็นอย่างไร

โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 ล่าสุด ปี 2566 เป็นอย่างไร

ฤดูร้อน ปี 2566 ล่าสุดนี้ ยังมีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นลูกผสมจากโอมิครอนอย่าง XBB.1.16 (Arcturus) โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ผู้คนออกเดินทางไปพบปะสังสรรค์กันมากขึ้น รวมทั้งชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจึงติดตามเฝ้าระวัง

 

โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 คืออะไร

 

เป็นเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ XBB จากลูกผสมตระกูล Omicron BA.2.10.1 และ BA.2.75 มีรายงานการค้นพบครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย เมื่อเดือนมกราคม 2566 องค์การอนามัยโลกจัดเป็นเชื้อที่ต้องเฝ้าติดตาม การกลายพันธุ์เกิดขึ้นที่บริเวณ 483 ระดับภูมิตอบสนองชนิด Neutralizing Antibody ลดลง จึงเพิ่มความสามารถในการแพร่เชื้อหรือก่อโรค แต่ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยใดที่อ้างถึง XBB.1.16 จะก่อความรุนแรง

 

XBB.1.16

 

โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 อาการล่าสุดเป็นอย่างไร
  • อุณหภูมิในร่างกายสูง
  • มีไข้สูง
  • ระคายเคืองดวงตา ใบหน้า
  • ไอ
  • เจ็บคอ
  • น้ำมูกไหล
  • การรับกลิ่นของจมูกผิดปกติ
  • สำหรับต่างประเทศมีรายงานผู้ติดเชื้อเยื่อบุตาอักเสบ

 

อาการติดโควิด-19

โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 และ XBB.1.5
  • โควิดสายพันธุ์ XBB.1.5 จะแตกต่างจาก XBB.1.16 ตรงที่ตำแหน่งการกลายพันธุ์บนโปรตีนหนาม F846P เพียงอย่างเดียว เป็นลูกผสมของโอมิครอน Bj.1 และ BM.1.1.1 การกระจายแพร่เชื้อมีความเป็นไปได้ที่จะไวน้อยกว่าเพียงเล็กน้อยและการหลบภูมิคุ้มกันก็เช่นเดียวกัน
  • สำหรับสิ่งที่คล้ายคลึงกัน คือ อาการความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขยังหาข้อสรุปไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อระบบหายใจ มีการประกาศเปิดเผยในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการส่งข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ในไทยที่ถอดรหัสพันธุกรรมเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก (GISAID) ผ่าน Outbreak.info ร่วมกับองค์การอนามัยโลกพบว่า XBB.1.5 สายพันธุ์หลักในประเทศไทยที่ต้องเฝ้าระวัง

 

XBB.1.5

 

ผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับอันตรายจากโควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16
  • อายุ 60 ปีขึ้นไป
  • อาศัยอยู่ในพื้นที่ความหนาของฝุ่น PM 2.5
  • ผู้ป่วยโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด ไตวายเรื้อรัง หลอดเลือดสมอง โรคอ้วน มะเร็ง เบาหวาน
  • คุณแม่ตั้งครรภ์อายุ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
  • ผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19
  • บุคคลที่ไม่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน

 

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ หากตรวจพบเชื้อ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและยาต้านไวรัสทันที หากปล่อยปละละเลยอาจมีอาการรุนแรงได้

 

ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

 

การตรวจ ATK และ RT-PCR สามารถพบเชื้อ XBB.1.16 โควิดสายพันธุ์ลูกผสมได้ไหม

ชุดทดสอบทั้ง 2 ชนิดนี้ สามารถคัดกรองเชื้อไวรัสที่ก่อโควิด-19 รวมทั้งวินิจฉัย แยกผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน หรือลูกผสมได้ แต่การตรวจ Antigen Test Kit ใช้หลักทดสอบทางภูมิคุ้มกัน โดยจับแอนติเจน แอนติบอดี และโปรตีน N ไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อการกลายพันธุ์ที่บริเวณบนโปรตีนหนาม

