ภาวะลำไส้รั่ว จุดเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพที่คาดไม่ถึง

ปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งน้ำหนักขึ้นง่าย สิวไม่หาย ลำไส้แปรปรวน มีอาการอักเสบของผิวหนัง และอาการอื่นๆ ที่หลายคนกำลังเผชิญอยู่นั้น อาจมีสาเหตุมาจากภาวะลำไส้รั่ว (Leaky Gut Syndrome) ซึ่งเป็นภาวการณ์ดูดซึมของลำไส้ผิดปกติ โดยหนึ่งในสาเหตุอาจมาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารเดิม ๆ ซ้ำ ๆ จนส่งผลต่อความสมดุลภายในร่างกาย รวมถึงระบบภูมิคุ้มกัน ระบบเผาผลาญ และเป็นสาเหตุก่อโรคเรื้อรังอันตรายตามมาได้ เพื่อให้รู้เท่าทัน เราไปทำความรู้จักกับโรคนี้กันกับแพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัยกันดีกว่า

ภาวะลำไส้รั่วเป็นอย่างไร

ภาวะลำไส้รั่ว (Leaky Gut Syndrome) เป็นภาวะการดูดซึมของลำไส้ผิดปกติ โดยทั่วไปแล้วเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้ หรือ เซลล์ดูดซึมสารอาหารของลำไส้เล็กจะเรียงชิดติดกัน เพื่อป้องกัน คัดกรอง และควบคุมสารพิษ รวมทั้งเชื้อโรคที่จะเข้าสู่กระแสเลือด หากเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้อักเสบ หรือมีการบวมของเซลล์เยื่อบุผิวลำไส้จึงไม่เรียงชิดติดกัน ทำให้เกิดช่องว่างที่บริเวณนี้ขึ้นมา ซึ่งตรงช่องว่างนี้เองทำให้สิ่งแปลกปลอม เชื้อแบคทีเรีย สารอาหารที่เป็นโมเลกุลขนาดใหญ่ สารพิษต่างๆ รั่วซึมเข้าสู่ร่างกาย สู่กระแสเลือด เข้าไปรบกวนระบบภูมิต้านทาน ทำให้เกิดกระบวนการการอักเสบต่างๆ ภายในร่างกายตามมา

ลำไส้รั่วตัวการเกิดโรคอะไรบ้าง

ลำไส้รั่วส่งผลให้เกิดภาวะการอับเสบในร่างกายแบบเรื้อรัง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดในสมองตีบ ความดันโลหิตสูง อันเนื่องมาจากกระบวนการอักเสบที่เพิ่มขึ้น แม้กระทั่งการไปรบกวนหรือกระตุ้นการตอบสนองของเม็ดเลือดขาว ทำให้เม็ดเลือดขาวสับสนเกิดภาวะภูมิแพ้ง่ายขึ้น ยังมีผลต่อการอักเสบในเซลล์สมอง มีผลต่อการนอนหลับ อารมณ์ ความจำระยะสั้น เป็นต้น

ลำไส้รั่วเกิดจากสาเหตุอะไร

สาเหตุลำไส้รั่ว (Leaky Gut Syndrome) มาจากภาวะอะไรก็ตามที่ทำให้เกิดการทำลายเซลล์บุผนังลำไส้ โดยสาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่

  1. ยาแก้ปวดหรือแก้อักเสบต่างๆ ยากลุ่มนี้จะมีผลต่อความแข็งแรงของเยื่อบุในผนังทางเดินอาหาร และเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดภาวะลำไส้รั่วได้หากใช้ยากลุ่มนี้ติดต่อกันนาน
  2. ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ โดยในลำไส้จะแข็งแรงได้นอกจากผนังของลำไส้แล้ว ยังมีเรื่องสายพันธุ์ของแบคทีเรียหรือสมดุลของแบคทีเรียในร่างกายอยู่ด้วย เมื่อเรากินยายาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อไปบ่อยๆ หรือกินมากๆ แล้วไม่ได้เติมเต็มแบคทีเรียตัวดีเข้าไปทดแทน จะก่อให้เกิดการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ตัวร้าย หรือจุลินทรีย์ชนิดอื่น เช่น เชื้อรา หรือ แบคทีเรียตัวอื่นที่ร่างกายไม่ต้องการเพิ่มขึ้นจนทำให้เกิดกระบวนการอักเสบของเยื่อบุลำไส้ได้
  3. ความเครียด ความวิตกกังวล การนอนหลับไม่เพียงพอ
  4. ภาวะภูมิแพ้อาหารแฝง

