โรคมือ เท้า ปาก รับมืออย่างไรดี?

ทำความรู้จักกับ “โรคมือ เท้า ปาก” เกิดจากอะไร?

โรคมือ เท้า ปาก คืออะไร? โรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot and Mouth Disease) เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กเล็กโดยเฉพาะช่วงหน้าฝน เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโร Enterovirus 71 (EV71) Coxasackie Virus

ส่งผลให้มีอาการเป็นไข้ เป็นแผลในปาก มีตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว ถือได้ว่าเป็นโรคที่สร้างความกังวลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่อยู่ไม่น้อย

โรคมือ เท้า ปาก สามารถพบในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน แต่จะพบได้น้อยกว่า และอาการมักจะไม่รุนแรงเท่าในเด็กเล็ก


สังเกตอาการโรค มือ เท้า ปาก  

เด็กๆ ที่เป็นโรคมือเท้าปาก จะมีอาการ…

• มีไข้ อ่อนเพลีย

• มีแผลในปาก

• ผื่นเป็นจุดแดงขึ้นที่มือ เท้า (อาจมีผื่นตามลำตัว แขนและขาร่วมด้วย)

เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจะใช้ระยะเวลาฟักตัวประมาณ 3-7 วัน ผู้ป่วยจึงจะแสดงอาการโดยมีอาการเริ่มต้น คือ เด็กจะเริ่มมีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียสเป็นอาการนำก่อน จากนั้นจึงมีอาการอื่น ๆ ตามมาภายใน 1-2 วัน ได้แก่ เจ็บคอ ไม่อยากอาหาร อ่อนเพลีย และจะเริ่มมีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนัง บริเวณฝ่ามือ  ฝ่าเท้า และบริเวณปากทั้งภายนอกและภายใน

โรคมือ เท้า ปาก กี่วันหาย?

โรคมือ เท้า ปาก สามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน แต่มีโอกาสเสี่ยงเกิดโรครุนแรงได้ เช่น ก้านสมองอักเสบ หัวใจอักเสบ หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสสายพันธุ์ 71 (EV71) ทำให้มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการที่อาจเป็นภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ มีไข้สูง ซึม อ่อนแรง มือสั่น เดินเซ อาเจียนมาก หายใจหอบ กล้ามเนื้อกระตุก และชัก หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพาพบแพทย์โดยด่วน!!! 

(อาการแทรกซ้อนจะไม่สัมพันธ์กับจำนวนแผลในปากหรือตุ่มที่พบตามฝ่ามือหรือฝ่าเท้า)

 

โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อไหม? ติดต่อได้อย่างไร?

โรคมือ เท้า ปาก สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย และจากการสัมผัสทางอ้อมผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู น้ำ และอาหารที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค โดยส่วนใหญ่มักพบการแพร่ระบาดในโรงเรียนอนุบาล และสถานรับเลี้ยงเด็ก

โรคมือ เท้า ปาก สามารถเป็นซ้ำได้อีก ถ้าได้รับเชื้อไวรัสคนละสายพันธุ์กับที่เคยเกิด เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่งๆ อาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ ได้ แม้จะจัดอยู่ในกลุ่มย่อยของไวรัสเอนเทอโรเช่นเดียวกันก็ตาม


มีวิธีการรักษา และป้องกันอย่างไร?

โดยทั่วไปแล้ว อาการโรค มือ เท้า ปาก จะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ โดยแพทย์จะดูแลรักษาตามอาการ เช่น การให้รับประทานยาแก้ไข้ ในรายที่เพลียมากแพทย์อาจให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับให้ยาลดไข้แก้ปวด ยารักษาแผลในปาก และให้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่จำเป็น ร่วมกับการเฝ้าระวังสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

อย่างที่ทราบกันว่าโรคมือ เท้า ปาก ติดต่อได้ผ่านการรับเชื้อไวรัสจากทางเดินอาหาร น้ำมูก น้ำลาย และจากการหายใจเอาเชื้อที่แพร่จากผู้ป่วยเข้าไป คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลสุขอนามัยให้กับเด็กๆ

  •  
  • สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน
  •  
  • สอนวิธีการล้างมือที่ถูกต้อง ให้เด็กๆ ล้างมือให้สะอาด ด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์
  •  
  • ทำความสะอาดของเล่น
  •  
  • ดูแลความสะอาดของน้ำดื่มและอาหาร
  •  
  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ
  •  
  • ไม่พาเด็กไปในสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น ห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโรค
  •  
  • หากเด็กที่ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรหยุดเรียน และพักรักษาให้หายป่วยเสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ไปแพร่เชื้อยังเด็กคนอื่นๆ และผู้ปกครองต้องรีบแจ้งให้ทางโรงเรียนทราบ และที่สำคัญต้องหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลาน หากพบว่ามีอาการผิดปกติ ควรพาเด็กมาพบแพทย์โดยเร็ว

เสริมเกราะป้องกันด้วยวัคซีน

โรคมือ เท้า ปาก ระบาด! ป้องกันได้ ด้วยวัคซีนป้องกัน โรคมือเท้าปาก (EV71) โดยแนะนำให้รับวัคซีนในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี ฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ที่เป็นอันตรายถึงชีวิต โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อจำนวน 2 เข็ม เว้นระยะห่างจากเข็มแรก 1 เดือน 

วัคซีนป้องกัน “โรคมือเท้าปาก” รุนแรง จากไวรัส EV71 (EntroVac)

  • ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมือเท้าปากที่มาจากการติดเชื้อ EV71 ได้ 97.3%
  • ประสิทธิภาพการป้องกันโรคมือเท้าปากจากเชื้อ EV71 ที่ต้องรักษาในโรงพยาบาล 88.0%
  • ประสิทธิภาพการป้องกันโรคมือเท้าปากรุนแรงจากเชื้อ EV71 ได้ 100%

*อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบได้หลังรับวัคซีน: ปวด บวม แดง คัน บริเวณที่ฉีด, ไข้, คลื่นไส้ อาเจียน, ถ่ายเหลว, ปวดศีรษะ)

**สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน – 5 ปี 11 เดือน 29 วัน

***วัคซีนนี้ไม่สามารถใช้เพื่อป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ที่มีสาเหตุจากเชื้อเอนเทอโรไวรัสชนิดอื่น (รวมถึง Coxasackie Virus A16 และอื่นๆ)