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ลูกผสมชนิดนี้ ยังไม่พบความรุนแรงถึงแก่ชีวิต ทั้งนี้ในการเสพข่าวสารไม่ควรตระหนก วิตกกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในผู้ที่ได้รับวัคซีน mRNA เข็มกระตุ้นแล้ว จะช่วยลดโอกาสเกิดโรครุนแรงหากติดเชื้อได้มาก

Categories
บทความ

รู้ทัน…ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

รู้ทัน...ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

      ไข้หวัดใหญ่ พบได้ในทุกช่วงอายุซึ่งมักพบในเด็ก แต่อัตราการเสียชีวิตเกิดกับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคหัวใจ โรคปอด โรคไต เป็นต้น การฉีดวัคซีนเป็นวิธีป้องกันที่ได้ผลมากที่สุด สามารถลดอัตราการติดเชื้อ ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล ลดโรคแทรกซ้อน และลดเวลาการหยุดงาน

ไข้หวัดทั่วไป เป็นการติดเชื้อไวรัส ทำให้เกิดอาการน้ำมูกไหล มีไข้ต่ำ ส่วนไข้หวัดใหญ่เป็นการติดเชื้อที่เรียกว่า Influenza virus เป็นการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจจะลามลงปอด ผู้ป่วยจะมีอาการค่อนข้างเร็ว ไข้สูงกว่าไข้หวัด ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย อย่างเฉียบพลัน

การติดเชื้อ ติดต่อได้โดย

  • เชื้อไข้หวัดใหญ่ สามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งโดยการหายใจ ได้รับน้ำมูก หรือเสมหะของผู้ป่วย โดยเชื้อจะผ่านเข้าทางเยื่อบุตา จมูก และปาก
  • การได้สัมผัสสิ่งปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น ผ้าเช็ดหน้า ช้อน แก้วน้ำ การจูบ เป็นต้น
  • การที่มือไปสัมผัสเชื้อแล้วขยี้ตา หรือเข้าปาก


อาการของโรค

ไข้หวัดใหญ่ที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน ระยะฟักตัว 1 – 4 วัน โดยเฉลี่ย 2 วัน

1. ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียอย่างเฉียบพลัน
2. เบื่ออาหาร คลื่นไส้
3. ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
4. ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จะปวดตามแขน ขา ปวดข้อ ปวดรอบตา ปวดเมื่อยตามตัว
5. ไข้สูง 39-40 องศา
6. เจ็บคอ และคอแดง มีน้ำมูกใสๆ ไหล
7. ไอแห้งๆ ตามตัวจะร้อนแดง ตาแดง
8. อาเจียน หรือท้องเดิน เป็นไข้ 2-4 วัน แล้วค่อยๆ ลดลง แต่อาการคัดจมูกและแสบคอยังคงอยู่ โดยทั่วไปจะหายใน 1 สัปดาห์

  1. สำหรับรายที่อาการรุนแรง มักเกิดในผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังอยู่ก่อน ซึ่งจะเกิดโรคแทรกซ้อนที่ระบบอื่นๆ ด้วยเช่น
  • พบอาการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อย หอบ หรือมีอาการหัวใจวาย
  • ระบบประสาท พบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะปวดศีรษะมาก และซึมลง
  • ระบบหายใจ:มีหลอดลมอักเสบและปอดบวม ผู้ป่วยจะแน่นหน้าอก และเหนื่อย
  • โดยทั่วไปไข้หวัดใหญ่มักจะหายในไม่กี่วัน แต่ก็มีผู้ป่วยบางราย มีอาการไอ และปวดตามตัวนานถึง 2 สัปดาห์ ในรายที่เสียชีวิตมักมีอาการปอดบวม และโรคหัวใจ

 

ระยะติดต่อ

  • ระยะเวลาการติดต่อของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จากคนอื่นๆ คือ1วันก่อนเกิดอาการ และ 5 วันหลังมีอาการ
  • ในเด็กอาจจะแพร่เชื้อ 6 วันก่อนมีอาการ และแพร่เชื้อได้นาน 10 วัน
  • ติดเชื้อแบคทีเรีย อาจจะทำให้ปอดบวม มีฝีในปอด มีหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด
  • ไข้หวัดในหญิงตั้งครรภ์ มักเป็นชนิดรุนแรงและมีอาการมาก และอาจทำให้แท้งบุตรได้

 