ลำไส้รั่วอาการเป็นอย่างไร

 

  • ปวดศีรษะหรือปวดตามข้อต่าง ๆ ไม่ทราบสาเหตุ
  • น้ำหนักขึ้นง่าย ขึ้นผิดปกติ
  • มีแก๊สในระบบทางเดินอาหารมากผิดปกติ
  • มีภาวะภูมิแพ้อาหารแฝง ภาวะการไม่สามารถย่อยอาหารบางชนิดได้ เช่น อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต
  • มีปัญหาระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้องบ่อยๆ ท้องเสียเรื้อรัง หรือท้องผูก 1 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นไป ท้องอืดอาหารไม่ย่อยเป็นประจำ
  • นอนไม่ค่อยหลับ อ่อนเพลีย
  • มีผื่นคัน มีสิวขึ้นเรื้อรัง

ภาวะลำไส้รั่ว ตรวจวินิจฉัยอย่างไร

แพทย์จะพิจารณาจากอาการที่เกิดขึ้น ได้แก่

  1. หากมีปัญหาระบบทางเดินอาหารมาก่อน เช่น โรคกระเพาะ ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ท้องเสียง่าย ท้องผูกง่าย เป็นกลุ่มที่จะมีความเสี่ยงเกิดลำไส้รั่วง่ายมากขึ้น
  2. มีอาการอันไม่พึงประสงค์หลังรับประทานอาหาร เช่น การกินนม แป้งสาลี ภายใน 1-2 วันมีสิวขึ้น มีผื่นคัน มีอาการปวดตามข้อมากขึ้น หรือตกกลางคืนนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หรือไม่

 

ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวก็สงสัยว่าอาจเป็นภาวะลำไส้รั่วได้ ก็จำเป็นต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น

  • การตรวจอุจจาระประเมินความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร หรือ Comprehensive Digestive Stool Analysis (CDSA) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์คุณภาพการย่อยจากอุจจาระของเราว่าอาหารมีการย่อยสมบูรณ์ไหม สายพันธุ์ของเแบคทีเรียอยู่สมดุลดีไหม มีการเจริญเติมโดของแบคทีเรียร้าย ยีสต์ เชื้อรา หรือมีพยาธิหรือเปล่า
  • การตรวจ Zonulin Test เป็นการตรวจดูระดับของโปรตีน Zonulin ที่ทำหน้าที่ควบคุมขนาดของช่องระหว่างเซลล์ที่บุผิวภายในลำไส้ดังกล่าวว่าสูงหรือไม่ เช่น เมื่อมีการแพ้สารอาหาร หรือเกิดภูมิแพ้ขึ้นมา จะทำให้ระดับของ Zonulin ในกระแสเลือดของสูงขึ้นซึ่งก็จะบอกได้ว่า ท่านเป็นลำไส้รั่วจริง

การรักษาภาวะลำไส้รั่ว

 

  1. ทำความสะอาดของเสียออกจากลำไส้ เช่น หลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ การทำ Colon Detox
  2. การซ่อมแซมเยื่อบุลำไส้ที่ไม่แข็งแรง โดยเสริมกรดอะมิโน L-Glutamine รวมไปถึงวิตามินอี สังกะสี (Zinc) ซีลีเนียม (Selenium) และโอเมก้า–3 (Omega–3) ที่มีส่วนช่วยในการซ่อมแซมเยื่อบุผนังลำไส้ที่ได้รับบาดเจ็บและลดการอักเสบของลำไส้ได้
  3. การปรับสมดุลร่างกาย โดยปรับเรื่องอาหาร เลี่ยงอาหารที่แพ้ ลดความเครียด
  4. การเติมเต็มแบคทีเรียดีเข้าไป ได้แก่ จุลินทรีย์ดี Probiotic ซึ่งพบในโยเกิร์ต คีเฟอร์ ถั่วหมัก กิมจิ และอาหาร Probiotic เช่น กล้วย น้ำผึ้ง หน่อไม้ฝรั่ง กระเทียม แก่นตะวัน หอมหัวใหญ่ และมะเขือเทศ เป็นต้น

หากเราไม่ดูแลเอาใจใส่ลำไส้ให้ดี อาจส่งผลให้สุขภาพร่างกายไม่ดีตามไปด้วย ฉะนั้น การดูแลลำไส้ให้แข็งแรง โรคเรื้อรังต่างๆ ที่เผชิญอยู่ ก็จะสามารถควบคุมได้หรือค่อยๆ หายไปได้นั่นเอง