เมื่อไร ที่ควรมาพบแพทย์

  • มีไข้เกิน 24 ชั่วโมง
  • ให้ยาลดไข้แล้วยังเกิน 5 องศา
  • หายใจหอบ หรือหายใจลำบาก
  • มีอาการ มากกว่า 7 วัน
  • ปลายมือ ปลายเท้าเขียว
  • เด็กดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหารไม่พอ
  • เด็กซึมลง ไม่เล่น
  • เด็กไข้ลดลง แต่หายใจไม่ออก

ผู้ใหญ่ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ ควรมาพบแพทย์

  • หายใจหอบ หรือหายใจลำบาก
  • มีไข้เกิน 24-48 ชั่วโมง’
  • เจ็บ หรือแน่นหน้าอก
  • หน้ามืด เป็นลม สับสน หน้ามืด
  • อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้


การป้องกันไข้หวัดใหญ่

             ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการเอามือเข้าปาก หรือขยี้ตา อย่าใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่นๆ เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด เมื่อเวลาเจ็บป่วยให้พักที่บ้าน เวลาไอ หรือจามให้ใช้ผ้าปิดปาก และจมูก

การฉีดวัคซีน ป้องกันไข้หวัดใหญ่
การป้องกันที่ดีคือ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ทำมาจากเชื้อที่ตายแล้ว โดยฉีดที่แขนปีละครั้ง หลังฉีด 2 สัปดาห์ภูมิคุ้มกันจึงจะสูงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อ ผู้ที่มีประวัติแพ้สารโปรตีนประเภทไข่ ห้ามฉีดวัคซีนชนิดนี้ การฉีด จะเลือกผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อน คือ

  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
  • ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคตับ
  • ผู้เป็นเบาหวาน
  • หญิงตั้งครรภ์ 3เดือนขึ้นไป และมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่
  • ผู้ที่อาศัยในบ้านพักคนชรา
  • เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
  • สมาชิกในครอบครัวที่เป็นโรคเรื้อรัง
  • นักเรียนที่อยู่ร่วมกัน
  • ผู้ที่จะไปเที่ยว หรือศึกษาต่อ ณ แหล่งระบาดของไข้หวัดใหญ่
  • ผู้ที่ต้องการลดอัตราการติดเชื้อ และต้องได้รับวัคซีน

 

ผลข้างเคียงของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่ควรทราบ
            เจ็บเล็กน้อยบริเวณที่ฉีด และจะหายภายใน 2 วัน อาการทั่วไป มีไข้ ปวดตามตัว และหลังจากการฉีดยา  6-12 ชั่วโมง และอยู่ได้นาน 1-2 วัน บางรายอาจมีผื่นลมพิษ ริมฝีปากบวม

Categories
บทความ

วิธีการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ

วิธีการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ

อาการคัดจมูกและมีน้ำมูกมาก จะพบได้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้และเป็นโรคโพรงไซนัสอักเสบ อาการดังกล่าวสามารถที่จะรักษาได้ โดยการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ  น้ำเกลือที่ผ่านเข้าไปในจมูกจะชะล้างน้ำมูก หนอง และสารที่ไม่ต้องการออกจากโพรงจมูก ทำให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้นและหายจากโรคได้เร็วขึ้น

          วิธีการ

  1. เตรียมน้ำเกลือโดยใช้น้ำต้มสุก หรือน้ำสะอาดสำหรับดื่มปริมาณ 500 ซีซี ใส่เกลือสะอาดประมาณ 1 ช้อนชา เขย่าผสมเข้ากันให้หรือ ใช้น้ำเกลือความเข้มข้น 9% หรือน้ำเกลือของสำหรับล้างจมูก ซึ่งหาซื้อได้จากโรงพยาบาลหรือตามร้านขายยา
  2. เทน้ำเกลือที่ผสมแล้วลงในแก้วสะอาดแล้วใช้กระบอกฉีดยาขนาด 10-20 ซีซี ดูดน้ำเกลือเข้าไปให้เต็ม
  3. ยืนใกล้อ่างน้ำ ก้มหน้าเล็กน้อยสอดกระบอกฉีดยาเข้าไปในรูจมูก พ่นน้ำเกลือเข้าในจมูกขณะที่กลั้นหายใจ น้ำเกลือจะถูกพ่นเข้าไปสู่โพรงจมูกแล้วไหลออกมาข้างเดียวกัน หรือออกมาจากรูจมูกอีกข้างหนึ่งหรืออาจจะไหลลงคอ บางครั้งอาจจะมีหนองไหลออกมาด้วย ทำทั้ง 2 ข้างล้างจนกว่าไม่มีน้ำมูกเหลือค้างในจมูกอาจจะแสบจมูกเล็กน้อย

 

หมายเหตุ

  1. หลังจากที่ล้างจมูกแล้ว ผู้ป่วยอาจจะจาม และมีน้ำมูกไหลออกมาอีกได้ ให้สั่งน้ำมูกให้หมด (หรือล้างจมูกอีกครั้งหนึ่ง) แล้วพ่นยา พ่นจมูก ตามที่แพทย์แนะนำ
  2. ไม่ควรชะล้างจมูกในช่วงที่จมูกมีเลือดออกได้ง่าย หรือในกรณีที่แพทย์ไม่แนะนำให้ล้างจมูก
Categories
บทความ

5 คุณประโยชน์ของการนอนที่ดี (Surprising Reasons to Get More Sleep)

5 คุณประโยชน์ของการนอนที่ดี (Surprising Reasons to Get More Sleep)

โดย นพ. นพดล ตรีประทีปศิลป์ และ พญ. ศิริลักษณ์ ผลศิริปฐม (หน่วยโรคจากการนอนหลับ แผนกโสตนาสิกลาริงซ์)

เคยไหม? บางวันรู้สึกเป็นวันที่ไม่สดใส หงุดหงิดกับคนรอบตัว สมองไม่ปลอดโปร่ง หรือไม่มีสมาธิเอาเสียเลย ทุกอย่างดูไม่เป็นใจไปเสียหมด หรือเพราะมันเป็นเพียงวันแย่ๆ วันหนึ่ง (It’s just a bad day) ทว่าเราเคยคิดทบทวนกันบ้างไหมว่า การนอนหลับของเราในคืนที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เป็นการนอนที่มีคุณภาพหรือไม่ ร่างกายของเราได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ และมีพลังกายพลังใจ พร้อมที่จะทำกิจกรรมในวันต่อไปแล้วหรือยัง ฉะนั้นเราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญในชีวิตของเราก็คือเรื่องการนอน

การอดนอนหรือการนอนที่ไม่มีคุณภาพ อาจส่งผลให้คุณรู้สึกฉุนเฉียว อ่อนล้าได้ในเช้าวันรุ่งขึ้น แต่หากปัญหาการนอนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาจจะส่งผลกระทบในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากสภาวะอารมณ์ ยังสามารถแผ่ขยายไปกระทบถึงสุขภาพทางกาย ทางจิตใจ หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเหตผลให้เรามีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงทั้งสิ้น

มีงานวิจัยทางการแพทย์หลายบทความพบว่า การมีคุณภาพการนอนที่ดีอย่างสม่ำเสมอนั้น เป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในหลายแง่มุมตั้งแต่เรื่องการคุมน้ำหนัก ไปถึงการลดอัตราการเกิดความเสี่ยงจากโรคหัวใจ และนี่คือเหตผลว่าทำไมเราควรมี “สุขภาพการนอนที่ดี”
โดยบทความนี้ก็จะพาไปให้เห็นถึงเรื่องนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น และนี่คือ 5 เหตผลว่าทำไมเราควรถึงต้องนอนให้ดี

1. สมองและความจำสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  (Improve attention, concentration, learning and make memories)

การนอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ ส่งผลดีต่อสมองในแง่ของขบวนการเรียนรู้และจัดเก็บความจำให้เป็นระบบระเบียบ เพื่อเตรียมพร้อมต่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รวมไปถึงการนำความจำเก่ากลับมาใช้ นอกจากนี้ยังส่งผลให้มีสมาธิที่เพิ่มมากขึ้น สมองปลอดโปร่ง ทำให้สามารถคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจและแก้ไขปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์

มีการศึกษาถึงระยะเวลาการนอนที่น้อยกว่าปกติและคุณภาพการนอนที่ลดลง เป็นผลเสียต่อสมองและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภาวะสมองเสื่อม หรือ อัลไซเมอรที่มากขึ้น

2. ช่วยพัฒนาสภาวะทางอารมณ์และความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง (Mood and relationship improvement)

ช่วงเวลาที่เราควรได้รับการพักผ่อน และฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ คือ ช่วงเวลาของการนอนหลับ 

การนอนหลับที่ดีจะช่วยทำให้ร่างกายได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ช่วยลดภาวะทางความเครียด และ สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดียิ่งขึ้น

ส่วนการนอนหลับที่ไม่ดี รวมทั้งภาวะความเครียด ความวิตกกังวล ล้วนส่งผลต่อการนอนหลับ มีผลทำให้เราหงุดหงิดง่าย ประสิทธิภาพในการควบคุมอารมณ์ลดลง ส่งผลกระทบในด้านลบทั้งต่อตัวเอง เพื่อนร่วมงาน หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์ต่อคู่ชีวิตและครอบครัว และหากเราปล่อยปะละเลยไว้นานๆ การนอนไม่หลับเรื้อรัง หรือ สภาวะอดนอนเรื้อรั้ง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวลได้

3. หัวใจที่แข็งแรง (Healthier heart)

การอดหลับอดนอน หรือ คุณภาพการนอนที่ไม่ดี (จากการถูกรบกวน) มีผลกระทบต่อการเพิ่มอัตราการเกิดโรคความดันโลหิตสูง หัวใจโต หัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมไปถึงการอักเสบของหลอดเลือด ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด

โดยปกติในช่วงเวลานอนหลับ หัวใจจะเข้าสู่สภาวะการซ่อมแซมและได้รับการพักผ่อน อัตราการเต้นของหัวใจและความดันจึงต่ำกว่าปกติ

แต่กรณีที่เรานอนหลับไม่ดี ระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic Nervous System) ที่มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆภายในร่างกาย เพื่อเตรียมพร้อมต่อการเผชิญสภาวะอันตรายหรือภาวะฉุกเฉิน จะถูกกระตุ้นเป็นระยะ ส่งผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หรือ อัตราการเต้นของหัวใจไม่คงที่ตลอดทั้งคืน จนกระทั่งก่อให้เกิดโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือดตามมา

4. ช่วยควบคุมน้ำหนักและระดับน้ำตาล  (Maintain healthy weight and regulate blood sugar)

การนอนที่ดีจะช่วยลดอาการหิวได้ดีขึ้น รวมไปถึงการมีสุขลักษณะเวลานอนที่ดี จะช่วยให้ไม่อยู่ดึกจนเกินไปซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการกินอาหารช่วงดึกได้ ทั้งนี้เมื่อมีการนอนหลับที่ไม่ดี ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการควบคุมความหิว ความอิ่ม และการควบคุมระดับน้ำตาลจะถูกรบกวน ส่งผลให้การควบคุมน้ำหนักเป็นไปได้ยากลำบากขึ้น ก่อให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน หรือ ความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานเพิ่มขึ้นตามมาได้

5. เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน (Germ fighting and immune enhancement)

การนอนที่ดีช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ปรับสภาพร่างกายให้ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ เพื่อที่จะพร้อมรับมือกับ สภาวะติดเชื้อใดๆที่จะเข้ามาในร่างกายได้อย่างทันท่วงที แต่ในกรณีที่อดนอนเป็นเวลานาน จะสังเกตุได้ว่า เราป่วยง่ายขึ้น หรือ บ่อยขึ้น เนื่องมาจาก การอดนอนนั้นส่งผลต่อเซลล์อักเสบในร่างกาย รวมไปถึงการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งแปลกปลอมที่ช้าลงและมีประสิทธิภาพที่ลดลง.

หากเราเข้าใจแล้วว่า การนอนเป็นสิ่งสำคัญ และเราให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ การนอนหลับที่ดีเป็นการเริ่มต้นวันดีๆ และวันแย่ๆของคุณ “It’s just a bad” ก็น่าจะหมดไป

นอนหลับ ฝันดีทุกคนครับ

cr. https://www.gj.mahidol.ac.th/main/knowledge-2/surprising-reasons-to-get-more-sleep/